ชวนสำรวจกระเป๋านักเรียนในวันที่คลังความรู้กำลังเฆี่ยนตีลูกของคุณ

A A
Sep 19, 2022
Sep 19, 2022
A A

ชวนสำรวจกระเป๋านักเรียน

ในวันที่คลังความรู้กำลังเฆี่ยนตีลูกของคุณ

 

  • ประเทศไทยมีการกำหนดมาตรฐานน้ำหนักกระเป๋านักเรียนเอาไว้โดยแบ่งตามระดับชั้นเรียน เด็กนักเรียน ป.1 -ป.2 น้ำหนักกระเป๋าเรียนไม่ควรเกิน 3 กิโลกรัม ชั้น ป.3-ป.4 น้ำหนักกระเป๋าเรียนไม่ควรเกิน 3.5 กิโลกรัม ระดับชั้น ป.5-6 กระเป๋านักเรียนไม่ควรมีน้ำหนักเกิน 4 กิโลกรัม
  • ค่ามาตรฐานกลางที่ทั่วโลกใช้คือไม่เกิน 20 % ของน้ำหนักร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น เด็กมีน้ำหนักตัว 20 กิโลกรัม น้ำหนักกระเป๋าเรียนควรไม่เกิน 2-4 กก.เท่านั้น ทั้งนี้การแบกกระเป๋าที่มีน้ำหนักมากเกินไป จะมีผลกระทบทำให้กระดูกสันหลังโค้ง ปวดหลัง ปวดคอบ่าไหล่ ซึ่งในระยะยาวอาจมีผลต่อพัฒนาการด้านความสูงได้
  • วิธีการสังเกตเมื่อกระเป๋านักเรียนของลูกเราหนักเกินไปไหม คุณพ่อคุณแม่ควรลองเดินตามหลังลูก เพื่อสังเกตทำเดินของลูกเวลาสะพายกระเป๋าและสังเกตว่ากระเป๋าสะพายของลูกห้อยต่ำเกินไปหรือไม่ ก้นกระเป๋าเลยนั้นเอวหรือไม่ และลูกเดินเอนตัวไปด้าน หน้ามากเกินไปหรือเปล่าตรวจสัมภาระที่อยู่ในกระเป๋าว่าเป็นสิ่งจำเป็นจริงหรือไม่ การจัดวางสิ่งของในกระเป๋าก็ช่วยบรรเทาผลกระทบได้
  •  

 

8.00 น. เช้าวันจันทร์

เมื่อเราเดินลัดเลาะไปตามรั้วโรงเรียน สิ่งที่เราเห็นนอกจากภาพของเหล่านักเรียนกำลังจับกลุ่มคุยกันระหว่างเตรียมตัวเข้าแถวเคารพเสาธง แต่สิ่งหนึ่งที่เราอดสังเกตไม่ได้เลยแค่คลังสมบัติแห่งความรู้สารพัดที่เด็กๆเหล่านั้นแบกไว้บนหลังตั้งแต่วันจันทร์เช้ายาวไปจนถึงวันศุกร์เย็น ไม่ว่าสิ่งที่อยู่ภายในกระเป๋านักเรียนใบนั้นจะมีลักษณนามเป็น เล่ม เป็น เครื่อง เป็น ชิ้น หรือเป็นอะไร มันอาจกำลังเฆี่ยนตีลูกของคุณโดยไม่รู้ตัว 

โดยเฉลี่ยใน 1 วัน เด็กจะเรียนประมาณ 8 วิชา ก็เท่ากับการแบกหนังสืออย่างน้อยราว ๆ 8 เล่ม จำนวนนี้ยังไม่รวม สมุด ชีท ดินสอ ปากการวมไปถึงอุปกรณ์ไอทีอย่างโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต ดังนั้นผลกระทบจากการสะพายกระเป๋าหนักเกินเหตุมักทำให้เด็ก ๆ มีอาการปวดเมื่อยที่หลัง โดยเด็กผู้หญิงอาจจะมีอาการปวดได้มากกว่าเด็กผู้ชาย หากหนักมากเด็กอาจจะเดินไม่ไหว ต้องก้มตัวให้เกิดสมดุล เสียบุคลิกภาพ

ประเทศไทยมีการกำหนดมาตรฐานน้ำหนักกระเป๋านักเรียนเอาไว้โดยแบ่งตามระดับชั้นเรียน เด็กนักเรียน ป.1 -ป.2 น้ำหนักกระเป๋าเรียนไม่ควรเกิน 3 กิโลกรัม ชั้น ป.3-ป.4 น้ำหนักกระเป๋าเรียนไม่ควรเกิน 3.5 กิโลกรัม ระดับชั้น ป.5-6 กระเป๋านักเรียนไม่ควรมีน้ำหนักเกิน 4 กิโลกรัม เมื่อเราหันกลับมามองตัวเลขเหล่านี้กับความเป็นจริงยังคงมีเส้นย้อนแย้งบาง ๆ อยู่ว่ามาตรฐานจริงของมันอยู่ตรงไหนเมื่อไซซ์ของเด็กไม่ได้สัมพันธ์กับระดับชั้นเรียนเสมอไป

 

student backpack

 

หนักเกินเหตุคือเท่าไร กระเป๋านักเรียนต้องหนักแค่ไหนถึงจะเพียงพอ

ค่ามาตรฐานกลางที่ทั่วโลกใช้คือไม่เกิน 20 % ของน้ำหนักร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น เด็กมีน้ำหนักตัว 20 กิโลกรัม น้ำหนักกระเป๋านักเรียนควรไม่เกิน 2-4 กก.เท่านั้น ทั้งนี้การแบกกระเป๋าที่มีน้ำหนักมากเกินไป จะมีผลกระทบทำให้กระดูกสันหลังโค้ง ปวดหลัง ปวดคอบ่าไหล่ ซึ่งในระยะยาวอาจมีผลต่อพัฒนาการด้านความสูงได้ 

ส่วนหนึ่งของปัญหาคือโรงเรียนไม่มีการบริหารจัดการระบบการเรียนการสอนที่ดีเท่าที่ควร ส่วนครูผู้สอนเองสั่งเตรียมหนังสือมามากไป โดยไม่สนใจว่านักเรียนต้องแบกรับกระเป๋าหนักแค่ไหน แม้ในห้องเรียนเองก็มีพื้นที่โล่งว่างมากมาย แต่ไม่ถูกใช้เป็นพื้นที่จัดเก็บวางหนังสือสำหรับนักเรียน

 

กระเป๋านักเรียนที่แบกความรู้ที่หนักเกินไปส่งผลต่อประสิทธิภาพของการเรียน

หลากหลายบทความและงานวิจัยที่พูดถึงผลกระทบของกระเป๋านักเรียนแบบเป้สะพายหลังต่อสุขภาพนักเรียน  ยิ่งนับ วันมีขนาดใหญ่ขึ้น น้ำหนักมากขึ้น กระทบสุขภาพนักเรียนถ้วนหน้าแบบองค์รวม เช่น หัวข้อ School children’s backpacks, back pain and back pathologies จากนิตยสาร Archives of Disease in Childhood ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี 2012 ได้สรุปข้อมูลนักเรียนกลุ่มตัวอย่างในประเทศสเปนอายุระหว่าง 12 – 17 ปี จำนวน 1,403 คน พบว่า 61.4% ของนักเรียนใช้เป้สะพายหลังที่มีน้ำหนักเกิน 10% ของน้ำหนักตัว และนักเรียนที่แบกเป้หนักมากๆ ก็มีความเสี่ยงเจ็บหลังสูงกว่าคนอื่นถึง 50% โดยในจำนวนนี้เพศหญิงมีความเสี่ยงปวดหลังมากกว่าเพศชาย

ย้อนกลับไป 3 ปีก่อนหน้านี้ในปี 2009 หัวข้อในวารสาร School backpacks: It’s more than just a weight problem ได้ออกสำรวจผลกระทบของกระเป๋าเป้ เด็กอายุ 10-18 ปี จำนวน 871 คน พบว่า กว่า 33.5% ของนักเรียนมีอาการเจ็บหลัง ปัจจัยที่มีผลต่ออาการเจ็บหลังได้แก่ น้ำหนักกระเป๋า ระยะเวลาที่สะพายกระเป๋า ท่าที่ใช้สะพาย ผลกระทบนี้ยังส่งผลต่อการขาดเรียนและความสามารถในการเล่นกีฬาด้วย เช่นเดียวกันกับบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Journal of Spinal Disorders and Techniques ผู้วิจัยสำรวจข้อมูลจากนักเรียนที่ใช้เป้สะพายหลัง อายุระหว่าง 9-15 ปี จำนวนมากถึง 3,440 คน มีผลสรุปว่าในขณะที่เด็กอายุเท่ากัน เด็กที่มีความสูงน้อยกว่ามักได้รับผลกระทบจากเป้สะพายหลังมากกว่า โดยทางการแพทย์ชี้ว่า กระดูกสันหลังทำหน้าที่พยุงร่างกายให้ตั้งตรงและเป็นรูปเป็นร่าง การใส่น้ำหนักที่มากเกินไปบนร่างกายส่งผลต่อสรีระ การวางท่าทาง รูปร่างกระดูกสันหลัง และการเจริญเติบโตของเด็กนั่นเอง

 อย่ารอจนกว่าลูกจะบ่นปวดหลัง

 วิธีการสังเกตเมื่อกระเป๋านักเรียนของลูกเราหนักเกินไปไหม คุณพ่อคุณแม่ควรลองเดินตามหลังลูก เพื่อสังเกตทำเดินของลูกเวลาสะพายกระเป๋าและสังเกตว่ากระเป๋าสะพายของลูกห้อยต่ำเกินไปหรือไม่ ก้นกระเป๋าเลยนั้นเอวหรือไม่ และลูกเดินเอนตัวไปด้าน หน้ามากเกินไปหรือเปล่า การแก้ปัญหากระเป๋านักเรียนที่พวกเราพ่อแม่สามารถทำได้คือการตรวจสัมภาระที่อยู่ในกระเป๋าว่าเป็นสิ่งจำเป็นจริงหรือไม่ การจัดวางสิ่งของในกระเป๋าก็ช่วยบรรเทาผลกระทบได้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้วางสิ่งของที่หนักไว้ตรงกึ่งกลางกระเป๋าและชิดกับส่วนหลังของเด็ก และเพื่อความสมดุล ควรสะพายกระเป๋าโดยคาดบนไหล่ทั้งสองข้าง ไม่สะพายเพียงข้างใดข้างหนึ่ง กระเป๋านักเรียนควรได้สัดส่วนกับขนาดตัวของเด็ก ส่วนก้นกระเป๋าควรพอดีกับเอว สายสะพายของกระเป๋าควรกว้างพอสมควรเพื่อกระจายน้ำหนักบนบ่าและคอ ป้องกันการกดทับบริเวณหนึ่งมากเกินไป กระเป๋าควรมีแผ่นรองบริเวณหลังและบริเวณก้นเพื่อช่วยให้การกระจายน้ำหนักดีขึ้น

การกลับมาเปิดเรียนตามปกติ นอกจากเรื่องการเรียนแล้ว กระเป๋านักเรียนอาจเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองหลายคนมองข้าม ซึ่งเรื่องเล็กน้อยแบบนี้อาจมีผลกระทบต่อร่างกายของเด็กในระยะยาวต่อไป

วันนี้คุณสำรวจกระเป๋านักเรียนของลูกๆที่บ้านกันแล้วหรือยัง ?  

 

 

อ้างอิง
https://bit.ly/3d1zdmi
https://bit.ly/3Bx0FCy
https://bit.ly/3Qh8YX4
https://bit.ly/3vDg4xs

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS