พ่อแม่ส่วนมากรักลูกไม่เท่ากัน ความจริงที่เราไม่อยากยอมรับ

A A
May 18, 2022
May 18, 2022
A A

พ่อแม่ส่วนมากรักลูกไม่เท่ากัน ความจริงที่เราไม่อยากยอมรับ

 

หนึ่งในปัญหาที่พ่อแม่และเด็กทั่วโลกเคยเจอคือ พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน เกิดเป็นลูกคนเดียวอาจจะมีเหงาบ้าง ไม่มีพี่น้องให้คุยให้เล่นด้วย

 

 

  • ข้อมูลพบว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่รักลูกไม่เท่ากัน นักบำบัดครอบครัวกล่าวว่าเป็นเรื่องปกติมาก สิ่งสำคัญสำหรับพ่อแม่คือต้องตระหนักรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
  • สำหรับลูก ๆ แล้ว การที่พ่อแม่มีลูกคนโปรดจริง ๆ หรือไม่นั้นอาจไม่ได้สำคัญเท่ากับมุมมองของเด็กที่รับรู้ว่าตัวเองไม่ใช่ลูกคนโปรด
  • เด็กที่รับรู้ว่าตัวเองไม่ใช่ลูกคนโปรดจะได้รับผลกระทบในระยะยาว เช่น รู้สึกโดดเดี่ยว ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เกิดความตึงเครียดในครอบครัว ใช้ยาเสพติด และเห็นคุณค่าในตัวเองน้อยล

 

“ทำไมน้องได้ของเล่นใหม่”  

“ใคร ๆ ก็ชมแต่พี่”

“แล้วเราล่ะ พ่อแม่รักบ้างหรือเปล่า”

หนึ่งในปัญหาที่พ่อแม่และเด็กทั่วโลกเคยเจอคือ พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน เกิดเป็นลูกคนเดียวอาจจะมีเหงาบ้าง ไม่มีพี่น้องให้คุยให้เล่นด้วย แต่ปัญหาสุดคลาสสิกของการมีพี่น้องคือเด็กหลายคนรู้สึกว่าพ่อแม่รักลูกแต่ละคนไม่เท่ากัน ซึ่งถ้าหันกลับถามพ่อแม่ก็จะได้ตอบคำแบบชัดเจนว่า ก็ต้องรักลูกทุกคนเท่ากันอยู่แล้ว แต่งานวิจัยหลายชิ้นให้คำตอบที่เราคาดไม่ถึง เพราะแท้จริงแล้วพ่อแม่ส่วนใหญ่รักลูกไม่เท่ากัน และสิ่งนี้ก็สามารถส่งผลกระทบต่อเด็กได้ในระยะยาวเมื่อพวกเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ลึก ๆ แล้วพ่อแม่ทุกคนก็อยากจะรักลูกให้เท่ากัน แต่ทำไมเรื่องนี้ถึงทำได้ไม่ง่ายอย่างที่คิด

 

ทำไมพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน

แม้ว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่จะบอกว่ารักลูกทุกคนเท่ากัน

แต่ผลการศึกษาในวารสารการสมรสและครอบครัวพบว่าแม่ที่เข้าร่วมการสำรวจ 70% ยอมรับว่าตัวเองมีลูกคนโปรด

เห็นได้ชัดว่านี่ไม่ใช่ตัวเลขน้อย ๆ เลย เป็นไปได้ไหมว่าการที่พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากันอาจอยู่เหนือการควบคุมบางอย่างของเรา

Kristina Durante ศาสตราจารย์ด้านการตลาดที่มหาวิทยาลัย Rutgers ได้ทำการวิจัยในเรื่องนี้ เธอพบว่าเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี พ่อแม่จะรักลูกสาวมากกว่า แต่ถ้าเศรษฐกิจดี พ่อแม่จะรักลูกชาย เหตุผลก็เป็นเพราะผู้ชายที่ประสบความสำเร็จจะเป็นพ่อของลูกได้มากกว่าผู้หญิง ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องช่วงวัยและจำนวนลูกหลานที่สามารถมีได้ ในทางกลับกัน ผู้ชายที่ยากจนก็ไม่สามารถจะดูแลลูกได้ดี ขณะที่ผู้หญิงที่ยากจนจะทำหน้าที่ทั้งพ่อและแม่ได้ดีกว่า คนที่ร่ำรวยจึงมักจะชอบลูกชาย เพราะให้ผลตอบแทนสูงกว่า สังเกตได้ว่าผู้ชายที่ร่ำรวยจะน่าดึงดูดกว่า เลยมีโอกาสที่จะให้กำเนิดลูกหลานจำนวนมากได้  ขณะที่ผู้ชายที่ยากจนจะมีเสน่ห์น้อยกว่าเลยทำให้หาคู่ครองได้ยากกว่า การที่พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน ลึก ๆ แล้วส่วนหนึ่งก็มีสาเหตุมาจากมุมมองเชิงวิวัฒนาการนั่นเองว่าลูกคนไหนมีแนวโน้มจะสืบทอดเผ่าพันธุ์ได้ดีกว่า     

งานวิจัยอีกชิ้นโดย Lambrianos Nikiforidis ก็เกี่ยวข้องกับมุมมองเชิงวิวัฒนาการเช่นเดียวกัน พบว่าพ่อแม่จะรักลูกคนที่ดูดีกว่า เพราะลูกคนนั้นมีโอกาสหาคู่ครองได้ง่ายกว่า แต่ปัจจัยอื่น ๆ ของลูก เช่น ความทะเยอทะยาน ความฉลาด และสุขภาพก็อาจมีบทบาทด้วยเช่นเดียวกัน เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมให้ลูกหลานที่จะเกิดในอนาคตได้

ในโลกสมัยใหม่ที่ผู้ชายเป็นฝ่ายควบคุมทรัพยากรทางการเงิน นักเศรษฐศาสตร์มองว่าพ่อแม่อาจจะรักลูกคนที่หาเงินได้มากกว่า ลูกชายเลยอาจกลายเป็นลูกคนโปรดได้มากกว่า แต่ถ้ามองจากมุมมองทั่วไปลูกคนโปรดอาจเป็นลูกคนโตหรือน้องคนเล็กที่ยังเป็นทารก เพราะลูกคนโตได้ชื่อว่าเป็นลูกคนแรกที่พ่อแม่เฝ้าคอย ส่วนทารกแรกเกิดก็ต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่อง หรือถ้าหากครอบครัวนั้นมีลูกที่มีความเจ็บป่วยบางอย่าง มีความต้องการพิเศษมากขึ้น กรณีนี้ก็อาจทำให้ลูกคนอื่น ๆ เข้าใจว่าพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากันได้

Michele Levin นักบำบัดครอบครัวกล่าวว่าเป็นเรื่องปกติมากที่พ่อแม่จะชอบ หรือรู้สึกดีกับพี่น้องคนใดคนหนึ่งมากกว่า  สิ่งสำคัญสำหรับพ่อแม่คือต้องตระหนักรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

เธออธิบายว่าเด็กทุกคนมีบุคลิก ความสนใจ ความต้องการ และวิธีการแสดงความต้องการที่แตกต่างกัน เด็กบางคนก็ต้องรับมือกับภาวะบางอย่าง เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า ซึ่งอาจส่งผลต่อการแสดงพฤติกรรมที่รับมือได้ยากกว่าลูกคนอื่น จึงอาจเป็นไปได้ว่าการที่พ่อแม่รักลูกคนหนึ่งมากกว่า ก็เพราะเด็กคนนั้นเลี้ยงง่ายและอยู่ด้วยได้ง่ายกว่า อีกสิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ ความสนใจของสมาชิกแต่ละคนในบ้านก็ส่งผลต่อการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน พ่อที่ชอบกีฬามักจะใช้เวลากับลูกที่ชอบเล่นกีฬามากกว่าลูกที่ชอบเล่นในบ้านหรือชอบเล่นเกม

 

 

 

เมื่อลูก ๆ โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ปัญหานี้อาจไม่ได้หายไปไหน พ่อแม่ก็จะยังมีลูกคนโปรดอยู่ แต่สาเหตุอาจแตกต่างออกไปจากวัยเด็ก โดยพ่อแม่มักจะรักลูกที่อยู่ใกล้ชิด คอยดูแล หรือลูกที่คอยให้เงินไว้ใช้มากกว่า

 

ผลกระทบที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับเด็กฝ่ายเดียว

แม้ว่าพ่อแม่จะพยายามหลีกเลี่ยงการเลือกที่รักมักที่ชัง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ

การที่พ่อแม่มีลูกคนโปรดจริง ๆ หรือไม่นั้นอาจไม่ได้สำคัญเท่ากับมุมมองของเด็กที่รับรู้ว่าตัวเองไม่ใช่ลูกคนโปรด

ตราบใดที่เด็กคิดว่าพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากันแล้ว ผลกระทบย่อมเกิดขึ้นกับเด็กในระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่ใช่เฉพาะลูกคนนั้นเท่านั้น แต่ทั้งพ่อแม่เอง รวมถึงพี่น้องทุกคนต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

ผลสำรวจในอเมริกาพบว่า ชาวอเมริกัน 40% ที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากันบอกว่าพวกเขารู้สึกโดดเดี่ยวอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งเมื่อโตขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลในงานวิจัยที่พบว่า

เด็กที่รับรู้ว่าตัวเองไม่ใช่ลูกคนโปรดมีแนวโน้มที่จะรู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อโตขึ้น ดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ในช่วงวัยรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวไม่ได้สนิทกันมาก ความตึงเครียดระหว่างพี่น้องก็จะเพิ่มขึ้นถ้ามีลูกคนโปรดอยู่ด้วย มีการใช้ยาเสพติด และเห็นคุณค่าในตัวเองน้อยลง

 

 

ในบางครอบครัวอาจเจอสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน พี่น้องบางคนอาจสังเกตเห็นว่าพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน และรู้สึกผิดกับพี่น้องของตัวเอง นี่จึงทำให้พวกเขาผูกพันกันมากขึ้น ข้อมูลในอเมริกาพบว่า ชาวอเมริกัน 42% ที่เป็นลูกคนโปรดของพ่อแม่ก็มักไม่ค่อยพอใจในความสัมพันธ์กับพี่น้องตัวเองมากไปกว่าคนที่โตในครอบครัวที่พ่อแม่รักลูกเท่ากันสักเท่าไร ขณะที่บางครอบครัวพี่น้องอาจจะยิ่งไม่ชอบหน้ากันมากขึ้น เกิดการแข่งขันกันยิ่งกว่าเดิม ความสัมพันธ์ในครอบครัวจึงไม่ค่อยราบรื่นนัก เกือบ 1 ใน 3 ของชาวอเมริกันที่โตมาในครอบครัวแบบนี้บอกว่าพวกเขาเลิกคุยกับสมาชิกในครอบครัว ซึ่งสิ่งนี้พบได้น้อยมากในกลุ่มที่บอกว่าพ่อแม่รักลูกเท่ากัน  และเมื่อลูกคนนั้นมีปัญหาอะไรที่ต้องการความช่วยเหลือ ลูกก็จะไม่ค่อยขอความช่วยเหลือจากสมาชิกในครอบครัวสักเท่าไรโดยเฉพาะจากพ่อแม่

 

สิ่งสำคัญที่สุดคือการยอมรับความรู้สึกลูก

เมื่อเด็กบอกว่าพวกเขาเชื่อว่าพ่อแม่รักลูกอีกคนมากกว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกที่พ่อแม่ควรทำคือการยอมรับความรู้สึกของลูก ไม่ควรปฏิเสธหรือเพิกเฉย

เพราะการที่เด็กรู้สึกแบบนี้แสดงว่ามันมีที่มา พ่อแม่จึงไม่ควรละเลย ลำดับต่อมาก็ต้องพูดคุยกับลูก ลูกอาจบอกว่าอยากให้พ่อแม่มีเวลาและสนใจพวกเขาให้มากขึ้น เมื่อไรที่เราถามเด็ก ๆ นั่นคือการเปิดโอกาสให้เขาได้บอกสิ่งที่ตัวเองต้องการออกมา ฉะนั้น เมื่อไรที่พ่อแม่รับรู้ว่าลูกเริ่มคิดว่าพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากันแล้ว ให้รีบลงมือทำอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย หาเวลาทำกิจกรรมที่ลูกชอบด้วยกันให้มากขึ้น เพื่อสานสัมพันธ์ครอบครัวให้กลับมาแนบแน่นเหมือนเดิม

การที่พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากันเป็นเรื่องที่พ่อแม่ไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่มันก็เกิดขึ้นมาแต่ไหนแต่ไรตั้งแต่อดีต มนุษย์เราอาจอยู่ได้ไม่นานขนาดนี้หากพ่อแม่ไม่ได้ทุ่มเททรัพยากรให้กับลูกคนที่พวกเขาเห็นว่ามีศักยภาพ และดูจะประสบความสำเร็จมากที่สุดในบรรดาพี่น้องทั้งหมด สิ่งเหล่านี้ส่วนหนึ่งคือผลพวงของวิวัฒนาการที่มีมาแต่โบราณที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา แต่อีกส่วนหนึ่งเราก็รับรู้ได้จากเสียงสะท้อนของลูก ๆ ว่าเรากำลังรักลูกคนหนึ่งมากกว่าหรือเปล่า ผลกระทบในระยะยาวที่จะเกิดขึ้นกับเด็กอาจเป็นสิ่งเตือนใจถึงความสำคัญของการแสดงออกถึงความรัก ความใส่ใจให้ลูกทุกคนอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น

 

อ้างอิง
https://www.discovermagazine.com/the-sciences/the-secret-reason-why-parents-play-favorites
https://www.healthline.com/health-news/what-happens-to-kids-when-parents-play-favorites
https://www.americansurveycenter.org/the-problem-with-parental-favoritism/
https://www.brparents.com/article/long-term-effects-of-parental-favoritism.html

 

Tag

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS