เด็กดูหน้าจอมากยิ่งเสี่ยงโรคย้ำคิดย้ำทำ

A A
Jan 23, 2023
Jan 23, 2023
A A

เด็กดูหน้าจอมากยิ่งเสี่ยงโรคย้ำคิดย้ำทำ

 

 

  • การเล่นวิดีโอเกม และการดูวิดีโอเป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กมีแนวโน้มเสี่ยงโรคย้ำคิดย้ำทำมากที่สุด 
  • ยิ่งเล่นวิดีโอเกมนานขึ้นทุกชั่วโมงต่อวันจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงโรคนี้ 15% ในขณะที่การดูวิดีโอที่เพิ่มขึ้นทุกชั่วโมงต่อวัน เช่น YouTube จะเพิ่มความเสี่ยงโรค 11%
  • การดูทีวีแบบปกติ และการใช้โซเชียลมีเดียไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในกลุ่มทดลองแต่อย่างใด

 

แม้เราจะรู้กันดีว่า การดูจอมาก ๆ ส่งผลต่อคนทุกช่วงวัย ในเด็กก่อน 2 ขวบ หากพ่อแม่ปล่อยให้ดูจอ เด็กจะมีพัฒนาการที่ล่าช้า และอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง สำหรับในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ การดูจอมาก ๆ ส่งผลต่อสุขภาพ ความสัมพันธ์ และอาจเสี่ยงต่อโรคสมาธิสั้นได้ ล่าสุดงานวิจัยจากอเมริกาเพิ่งพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า เด็กก่อนวัยรุ่นที่ดูจอมาก ๆ จากการเล่นเกมออนไลน์หรือดูวิดีโอ จะยิ่งมีความเสี่ยงโรคย้ำคิดย้ำทำมากขึ้น ซึ่งนี่เป็นงานวิจัยในระยะยาวที่ศึกษาเรื่องพัฒนาสมองในเด็กที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา ทำไมการดูจอมากเกินไปถึงเพิ่มความเสี่ยงโรคนี้ได้ ในฐานะครูและพ่อแม่เราจะช่วยเด็กได้อย่างไรเมื่อโลกทุกวันนี้หันไปทางไหนก็เจอแต่หน้าจอ

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักโรคย้ำคิดย้ำทำกันก่อนว่าคืออะไร โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง โดยสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสนใจและการเตือนภัยจะไม่สามารถสื่อสารกับสมองส่วนอื่น ๆ ได้อย่างถูกต้อง ทำให้เกิดความคิดและแรงกระตุ้นที่ก้าวร้าว หมกมุ่น ตลอดจนพฤติกรรมซ้ำ ๆ เช่น ล้างมือเพื่อคลายความวิตกกังวลจากการครุ่นคิด แน่นอนว่า โรคนี้ไม่ได้มีแค่สาเหตุเดียว แม้ว่าจะเกิดจากพันธุกรรมได้ก็ตาม 

 

งานวิจัยสำรวจการใช้หน้าจอในเด็กก่อนวัยรุ่น

 

งานวิจัยที่ค้นพบในประเด็นนี้เพิ่งตีพิมพ์ใน Journal of Adolescent Health โดยนักวิจัยได้ติดตามสุขภาพและพฤติกรรมของเด็กอายุ 9 และ 10 ปี กว่า 9,200 คน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างมีทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงเท่า ๆ กัน ตลอดจนความหลากหลายทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ที่ไม่ได้เอนเอียงไปทางกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และเหตุผลที่เลือกทำวิจัยกับเด็กอายุ 9-10 ปี ก็เพราะการเกิดขึ้นของโรคย้ำคิดย้ำทำมีแนวโน้มสูงสุดตอนอายุ 9-10 ปีนั่นเอง 

วิธีการที่ Dr. Jason Nagata ผู้วิจัยหลักและผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ใช้ในการวิจัยนี้ คือ ให้เด็กทำแบบสำรวจว่า ปกติพวกเขาใช้เวลากี่ชั่วโมงต่อวันไปกับหน้าจอ ทั้งการดูทีวี ดูหนัง ดูวิดีโอ เล่นวิดีโอเกม ส่งข้อความ วิดีโอแชท และโซเชียลมีเดีย และอีก 2 ปีต่อมาก็จะสอบถามผู้ดูแลเด็กเหล่านี้ว่า เด็กมีอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำหรือไม่ โดยที่การดูจอเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการศึกษาจะไม่ถูกนับในการวิจัยนี้

ข้อมูลที่ได้พบว่า เด็ก ๆ ใช้เวลาโดยเฉลี่ย 3.9 ชั่วโมงต่อวันไปกับหน้าจอ และเด็ก 4.4% เริ่มมีอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำในช่วง 2 ปี ซึ่งกิจกรรมที่ทำให้เด็กมีแนวโน้มเสี่ยงโรคนี้มากที่สุด คือ การเล่นวิดีโอเกม และการดูวิดีโอ

โดยการเล่นวิดีโอเกมที่นานขึ้นทุกชั่วโมงต่อวันจะเพิ่มความเสี่ยงโรคย้ำคิดย้ำทำ 15% ในขณะที่การดูวิดีโอที่เพิ่มขึ้นทุกชั่วโมงต่อวัน เช่น YouTube จะเพิ่มความเสี่ยงโรคนี้ 11% ทำให้ใน 2 ปี ความเสี่ยงโรคจะเพิ่มขึ้น 13% 

 

เวลาหน้าจอ

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการดูจอที่มากขึ้นทุกชั่วโมงจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยง แต่งานวิจัยก็พบว่า การดูทีวีแบบปกติ และการใช้โซเชียลมีเดียไม่ได้เพิ่มปัจจัยเสี่ยงแต่อย่างใด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการดูทีวีมีช่องและรายการที่จำกัด เนื้อหาจึงอาจจะไม่ได้ตรงกับความสนใจของเด็กมากนัก ตรงข้ามกับการดูจอมือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ที่การทำงานของอัลกอริทึมและโฆษณาจะทำหน้าที่คัดกรองวิดีโอที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกับสิ่งที่เด็กสนใจมาฟีดให้เรื่อย ๆ เลยยิ่งทำให้เด็กถูกครอบงำและคุมใจไม่อยู่ 

ส่วนสาเหตุที่การใช้โซเชียลมีเดียไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงโรคย้ำคิดย้ำทำในเด็กวัยนี้อย่างมีนัย ก็เพราะเด็กอายุ 9-10 ปี มีอายุน้อยกว่าอายุขั้นต่่ำที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่กำหนด พวกเขาจึงใช้โซเชียลน้อยกว่ากลุ่มวัยรุ่น

 

ทำไมดูหน้าจอนาน ๆ เพิ่มความเสี่ยงโรคย้ำคิดย้ำทำ

 

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วโรคย้ำคิดย้ำทำมาเกี่ยวอะไรกับการดูจอนาน ๆ ผู้วิจัยได้คำตอบจากเด็กก่อนวัยรุ่นที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นวิดีโอเกมว่า พวกเขาจะต้องเล่นมากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่สามารถหยุดได้ แม้จะอยากหยุดก็ตาม Nagata จึงมองว่า ความคิดไม่ดีที่ผุดขึ้นเกี่ยวกับเนื้อหาในวิดีโอเกมอาจพัฒนาไปสู่การครอบงำจิตใจ ทำให้เด็กควบคุมใจไม่อยู่ 

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตจาก Dr. Hanna Garza ผู้อำนวยการคลินิก Texas Child Health Access through Telemedicine (TCHATT) ว่า งานวิจัยนี้ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ข้อมูลที่ได้มาเป็นข้อมูลจากการรายงานของเด็กเอง เป็นไปได้ว่า เด็กอาจให้ข้อมูลที่คิดว่า ตัวเองควรพูดมากกว่าข้อมูลจริง อีกทั้งการศึกษาเฉพาะการใช้เวลาหน้าจอไปกับการเล่นวิดีโอเกมและการดูวิดีโออย่างเดียวยังแคบเกินไป ควรจะมีการศึกษาเพิ่มเติมในด้านอื่นอีก นอกจากนี้ งานวิจัยนี้ยังไม่ได้วัดที่คุณภาพหรือเนื้อหาที่เด็กดูหน้าจอ เพื่อเชื่อมโยงระหว่างตัวแปรต่าง ๆ อีกด้วย 

 

วิธีลดความเสี่ยงโรคย้ำคิดย้ำทำจากการดูหน้าจอ

 

แม้เด็กรุ่นใหม่จะโตมาในยุคที่หันไปทางไหนก็เจอแต่หน้าจอ และหลายสิ่งหลายอย่างก็ขับเคลื่อนไปเทคโนโลยี แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การห้ามใช้สื่อดิจิทัลไม่ใช่ทางออกที่ดี โรงเรียนควรให้ความรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงพฤติกรรมการใช้สื่อที่ดีกับเด็ก พ่อแม่เองก็ควรพูดคุยกับลูกถึงการใช้เวลาไปกับหน้าจอ เตรียมแผนการใช้สื่อสำหรับครอบครัวที่อาจรวมถึงการจำกัดเวลาการดูหน้าจอ และสอนให้เด็กรู้ว่า เวลาไหนที่ไม่ควรใช้จอ เช่น ก่อนนอนหรือตอนกินข้าว สิ่งสำคัญ คือ พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ๆ ในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งวิธีที่เราใช้สังเกตสัญญาณที่เด็กเริ่มติดจอ คือ การดูหน้าจอเริ่มส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ความสัมพันธ์ และการทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของพวกเขา

ปัญหาพฤติกรรมติดหน้าจอยังคงเป็นปัญหาที่น่ากังวลสำหรับคนทุกช่วงวัยในโลกสมัยใหม่ การหาสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในแบบพอเหมาะพอดี โดยที่ไม่ปล่อยให้มันกลับมาทำร้ายเราในหลาย ๆ มิติอาจจะยังเป็นเรื่องที่ท้าทายพวกเราทุกคนอยู่ เพราะเราไม่ทางรู้เลยว่า ในอนาคตจะมีการค้นพบอะไรใหม่ ๆ ที่ว่าด้วยผลกระทบจากพฤติกรรมที่เกิดจากการเสพติดเทคโนโลยี แล้วคุณล่ะมีวิธีรักษาสมดุลในเรื่องนี้อย่างไรท่ามกลางโลกที่หน้าจอแทบจะกลายเป็นสิ่งแรกที่เราจ้องมองทันทีที่ลืมตาตื่นขึ้นมา

 

 

อ้างอิง
https://www.edweek.org/leadership/screen-time-can-raise-childrens-chance-of-ocd-educators-can-help-prevent-that/2022/12
https://www.healthline.com/health-news/ocd-and-kids-video-games-screentime-linked-to-compulsive-behavior
https://www.ucsf.edu/news/2022/12/424431/screen-time-linked-ocd-us-preteens

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS