จริงไหมที่นักศึกษาชอบกินอาหารไม่มีประโยชน์

A A
Dec 22, 2023
Dec 22, 2023
A A

 


จริงไหมที่นักศึกษาชอบกินอาหารไม่มีประโยชน์
พฤติกรรมนี้มีที่มาจากไหนกัน

 

 

  • มีนักศึกษาเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่มีพฤติกรรมการกินที่ดี คือ กินของว่างบ้าง กินอาหารฟาสต์ฟูดเล็กน้อย แต่กินผักและผลไม้มาก สิ่งที่น่าสนใจที่นักวิจัยค้นพบอีกอย่าง คือ นักศึกษามีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่าคนวัยเดียวกันที่ไม่ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยอีกด้วย 
  • คนเราจะสร้างนิสัยการดื่มในช่วงวัยหนุ่มสาว และจะยังคงมีพฤติกรรมแบบนี้ต่อไป ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคบางชนิด เช่น โรคตับ หัวใจและมะเร็งบางชนิดอย่างมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้และมะเร็งลำคอ ขึ้นอยู่กับปริมาณที่เราดื่มตลอดชีวิต และพฤติกรรมการดื่มนี่เองที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการกินของคนเรา
  • นอกเหนือจากอาหารที่เราเลือกกินซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดแล้ว วิทยาศาสตร์ยังพบว่า สิ่งที่สำคัญรองลงมา คือ เวลาที่เรากิน

 

หนึ่งในภาพจำของคนทั่วไปเมื่อพูดถึงพฤติกรรมการกินของนักศึกษา คือ ชอบกินของไม่มีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นอาหารฟาสต์ฟูดหรือขนมขบเคี้ยว ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง หรือดื่มแอลกอฮอล์บ่อย ๆ อาจไม่ต้องนึกไกล หลายคนอาจนึกถึงชีวิตตัวเองในช่วงที่ยังเรียนอยู่ที่ดูไม่ต่างจากนักศึกษายุคนี้สักเท่าไร พฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และหากจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือแม้แต่เวลาในการกินให้ได้ประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด ไม่อ้วนจนเสี่ยงต่อโรค วิทยาศาสตร์มีคำแนะนำในเรื่องนี้ไว้อย่างไร

อะไรทำให้พฤติกรรมการกินของนักศึกษาส่วนมากเริ่มเปลี่ยนไป และดูเหมือนจะกลายเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นทั่วโลก การสำรวจหนึ่งพบว่า 1 ใน 10 ของนักศึกษาในอังกฤษเป็นมังสวิรัติ ซึ่งมากกว่าประชากรทั่วไป 2 เท่า แม้จะมีสัดส่วนที่เยอะ แต่สุขภาพโดยรวมของคนกินมังสวิรัติขึ้นอยู่กับอาหารที่ทานแทนเนื้อสัตว์มากกว่า อย่างไรก็ตาม การสำรวจเดียวกันยังพบว่า 1 ใน 4 ของนักศึกษากินอาหารสะดวกซื้อเป็นส่วนใหญ่หรือทุกวัน

การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งยังพบว่า มีนักศึกษาเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่มีพฤติกรรมการกินที่ดี คือ กินของว่างบ้าง กินอาหารฟาสต์ฟูดเล็กน้อย แต่กินผักและผลไม้มาก สิ่งที่น่าสนใจที่นักวิจัยค้นพบอีกอย่าง คือ นักศึกษามีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่าคนวัยเดียวกันที่ไม่ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยอีกด้วย น่าตั้งคำถามว่า ทำไมการเรียนมหาวิทยาลัยถึงส่งผลต่อพฤติกรรมการกินที่ไม่ค่อยดีสุขภาพสักเท่าไร

 

ทำไมนักศึกษากินอาหารไม่มีประโยชน์

หากสังเกตกันดี ๆ เราจะพบว่า ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยจะเป็นช่วงที่นักศึกษาหลายคนเริ่มทดลองดื่ม John Holmes ศาสตราจารย์ด้านนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ในอังกฤษระบุว่า มีหลักฐานชี้ว่า คนเราจะสร้างนิสัยการดื่มในช่วงวัยหนุ่มสาว และจะยังคงมีพฤติกรรมแบบนี้ต่อไป ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคบางชนิด เช่น โรคตับ หัวใจและมะเร็งบางชนิดอย่างมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้และมะเร็งลำคอ ขึ้นอยู่กับปริมาณที่เราดื่มตลอดชีวิต และพฤติกรรมการดื่มนี่เองที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการกินของคนเรา ทำให้มีแนวโน้มที่จะกินอาหารที่ให้พลังงานสูง มีเกลือและน้ำตาลมาก เป็นพฤติกรรมที่เกิดมาจากความเชื่อว่า ต้องกินอะไรควบคู่ไปกับการดื่มด้วย คล้ายกับการกินกับแกล้มของคนไทย และเมื่อทำการสำรวจนักศึกษามากกว่า 250 คน ก็พบว่า นักศึกษาไม่มีแนวโน้มที่จะเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพในวันรุ่งขึ้นหลังจากดื่ม 

นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบเหตุผลอื่นที่ดูเป็นไปได้ว่า ทำไมนักศึกษาถึงไม่ค่อยกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยงานวิจัยในปี 2018 ของ Giovanni Sogari ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยปาร์มาในอิตาลีพบว่า นักศึกษาในอิตาลีเผชิญกับอุปสรรคมากมายในการกินอาหารที่หลากหลายและสมดุล ทั้งการเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาพ และการไม่มีเวลาเตรียมอาหาร นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสภาพแวดล้อม สถานที่ในการกินอาหารของมหาวิทยาลัย และความแตกต่างของการจัดเตรียมอาหารในมหาวิทยาลัยของประเทศต่าง ๆ เป็นหนึ่งในตัวแปรดังกล่าวด้วย

โดยทั่วไปเราอาจจะพบว่า การเลือกกินอาหารเพื่อสุขภาพต้องใช้ความตั้งใจมากกว่าปกติ ไหนจะต้องวางแผนว่าจะกินอะไร จะซื้ออะไรที่ไหน งานวิจัยก็พบข้อมูลในทิศทางเดียวกันว่า นักเรียนที่ให้ความสำคัญกับการกินอาหารเพื่อสุขภาพนั้นจะให้เวลากับการวางแผนล่วงหน้ามากกว่าคนทั่วไป

เช่นเดียวกับการที่จะมีอาหารที่ดีต่อสุขภาพไว้กิน แปลว่า เราต้องมีความรู้และทักษะในการเตรียมอาหารจากส่วนผสมพื้นฐานด้วย แต่การศึกษาหนึ่งก็พบว่า นักศึกษา 200 คนจากมหาวิทยาลัย 2 แห่งในอังกฤษ มีเพียง 47% เท่านั้นที่มีความรู้เกี่ยวกับโภชนาการในระดับที่ดี และใน 47% นี้ก็ไม่ได้การันตีด้วยว่า จะนำความรู้มาใช้จริงหรือไม่ นอกจากนี้ นักศึกษาบางคนก็บอกว่า สาเหตุที่ไม่ได้กินอาหารเพื่อสุขภาพก็เพราะมีข้อจำกัดเรื่องงบ โดยการสำรวจพบว่า นักศึกษาเกือบครึ่งเปลี่ยนไปซื้อแบรนด์ที่เป็นของซูเปอร์มาร์เก็ต และนักศึกษา 2 ใน 5 ก็ซื้ออาหารกลับบ้านน้อยลงเนื่องจากวิกฤตค่าครองชีพ 

แม้ว่าสำหรับนักศึกษาแล้ว การกินอาหารที่มีราคาถูกและดีต่อสุขภาพจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่โลกทุกวันนี้ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของอาหารเพื่อสุขภาพดูมีราคาแพงขึ้น มันจึงส่งผลต่อความมั่นใจ และการรับรู้ของผู้คนเกี่ยวกับการกินเพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น กลายเป็นการเสริมสร้างนิสัยการกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพเข้าไปแทน

 

 

นักศึกษา อาหารไม่มีประโยชน์

 

สาเหตุอีกอย่างหนึ่ง คือ เมื่อนักศึกษาย้ายออกจากบ้านเพื่อไปเรียน พวกเขาจะมีอิสระในการกินมากขึ้น บางครั้งพื้นที่ที่ย้ายไปสามารถหาซื้ออาหารจานด่วนได้ง่ายกว่า เคยมีงานวิจัยชุดหนึ่งทำการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคอาหารของนักเรียนชาวกรีกตอนที่อาศัยอยู่กับครอบครัว กับตอนที่ย้ายออกไปอยู่เองแบบไม่ไกลจากบ้าน หรือย้ายไปต่างประเทศที่กลาสโกว์ สกอตแลนด์ ผลพบว่า การย้ายออกไปอยู่เองทำให้นักศึกษากินของว่างที่ไม่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น และกินผักและผลไม้น้อยลง ยิ่งย้ายไปอยู่ในเมืองที่คนกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพมากเท่าไรก็จะยิ่งส่งผลต่อการกินของนักศึกษาตามไปด้วย

ถึงการมีพฤติกรรมการกินเหมือนนักศึกษาจะไม่เป็นอันตรายมากนักในระยะสั้น แต่การวิจัยพบว่า คนเราจะมีพฤติกรรมการกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นเมื่ออายุเยอะขึ้น และมันยังสัมพันธ์กับความเสี่ยงของโรคบางอย่างที่มากขึ้นในวัยผู้ใหญ่ รวมถึงโรคหัวใจอีกด้วย

มองเผิน ๆ เหมือนเราจะเห็นว่า ปัญหาการกินเพื่อสุขภาพ รวมถึงเวลา งบและความรู้ในการทำอาหารที่จำกัดดูจะเป็นปัญหาในกลุ่มคนหนุ่มสาว แต่ถ้ามองดี ๆ แล้วปัญหาเหล่านี้ก็เกิดขึ้นกับคนทั่วไปที่ไม่ใช่นักศึกษาเช่นเดียวกัน แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคจริง แต่เรายังสามารถกินอาหารสุขภาพได้อยู่ แม้จะมีข้อจำกัดที่ว่ามาก็ตาม

 

เวลาในการกินสำคัญรองจากอาหารที่เรากิน

นอกเหนือจากอาหารที่เราเลือกกินซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดแล้ว วิทยาศาสตร์ยังพบว่า สิ่งที่สำคัญรองลงมา คือ เวลาที่เรากิน ถึงเราจะรู้กันว่า มื้อเช้าควรเป็นมื้อที่หนักที่สุด มื้อเย็นควรกินน้อยที่สุด แต่ในความเป็นจริงเหมือนเราจะกินมื้อเย็นหนักกว่ามื้ออื่น เพราะการไม่กินมื้อเช้าทำให้เราหิวมากขึ้น บางครั้งก็มีสังสรรค์กับเพื่อนหลังเลิกงานต่อ มื้อเย็นจึงกลายเป็นมื้อใหญ่ที่สุดของวันโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่งานวิจัยพบว่า คนที่กินอาหารที่มีแคลอรีเท่ากันในแต่ละวัน โดยที่เน้นกินหนักในตอนเช้าและกลางวันจะลดน้ำหนักได้มากกว่าคนที่กินหนักในตอนเย็น ไม่ใช่แค่การลดน้ำหนักจะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่กินเท่านั้น แต่การกินมื้อเช้ายังส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม เช่น ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต และทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานได้ดีขึ้น งานวิจัยอีกหลายชิ้นยังพบข้อดีของการกินอาหารเย็นให้เร็วขึ้น เช่น ช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด และพบว่า การกินดึกจะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อหลอดเลือดหัวใจ อย่างความเข้มข้นของไตรกลีเซอไรด์ในเลือดอีกด้วย

นักโภชนาการและนักเขียน Carolyn Williams บอกว่า จริง ๆ แล้วเราควรกำหนดเวลาที่จะกินและไม่กินด้วย โดยปกติเวลาที่เราจะไม่กินจะอยู่ที่ 12 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย โดยในช่วง 12-16 ชั่วโมงที่เราไม่กินอาหาร ร่างกายจะสามารถลดน้ำหนักได้ดีขึ้น ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องปกติที่ทำกันมาเนิ่นนานจนถึงทศวรรษ 1970 ก่อนที่ขนมขบเคี้ยวและและอาหารจะเริ่มมีจำหน่ายตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อ 50 ปีก่อน คนส่วนใหญ่มักจะกินอาหารที่บ้าน ไม่ค่อยมีของขบเคี้ยวกินมากนัก และครัวก็มักจะปิดหลังจากเวลาอาหารเย็น แต่ถึงแม้ว่าเราจะเป็นคนที่กินอาหารเย็นตามปกติ การเว้นช่วงเวลาที่จะไม่กิน 12-16 ชั่วโมงก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ สมมติว่า เรากินข้าวเย็นไปตอนสามทุ่ม แสดงว่าเราจะกินมื้อเช้าได้อีกทีก็ตอน 9.00-13.00 น. ของวันถัดไป

เมื่อวิทยาศาสตร์บอกว่า การกินอาหารเพื่อสุขภาพยังคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้แม้นักศึกษาหรือคนส่วนมากจะเจอกับอุปสรรคอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยงานวิจัยเหล่านี้ก็ทำให้เราพอจะเข้าใจพฤติกรรมสุดคลาสสิกของคนวัยเรียนได้ว่า มีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง ซึ่งสุดท้ายแล้วมันอาจช่วยให้เราลดการเหมารวม หรือตีตราคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคมลงได้

 

อ้างอิง
https://www.bbc.com/future/article/20221128-do-students-really-eat-that-badly
https://www.discovermagazine.com/health/the-best-times-of-the-day-to-eat-according-to-science

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS