เกม (ที่ไม่ใช่เพื่อการศึกษา) ไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป
เมื่อพูดถึงการเล่นเกม คุณมีความคิดกับสิ่งนี้อย่างไร สำหรับเด็ก ๆ การเล่นเกมคือโลกแห่งจินตนาการที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน แต่สำหรับผู้ใหญ่ ครู หรือพ่อแม่ อาจมีความเห็นที่แตกต่างกันไป ถ้าเป็นเกมเพื่อการศึกษา แน่นอนว่าเราจะอนุญาตให้เด็ก ๆ เล่นได้อย่างไม่มีข้อกังขา แต่ถ้าเป็นเกมทั่วไปแบบที่มีการยิงกัน หรือเกมที่เล่นเอาสนุกสนาน คุณยังโอเคที่จะให้เด็ก ๆ เล่นเกมเหล่านี้อยู่หรือเปล่า ถ้าคุณลังเลใจ หรือตอบทันทีว่า ไม่ดีกว่า ลูกคุณอาจพลาดโอกาสที่จะได้พัฒนาทักษะอีกมากมายที่มีการยืนยันมาแล้วจากงานวิจัยหลายชิ้นทั่วโลก
แม้ว่าในอดีตจะมีการศึกษาถึงการติดเกมและผลเสียที่มีต่อสุขภาพมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 แต่การศึกษาส่วนมากมักจะเน้นไปที่ผลเสียของการเล่นเกมมากกว่า Isabela Granic นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย McMaster ในแคนาดาและผู้อำนวยการ Games for Emotional and Mental Health Lab ได้ทำการศึกษาในเรื่องนี้ เธอพบว่าจริง ๆ แล้วความรุนแรงจากเกมไม่ได้ถ่ายทอดสู่โลกแห่งความเป็นจริงอย่างที่เราคิด ตรงกันข้ามเธอพบว่า
เกมมีประโยชน์ต่อกระบวนการคิด สร้างแรงจูงใจ และช่วยพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคมได้ แม้แต่เกมยิงแบบมุมมองบุคคลที่หนึ่งที่มักจะโดนกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบยังมีข้อดีหลายอย่าง
เกมหลายเกมทำผู้เล่นต้องใช้ความเพียรพยายามในการไขปริศนา หรือเอาชนะตัวหัวหน้าให้ได้ สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์อย่างมาก ไม่เพียงแค่ช่วยพัฒนาทักษะต่าง ๆ เท่านั้น เกมยังช่วยในเรื่องการเรียนรู้ และให้ความสำคัญกับสติปัญญาที่มาจากความพยายามมากกว่าความสามารถโดยกำเนิด
ประเด็นที่น่าสนใจคือ เกมช่วยในเรื่องการจัดการทางอารมณ์ได้อย่างไร เพราะนี่ดูเหมือนจะกลายเป็นปัญหาที่คนทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ไม่เว้นแม้แต่เด็ก ๆ ข้อมูลพบว่าเกมช่วยในเรื่องการจัดการทางอารมณ์และช่วยให้มีสุขภาพจิตที่ดี เพราะเกมจัดเป็นการเล่นรูปแบบหนึ่ง โดยปกติแล้วการเล่นมีอิทธิพลอย่างมากต่อความเป็นอยู่ที่ดีของเรา เพราะมีบทบาทในการจัดการและซ่อมแซมอารมณ์ ซึ่งหมายถึงวิธีการที่เราเปลี่ยนจากอารมณ์ด้านลบเป็นด้านบวก จากทุกข์เป็นสุข จากเครียดมากเป็นเครียดน้อยลง
การวิจัยพบว่าเกมที่ออกแบบมาดีเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในสำหรับการจัดการอารมณ์ เพราะเกมมีลักษณะบางอย่างที่ตรงกับความต้องการทางจิตวิทยาขั้นพื้นฐานของมนุษย์
เช่น ให้เรามีอิสระในการเลือกและควบคุม สามารถที่จะบรรลุภารกิจได้ และยังได้สร้างสัมพันธ์กับผู้อื่นผ่านการเล่น องค์ประกอบ 3 อย่างนี้เป็นเรื่องสากลและสำคัญต่อสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของเรา
หัวใจของการเล่นเกมให้ได้ประโยชน์ ต้องเล่นแต่พอดี
แน่นอนว่าการเล่นเกมให้ได้ประโยชน์จริง ๆ นั้น ต้องมีระยะเวลาที่เหมาะสมด้วย งานวิจัยในปี 2014 โดย Andrew Przybylski นักจิตวิทยาจากสถาบันอินเทอร์เน็ตที่มหาวิทยาลัย Oxford ระบุว่า
คนที่เล่นเกมน้อยกว่า 1 ชั่วโมงจะมีอารมณ์มั่นคงมากกว่า ในขณะที่การเล่นประมาณ 3 ชั่วโมงต่อวันจะเริ่มทำให้มีปัญหา ฉะนั้น การเล่นแต่พอดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ
เนื้อหาของเกมอาจไม่สำคัญเท่าความสัมพันธ์ในกลุ่มคนเล่นเกม
เรามักจะมีความเชื่อว่าคนที่เล่นเกมจะมีพฤติกรรมที่รุนแรง และเป็นคนต่อต้านสังคม จริง ๆ แล้วเกมบางประเภท เช่น เกมที่ผู้เล่นต้องร่วมมือกันทำภารกิจบางอย่างจะเสริมสร้างทักษะของการร่วมแรงร่วมใจกันในโลกแห่งความเป็นจริงได้ แม้ว่าเนื้อหาของเกมจะดูรุนแรงก็ตาม เกมที่ผู้เล่นหลายคนต้องเล่นด้วยกันแบบนี้ สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่เนื้อหา แต่อยู่ที่ความสัมพันธ์ของผู้คนในกลุ่ม เคยมีการวิจัยจากสหราชอาณาจักรและแคนาดาว่าพฤติกรรมต่อต้านสังคมในกลุ่มคนเล่นเกมเป็นอย่างไร นักวิจัยพบว่าเมื่อคนเหล่านี้ใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมทั่วไป พวกเขาก็เป็นคนที่สื่อสารและเป็นมิตรมาก ๆ เกมจึงเปิดโอกาสให้เราได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น เป็นเหมือนโลกแฟนตาซีให้เราได้หลบหนี และเรียนรู้แง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวเองในแบบที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในโลกแห่งความเป็นจริง
ปี 2016 มีงานศึกษาชิ้นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีความทุกข์ใจในเพศสภาพของตน พบว่าการเล่นเกมช่วยให้ผู้คนยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศได้ เช่น เล่นเป็นตัวละครที่มีการแสดงออกทางเพศที่แตกต่างจากเพศของตน ฉะนั้น ถ้าเราไม่ติดภาพเดิม ๆ ว่าการเล่นเกมเป็นเรื่องไร้สาระและเสียเวลาแล้วล่ะก็ มาดูกันว่าถ้าเด็ก ๆ มีโอกาสได้เล่นเกมในช่วงเวลาที่เหมาะสม พวกเขาจะได้พัฒนาทักษะหรือความสามารถอะไรบ้าง
1.พัฒนาการอ่าน และทักษะทางภาษา
การเล่นเกมทำให้เด็กมีทักษะการอ่านเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แม้ว่าจะเป็นเกมแอ็กชันก็ตาม เด็กที่มีปัญหาด้านการอ่านก็ยังคงได้ประโยชน์จากตรงนี้อยู่ นักวิจัยคาดว่าเป็นเพราะเมื่อเล่นเกม เด็กต้องเข้าใจคำแนะนำที่จะโผล่ขึ้นมาบนหน้าจอ นอกจากนี้ เด็กบางคนยังชอบที่จะเข้าไปอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเกมบนโลกออนไลน์อีกด้วย มหาวิทยาลัย Helsinki ยังพบว่าคำแนะนำบนหน้าจอจากเกม ข้อความขณะที่เกมกำลังเล่าเรื่อง หรือตอนที่เราแชทสื่อสารกับผู้เล่นคนอื่นยังมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ภาษาอื่น ๆ อีก
2.เพิ่มความสามารถในการเรียนรู้
เราอาจจะเคยเชื่อว่าเกมทำให้เรียนแย่ลง แต่นักวิจัยจากสหราชอาณาจักรพบว่าเกมบางเกมเพิ่มความยืดหยุ่นของสมองได้ โดยให้อาสาสมัคร 72 คน เล่นเกม 2 เกมที่แตกต่างกันเป็นเวลา 40 ชั่วโมง นาน 6-8 สัปดาห์ ซึ่ง 2 เกมนี้คือ Starcraft เกมวางแผนแบบเรียลไทม์ที่รวดเร็ว และ The Sims เกมจำลองชีวิตที่จะช้ากว่า พบว่าคนที่เล่น Starcraft มีความยืดหยุ่นในการเรียนรู้ที่ดีขึ้น เนื่องจากผู้เล่นต้องใช้ความคิดอย่างต่อเนื่อง
3. เกิดการเรียนรู้แบบไม่รู้ตัว
เมื่อไรที่เรากำลังเพลิดเพลินกับอะไรสักอย่าง เราจะเกิดการเรียนรู้ข้อมูลและทักษะใหม่ ๆ ซึ่งแน่นอนว่านี่ไม่ใช่เป้าหมายของเกม แต่มันเป็นผลพลอยได้ที่เกิดขึ้น ขณะที่เรากำลังสนุกกับการเล่นเกมอยู่นั้น เราจะเกิดภาวะไหลลื่นขึ้น เป็นภาวะที่ความท้าทายของเกมมีความสมดุลกับทักษะการเล่นของเราพอดี การวิจัยพบว่าการเล่นเกมช่วยเสริมสร้างทักษะและความสามารถที่หลากหลาย รวมถึงการคิดเชิงสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา การปรับตัว ความมีไหวพริบ และทักษะความเป็นผู้นำ
4.เพิ่ม Gray Matter ในสมอง
การเล่นเกมเป็นประจำอาจเพิ่ม Gray Matter หรือสมองเนื้อเทาได้ และยังส่งเสริมการเชื่อมต่อของสมอง ซึ่ง Gray Matter นี้เกี่ยวข้องกับการควบคุมกล้ามเนื้อ ความทรงจำ การรับรู้ และการนำทางเชิงพื้นที่
5.ช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น
คนชอบเล่นเกมแอ็กชันอาจถึงกับยิ้ม ถ้ารู้ว่าเคยมีการทดลองเปรียบเทียบระหว่างเกมแอ็กชันกับเกมที่ต้องใช้กลยุทธ์แบบไม่ต้องรีบร้อน พบว่าคน 2 กลุ่มที่ไม่มีประสบการณ์ในการเล่นเกมมาก่อน กลุ่มแรกเล่นเกมแอ็กชั่นเป็นเวลา 50 ชั่วโมง กลุ่มที่สองเล่นเกมอีก ผลที่ได้คือคนเล่นเกมแอ็กชั่นจะใช้ประสาทสัมผัสได้ดีขึ้น และตัดสินใจได้ถูกต้อง
6. มีสายตาที่ดีขึ้น
ใครเคยเชื่อว่าเล่นเกมแล้วสายตาจะยิ่งแย่ การศึกษาหลายชิ้นบอกไว้ชัดเจนว่ามันไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย การศึกษาชิ้นหนึ่งให้คน 2 กลุ่มมาลองเล่นเกม กลุ่มแรกเป็นคนที่เคยเล่นเกมยิงแบบมุมมองที่หนึ่งมาแล้ว ส่วนอีกกลุ่มเป็นคนเล่นเกมทั่วไป กลุ่มนี้จะได้เล่นเกมช้า ๆ อย่าง The Sims 2 พบว่าคนกลุ่มแรกจะมีสายตาที่ดีกว่าคนอื่น เพราะเกมแอ็กชั่นทำให้ผู้เล่นเห็นความแตกต่างของสิ่งต่าง ๆ ได้ไวกว่าเกมประเภทอื่น ความสามารถนี้จึงช่วยให้เราแยกแยะความแตกต่างระหว่างเฉดสีเทากับฉากหลังที่มีสีได้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากขณะที่ขับรถตอนกลางคืน
ขณะที่การศึกษาอีกชิ้นก็ให้นักเรียนชาย 10 คนที่ปกติไม่ได้เล่นเกมมาฝึกเล่นเกมยิงแบบมุมมองบุคคลที่หนึ่งเป็นเวลา 30 ชั่วโมง จากนั้นก็ทำการทดสอบกับคนที่ไม่เล่นเกม 10 คน พบว่านักเรียนที่ได้รับการฝึกให้เล่นเกมสามารถเห็นวัตถุได้ชัดเจนขึ้นในพื้นที่รก เนื่องจากเห็นความละเอียดเชิงพื้นที่ได้ดีขึ้น เกมสามารถฝึกสมองเพื่อให้เราเห็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ เพราะรายละเอียดถือเป็นสิ่งสำคัญของเกม
7. มือ และตาทำงานประสานกันได้ดีขึ้น
อยากรู้ไหม 3 คนในกลุ่มนี้ นักเรียนม.ปลาย นักศึกษา และแพทย์ฝึกหัด ใครทำผ่าตัดเสมือนจริงได้ดีที่สุด นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัสสาขาแพทย์เคยหาคำตอบในเรื่องนี้ พวกเขาถึงกับประหลาดใจเมื่อพบว่า นักเรียนม.ปลายมีทักษะในเรื่องนี้มากที่สุด นั่นก็เป็นเพราะนักเรียนกลุ่มนี้มักจะเล่นเกมอย่างน้อยวันละ 2 ชั่วโมง ในขณะที่แพทย์ฝึกหัดแทบไม่มีเวลาเล่น นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมแพทย์จึงควรมีการฝึกอบรมด้วยการทำผ่าตัดเสมือนจริง นอกจากนี้ ยังพบว่าเกมที่ต้องใช้คอนโทรลเลอร์จะดีต่อข้อมือของเรา โดยเฉพาะคนที่เป็นศัลยแพทย์ โดยพบว่าผู้ที่เล่นเกมสามารถทำตามขั้นตอนขั้นสูงได้เร็วกว่า และทำผิดพลาดน้อยกว่าคนที่ไม่เล่นถึง 37%
8. มีสมาธิและจดจ่อมากขึ้น
นักวิจัยเคยทำการทดลองกับคนเล่นเกมที่มีประสบการณ์และไม่มีประสบการณ์ โดยจะมีโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ให้หลายอย่าง เช่น ให้แยกแยะรูปทรง ปรากฏว่าคนเล่นเกมที่มีประสบการณ์จะทำได้ดีกว่าคนที่ไม่ค่อยได้เล่น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการเล่นเกมช่วยเพิ่มความสามารถหลายอย่าง รวมถึงสมาธิและความจดจ่อด้วย
9.ทักษะด้านมิติสัมพันธ์
เกมหลายเกม เช่น Minecraft เป็นเกมที่อยู่ในโลกเสมือนจริงแบบ 3 มิติ ผู้เล่นจะต้องฝึกทักษะการนำทางแบบไม่มี GPS หรือแอปแผนที่บนมือถือมาคอยช่วย ผลที่ได้คือเด็กจะได้ฝึกทักษะด้านมิติสัมพันธ์ที่ช่วยให้เด็กเข้าใจเรื่องระยะทางและพื้นที่ได้ดีขึ้น
10.ได้เล่นอย่างมีจินตนาการและมีความคิดสร้างสรรค์
การเล่นเกมทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ การศึกษาชิ้นหนึ่งให้ผู้เล่นอายุ 12 ปี วาดรูป เล่าเรื่อง ถามคำถาม และลองคาดการณ์ พบว่าเด็กทุกคนแสดงความคิดสร้างสรรค์และความอยากรู้อยากเห็นออกมาในระดับสูง
11. สร้างสัมพันธ์กับผู้อื่นและส่งเสริมการทำงานเป็นทีม
เกมช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ทางสังคมได้ดีโดยเฉพาะเกมออนไลน์ ความสัมพันธ์ของคนที่เล่นเกมออนไลน์จะแตกต่างจากการใช้โลกออนไลน์เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น ฟอรัมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย เพราะเมื่อเล่นเกมเราจะมีประสบการณ์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือหรือแข่งขันกันก็ตาม สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้เล่นรู้สึกเหงาน้อยลง ซึ่งความเหงาก็เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นอยู่ของคนเรา การวิจัยพบว่าความเหงาและการแยกตัวทางสังคมเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจมากกว่าโรคอ้วน 2 เท่า ฉะนั้น การที่เรามีประสบการณ์ร่วมกับคนกลุ่มหนึ่งจึงเป็นกลไกที่ปกป้องเราจากความเหงาได้ ทำให้เราเห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้น ซึมเศร้าน้อยลง เกิดความวิตกกังวล แยกตัวน้อยลง และมีสำนึกต่อการเป็นเจ้าของมากยิ่งขึ้น สถาบันเพื่ออนาคตยังระบุว่าเกมที่มีผู้เล่นหลายคนจะช่วยส่งเสริมการทำงานเป็นทีมในการแก้ปัญหาได้อีกด้วย
12.ได้พัฒนากลยุทธ์และความเป็นผู้นำ
เกมหลายเกมจะสั่งให้ผู้เล่นต้องทำอะไรบางอย่าง มหาวิทยาลัย Pittsburgh พบว่าเกมลักษณะนี้ทำให้ผู้เล่นต้องพัฒนาความสามารถของตัวเองเพื่อแก้ไขปัญหา โต้ตอบกับผู้เล่นคนอื่น และต้องตัดสินใจ
13.เป็นนักแก้ปัญหาที่ดี
เกมแบบ Open-world (เกมที่ไม่มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุด) เกมแบบอิงภารกิจ และเกมที่มีหลายระดับต่างก็ถูกออกแบบมาเหมือนปริศนาที่ต้องใช้เวลาในการแก้หลายชั่วโมง การเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาและการวางแผนอย่างเร่งรีบในเกมเป็นทักษะที่ถ่ายทอดสู่โลกแห่งความเป็นจริงได้ การศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี 2013 พบว่าเด็กที่เล่นเกมที่ใช้กลยุทธ์จะมีพัฒนาการด้านทักษะการแก้ปัญหา และมีแนวโน้มว่าจะทำคะแนนที่โรงเรียนได้ดีขึ้นในปีการศึกษาต่อไป
นี่เป็นเพียงข้อดีส่วนหนึ่งจากการเล่นเกมเท่านั้น แม้จะไม่ใช่เกมเพื่อการศึกษาโดยตรง แต่มันก็เสริมสร้างทักษะและความสามารถที่จำเป็นในอนาคตให้กับเด็ก ๆ ได้ คงเป็นเรื่องน่าเสียดายถ้าพวกเขาพลาดโอกาสที่จะได้เล่นสนุก ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เพียงเพราะเกมเหล่านี้ไม่เคยถูกแปะป้ายว่าเป็นเกมเพื่อการศึกษา หรือดูเป็นเกมที่รุนแรง ไร้สาระในสายตาของผู้ใหญ่เท่านั้นเอง
อ้างอิง
https://www.discovermagazine.com/mind/the-surprising-mental-health-benefits-of-video-games
https://www.gamedesigning.org/why-video-games-are-good/
https://www.understood.org/en/articles/surprising-benefits-of-video-games
https://www.esrb.org/blog/unspoken-benefits-of-video-game-play/
https://www.iberdrola.com/talent/benefits-video-games-learning
https://www.geico.com/living/home/technology/9-reasons-to-give-video-games-a-try/