มีการบ้านดีจริงหรือเปล่า แค่ไหนเรียกว่าเยอะ
-
- งานวิจัยพบว่า การบ้านมีประโยชน์จริง แต่มีประโยชน์แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น และไม่ใช่เด็กทุกคนจะได้ประโยชน์จากการบ้านเท่ากัน
- เวลาที่เด็กใช้ทำการบ้านไม่ได้สำคัญเท่าคุณภาพของการบ้าน และการที่การบ้านได้ตอบสนองต่อความต้องการของเด็ก
- เด็กเล็กได้ประโยชน์จากการบ้านเพียงเล็กน้อย เพราะยังไม่มีทักษะมากนัก
- นักเรียน ม.ต้น ได้ประโยชน์ปานกลาง แต่ถ้าการบ้านมากเกินไปก็ไม่ได้ให้ผลดีเช่นกัน
- นักเรียน ม.ปลาย ได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะโตพอที่จะเรียนรู้ได้อย่างอิสระ การบ้านจึงช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ได้ดีตราบใดที่ไม่มากจนเกินไป
การบ้านกับเด็กไทยดูจะเป็นของคู่กันมาช้านาน เราตื่นตัวเรื่องการบ้านกันมากขึ้นในยุคที่เด็กเรียนออนไลน์เพราะโรงเรียนไม่สามารถเปิดได้จากวิกฤตโรคระบาด เสียงสะท้อนของเด็ก ๆ ที่ว่าการบ้านกำลังบั่นทอนชีวิตของพวกเขา เพราะต้องใช้เวลาอยู่กับหน้าจอและการเรียนมากจนเกินไป ทำให้ผู้ใหญ่ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าในสถานการณ์นั้น การบ้านอาจไม่ได้ให้ผลดีอย่างที่เราเคยคิด แล้วการที่เด็กต้องทำการบ้านเป็นเรื่องดีจริงหรือเปล่า ที่เราได้ยินเด็ก ๆ บ่นกันว่า ทำไมการบ้านมันเยอะนัก คำว่าเยอะคือแค่ไหน
ครูและพ่อแม่อาจเชื่อว่าการบ้านช่วยเสริมสร้างทักษะการเรียน และทำให้เด็กได้ทบทวนสิ่งที่เรียนไปในห้อง แต่
งานวิจัยพบว่าการบ้านมีประโยชน์จริง แต่มีประโยชน์แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น และไม่ใช่เด็กทุกคนจะได้ประโยชน์จากการบ้านเท่ากัน โดยเด็กเล็กจะได้ประโยชน์น้อยกว่ามาก ขณะที่เด็กโตอย่างนักเรียนม.ปลายจะได้ประโยชน์สูงสุด
เช่นเดียวกับระยะเวลาที่เด็กแต่ละระดับชั้นใช้ในการทำการบ้านก็ไม่ควรจะเท่ากัน สมาคมผู้ปกครอง-ครูแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา และสมาคมการศึกษาแห่งชาติ แนะนำให้ยึดหลักระดับชั้นละ10 นาทีต่อคืน คือ เด็กป.1 ไม่เกิน 10 นาที ป.2 ไม่เกิน 20 นาที ป.3 ไม่เกิน 30 นาที ฉะนั้น นักเรียนม.ปลาย เต็มที่แล้วก็ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมงต่อคืน เพราะการบ้านที่มากเกินไปจะส่งผลเสียกับเด็ก ทำให้เด็กเกิดความเครียด อดนอน และมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา
อย่างไรก็ตามเวลาที่เด็กใช้ทำการบ้านก็ยังไม่ได้สำคัญเท่าคุณภาพของการบ้าน และการที่การบ้านได้ตอบสนองต่อความต้องการของเด็ก การบ้านที่ดีจึงควรมีจุดมุ่งหมายและให้ประโยชน์ ปลูกฝังการเรียนรู้ และพัฒนาเด็กได้
แม้ว่าครูจะให้การบ้านน้อยลง แต่เด็กก็ยังคงเรียนรู้ทักษะที่ท้าทายได้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ครูต้องนำมาพิจารณาเพิ่มเติมก่อนให้การบ้านด้วย เช่น งานที่ครูคิดว่าเด็กจะใช้เวลาทำ 30 นาที แต่สำหรับเด็กบางคนอาจต้องใช้เวลา 2 เท่า เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เช่น ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีคอมพิวเตอร์ การบ้านจึงอาจกลายเป็นสิ่งที่ขยายช่องว่างระหว่างเด็กที่พร้อมกับไม่พร้อม เด็กที่พ่อแม่มีรายได้น้อย หรือเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้กับเด็กทั่วไปได้
เด็กประถมฯ ได้ประโยชน์เพียงเล็กน้อย
เมื่อเด็กเล็กเริ่มเข้าโรงเรียน สิ่งที่เราควรเน้น คือ การปลูกฝังความรักในการเรียนรู้ให้กับพวกเขา ฉะนั้น การให้การบ้านที่มากเกินไปกับเด็กจึงอาจทำลายเป้าหมายนี้ได้
มีหลักฐานว่าการบ้านเป็นอันตรายต่อทัศนคติของเด็กที่มีต่อโรงเรียน เกรด ความมั่นใจในตนเอง ทักษะทางสังคม ผลการเรียนของเด็กๆ รวมถึงคุณภาพชีวิต เด็กเล็กยังไม่มีทักษะมากนัก พวกเขาจึงยังไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการบ้าน กิจกรรมที่มีประโยชน์และมีประสิทธิภาพมากสำหรับเด็กวัยนี้ คือ การให้เด็กได้อ่านหนังสือทุกคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพ่อแม่มีส่วนร่วมด้วย
เคยมีการศึกษาเรื่องการบ้านของเด็กพบว่าเด็กประถมฯ ตอนต้นได้การบ้านมากถึง 3 เท่าของที่แนะนำ การศึกษาในปี 2015 ที่ตีพิมพ์ใน The American Journal of Family Therapy ได้สำรวจผู้ปกครองมากกว่า 1,100 คนในโรดไอแลนด์พร้อมลูกวัยเรียน พบว่านักเรียนชั้นป.1 และ 2 ต้องทำการบ้านคืนละ 28 และ 29 นาที ส่วนเด็กอนุบาลได้การบ้านโดยเฉลี่ย 25 นาทีต่อคืน ทั้ง ๆ ที่ตามมาตรฐานแล้วเด็กอนุบาลไม่ควรมีการบ้านเลย
ไม่เพียงแค่เด็กจะเกิดความเครียดเมื่อต้องทำการบ้านนานเกินกว่าเกณฑ์ที่แนะนำเท่านั้น แต่การบ้านยังอาจนำไปสู่ความเครียดในครอบครัว พ่อแม่จะเกิดความไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเองหากต้องพูดคุยกับครูเรื่องการบ้านของลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่ได้มีการศึกษาที่สูงมาก ครอบครัวจะมีโอกาสทะเลาะกันมากขึ้น 200% เมื่อพ่อแม่ไม่มีวุฒิการศึกษาระดับวิทยาลัย
นักเรียน ม.ต้น ได้ประโยชน์จากการบ้านปานกลาง
งานวิจัยพบว่า การบ้านมีประโยชน์ปานกลางสำหรับนักเรียนม.ต้น แต่การบ้านที่มากเกินไปก็ไม่ได้ให้ผลดีเช่นกัน
การศึกษาในปี 2015 พบว่าเมื่อนักเรียนม.ต้น ได้การบ้านที่ต้องใช้เวลาทำนานกว่า 90-100 นาทีต่อวัน คะแนนสอบคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนจะเริ่มลดลง
การบ้านที่เยอะเกินอาจทำให้นักเรียนหมดแรงจูงใจและสมาธิได้ นักวิจัยจึงแนะนำว่าการบ้านที่ดีควรมีความท้าทาย แต่ต้องไม่มากจนนักเรียนท้อถอย มีเป้าหมายเพื่อปลูกฝังนิสัยการทำงาน และส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเป็นอิสระ ควรหลีกเลี่ยงการบ้านที่ไม่ต้องใช้ความพยายาม หรือการบ้านแบบซ้ำ ๆ
นักเรียน ม.ปลาย ได้ประโยชน์จากการบ้านมากที่สุด
นักเรียนในวัยนี้โตพอที่จะเรียนรู้ได้อย่างอิสระ การบ้านจึงช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ได้ดีตราบใดที่ไม่มากจนเกินไป เพราะหากนักเรียนใช้เวลาทำการบ้านเกิน 2 ชั่วโมงต่อคืน พวกเขาจะเสียเวลาในการพักผ่อน และเวลาที่จะได้ใช้กับเพื่อน และครอบครัว
การวิจัยที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในปี 2013 สำรวจนักเรียนมากกว่า 4,300 คน ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีประสิทธิภาพสูง 10 แห่งในชุมชนคนชั้นกลางของแคลิฟอร์เนียพบว่า นักเรียนใช้เวลาทำการบ้านมากกว่า 3 ชั่วโมงโดยเฉลี่ยแต่ละคืน โดยนักเรียนกว่า 70% บอกว่ามักจะเครียดกับการบ้าน อีก 56% ระบุว่าการบ้านเป็นตัวสร้างความเครียดหลัก
เมื่อนักวิจัยถามนักเรียนว่ามีอาการของความเครียดทางร่างกายหรือไม่ เช่น ปวดหัว อ่อนเพลีย อดนอน น้ำหนักลด หรือมีปัญหาในกระเพาะอาหาร นักเรียนกว่า 80% บอกว่ามีอาการที่เกี่ยวข้องกับความเครียดอย่างน้อยหนึ่งอย่างในเดือนที่ผ่านมา และ 44% บอกว่ามีอาการ 3 อย่างขึ้นไป นักวิจัยยังพบว่าการใช้เวลาทำการบ้านมากเกินไปหมายความว่า นักเรียนจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านพัฒนาการ หรือพัฒนาทักษะชีวิตที่สำคัญอื่น ๆ ได้ นักเรียนจึงมีแนวโน้มที่จะไม่ทำกิจกรรมที่เคยทำ เลิกพบปะเพื่อนฝูงหรือครอบครัว และเลิกใช้เวลาไปกับงานอดิเรก ที่น่าเศร้า คือ นักเรียนหลายคนรู้สึกว่าตัวเองถูกบังคับ หรือจำเป็นต้องเลือกการบ้านมากกว่าการพัฒนาความสามารถหรือทักษะอื่น ๆ
สิ่งสำคัญที่ครูไม่ควรลืม คือ ไม่ใช่นักเรียนทุกคนจะมีโอกาสเท่าเทียมกันในการทำการบ้านให้เสร็จที่บ้าน ดังนั้น การบ้านที่ไม่เสร็จสมบูรณ์อาจไม่ใช่ภาพสะท้อนที่แท้จริงของการเรียนรู้ เพราะนักเรียนอาจกำลังเผชิญปัญหานอกโรงเรียน เช่น ขาดพื้นที่เงียบสงบในบ้าน ขาดทรัพยากรต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต หรือขาดการสนับสนุนจากพ่อแม่ ฉะนั้น การให้คะแนนการบ้านต่ำก็อาจไม่ยุติธรรมสำหรับนักเรียนเท่าไรนัก และแม้ว่านักเรียนม.ปลาย จะมีข้อแนะนำให้ทำการบ้านได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อคืน แต่ในความเป็นจริงแล้วนักเรียนต้องเรียนหลายวิชา หากการบ้านวิชาหนึ่งใช้เวลาสักครึ่งชั่วโมง นี่อาจยังไม่เป็นปัญหาสักเท่าไร แต่ถ้าครู 6 วิชาให้การบ้านคนละครึ่งชั่วโมง กรณีนี้นักเรียนจะต้องใช้เวลาทำการบ้านถึง 3 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเกินขอบเขตที่แนะนำต่อวัน ฉะนั้น การบ้านสำหรับนักเรียนในช่วงชั้นนี้นอกจากไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมงต่อคืนแล้ว ยังควรเกี่ยวข้องกับบทเรียน และนักเรียนสามารถทำเองได้โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือใด ๆ
ถ้าเราลองเปรียบเทียบปริมาณการบ้านของแต่ละประเทศแล้วเราจะพบว่า นักเรียนม.ต้น ในสหรัฐอเมริกาทำการบ้านมากกว่านักเรียนญี่ปุ่น เกาหลี หรือไต้หวัน แต่น้อยกว่าสิงคโปร์ และฮ่องกง ผลการวิจัยยังพบอีกว่า ปริมาณการบ้านไม่มีความสัมพันธ์กับคะแนนสอบที่สูงขึ้นอย่างที่ผู้ใหญ่หลายคนเคยเข้าใจ
สำหรับในบ้านเราคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้นำผลวิจัยเรื่องการให้การบ้านที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2547 มาวิเคราะห์ และได้กำหนดระยะเวลาการทำการบ้านของเด็กไทยไว้ว่า ป.1-3 ให้ทำการบ้าน 30-60 นาที ป.4-6 ตั้งแต่ 1-1.30 ชั่วโมง และม.1-6 ไม่เกิน 2 ชั่วโมง หลังจากที่งานวิจัยพบว่าหากเด็กเล็กใช้เวลาทำการบ้านเกิน 1 ชั่วโมง เด็กจะเครียด
การบ้านกับบทบาทสำคัญของพ่อแม่
มองเผิน ๆ เราอาจจะคิดว่าการบ้านเป็นเรื่องของเด็ก แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปการบ้าน คือ เครื่องมืออันทรงพลังที่ช่วยให้พ่อแม่มีส่วนร่วมกับการเรียนรู้ของลูกมากขึ้น การบ้านบอกได้ว่าเด็กมีจุดแข็งเรื่องอะไร สนใจเรื่องไหน และยังกระตุ้นให้เกิดบทสนทนาเกี่ยวกับชีวิตของเด็กที่โรงเรียนได้อีกด้วย หากพ่อแม่มีทัศนคติที่ดีต่อการทำการบ้าน เด็ก ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะมีทัศนคติแบบเดียวกัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความสำเร็จทางวิชาการของพวกเขา
การบ้านอาจสร้างทักษะที่มีประโยชน์ได้กับเด็กได้นอกเหนือจากการเรียนรู้ให้ห้องเรียน ขณะเดียวกันก็อาจกลายเป็นสิ่งที่บั่นทอนร่างกาย จิตใจ และไม่ช่วยส่งเสริมทักษะใด ๆ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างที่มาจากผู้ใหญ่อย่างเรา ไม่ว่าจะเป็นครู พ่อแม่ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ดี การมุ่งหวังให้เด็ก ๆ ได้ประโยชน์จากการบ้านอย่างแท้จริงจึงอาจเป็น “การบ้าน” ที่ผู้ใหญ่ต้องกลับมาคิดทบทวนให้ถี่ถ้วนว่า เด็ก ๆ ของเราจะได้อะไรจากการบ้านชิ้นนั้นบ้าง
อ้างอิง
https://www.edutopia.org/article/whats-right-amount-homework
https://www.healthline.com/health-news/children-more-homework-means-more-stress-031114#Consequences-for-high-school-students-
https://www.greatschools.org/gk/articles/homework-is-too-much/
https://www.pptvhd36.com/news