เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของ ‘คำด่า’ ที่ให้มากกว่าแค่ความเจ็บจี๊ด

A A
Jun 28, 2023
Jun 28, 2023
A A

เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของ ‘คำด่า’ ที่ให้มากกว่าแค่ความเจ็บจี๊ด

 

  • คำด่า ไม่ได้เป็นแค่คำที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงสังคม ภาษา วัฒนธรรม การศึกษา และประวัติศาสตร์อันยาวนาน
  • วิทยาศาสตร์พบประโยชน์ของการหลายด่าหรือสบถอยู่หลายประการ เช่น ช่วยให้เราอดทนต่อความเจ็บปวดได้มากขึ้น สร้างสายสัมพันธ์ที่แนบชิดกันยิ่งขึ้น
  • แม้ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมจะมีคำด่าที่ไม่เหมือนกัน แต่ข้อมูลพบว่า คำด่าในหลายภาษาที่มีจุดร่วมเหมือนกัน คือ จะไม่มีเสียงพยัญชนะ l, r, w และ y

 

“เ-ี้ยยย มายังไงเนี่ยป้า ท้ายแถวอยู่โน้นนน”

“ตาย-่า ทำไมฝนชอบมาตกตอนจะกลับบ้านทุกที”

เคยสังเกตกันไหม ทำไมคนเราถึงเผลอพูดคำหยาบออกมาได้ง่าย ๆ ในบางสถานการณ์ ทั้ง ๆ ที่ปีใหม่ก็ตั้งใจไว้แล้วว่า จะพยายามพูดคำหยาบ ด่าคนให้น้อยลง แม้ใจเราอาจรู้สึกไม่ดีในบางครั้งกับการปล่อยให้คำเหล่านี้หลุดออกจากปาก แต่รู้ไหมว่า เบื้องหลังของคำด่า คำหยาบ หรือคำสบถ เป็นมากกว่าแค่การแสดงอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งออกมา แต่มันยังสะท้อนถึงสังคม ภาษา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์อันยาวนานที่ไม่ว่า จะยุคไหนสมัยไหนผู้คนก็รู้จักใช้คำด่าสร้างความเจ็บปวดทางจิตใจกันมาช้านาน ที่น่าสนใจ คือ ยังมีงานศึกษาอีกมากมายที่พบว่า การด่าส่งผลดีต่อสุขภาพในหลายด้านอีกด้วย ก่อนที่เราจะไปหาคำตอบเรื่องเหล่านี้ สงสัยกันแล้วใช่ไหมล่ะว่า คำด่ามาจากไหนกัน

 

ประวัติศาสตร์ของคำด่า

 

เหตุผลส่วนหนึ่งที่จู่ ๆ คำบางคำก็กลายเป็นคำต้องห้ามหรือคำด่าขึ้นมาสำหรับมนุษย์ คือ การที่เราซึมซับภูมิหลังทางวัฒนธรรมบางอย่างเข้ามา แนวคิดบางอย่างจึงกลายเป็นสิ่งต้องห้าม ในหลายวัฒนธรรมคำที่หมายถึง อวัยวะเพศหญิง ถือเป็นคำที่เลวร้ายกว่าคำที่หมายถึง อวัยวะเพศของฝ่ายชาย นั่นเป็นเพราะเรื่องทางเพศของผู้ชายเป็นเรื่องที่ยอมรับในสังคมได้มากกว่านั่นเอง

 

ไม่ใช่แค่สมัยนี้เท่านั้นที่คำด่าดูเหมือนจะกลายเป็นที่คำที่ใช้กันดาษดื่นไปทั่ว แต่ในอดีตผู้คนก็มีการใช้คำด่ามาแต่ไหนแต่ไร แน่นอนว่า คำด่ามีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ถ้าเราเอาคำด่าในยุคก่อนมาใช้กับคนยุคนี้ เราอาจไม่ได้รู้สึกเจ็บปวดมากเท่าไร อะไรทำให้คำด่าของคนแต่ละยุคสมัยแตกต่างกัน คนยุคก่อนแสลงหูกับเรื่องอะไรที่ไม่เหมือนยุคนี้บ้าง

 

Benjamin Bergen นักภาษาศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ด้าน Cognitive Science จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก และผู้เขียน What the F: What Swearing Reveals About Our Language Our Brains, and Ourselves. กล่าวว่า ภาษาต้องห้ามมักจะเกี่ยวข้องกับศาสนา ในประเพณียิว-คริสต์และมุสลิม คำหยาบ คือ การที่เราใช้คำบางคำที่มีหน้าที่เฉพาะอย่างกับเรื่องที่อยู่นอกบริบทศาสนา และใช้ในเจตนาอื่น เช่น holy, hell, goddamn หรือแม้แต่ชื่อของ Jesus Christ ที่เมื่อสบถออกมาเมื่อไร ก็ไม่ได้แปลว่า เรากำลังนั่งอยู่ในโบสถ์ หรือระลึกถึงพระเจ้าแต่อย่างใด

 

นอกจากศาสนาแล้ว อย่างที่รู้กันว่า คำหยาบยังเป็นคำที่เกี่ยวกับเรื่องเพศและการกระทำทางเพศ รวมถึงการทำงานของร่างกายอีกด้วย เช่น คำที่หมายถึง อาเจียน ปัสสาวะ อุจจาระ ในบางวัฒนธรรม คำที่หมายถึง ความตายและโรคภัยไข้เจ็บ อาจกลายเป็นคำหยาบได้ด้วย เช่น Kankerlije ในภาษาดัตช์ เป็นคำสบถที่แปลว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็ง หากเราสังเกตกันดี ๆ จะพบว่า ในยุคหลัง ๆ มานี้ คำที่เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ เพศ ชาติพันธุ์ และรสนิยมทางเพศ กลายเป็นคำด่าทอที่ถูกใช้กันมากขึ้น คำในกลุ่มนี้ถูกจัดอันดับโดยงานวิจัยหลายชิ้นให้เป็นคำด่าในภาษาอังกฤษที่น่ารังเกียจที่สุดอีกด้วย

 

ย้อนกลับไปในอดีต คำด่าเต็มไปด้วยจุดพลิกผันอันน่าทึ่งอยู่หลายครั้ง ในสมัยโรมันโบราณ คำด่าในภาษาละตินกับคำด่าสมัยนี้มีความคล้ายคลึงกันเล็กน้อยตรงที่ผู้คนด่ากันด้วยคำที่เกี่ยวข้องกับเพศและอุจจาระ อย่างไรก็ตาม คำที่ใช้จะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะสมัยนั้นกับสมัยนี้ก็ยังมีความแตกต่างเรื่องบรรทัดฐานทางเพศและวัฒนธรรมอย่างเห็นได้ชัด

 

Melissa Mohr ผู้เขียนหนังสือ Holy Sh*t: A Brief History of Swearing กล่าวว่า คำด่าของคนเรามาจากการครอบครองของวัฒนธรรมในยุคนั้น พูดง่าย ๆ คือ คำด่าเป็นตัวสะท้อนวัฒนธรรมและความเชื่อของคนยุคนั้นนั่นเอง สังคมสมัยโรมันโบราณเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ ฉะนั้น จึงมีคำหลายคำที่หมายถึง ผู้ชาย หรือ Vir ในภาษาละติน และนั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า virtuous ในภาษาอังกฤษ ในสังคมสมัยนั้นชายที่มีคุณธรรมสามารถจะมีเซ็กซ์กับคนเพศไหนก็ได้ตราบใดที่ยังเป็นฝ่ายรุก แปลว่า หากผู้หญิงจะเป็นฝ่ายรุกบ้าง นั่นจะกลายเป็นเรื่องต้องห้ามของสังคมเลยทีเดียว และเมื่อไรที่ผู้คนละเมิดกฎของสังคม เมื่อนั้นแหละที่การด่าจะเกิดขึ้น

 

คำด่าในยุคกลาง

 

ศาสนามีบทบาทอย่างมากในยุคนี้ คำหยาบจึงอาจหมายถึงการที่เราสัญญากับพระเจ้าถึงคำพูดและการกระทำบางอย่าง แล้วไม่ได้รักษาคำพูดนั้น สมมติเราเล่นการพนันแล้วเกิดแพ้ เราอาจเผลอสบถออกมาเป็นคำที่พาดพิงถึงอวัยวะต่าง ๆ ของพระเยซู หากคนยุคนั้นได้ยินเข้า เขาจะถือว่า คำหยาบเหล่านี้เหมือนกับการฉีกร่าง หรือทำร้ายร่างกายพระเยซูเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปก็ยังมีการใช้คำหยาบที่หมายถึงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอยู่ นักประวัติศาสตร์คาดว่า น่าจะเป็นเพราะการตระหนักเรื่องความเป็นส่วนตัว หรือความละอายใจของคนยุคนั้นยังไม่ได้มีมากเท่าคนยุคนี้ ต่อมาศาสนาเริ่มมีบทบาทน้อยลง เป็นผลมาจากการปฎิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ในช่วงทศวรรษที่ 1500 คำหยาบที่เกี่ยวเนื่องกับบริบทของศาสนาจึงค่อย ๆ จางหายไป 

 

คำด่าในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ

 

ยุคนี้เป็นยุคทองของงานศิลปะต่าง ๆ คำด่าที่เกิดขึ้นในยุคนี้เริ่มมีความใกล้เคียงกับคำด่าในปัจจุบันมากขึ้น คำที่เคยเป็นเพียงการอธิบายโดยตรง หรือเป็นการพรรณนาในช่วงยุคกลางเริ่มกลายเป็นคำด่าใหม่ ๆ เช่น คำที่อธิบายถึงกายวิภาคศาสตร์ที่เคยพบได้ในตำราแพทย์ นั่นแสดงว่า คำที่เราใช้เป็นคำด่าในยุคนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคกลางแล้ว เพียงแต่ในสมัยนั้นมันยังไม่ใช่คำด่าเท่านั้นเอง

 

คำด่าหรือคำสบถในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการมักเป็นเรื่องทางเพศหรือของเสียจากร่างกายมนุษย์ จนกระทั่งถึงยุควิกตอเรียที่คำด่า คำหยาบ กลายเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจอย่างที่สุด คำเหล่านี้จึงหายไปจากสื่อสิ่งพิมพ์และการพูดเป็นส่วนมาก มีการแปลงคำให้สุภาพมากขึ้น แรงกระตุ้นนี้ผลักดันให้ผู้คนพยายามหลีกเลี่ยงอะไรก็ตามที่ดูไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม จนแม้แต่คำที่ดูสามัญอย่าง leg และ trouser ก็ยังถูกมองว่า เป็นคำต้องห้ามในยุคนั้น

 

จนกระทั่งศตวรรษที่ 20 ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 คำหยาบก็เปลี่ยนสถานะกลายเป็นเรื่องทั่วไปมากขึ้น เพราะผู้สื่อข่าวในสมัยนั้นรายงานถึงสิ่งที่ทหารพูดและทำ รวมถึงภาษาที่พวกเขาใช้กันจริง ๆ คำเหล่านี้จึงเริ่มปรากฎในหนังสือพิมพ์และหนังสือมากขึ้น

 

สำหรับในอเมริกาช่วงทศวรรษ 1950 คำหยาบที่หมายถึงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรือแม้แต่เรื่องเพศกลับเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในยุคนั้น ผู้คนมักจะใช้คำดูถูกเหยียดหยามกันด้วยเรื่องเชื้อชาติมากกว่า กลายเป็นการโจมตีกันที่ปัจเจกบุคคลมากขึ้น

 

คำด่าในอนาคตหน้าตาเป็นอย่างไร?

 

ทุกวันนี้คำพูดใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นกำลังเข้ามาแทนที่คำด่าในรูปแบบอื่น ๆ มากขึ้น เพราะ

เป็นคำที่สร้างความตกตะลึง และไม่เหมาะสมอย่างที่สุด เราอาจจะไม่เชื่อว่า งานวิจัยพบว่า คำหยาบส่วนมากไม่เป็นอันตราย แม้ว่าจะใช้กับเด็กเล็กก็ตาม แต่คำใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นต่างหากที่เป็นอันตรายทั้งต่อคนที่ถูกกล่าวหาและคนรอบข้าง 

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน European Journal of Social Psychology โดยนักวิจัยชาวอิตาลีพบว่า การที่เราสัมผัสกับคำเหยียดหยามของคนที่รังเกียจคนรักร่วมเพศจะเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้เข้าร่วมวิจัย และยิ่งเป็นการสร้างระยะห่างจากความเป็นเกย์ของคนเหล่านั้นอีกด้วย

 

 

มนุษย์ใช้คำด่าเพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึก

 

 

เราใช้คำด่ากันไปทำไม?

 

อ่านมาถึงตรงนี้เราจะเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์ของการใช้คำด่าหรือคำหยาบของมนุษย์เราเกิดขึ้นมาตั้งนานแล้ว เชื่อไหมว่า แม้แต่คำที่เราใช้พูดคุยกันในชีวิตประจำวันนั้น มีสัดส่วนคำด่าไปแล้วประมาณ 0.7% ซึ่งเป็นสัดส่วนเดียวกันกับที่เราใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 เมื่อคำด่า คำสบถ กลายเป็นส่วนหนึ่งภาษาพูดในชีวิตประจำวัน ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาบางคนจึงได้แบ่งประเภทคำเหล่านี้ออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ คำที่เกี่ยวข้องกับศาสนา คำที่เกี่ยวข้องกับเพศและร่างกาย และคำสบถที่เกี่ยวข้องกับสังคม  เช่น เชื้อชาติ อย่างไรก็ตาม Steven Pinker นักจิตวิทยาการทดลอง ได้เขียนไว้ในหนังสือขายดีของเขา The Stuff of Thoughts ว่า จริง ๆ แล้วคำสบถน่าจะแบ่งออกเป็น 5 ประเภทมากกว่า 

 

  1. สบถเพื่อเชิญชวน (Dysphemistic swearing) เป็นการสบถเพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้สบถมองสิ่งที่กำลังสบถในแง่ลบ และคาดหวังให้ผู้ฟังเห็นตามหรือทำตาม 
  2. สบถเพื่อดูถูกหรือหมิ่นประมาท (Abusive Swearing) ใช้เพื่อข่มขู่หรือข่มเหงบุคคลอื่น
  3. สบถเพื่อบ่งความสัมพันธ์ (Idiomatic Swearing) เป็นการใช้คำหยาบหรือการสบถที่ไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ แต่ใช้เพื่อบอกสถานะความสัมพันธ์ของผู้พูดและผู้ฟังที่ไม่จำเป็นต้องทางการนัก หรือสนิทกันมากพอ
  4. สบถเพื่อเน้นความ (Emphatic Swearing) เพื่อเน้นข้อความ หรือให้คนหันมาสนใจในเนื้อความที่ผู้สบถคิดว่า สำคัญหรือต้องการเน้นให้สนใจเป็นพิเศษ
  5. สบถเพื่อระบาย (Cathartic Swearing) ใช้เพื่อจัดการกับความเจ็บปวด หรือบ่งบอกถึงอารมณ์หรือสถานการณ์เชิงลบ

 

คำด่าอาจดูแย่ แต่จริง ๆ แล้วมีประโยชน์

 

แม้ว่าบางครั้งเราอาจจะรู้สึกว่า การพูดหยาบ ด่าทอ หรือสบถใส่ใครช่างเป็นเรื่องที่ไม่ดีเอาเสียเลย แต่ดูเหมือนสมองเราจะตอบสนองต่อคำเหล่านี้อย่างมาก ทันทีที่เราได้ยินคำต้องห้ามหรือคำที่ดูเป็นอันตราย สมองส่วนอะมิกดาลาจะทำงานเป็นพิเศษ ซึ่งสมองส่วนนี้เป็นส่วนเดียวกับสมองที่ตอบสนองต่ออารมณ์ที่รุนแรง เช่น การร้องไห้ คำถามที่น่าสนใจ คือ สำหรับคนที่พูดได้หลายภาษา พวกเขาจะตอบสนองต่อคำเหล่านี้ในภาษาอื่นมากเท่าภาษาแม่หรือเปล่า คำตอบ คือ ไม่ นั่นแสดงว่า เราจะซึมซับความรู้สึกต่าง ๆ จากภาษาแม่ได้มากกว่าภาษาอื่นที่เราเรียนในภายหลัง

 

งานศึกษาบางชิ้นในปี 2011 พบว่า การสบถดูเหมือนจะเพิ่มความสามารถของคนเราในการอดทนต่อความเจ็บปวดได้มากขึ้น แม้จะดูไม่สุภาพเท่าไร แต่ถ้าเราอยากกระตุ้นให้ใครตอบสนองมากขึ้น การใช้ภาษาแบบนี้ถือว่า ได้ผลอย่างมาก เราอาจจะรู้สึกกันอยู่ลึก ๆ ว่า การที่เพื่อนด่าบ่อย ๆ แปลว่า เพื่อนรัก การด่า การพูดหยาบใส่กันจึงเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างกัน เมื่อเราทำลายข้อห้ามทางภาษา เราจะรู้สึกถึงความเป็นชุมชนและความใกล้ชิดได้มากขึ้น

 

คำด่าต่างภาษามีบางอย่างที่เหมือนกัน

 

และแม้จะรู้กันแล้วว่า คำแบบไหน คือ คำด่า คำหยาบหรือคำสบถในแต่ละยุคสมัย แต่ถ้าเรามาดูคำด่าในยุคนี้จากหลากหลายภาษา เราจะพบจุดร่วมที่เหมือนกันอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นก็คือ คำเหล่านี้จะไม่มีเสียงพยัญชนะ l, r, w และ y ไม่ว่าจะเป็นภาษาจีน อังกฤษ และสเปน ซึ่งนี่คือผลการศึกษาของนักวิจัยจาก Royal Holloway มหาวิทยาลัยลอนดอน 

 

ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากชายชื่อ McKay เขาสังเกตว่า คำสบถในภาษาอังกฤษจะมีเสียงของพยัญชนะ p, t และ k เป็นพยัญชนะที่ปากเราจะปิดสนิทหลังจากออกเสียง ถ้าไม่เชื่อ ลองนึกถึงคำที่เราพูดบ่อย ๆ ดูก็ได้ เขาจึงสงสัยว่า เสียงที่เปล่งออกมานั้นทำให้เกิดการแสดงอารมณ์ที่เน้นย้ำเป็นพิเศษหรือเปล่า เพื่อไขคำตอบในเรื่องนี้ McKay เดินทางไปหา Shiri Lev-Ari ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัญลักษณ์เสียง และเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา โดยนึกว่า จะได้รู้ถึงเสียงพยัญชนะระเบิดแบบตัว p, t, และ k ในภาษาต่าง ๆ หรือแม่แบบการออกเสียงสากลสำหรับคำสบถ แต่สิ่งที่พวกเขาพบก็อย่างที่เรารู้กันแล้วนั่นแหละว่า คำสบถในหลายภาษาจะไม่มีเสียง l, r, w และ y เพราะเสียงเหล่านี้เป็นเสียงเปิด เมื่อออกเสียงเราจะรู้สึกว่า มีการจำกัดของทางเดินเสียงที่ค่อนข้างน้อย 

 

ในการศึกษาครั้งแรก พวกเขาเลือกคนที่พูดภาษาฮิบรู ฮินดี ฮังการี เกาหลีและรัสเซียมา แล้วขอให้คนเหล่านั้นเขียนรายการคำหยาบในภาษาตัวเองออกมา จากนั้นจึงทำการวิเคราะห์และเปรียบเทียบกับคำควบคุม แล้วก็ได้คำตอบอย่างที่เรารู้กัน

 

ต่อมาในการศึกษาครั้งที่ 2 เขาก็ให้คนที่พูดภาษาอาหรับ จีน ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน และสเปนดูคำ 2 คำจากภาษาที่พวกเขาพูดไม่เป็น แล้วให้เลือกคำที่คิดว่า เป็นคำสบถออกมา ผลปรากฎว่า น้อยมากที่ผู้เข้าร่วมจะเลือกคำที่มีเสียงเปิด หรือพยัญชนะ  l, r, w และ y นั่นเอง

 

สำหรับในภาษาไทยเองก็พบคำด่าอยู่มากมาย แม้แต่ในงานวรรณกรรมเรื่องขุนช้างขุนแผน จะเห็นนางวันทองด่าขุนช้างอยู่หลายครั้ง หรือแม้แต่อักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ ก็พบคำด่าผู้หญิงที่มีสามีมากกว่า 1 คน อยู่หลายคำ เช่น อีร้อยซ้อน อีหน้าเปน แต่ไม่มีคำด่าผู้ชายที่มีภรรยามากกว่า 1 คน นั่นแปลว่า ในสมัยก่อนหากผู้ชายมีเมียมากกว่า 1 คน ถือเป็นเรื่องที่ยอมรับได้มากกว่าผู้หญิงมีสามีหลายคน

 

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เราเห็นว่า คำด่า ที่ด่ากันเจ็บ ๆ แสบ ๆ หากเรามองให้ลึกลงไปมากกว่านั้น เราอาจได้เรียนรู้มากกว่าแค่ภาษา แต่เป็นการเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สังคม รวมถึงความคิด ความเชื่อของคนแต่ละยุคแต่ละสมัยได้มากกว่าที่คิด 

 

อ้างอิง

https://www.discovermagazine.com/mind/the-history-of-swear-words-where-the-and-do-they-come-from

https://toppandigital.com/us/blog-usa/the-language-of-obscenity/

https://edition.cnn.com/2022/12/10/world/swear-word-similarities-cec/index.html

https://thai.ac/news/show/70509 

https://www.facebook.com/watch/?v=347620460148295

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS