เทคโนโลยีจะล้ำขนาดไหน แต่ทำไมการเขียนลงสมุดยังคงมีประโยชน์มากกว่า
เทคโนโลยีจะล้ำขนาดไหนแต่คุณยังจำครั้งสุดท้ายที่เราหยิบดินสอหรือปากกาขึ้นมาเขียนลงสมุดได้หรือเปล่า บางคนอาจเป็นเมื่อวาน บางคนอาจนานหลายเดือน หรือหลายปีจนจำแทบไม่ได้
การเขียนสำหรับแต่ละคนจึงกลายเป็นเรื่องความชอบส่วนบุคคล ไลฟ์สไตล์ที่ไม่เหมือนกัน แต่ถึงแม้เทคโนโลยีจะก้าวล้ำขนาดไหน กลับมีงานวิจัยยืนยันว่า การเขียนด้วยลายมือลงสมุดนั้นให้ประโยชน์ต่อคนทุกเพศทุกวัยมากกว่าการเขียนด้วยปากกาบนไอแพด หรือการพิมพ์ลงบนคอมพิวเตอร์เสียอีก
พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กและกระบวนการคิดในเด็กเล็ก
การเขียนช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี Dr.Klemm เขียนไว้ใน Psychology Today ว่า การเขียนทำให้มือและตาของเด็กต้องทำงานประสานกัน เพราะอักษรแต่ละตัวนั้นมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้ ยังช่วยพัฒนากระบวนการคิดด้วย เพราะสมองส่วนที่มีหน้าที่แตกต่างกันได้ฝึกทำงานร่วมกัน
เรียนรู้และจดจำได้ดีกว่า
ในระดับชั้นที่สูงขึ้นเราพบว่า การเขียนลงสมุดยังเอื้อประโยชน์ต่อการเรียนรู้เชิงมโนทัศน์ (Conceptual Learning) มากกว่าการเรียนรู้เชิงข้อเท็จจริง (Factual Learning) เพราะการเขียนต้องอาศัยทักษะการประมวลผล และสรุปเนื้อหาที่ลึกซึ้งกว่ามาก งานวิจัย “The Pen is Mightier than the Keyboard” โดย Pam Mueller และ Daniel Oppenheimer พบว่านักเรียนที่ตอบคำถามในเชิงความคิดได้ดีคือนักเรียนที่ใช้วิธีการจดโน้ตลงสมุดมากกว่านักเรียนที่เลือกพิมพ์สรุปลงโน้ตบุ้ค เพราะพวกเขาต้องมีความเข้าใจ วิเคราะห์เนื้อหาได้ว่าอะไรสำคัญ และสามารถสรุปให้เป็นภาษาของตัวเองได้ ขณะที่นักเรียนที่เลือกการพิมพ์สรุปมักจะพิมพ์ถอดคำพูดของครูออกมาแทบจะคำต่อคำ การเขียนด้วยมือจึงทำให้เกิดการเรียนรู้และจดจำได้ดีขึ้น
ถ้าสังเกตดีๆ เราจะพบว่า คนที่เรียนเก่งมักจะชอบจดโน้ตสรุปเองมากกว่าใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งก็ตรงกับงานวิจัยส่วนใหญ่ หลายคนก็อาจมีประสบการณ์ยืมชีทสรุปของเพื่อนที่เก่งๆ มาซีร็อกซ์อ่านช่วงใกล้สอบ โดยหวังว่าจะได้คะแนนดีเหมือนเพื่อนบ้าง แต่ถึงจะอ่านชีทเดียวกัน เรากลับไม่ได้คะแนนสอบเท่าเพื่อน นี่แสดงให้เห็นเลยว่า การเขียนทำให้เกิดการเรียนรู้เป็นรายบุคคล
นอกจากนี้ ประโยชน์ของการเขียนยังไม่ได้จำกัดเฉพาะเด็กเล็กและนักเรียนเท่านั้น แต่ในกลุ่มคนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เช่น บกพร่องทางการอ่าน (Dyslexia) การเขียนจะช่วยพัฒนาการทำงานของสมองและความจำ มีข้อมูลว่า 30% ของเด็กที่เป็น Dyslexia จะมีอาการสมาธิสั้นอย่างอ่อน ซึ่งจะบรรเทาลงได้ด้วยการฝึกเขียน ไม่เฉพาะกลุ่มคนที่มีความบกพร่องเท่านั้น การเขียนยังเป็นเครื่องมือที่ดีมากๆ สำหรับคนที่เรียนรู้ได้ดีเมื่อเห็นเป็นภาพ (Visual Learner) อีกด้วย
ลดงานครู เข้าใจเด็กได้มากขึ้น
มาดูในมุมของครูกันบ้าง สมุดบันทึกสามารถสะท้อนให้ครูเห็นอะไรในตัวเด็กได้หลายอย่าง เช่น ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสมบูรณ์ ลายมือที่อ่านง่าย คำตอบที่ถูกต้อง เข้าใจคำสั่งหรือเนื้อหาจริงหรือไม่ ครูในสหรัฐฯ บางคนมีการให้คะแนนสมุดบันทึกเหมือนกับการให้คะแนนงานของนักเรียนโดยทั่วไป ครูจึงเสียเวลากับการให้คะแนนนักเรียนน้อยลง เพราะนักเรียนไม่ต้องส่งงานให้ตรวจทุกรอบ แต่ครูสามารถตรวจงานนักเรียนได้หลายชิ้นจากการส่งสมุดบันทึกให้ดูทีเดียว
สำหรับคนทั่วไปอย่างเราๆ ดินสอ ปากกาและสมุดอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นมากเท่าแต่ก่อน แต่ของพื้นๆ เหล่านี้แหละกลับช่วยฝึกฝนทักษะต่างๆ และให้ประโยชน์กับเราได้อย่างชนิดที่เรียกได้ว่าเทคโนโลยีล้ำขนาดไหนก็ไม่สามารถทดแทนกันได้
ฝึกทักษะการจัดการได้อย่างดี
ถ้าอยากเป็นคนที่มีทักษะการจัดการดีเยี่ยม ยิ่งควรเขียนลงสมุดโน้ตบ่อยๆ เพราะเมื่อไรที่เราไม่พึ่งพาเทคโนโลยีในการช่วยเขียนหรือจัดการ เราจะได้ค้นหาวิธีการจดที่เวิร์กที่สุดสำหรับตัวเอง การเขียนจึงเป็นการสร้างทักษะที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต เป็นการหาว่าเราจะประมวลและถ่ายทอดข้อมูลให้ออกมามีประสิทธิภาพได้อย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกอาชีพบนโลกใบนี้
และยิ่งเราไม่ใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีใดๆ เข้ามาช่วย เราจะมีสมาธิเต็มที่ เพราะไม่ถูกรบกวนจากข้อความในมือถือ หรือการแจ้งเตือนต่างๆ การเรียนรู้ที่แท้จริงจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากเราไม่จดจ่อมากเพียงพอ นักจิตวิทยา Daniel Goleman ถึงกับบอกว่า การจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นจะเป็นตัวบอกว่า สุขภาพเราจะเป็นอย่างไร หรือจะประสบความสำเร็จทางอาชีพและรายได้มากน้อยแค่ไหนได้มากกว่าปัจจัยด้าน IQ หรือสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่เราโตมาเสียอีก
พัฒนาความคิดสร้างสรรค์
หากเราเป็นคนที่คิดอะไรไม่ค่อยออก รู้สึกไม่ค่อยมีความคิดสร้างสรรค์ ให้ลองหันมาจับดินสอ ปากกาแล้วขีดเขียนดู นักประสาทวิทยายืนยันว่า ไอเดียใหม่ๆ ต้องมาแน่เมื่อได้ลงมือเขียน เพราะสมองจะเริ่มวางแผนและลงมือทำอะไรบางอย่าง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่จับต้องได้ผ่านตัวอักษรและคำที่เป็นอิสระ ซึ่งตรงข้ามกับการพิมพ์ที่เรารู้ทันทีเลยว่า ถ้ากดแป้นพิมพ์ตัว ก ไป เราก็จะเห็น ก แบบที่เราคุ้นเคยปรากฏขึ้นบนหน้าจอแน่นอน เมื่อความคิดสร้างสรรค์มีมากขึ้น ทักษะการแก้ปัญหาและการคิดเชิงวิพากษ์จะมีมากขึ้นตามไปด้วย
การเขียนคือพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์
สำหรับคนที่ทำงานเขียนเป็นอาชีพอย่าง “ฐานชน จันทร์เรือง” นักเขียนเจ้าของผลงานหนังสือ ขมิบและโตชิบู้สู้พายุ ปรัชญาในภาพยนตร์ สมันตัวสุดท้าย และยังมีผลงานเขียนบทละคร ซีรีส์ อินจัน Extraordinary Siamese Story ทาง Disney+ ยายกะลา ตากะลี ระเด่นลันได เดอะมิวสิคัล เขามองว่าการเขียนเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ดูจริง และเป็นธรรมชาติกว่าการเขียนหรือพิมพ์ลงไอแพดหรือคอมพิวเตอร์อย่างเทียบไม่ได้
“คนรุ่นเราโตมากับการเขียนลงกระดาษ จะรู้สึกถึงผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอัน ภูมิใจทุกครั้งที่จดหรือบันทึกอะไรสวยๆ ลงกระดาษ เหมือนได้สร้างผลงาน กลิ่นกระดาษ กลิ่นปากกามันมีเสน่ห์ มีความขลัง ลองเขียนหรือพิมพ์ลงไอแพดแล้วรู้สึกว่ามันไม่จริงจัง แสงของไอแพดมันวูบวาบ คงที่เกินไป ไม่ธรรมชาติเหมือนกระดาษที่ใช้แสงจากการตกกระทบจากแสงจริงในพื้นที่นั้นๆ การสไลด์หน้าจอก็ทำให้เสียสมาธิ เลื่อนขึ้นเลื่อนลงมากๆ ก็ตาลาย และไม่เห็นภาพรวม อันนี้สำคัญสุด เขียนลงกระดาษช่วยให้เห็นภาพรวมกว่าเขียนลงไอแพดที่ต้องสไลด์อ่าน ความต่อเนื่องทางความคิดต่างกัน การสร้างความคิดรวบยอดในสมองไม่เกิด
การเขียนด้วยมือเหมือนเป็นพิธีกรรม สร้างความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาบางอย่าง แล้วทำให้เรามุ่งมั่นกับงาน เห็นคุณค่าในตัวเอง คิดบวก สมองแล่นกว่ามาก ยิ่งเขียนแล้ววาดด้วย ทำ Mind Map ทำรูป ทำตาราง เชื่อมโยงด้วยแล้วยิ่งดี”
เยียวยาจิตใจ ช่วยให้คลายเศร้า วิตกกังวล
ในโลกที่หลายคนเผชิญกับความเศร้าหรือวิตกกังวลจากงานหรือชีวิตส่วนตัว การเขียนอาจเป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ แต่ถ้ายังแก้ปัญหาให้ตัวเองในเรื่องนี้ไม่ได้ การไปพบหมอเพื่อขอคำปรึกษาก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่อย่าลืมสังเกตกันดูว่า ขณะที่หมอซักถามอาการคนไข้อยู่นั้น หมอใช้วิธีการจดหรือใช้คอมพิวเตอร์ หากหมอฟังอาการไปพร้อมๆ กับการจดด้วยปากกา หมอคนนั้นก็อาจสร้างสายสัมพันธ์กับคนไข้ได้ดีกว่า นี่แหละประโยชน์ของการเขียนที่เราอาจคาดไม่ถึง
เมื่อการเขียนดีซะขนาดนี้ ลองให้โอกาสตัวเองได้กลับมาจับดินสอ ปากกากันอีกครั้ง ใครจะรู้ว่าเราอาจเก่งขึ้น มีความสุขขึ้น ชีวิตดีขึ้นได้ด้วยของที่ดูเรียบง่ายอย่างที่สุด
อ้างอิง
https://edut.to/3CIOos9
https://bit.ly/3AzctRv
https://bit.ly/3zzygXJ
https://bit.ly/2ZilArL
https://bit.ly/3EJ3dg8