ความลับของสามเหลี่ยม รูปทรงเรขาคณิตที่สมบูณ์แบบที่สุดในโลก

A A
Aug 19, 2024
Aug 19, 2024
A A

ความลับของสามเหลี่ยม รูปทรงเรขาคณิตที่สมบูณ์แบบที่สุดในโลก

 

 

“สามเหลี่ยม” เมื่อรู้ความยาวของด้านทั้งสามแล้ว สามารถจะระบุรูปร่างทั้งหมดได้เพียงรูปเดียวเท่านั้น เป็นลักษณะพิเศษที่ทำให้มันเป็นหนึ่งในรูปทรงที่มีเสถียรภาพและเป็นพื้นฐานของทุกแขนงในวิชาเรขาคณิต

   รูปทรงสามเหลี่ยมนับเป็นหนึ่งในรูปทรงพื้นฐานที่มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อจิตใจมนุษย์มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยุคบรรพกาลจนถึงปัจจุบัน รูปทรงนี้ได้แทรกซึมเข้าไปในทุกมิติของชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม วัฒนธรรม ศาสนา การเมือง และเศรษฐกิจ การศึกษาอิทธิพลของรูปทรงสามเหลี่ยมจึงเป็นการเปิดประตูสู่การทำความเข้าใจพฤติกรรมและจิตวิทยาของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง

 

มนุษย์ผูกพันกับ “สามเหลี่ยม” มาตั้งแต่ยุคบรรพกาล

   ตั้งแต่ ยอดเขา ใบไม้ และรูปร่างของสัตว์บางชนิด ความคุ้นเคยกับรูปทรงนี้นำไปสู่การประยุกต์ใช้ในสิ่งปลูกสร้างและงานศิลปะ ปิรามิดแห่งอียิปต์โบราณเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดของการใช้รูปทรงสามเหลี่ยมในสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ การสร้างปิรามิดไม่เพียงแต่แสดงถึงความก้าวหน้าทางวิศวกรรม แต่ยังสะท้อนถึงความเชื่อทางศาสนาและอำนาจทางการเมืองของฟาโรห์

   การศึกษาทางโบราณคดีพบว่า รูปทรงสามเหลี่ยมปรากฏในวัฒนธรรมโบราณทั่วโลก ไม่เพียงแต่ในอียิปต์เท่านั้น ในอเมริกากลาง อารยธรรมมายาได้สร้างปิรามิดขั้นบันไดที่มีความซับซ้อนไม่แพ้กัน ในขณะที่ในเอเชีย พบการใช้รูปทรงสามเหลี่ยมในสถาปัตยกรรมวัดและศาสนสถานต่างๆ เช่น เจดีย์ทรงปิรามิดในพม่า หรือหลังคาทรงสามเหลี่ยมของวัดในญี่ปุ่น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นสากลของรูปทรงสามเหลี่ยมในการสื่อความหมายทางจิตวิทยาและวัฒนธรรม

 

สามเหลี่ยมกับอารมณ์ของมนุษย์

   การศึกษาของนักจิตวิทยากลุ่ม Gestalt psychology ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์มีแนวโน้มที่จะมองเห็นรูปทรงสามเหลี่ยมแม้ในสิ่งที่ไม่ใช่รูปทรงสามเหลี่ยมที่สมบูรณ์ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “การรับรู้รูปทรงที่สมบูรณ์” (Law of Closure) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของรูปทรงสามเหลี่ยมในการประมวลผลข้อมูลทางสายตาของมนุษย์สอดคล้องกับอีกงานวิจัยในวารสาร Psychology of Aesthetics, Creativity, and the Arts ที่พบว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองมักเชื่อมโยงรูปทรงสามเหลี่ยมกับคำว่า “พลัง” “ความแข็งแกร่ง” และ “ความมั่นคง” มากกว่ารูปทรงอื่นๆ สิ่งนี้อธิบายได้ถึงเหตุผลที่รูปทรงสามเหลี่ยมถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการออกแบบโลโก้ขององค์กรที่ต้องการสื่อถึงความน่าเชื่อถือและความมั่นคงนั่นเอง

 

 

The Psychology Behind Triangle

 

 

   ขณะเดียวกันรูปทรงสามเหลี่ยมก็ถูกสื่อสารในบริบททางการเมืองด้วยเช่นกัน ผ่านการแสดงถึงลำดับชั้นและโครงสร้างอำนาจจากแนวคิดพีระมิดทางสังคม (Social Pyramid) เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการใช้รูปทรงสามเหลี่ยมในการอธิบายโครงสร้างทางสังคม โดยแสดงให้เห็นถึงชนชั้นต่างๆ ในสังคม จากฐานที่กว้างของประชาชนทั่วไป ไปจนถึงยอดแหลมที่แทนชนชั้นปกครอง และแนวคิดนี้ก็ไม่เพียงแต่ใช้ในการอธิบายโครงสร้างทางสังคมเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายและการบริหารประเทศในหลากหลายประเทศ

   ด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา รูปทรงสามเหลี่ยมได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการอธิบายแนวคิดเรื่อง “ลำดับขั้นการเรียนรู้” (Learning Hierarchy) ของ Robert Gagné นักจิตวิทยาการศึกษาชื่อดัง โดยแสดงให้เห็นถึงระดับความซับซ้อนของการเรียนรู้ตั้งแต่ทักษะพื้นฐานไปจนถึงทักษะขั้นสูง แนวคิดนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการออกแบบหลักสูตรและวิธีการสอนในระบบการศึกษาสมัยใหม่

 

 

The Psychology Behind Triangle

 

 

   แม้แต่หลังผืนผ้าใบโลกแห่งภาพยนตร์เอง รูปทรงสามเหลี่ยมก็ถูกนำมาใช้อย่างแยบยลเพื่อสื่อความหมายและสร้างอารมณ์ร่วมกับผู้ชม ตัวอย่างที่โดดเด่นคงหนีไม่พ้นภาพยนตร์ระทึกขวัญชั้นครูอย่าง “The Shining” (1980) ผลงานแจ้งเกิดของผู้กำกับมากฝีมือ Stanley Kubrick ที่สอดแทรกเอกลักษณ์ของรูปทรงสามเหลี่ยมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากที่แดนนี่ขี่จักรยานสามล้อไปตามทางเดินของโรงแรม มุมกล้องที่ต่ำ ทางเดินที่แคบลงเรื่อย ๆ สร้างรูปทรงสามเหลี่ยมที่บีบเข้าหาจุดศูนย์กลาง เพื่อสื่อสารถึงความอึดอัด ไร้ทางออก และความหวาดกลัวที่กำลังคืบคลานเข้ามา

 

 

The Psychology Behind Triangle

 

 

   การศึกษาของ Vittorio Gallese และ Michele Guerra ในปี 2012 เกี่ยวกับ “นิวโรซีนีมาติกส์” (Neurocinematics) ได้แสดงให้เห็นว่าการใช้รูปทรงเรขาคณิตในภาพยนตร์ รวมถึงรูปทรงสามเหลี่ยม สามารถกระตุ้นระบบประสาทกระจกเงา (Mirror Neuron System) ในสมองของผู้ชม ทำให้เกิดการตอบสนองทางอารมณ์และการเข้าใจความรู้สึกของตัวละครได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่นในภาพยนตร์เรื่อง “Inception” (2010) ของพ่อมดแห่ง Hollywood คริสโตเฟอร์ โนแลน กับการเลือกใช้ใช้รูปทรงสามเหลี่ยมปรากฏอย่างเด่นชัดในฉากที่เมืองพับตัวเข้าหากัน สร้างภาพลวงตาที่น่าทึ่งและสื่อถึงความไม่มั่นคงของโลกในความฝัน นำคนดูนำไปสู่ประสบการณ์ที่เข้มข้นและมีส่วนร่วมมากขึ้น

   อย่างที่เรารู้ว่ารูปทรงสามเหลี่ยมนั้นได้เดินทางผ่านกาลเวลาจากยุคบรรพกาลมาสู่ยุคดิจิทัล โดยยังคงรักษาพลังทางจิตวิทยาที่ลึกซึ้งไว้ได้อย่างน่าทึ่งจากการเป็นสัญลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ในอารยธรรมโบราณ สู่การเป็นเครื่องมือในการสื่อสารอารมณ์และความหมายในภาพยนตร์สมัยใหม่ จึงไม่ใช่คำกล่าวเกินจริงหากเราจะบอกว่า รูปทรง 2 มิติกับมุมภายในรวมกันเท่ากับ 180 นี้ คือ “รูปทรงเรขาคณิตที่สมบูรณ์แบบที่สุด”

 

ขอบคุณข้อมูล

https://www.laborarts.org/collections/item.cfm%3Fitemid=428.html

https://piktochart.com/blog/psychology-of-shapes/

https://digitalsynopsis.com/design/movie-geometry-shapes-emotions-visual-storytelling/

https://www.irondragondesign.com/psychology-of-shapes-triangles/

https://storyembers.org/why-triangles-are-the-secret-to-writing-killer-scenes-every-time/

https://teretha.com/circle-square-triangle-theory/

https://uncommonls.wordpress.com/2023/01/22/robert-gagnes-theory-of-learning-hierarchy/

https://www.slideshare.net/slideshow/bruce-blocks-visual-components-for-filmmakers/11355392

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS