เงาสะท้อนสังคมบนเวที “ละครแทรกสด”
ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
“คือเราจะได้ยินคำว่าสะท้อนสังคม แล้วรู้สึกว่าสะท้อนมันยังไม่พอ เราน่าจะทำให้มันเปลี่ยนแปลงได้ด้วย ดังนั้นการขับเคลื่อนเรามีเป้าหมายว่าละครนี่จะช่วยทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไป”
ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ที่สร้างคำถามสำคัญต่อไปคือ สังคมเปลี่ยนไปได้มากแค่ไหนเมื่อใช้พลังแห่งละครเป็นตัวขับเคลื่อน
ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย หรือ พี่ฉั่ว ผู้แต่งหนังสือ “เอนหลังพิง” ภายใต้นามปากกา ภินท์ ภารดาม กับอีกหนึ่งบทบาทของนักการละครที่ใช้ละครเป็นเครื่องมือในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทีชื่อว่า คณะละครมาร็องดู
เกือบ 1 ทศวรรษของคณะละครมาร็องดู นับแต่การก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2556 กับผลงานเกือบ 100 เวที ที่สะท้อนสังคมผ่านกระบวนการละครแทรกสด (Forum Theatre) ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มละครของผู้ถูกกดขี่ ในฐานะของเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เสน่ห์ของละครที่เปิดกว้างให้ผู้แสดงเข้ามีส่วนร่วม จนสามารถสร้างประเด็นให้ขบคิดต่อได้ โดยมีเป้าหมายใหญ่ปลายทางที่จะนำปรัชญาและองค์ความรู้ด้านการละครของผู้ถูกกดขี่มาเผยแพร่ เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับนักการละครทั่วไปที่ต้องการทำงานด้านสังคมโดยเฉพาะผู้ที่ประสงค์จะทำงานให้มากไปกว่างานด้านสังคมสงเคราะห์ แต่มีเป้าหมายที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ถูกกดขี่ และต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างอำนาจและลดการเอารัดเอาเปรียบกันในสังคมระยะยาว
ขอบคุณภาพจาก คณะละครมาร็องดู
“ละครทั่วไปผู้แสดงจะอยู่บนเวที แล้วก็ผู้ชมอยู่ตรงนั้น ผู้ชมอยู่ในความมืดแล้วก็ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีเสียงจะพูดอะไร มีหน้าที่ดูอย่างเดียว ถ้าเราตั้งคำถามกับมัน ทำไมเราถึงไม่มีส่วนร่วม”
“เคยไหมเวลาดูละคร เราจะมีความคิดเห็นเกี่ยวกับมัน เช่นแบบว่า ทำไมเขาถึงทำแบบนี้ ไม่เห็นต้องทำแบบนั้น มันน่าจะทำอีกแบบหนึ่ง นี่แหละเป็นเพราะทำแบบนี้แหละ ชีวิตถึงได้พัง แล้วบางทีเราโกรธ เราโมโหกับตัวละครที่ไม่ได้ดั่งใจเรา เป็นเพราะว่าเราถูกกำหนดให้เป็นผู้ดูที่เก่งมาก แต่เราไม่เคยถูกกำหนดให้เป็นผู้ทำหรือลงมือ แก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรเลย งั้นผู้ชมมีความเฉื่อยชา เราชมแบบนี้ ในชีวิตจริงเราก็จะเป็นแบบนี้”
ในอีกแง่มุมละครแทรกสดกลับให้อะไรที่ละครทั่วไปให้ไม่ได้
ละครแทรกสด หรือ Forum theatre ริเริ่มโดย ออกัสโต โบอัล (Augusto Boal) นักการละครและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวบราซิลที่ใช้ละครของเขาวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเผด็จการที่สถาปนาขึ้นมาภายหลังการยึดอำนาจในปี ค.ศ.1964 เป็นการรัฐประหารที่ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำ นายทุนอุตสาหกรรม กองทัพ และโดยเฉพาะประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา และสิ่งนี้เองทำให้บูอาลต้องการทำลายเส้นกั้นขวางระหว่างละครของชนชั้นปกครองและชนชั้นล่างออกจากกันเพราะเขามองว่าศิลปินมักคิดว่าตนเองเหนือกว่า รู้มากกว่า จริงอยู่ที่รู้เรื่องละครมากกว่า แต่ถ้าเป็นเรื่องของชีวิต ความยากแค้นลำบากแล้ว สู้คนธรรมดาไม่ได้ ดังนั้นกลวิธีการสื่อสารของในแบบโบอัล จึงเปลี่ยนละครให้เป็นสื่อกลางเพื่อให้ผู้ชมมีส่วนร่วม ลดกำแพงระหว่างผู้ชมและนักแสดงลง นำเสนอเรื่องราวที่พัฒนามาจากชุมชน และช่วยกันคิดหาหนทางที่ดีกว่าในการอยู่ร่วมกัน และเปลี่ยนแปลงชีวิตคนให้ดีขึ้น ช่วยทำให้ชาวบ้านยากไร้ ได้มองเห็นเหตุการณ์ในชีวิตของตนผ่านละครละครเป็นฉากสั้นๆ ที่มีตัวละครหลัก เป็นผู้ที่มีปัญหาคล้ายกับปัญหาชีวิตจริงของผู้ชม จุดประกายให้เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยน รับฟังกัน นำไปสู่การหาทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป
ขอบคุณภาพจาก คณะละครมาร็องดู
“ละครแทรกสดคือเราเล่นละครไปหนึ่งรอบ เสร็จแล้วละครนี้จะไม่จบ จะไม่มีคำตอบ เพราะคำตอบจะอยู่ที่ผู้ชม และเราก็จะบอกว่าจะเล่นอีกครั้งหนึ่งนะ หรืออาจจะมากกว่า แต่ครั้งต่อไปผู้ชมสามารถยกมือแล้วบอกว่า หยุด แล้วก็ขึ้นมา ขึ้นมาบนเวทีทำอะไร ให้มาแทนที่ตัวละครที่อยู่บนเวที โดยหวังว่าถ้าเขาขึ้นมาแสดง เขาจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้ แล้วทำให้ตอนจบมันดีกว่าเดิม”
ดังนั้นละครของผู้ถูกกดขี่ จึงมีวัตถุประสงค์ทางการสื่อสารถึงคนทุกชนชั้น ทั้งคนไร้บ้าน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ หรือกลุ่มเจ้าหน้าที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับคนเหล่านี้ มาร่วมสะท้อนปัญหาเล่าถึงอุปสรรคหรือความกดดันกดขี่ ที่ต้องเจอผ่านละคร ซึ่งเป็นอีกช่องทางการสื่อสารที่แตกต่างจากการสื่อสารในรูปแบบเดิมๆ ที่เราเคยซิน ไม่ว่าการบอกเล่าผ่านน้ำเสียง การเขียน โดยไม่จำเป็นว่าคนผู้ถูกกดขี่จะต้องผ่านโรงเรียนการแสดง แต่ทุกคนสามารถเข้าสู่กิจกรรมนี้ได้ในฐานะ คนอีกคนหนึ่งที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคม
พลังของละครจึงขยับขยายจากการเป็นสื่อกลาง นำไปสู่การเป็นเครื่องมือทางภาษาที่คนธรรมดาได้ใช้เพื่อสื่อสาร ปัญหา แสดงความเห็นและเป็นเสียงที่เล่า เรื่องราว ความคิดเห็นแย้ง เพื่อให้ซุมชนได้ร่วมกันศึกษาแม้จะชื่อว่าเป็นละครของผู้ถูกกดขี่แต่กลับเป็นกระบอกเสียง ผ่านภาพ ผ่านการเล่นละครสื่อสารจากผู้ที่ด้อยกว่าหรือถูกกดไว้ ภายใต้วิสัยทัศน์ของมาร็องดูที่ว่า “สังคมที่ดีและยุติธรรมไม่อาจจะได้มาจากการหยิบยื่นให้โดยผู้กดขี่ ดังนั้น ผู้ถูกกดขี่และเพื่อนของผู้ถูกกดขี่ จะต้องมาร่วมมือกันโดยใช้การละครเป็นอาวุธสำหรับสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลก”