ความเห็นอกเห็นใจเป็นเรื่องที่ต้องสอนในชั้นเรียน หรืออยู่ใน DNA ของมนุษย์
อารมณ์เป็น DNA ของมนุษย์ มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เราเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และอาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องสอนกันในโรงเรียน แต่แท้จริงแล้วทักษะทางสังคมและอารมณ์เป็นเรื่องที่สามารถสอนกันได้ในโรงเรียน และยังช่วยเพิ่มผลการเรียนรวมไปถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ เราเองอาจจะไม่ได้พัฒนาทักษะนี้จนหลงลืมไปโดยเฉพาะเรื่องความเห็นอกเห็นใจเป็นคุณสมบัติที่สำคัญในชีวิตของคนส่วนใหญ่ แต่ในยุคที่เร่งรีบโซเชียลมีเดียเองก็สร้างค่านิยมใหม่ให้เราทุกคนต่างออนไลน์กันมากขึ้น สร้างโลกเสมือนกันเยอะขึ้น ทำให้เรามองไม่เห็นความรู้สึกของผู้อื่น แต่เกือบทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาสิ่งสำคัญสิ่งนี้ได้
แท้จริงแล้วผู้คนเกิดมาพร้อมกับความเห็นอกเห็นใจ หรือ เป็นสิ่งที่เราต้องสอนกัน
98% ของคนทั่วไปมีความสามารถในการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ยกเว้นบุคคลบางกลุ่มที่ป่วยได้แก่ โรคจิตเภท คนหลงตัวเอง และคนจิตวิปริต ซึ่งเป็นคนที่ไม่สามารถเข้าใจหรือเกี่ยวข้องกับความรู้สึก หรือมีอารมณ์ไปกับผู้อื่นได้ แม้ว่าจะมีหลักฐานบางอย่างที่แสดงว่าความสามารถในการเอาใจใส่นั้นสืบเนื่องมาจากความโน้มเอียงทางพันธุกรรม แต่แท้จริงแล้วการเห็นอกเห็นใจเป็นทักษะที่สามารถเพิ่มหรือลดได้เช่นกัน
วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดวิธีหนึ่งที่จะทำให้มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คือ การได้รับการฝึกฝนตั้งแต่ยังเป็นเด็ก การเอาใจใส่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาที่เรียกว่า “ความฉลาดทางอารมณ์” การสอนนี้จะช่วยพัฒนาให้เด็ก ๆ มีความเห็นใจหรือเข้าใจคนอื่นมากขึ้น หากเด็กทำร้ายเด็กอีกคนหรือล้อเลียน เราควรถามว่าพวกเขาคิดว่าพวกเขาทำให้อีกคนรู้สึกอย่างไร ถ้ามีคนปฏิบัติต่อพวกเขาแบบนั้น พวกเขาต้องการที่จะถูกล้อหรือทำร้ายหรือเปล่า พวกเขาจะเศร้าหรือโกรธไหมถ้ามีคนปฏิบัติต่อพวกเขาไม่ดี นอกจากนี้การแบ่งปันเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการฝึกเด็ก ๆ และเป็นเรื่องง่ายที่จะสอนเด็ก ๆ ให้ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความกรุณา เพราะว่าพวกเขาเองก็จะได้รับการปฏิบัติตอบเช่นเดียวกัน
ศาสตราจารย์ Pat Dolan ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเด็กและครอบครัว UNESCO ที่ NUI Galway ได้สนับสนุนการส่งเสริมการมี Empathy คือ การเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นในหมู่เด็กนักเรียน ความเห็นอกเห็นใจ คือ กุญแจสำคัญในการป้องกันพฤติกรรมในการกลั่นแกล้ง เหยียดเชื้อชาติ และการ Bully กันในสังคม เพราะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับการให้คุณค่า เคารพ และเข้าใจผู้อื่น นอกจากนี้นักวิจัยที่ NUI Galway ได้พัฒนาโปรแกรม “การกระตุ้นการเอาใจใส่ทางสังคม” ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อสอนทักษะการเข้าใจผู้อื่นให้กับเด็ก ๆ หลังจากดำเนินโครงการนำร่องเป็นเวลา 2 ปี โครงการดังกล่าวได้เริ่มเปิดตัวให้กับนักเรียน 2,000 คนในโรงเรียน 25 แห่ง ในไอร์แลนด์โครงการนำร่องนี้ทำให้นักเรียนรู้สึกว่าพวกเขาไปโรงเรียนโดยที่ไม่ต้องกลัวการถูกข่มขู่หรือถูกทอดทิ้ง นั่นหมายความว่า การสร้างทักษะการเข้าใจ เห็นใจผู้อื่นนี้อาจส่งผลให้ลดพฤติกรรมก้าวร้าวลดลงในหมู่เด็กนักเรียนได้และส่งผลให้การกลั่นแกล้งหรือ Bully กันลดลง
ดร. Michele Borba นักจิตวิทยาด้านการศึกษา เธอเชื่อว่าการสอนลักษณะนิสัยของเด็ก ๆ นั้นมีคุณค่าสำหรับสังคมในอนาคตเพราะวัยรุ่นทุกวันนี้มีความเห็นอกเห็นใจน้อยลงกว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้วถึง 40 % ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบโรงเรียนเป็นสังคมที่หมกมุ่นและให้คุณค่ากับถ้วยรางวัล ให้ความสำคัญกับการสอบ ยกย่องเด็กเรียนเก่งมากกว่าเด็กสอบตกหรือเด็กที่มีมนุษยธรรมและจริยธรรม ส่งผลให้นำไปสู่พฤติกรรมที่ใส่ใจคนรอบข้างน้อยลง การโกงที่มากขึ้น ความยืดหยุ่นขาดหายไป และเมื่อเด็กโตขึ้นก็ส่งผลให้ขาดความเห็นอกเห็นใจ ขัดขวางความสามารถในการทำงานร่วมกัน เป็นอุปสรรคในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจโลก
การให้ความรู้แก่เด็กในเรื่องความเห็นอกเห็นใจยังส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมและแรงจูงใจของเด็ก ๆ ในการศึกษาพฤติกรรมนักเรียนในโรงเรียนที่เน้นส่งเสริมเรื่องนี้ พบว่านักเรียนในโรงเรียนที่โฟกัสเรื่องความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นส่งผลให้มีความคิดไตร่ตรอง มีความคิดเป็นของตัวเอง แต่ก็ยังยอมรับความคิดและให้เกียรติผู้อื่นด้วย การวิจัยแสดงให้เห็นว่าความเห็นอกเห็นใจส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในห้องเรียนและสถานที่ทำงาน และยังได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยเพิ่มความสำเร็จทางวิชาการแบบเดิม ๆ ได้ โดยเฉพาะการอ่านเชิงประวัติศาสตร์ วรรณกรรม เขาจะเข้าใจบทบาทและมุมมองในประวัติศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น เด็กที่มีความเห็นอกเห็นใจยังสามารถมีความรู้สึกร่วมกับเรื่องราว และช่วยเสริมสร้างสิ่งที่พวกเขาอ่านทำให้จำได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้นำในอนาคตเองจำเป็นต้องมีความฉลาดทางอารมณ์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายและรักษาสัมพันธ์กับผู้อื่นในโลกที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ
ความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งที่ปลูกฝังได้ตั้งแต่ยังเล็ก
ความเห็นอกเห็นใจเป็นทักษะที่สามารถเรียนรู้และสามารถสอนในห้องเรียนได้ ทุกคนสามารถเรียนรู้ที่จะมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น เช่นเดียวกับการเรียนรู้ที่จะขี่จักรยานหรือขับรถ โดยยึดหลัก 3 ข้อนี้
1.ใส่ใจโลกทางอารมณ์ของเด็ก ๆ
อารมณ์เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างแรงจูงใจและการเรียนรู้ อารมณ์และความฉลาดทางอารมณ์มีบทบาทอย่างมากในการบรรลุผลสำเร็จ โดยครูเองต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษกับทั้งตัวของเด็กทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเน้นให้เด็กเรียนรู้ในการควบคุมตนเอง ทักษะการฟัง ความเห็นอกเห็นใจ ความอดทน และความเมตตาต่อผู้อื่นเพื่อปูทางไปสู่แรงจูงใจภายในและการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม
2.เรียนรู้ผ่านเรื่องราว
ให้เด็กได้ใช้จินตนาการเรียนรู้ผ่านเรื่องราว วรรณกรรม และประวัติศาสตร์ ให้เด็กได้รู้จักการเชื่อมโยงทางอารมณ์กับบทเรียนของตัวเองได้ เช่น รู้สึกอย่างไรที่จะมีชีวิตอยู่ในยุคที่ไม่มีหมอหรือน้ำประปา ตัวละครของเรารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ยิ่งนักเรียนเข้าใจถึงประสบการณ์และส่งผลต่อความคิดของตนเองมากเท่าใด พวกเขาก็จะยิ่งเห็นอกเห็นใจประสบการณ์และทัศนคติของผู้อื่นทั้งในอดีตและในปัจจุบันมากขึ้นเท่านั้น
3.เป็นตัวอย่างในการสร้างความเห็นอกเห็นใจ
ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและนักเรียนเป็นส่วนประกอบสำคัญสู่ความสำเร็จของนักเรียน ดังนั้นการเป็นตัวอย่างหรือเป็นโมเดลในการแสดงความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักเรียน การดูแล เข้าใจชีวิตส่วนตัวและภูมิหลัง เชื่อมั่นในศักยภาพ ปรับแต่งรูปแบบการสอนอย่างเข้าใจในความสามารถของนักเรียน ล้วนเป็นตัวอย่างของทักษะในการสอนที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจถึงความเห็นอกเห็นใจที่แท้จริง ซึ่งไม่เพียงแต่เกิดในห้องเรียนเท่านั้น แต่ทักษะนี้ยังขยายไปถึงโรงเรียน ส่งเสริมถึงชุมชนรอบ ๆ ได้อีกด้วย
สำหรับโลกใบนี้ความเห็นอกเห็นใจดูจะเป็นความหวังของมนุษยชาติเมื่อเกิดภัยพิบัติครั้งยิ่งใหญ่ ทุกคนล้วนเต็มใจช่วยเหลือผู้อื่นที่พวกเขาไม่เคยพบมาก่อน เพราะพวกเขารู้ว่าพวกเขาเองหากต้องเผชิญความยากลำบากเช่นเดียวกันก็ต้องการความช่วยเหลือไม่ต่างกัน หากเราไม่ส่งต่อ ปลูกฝังทักษะเหล่านี้ต่อลูกหลานของเรา โลกก็คงจะเป็นเพียงดาวเคราะห์ที่มืดมนในกาแล๊กซี่นี้เท่านั้นเอง
อ้างอิง
https://mgiep.unesco.org/article/teaching-with-empathy-and-compassion-in-schools
https://www.irishtimes.com/news/education/empathy-in-education-it-s-just-as-important-as-learning-maths-1.4149480
https://www.mastersincommunications.org/empathy-what-why-how/
https://www.waldorfeducation.org/news-resources/essentials-in-education-blog/detail/~board/essentials-in-ed-board/post/teaching-empathy-essential-for-students-crucial-for-humanity
https://www.bbc.com/news/magazine-33287727