Sunday Scaries อาการกลัววันอาทิตย์ที่อาจส่งผลต่อการเรียนรู้

A A
Apr 21, 2023
Apr 21, 2023
A A

Sunday Scaries อาการกลัววันอาทิตย์ที่อาจส่งผลต่อการเรียนรู้

 

  • Sunday Scaries คือ ความรู้สึกหวาดกลัวที่เริ่มต้นในบ่ายวันอาทิตย์ก่อนวันเปิดเรียน หรือวันที่ต้องมาทำงาน เป็นความวิตกกังวลต่อเหตุการณ์ในอนาคต
  • แม้จะดูเป็นเรื่องทั่วไป แต่ก็สามารถส่งผลกระทบต่อเด็กทุกวัยได้ไม้เว้นแม้แต่เด็กก่อนวัยเรียน โดยส่วนมากแล้วมักจะมีผลต่อนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถม ฯ ไปจนถึงม.ปลาย

 

วันหยุดสุดสัปดาห์น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนรอคอยอย่างใจจดจ่อ เพราะเป็นเวลาที่เราจะได้พักผ่อนจากการทำงานหรือการเรียนตลอดสัปดาห์ แต่เมื่อวันหยุดมาถึงจริง เรากลับรู้สึกวิตกกังวลกับวันจันทร์ที่จะมาถึงจนทำให้ไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ในวันอาทิตย์ อาการแบบนี้เรียกว่า Sunday Scaries แม้อาจฟังดูเป็นอาการที่พบได้มากในผู้ใหญ่ แต่อาการนี้สามารถพบในเด็กได้เช่นเดียวกัน อะไรเป็นสาเหตุของอาการกลัววันอาทิตย์ และเราจะมีวิธีรับมือกับมันอย่างไรในฐานะพ่อแม่ที่ดูแลเด็ก ๆ และในฐานะครูที่ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่อาจเจอกับอาการนี้ได้

 

จิตแพทย์ Alex Dimitriu ได้ให้คำนิยาม Sunday Scaries ไว้ว่า เป็นความกลัวที่เกิดพร้อมกับการเริ่มต้นสัปดาห์การทำงานในวันจันทร์ ซึ่งสิ่งที่มาพร้อมกับความกลัวนั้นอาจเป็นความวิตกกังวล และการนอนดึกขึ้นในวันอาทิตย์ ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นนั้นจะคล้ายกับตอนที่เราต้องกล่าวสุนทรพจน์ หรือวันที่มีสอบที่คาดหวังว่า ต้องทำให้ดีที่สุด

 

ขณะที่ Leesha M. Ellis-Cox จิตแพทย์เด็ก วัยรุ่นและผู้ใหญ่ บอกว่า Sunday Scaries คือ ความรู้สึกหวาดกลัวที่เริ่มต้นในบ่ายวันอาทิตย์ก่อนวันเปิดเรียน หรือวันที่ต้องมาทำงาน หรือเป็นความวิตกกังวลต่อเหตุการณ์ในอนาคตนั่นเอง แม้ว่าความวิตกกังวลดูจะเป็นเรื่องทั่วไป แต่มันก็สามารถส่งผลกระทบต่อเด็กทุกวัยได้ไม้เว้นแม้แต่เด็กก่อนวัยเรียน โดยส่วนมากแล้วมักจะมีผลต่อนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถม ฯ ไปจนถึงม.ปลาย เพราะโรงเรียนก็คล้าย ๆ กับที่ทำงานของผู้ใหญ่ที่นักเรียนจะใช้เวลาส่วนมากที่นี่ ต้องเจอกับแรงกดดันทางสังคม ทั้งเรียนและทำกิจกรรมนอกหลักสูตร สร้างอัตลักษณ์ตัวตน และหาเพื่อนใหม่

 

อาการของ Sunday Scaries

  • นอนหลับได้ไม่ดี
  • กล้ามเนื้อตึง
  • กระสับกระส่าย
  • คลื่นไส้หรือปวดท้อง
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • หายใจเร็ว
  • เหงื่อออก
  • หงุดหงิด
  • ซึมเศร้า

 

สาเหตุของ Sunday Scaries

แม้ว่า Sunday Scaries จะเป็นความวิตกกังวลรูปแบบหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่า เด็กทุกคนที่มีอาการนี้จะเป็นโรควิตกกังวลไปเสียทุกราย อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยบางอย่างที่อาจทำให้เด็กบางคนมีอาการง่ายกว่าเด็กคนอื่น เช่น เด็กที่เป็นโรควิตกกังวล โรคความผิดปกติทางอารมณ์ โรคออทิสติก โรคสมาธิสั้น หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในชีวิตเร็ว ๆ นี้ เช่น ย้ายบ้านใหม่ ย้ายโรงเรียนใหม่ เกิดการสูญเสียหรือบาดเจ็บบางอย่าง

 

นอกจากนี้ ความกลัวก็อาจเป็นปัจจัยได้ด้วยเช่นกัน แม้ว่าความกลัวและความวิตกกังวลจะสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด แต่มันก็ไม่ได้เหมือนกัน ความกลัว คือ การรับรู้ถึงภัยคุกคาม ขณะที่ความวิตกกังวล คือ การจินตนาการถึงสิ่งหนึ่ง สำหรับนักเรียนแล้ว ความกลัวอาจเกิดจากการถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน หรือรู้สึกไม่พร้อมต่อการเรียน เจอความท้าทายในการเรียนรู้ที่ทำให้พวกเขาไม่อยากไปโรงเรียน 

 

หากนักเรียนไม่ได้มีปัญหาที่โรงเรียน แต่มีอาการ Sunday Scaries เป็นไปได้ว่า นักเรียนอาจมีพ่อแม่ที่มีความวิตกกังวลมากกว่าคนอื่น พ่อแม่จึงจำเป็นต้องดูด้วยว่า ตัวเองเกิดความกังวลง่ายจนถ่ายทอดไปถึงลูก ๆ หรือเปล่า หากเป็นเช่นนั้นพ่อแม่ก็จำเป็นต้องหาทางรับมือกับความวิตกกังวลของตัวเอง

 

 

 

 

เด็กอาจเกิดอาการ Sunday Scaries ได้ไม่ต่างจากผู้ใหญ่

 

 

ยิ่งหยุดเรียนนาน อาการ Sunday Scaries อาจแย่ลง

ในช่วงที่เด็กปิดเทอม กิจวัตรประจำวันส่วนมากมักจะเปลี่ยนไป นอนดึกขึ้น ไม่ต้องเจอกับแรงกดดันจากคนรอบข้าง หรือโดนกลั่นแกล้งในโรงเรียน ไม่มีการบ้านหรืองานที่ต้องทำ สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายและได้พักผ่อน การเปิดเทอมหรือการต้องกลับไปโรงเรียนอีกครั้งจึงอาจทำให้เกิดอาการ Sunday Scaries ได้ง่ายขึ้น

 

วิธีช่วยเด็กรับมือ Sunday Scaries

1.พ่อแม่จัดการกับการตอบสนองทางอารมณ์ของตัวเอง

เพราะพ่อแม่ คือ คนกำหนดทิศทางในบ้าน เด็ก ๆ มักจะเลียนแบบพ่อแม่ หากพ่อแม่เครียด ลูกก็จะเครียดตาม แต่หากพ่อแม่สงบและไม่ค่อยกังวล ลูกก็จะรู้สึกสงบ

2.โฟกัสที่การหายใจ 

การหายใจเข้าลึก ๆ ช่วยความวิตกกังวลได้ อาจแนะนำแอปหรือพอดแคสต์ให้เด็กไปฝึกหายใจหรือเริ่มทำสมาธิ

3.ให้ความสำคัญกับการนอน

การนอนหลับที่เพียงพออาจเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้เด็กรับมือกับความวิตกกังวลได้ เด็กควรพยายามเข้านอนในเวลาเดียวกันทุกวัน แม้ในวันหยุดสุดสัปดาห์ สำหรับเด็กเล็กให้หากิจกรรมที่ผ่อนคลายก่อนเข้านอน เช่น อ่านนิทานก่อนนอน หรือกำหนดเวลางดใช้หน้าจอ 1-2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน

4.เอาตารางเวลาให้ดู

เมื่อเด็กเห็นตารางเวลาของตัวเองล่วงหน้า เขาจะรู้ว่า ต้องเจออะไรบ้าง การช่วยเด็กเลือกว่า จะกินอะไรเป็นมื้อเช้าก็ช่วยให้พวกเขาคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในเช้าวันถัดไปได้ดีขึ้น

5.ใช้เวลานอกบ้าน

การออกไปวิ่งหรือเดินเล่นในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ช่วยสร้างสายสัมพันธ์กับลูก ๆ และยังทำให้เกิดการหลั่งสารเอ็นโดรฟินที่ช่วยลดความเครียดได้

6.ทำกิจกรรมที่ไม่เครียด

การวาดภาพ การหาเวลาให้เด็กได้โฟกัสกับครอบครัว และการเล่นกลางแจ้งเป็นวิธีที่ดีในการสร้างการมีส่วนร่วมของร่างกายและจิตใจในวันอาทิตย์ เด็กโตอาจช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วยการเป็นอาสาสมัครให้กับองค์กรในท้องถิ่น 

 

สำหรับผู้ใหญ่เรามักจะพบอาการ Sunday Scaries ได้มากกว่าเด็ก จากการสำรวจของ LinkedIn พบว่า ผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพ 80% รู้สึกเครียดและกังวลในคืนวันอาทิตย์ โดยมักจะมีสาเหตุจากหนึ่งในสองสาเหตุนี้ คือ กลัวงานในสัปดาห์หน้าและงานที่จะเกิดขึ้น หรือเสียใจกับการใช้เวลาในช่วงสุดสัปดาห์และมีสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ

 

สำหรับอาชีพครูอาจมีความกังวลมากเป็นพิเศษ เพราะไม่เพียงมีภาระงานที่เยอะเท่านั้น แต่ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันภายนอกมากมาย Work-Life Balance ในอาชีพครูจึงค่อนข้างท้าทายอย่างมาก

 

วิธีรับมือ Sunday Scaries สำหรับครู
  1. โฟกัสที่การหายใจ

การโฟกัสที่การหายใจเป็นเทคนิคที่ใช้ได้กับทุกคน หายใจเข้าลึก ๆ อาจนับลมหายใจและหลับตาด้วยเพื่อช่วยให้จิตใจสงบขึ้น หรือใช้เทคนิคการหายใจแบบ 4-7-8 ที่ช่วยลดความวิตกกังวลได้ เพราะการหายใจทำให้ระบบประสาทพาราซิมพาเทติกผ่อนคลาย ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพักผ่อนรวมถึงการย่อยอาหาร โดยเทคนิคการใจแบบ 4-7-8 สามารถทำได้ ดังนี้

  1. หายใจออกทางปากจนสุดให้เกิดเสียงฟู่
  2. หายใจเข้าทางจมูก นับ 1-4 
  3. กลั้นหายใจนับ 1-7
  4. หายใจออกทางปาก พร้อมทำเสียงฟู่ นับ 1-8
  5. ทำซ้ำขั้นตอนนี้อีก 3 ครั้ง รวมเป็น 4 รอบการหายใจ

 

  1. หาสาเหตุความเครียด

ลองถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้ดู เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของความเครียด

  • มีงานอะไรที่ต้องทำบ้างตอนนี้
  • งานไหนที่ทำให้เราเครียดมากที่สุด
  • วิธีง่าย ๆ ที่ทำให้สิ่งที่เราต้องทำคืบหน้ามากขึ้นคืออะไร

 

  1. จัดการกับเวลาและภาระงาน

อย่าให้วันอาทิตย์มีสิ่งที่ต้องทำมากเกินไป ทำสิ่งที่ต้องทำในวันเสาร์ช่วงเช้าเพื่อจะได้มีเวลาไว้พักผ่อน ลองแบ่งสิ่งที่ต้องทำในวันอาทิตย์ออกเป็นงานเล็ก ๆ แบบที่สามารถทำได้ระหว่างวันหรือในวันธรรมดาแทน 

 

  1. อยู่กับปัจจุบันและมีสติ

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารงานวิจัยด้านบุคลิกภาพพบว่า การรับรู้ถึงปัจจุบันขณะ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเจริญสติ ช่วยให้เราจัดการและรับมือกับความเครียดได้ นอกจากนี้ การศึกษาอื่น ๆ ยังแสดงให้เห็นว่า การอยู่กับปัจจุบันทำให้ระดับความซึมเศร้าและความวิตกกังวลลดลง อารมณ์ดีขึ้น และมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

 

  1. ให้ความสำคัญกับการนอนหลับ

การนอนหลับช่วยให้เราจัดการกับความเครียดและควบคุมอารมณ์ได้ การนอนไม่พอทำให้ร่างกายและจิตใจทำงานหนักขึ้น เราจึงรับมือกับความเครียด สถานการณ์ที่ท้าทาย และความวิตกกังวลได้ยากขึ้น การทำกิจวัตรที่ผ่อนคลายก่อนนอนจะช่วยให้นอนหลับดีขึ้นได้ เช่น อาบน้ำร้อนหรือน้ำเย็น อ่านหนังสือ ฟังเพลงที่ผ่อนคลาย หลีกเลี่ยงการใช้หน้าจอ หากจำเป็นต้องใช้ควรปรับเป็นโหมดกลางคืนแทน

 

  1. คุยกับเพื่อนครู

การสร้างสายสัมพันธ์ในที่ทำงานไม่เพียงทำให้เรารู้สึกสนุกไปกับงานเท่านั้น แต่ยังช่วยลดความเครียดได้อีกด้วย การศึกษาโดย Hilla Dotan ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Tel Aviv พบว่า มิตรภาพในที่ทำงานสามารถเพิ่มความพึงพอใจในงาน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และความมุ่งมั่นในงาน แถมยังลดความเครียดและอัตราการลาออกได้อีกด้วย

 

ลองให้เวลาสักนิดในการสำรวจตัวเองหรือเด็ก ๆ ในความดูแลของเราว่า อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของ Sunday Scaries ที่ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจในวันหยุดที่ควรจะได้พักผ่อน เพราะร่างกายและจิตใจที่พร้อมเป็นหนึ่งในอาวุธชิ้นสำคัญของการเรียนรู้และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

อ้างอิง

https://www.discovermagazine.com/mind/what-are-the-sunday-scaries-and-what-causes-them

https://www.mother.ly/health-wellness/childrens-health/sunday-scaries-in-kids/

https://blog.teacherspayteachers.com/teacher-sunday-scaries

 

 

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS