Gap Year
โอกาสในการค้นหาตัวเอง กับ ช่องว่างที่ขาดหายในการศึกษาไทย
- Gap Year เป็นพิธีการที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรในทศวรรษที่ 1960 โดยไม่มีการจำกัดอายุในการทำ แต่ส่วนใหญ่มักทำในช่วงจบมัธยมปลาย หรือหลังจบมหาวิทยาลัยเพื่อให้นักเรียน นักศึกษาได้แสวงหาประสบการณ์ การเป็นอาสาสมัคร ออกเดินทางเห็นโลกเพื่อให้มีโอกาสเติบโต
- Gap Year นอกจากจะช่วยพัฒนา และสร้างทักษะแล้ว Gap Year ยังช่วยแก้ปัญหาร้ายแรงของการศึกษาคือเรื่องสุขภาพจิตเนื่องจากปัญหาสุขภาพจิตในอเมริกาอาจกำลังถึงระดับวิกฤติเพราะหนึ่งในสามของนักศึกษาอเมริกันประสบปัญหาภาวะซึมเศร้า
- ในประเทศไทยเองก็พบว่าสถิติการฆ่าตัวตายยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในทุก ๆ ปี นอกจากเรื่องของครอบครัวแล้วระบบการศึกษาเองก็มีส่วนกดดันให้เด็ก ๆ ไม่ได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ นอกจากนี้อีกปัญหาหนึ่งของแรงงานไทยคือการทำงานไม่ตรงสาย การได้ใช้ Gap Year จะชวยให้เด็ก ๆ ได้ผ่อนคลายมีความสามารถมากขึ้นในการจัดการอารมณ์ได้มากขึ้น
พอจะเป็นไปได้ไหมถ้าเราจะได้มีโอกาสค้นหาตัวเองก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อให้เรารู้จักตัวเองมากพอที่จะต้องเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ ในประเทศไทยแนวทางนี้อาจฟังดูเป็นเรื่องแปลกไปบ้างเพราะคนส่วนใหญ่ มักไม่มี Gap Year ในการค้นหาตัวเอง เมื่อจบม.ปลายแล้วการก้าวเท้าเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยในอีก 2-3 เดือนถัดไปเป็นเรื่องที่ปกติมากของสังคมไทย

Gap Year เว้นช่องว่างไว้เพื่อเติบโต
Gap Year เป็นพิธีการที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรในทศวรรษที่ 1960 โดยไม่มีการจำกัดอายุในการทำ แต่ส่วนใหญ่มักทำในช่วงจบมัธยมปลาย หรือหลังจบมหาวิทยาลัยเพื่อให้นักเรียน นักศึกษาได้แสวงหาประสบการณ์ การเป็นอาสาสมัคร ออกเดินทางเห็นโลกเพื่อให้มีโอกาสเติบโตในการทำ resume เติมพลังหลังจากเหนื่อยล้ากับการเรียน และได้ประสบการณ์ชีวิตเพิ่มนอกจากการเรียนในห้องเรียน เพื่อให้นักเรียนสามารถเผชิญกับภาระงานที่ต้องเจอ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจโลกมากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีที่ทางยุโรป ออสเตรเลีย นิยมใช้กัน
สถิติสำคัญของการทำ Gap Year ในสหราชอาณาจักร
– ในปี 2022 คนอายุ 18-24 ปีจะมีคนใช้ช่วง Gap Year ถึง181,500-185,200 คน
– โดยเฉลี่ยแล้วมีนักศึกษา 29,920 คนเลื่อนหลักสูตรของมหาวิทยาลัยออกไปเพื่อหยุดเรียนในแต่ละปี สำหรับปีการศึกษา 2021/22 มีนักศึกษา 36,790 คนเลื่อนหลักสูตรของมหาวิทยาลัยออกไปจากปี 2012 เพิ่มขึ้น 52.1%
– ผู้ทำ Gap Year ประมาณ153,700 คนทำงานในสหราชอาณาจักรคิดเป็น83% ในขณะที่ 59,300 คนจะทำงาน/อาสาสมัครในต่างประเทศคิดเป็น 16%
ในการสำรวจศิษย์เก่าแห่งชาติปี 2015 ที่จัดทำโดย American Gap Association ร่วมกับ Temple University นักศึกษาได้บอกว่าการใช้ Gap Year พบว่า 98% การใช้ Gap Year ช่วยให้พวกเขาพัฒนาตัวเอง 96%เพิ่มความมั่นใจในตนเอง 93% เพิ่มทักษะการเสื่อสารให้พวกเขา โดยนักศึกษาบอกว่าการใช้ Gap Year ไปกับการหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ทำให้พวกเขาได้เติมเต็มทักษะที่จำเป็น พัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับโลก และวัฒนธรรมอื่น ๆ ให้สมกับเป็นพลเมืองโลก นอกจากนี้จากการสำรวจพบว่าการหยุดพักไป 1 ปีมีแนวโน้มที่ผลการเรียนจะดีขึ้น และผลนี้จะอยู่ตลอด 4 ปี การออกจากระบบการศึกษาเป็นระยะเวลา 1 ปี อาจส่งผลให้ผู้ปกครองมีความกังวลว่าผู้เรียนจะทิ้งการเรียนไปเลยแต่จากผลการศึกษาพบว่า 90% ของคนที่มีโอกาสได้มี Gap Year จะกลับไปเรียนภายในหนึ่งปี
Gap Year นอกจากจะช่วยพัฒนา และสร้างทักษะแล้ว Gap Year ยังช่วยแก้ปัญหาร้ายแรงของการศึกษาคือเรื่องสุขภาพจิตเนื่องจากปัญหาสุขภาพจิตในอเมริกาอาจกำลังถึงระดับวิกฤติเพราะหนึ่งในสามของนักศึกษาอเมริกันประสบปัญหาภาวะซึมเศร้า และเกือบครึ่งมีความวิตกกังวลอย่างสูง นักศึกษากว่า 30% ที่เคยรับบริการสุขภาพจิตได้เคยคิดฆ่าตัวตายอย่างจริงจังในช่วงหนึ่งของชีวิต เพราะนักเรียนหนึ่งคนต้องอยู่ภายใต้แรงกดดันมากมายจนไม่อาจรับมือได้มีนักเรียนอเมริกันเพียง 56%เท่านั้นที่จบหลักสูตรปริญญาตรีภายใน 6 ปี ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งจริง ๆ แล้วปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่นไม่เพียงแต่เป็นปัญหาของอเมริกาเท่านั้น ในประเทศไทยเองก็พบว่าสถิติการฆ่าตัวตายยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในทุก ๆ ปี นอกจากเรื่องของครอบครัวแล้วระบบการศึกษาเองก็มีส่วนกดดันให้เด็ก ๆ ไม่ได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ นอกจากนี้อีกปัญหาหนึ่งของแรงงานไทยคือการทำงานไม่ตรงสาย ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของแรงงานไทย (Labor Force Survey : LFS) ระหว่างปี 2554-2560 พบว่าแรงงานอายุน้อยมีแนวโน้มเผชิญการทำงานไม่ตรงสายมากขึ้น แม้แต่อาชีพที่ต้องใช้ทักษะสูงก็ไม่ได้จบตรงสายเช่นเดียวกัน และยังพบว่าตลาดแรงงานไทยพบการทำงานไม่ตรงสายมากถึงร้อยละ 44 ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อความไม่สอดคล้องของการศึกษากับค่าจ้างของแรงงานที่ได้รับ การได้ใช้ Gap Year จะชวยให้เด็ก ๆ ได้ผ่อนคลายมีความสามารถมากขึ้นในการจัดการอารมณ์ได้มากขึ้น
ช่วง Gap Year มีโอกาสทำอะไรบ้าง
-
- ทำงาน เมื่อนักศึกษาไม่ต้องไปโรงเรียน การทำงานระหว่างหยุดในช่วง Gap Year จะช่วยให้มีเงินออมได้มากขึ้นในช่วงนั้นพร้อมทั้งได้ค้นพบตัวเองจากงานที่ทำ
- เป็นอาสาสมัคร ทำให้ได้มีโอกาสพิเศษในช่วง Gap Year อาจทำให้นักศึกษาได้ค้นพบเส้นทางใหม่ ๆ ในงานที่สนใจ
- ออกเดินทาง ไม่ว่าจะด้วยโอกาสในการทำงาน เพียงเพื่อความสนุกสนาน Gap Year ทำให้นักศึกษามีโอกาสในการท่องเที่ยวหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ไม่มีในห้องเรียน และเห็นโลกด้วยตัวเอง
ข้อดีของการมี Gap Year
-
- ได้ประสบการณ์การทำงาน มีโอกาสได้ใช้ชีวิตเรียนรู้ทักษะ “ผู้ใหญ่” ที่สำคัญบางอย่างที่ต้องใช้ในช่วงต้นอาชีพ Gap Year ช่วยให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับทักษะ และเป้าหมายในชีวิต นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มมุมมองให้ได้ค้นหาเป้าหมายได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ประสบการณ์การทำงานมีส่วนช่วยให้ตัดสินใจว่าเส้นทางที่กำลังเลือกจะเป็นเส้นทางที่ดีสำหรับชีวิต เป้าหมาย และทักษะของตัวเองหรือไม่
- เติมพลัง นักเรียนใช้เวลาอย่างน้อย 12 ปีในโรงเรียน ก่อนจะเริ่มเรียนในมหาวิทยาลัยอีก 4 ปี ซึ่งนักเรียนอาจต้องการการหยุดพักเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ก่อนเริ่มความท้าทายใหม่ ๆ
- รับทักษะชีวิตใหม่ เมื่อนักเรียนได้รับประสบการณ์ชีวิตใหม่ ๆ ก็จะได้รับทักษะชีวิตไปด้วย การใช้เวลาช่วง Gap Year เพื่อเรียนรู้วิธีการจัดการเวลา ทำอาหาร ท่องเที่ยว พบปะผู้คนใหม่ ๆ การมีทักษะชีวิตเหล่านี้ติดตัวไว้ก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเป็นการเตรียมพร้อมทักษะ และจิตใจในการเติบโตเพื่อสเตปถัดไปของชีวิต
ข้อเสียของการใช้ Gap Year
-
- การเปลี่ยนกลับไปโรงเรียนอาจยากขึ้นหาได้ใช้ชีวิตในโหมดชีวิตแล้ว นิสัยการเรียน และความสามารถในการเรียนรู้อาจลดลงหากคน ๆ นั้นไม่ได้หลงใหลในการศึกษาเป็นพิเศษ
- รู้สึกตามหลังคนรอบข้าง เมื่อต้องไปโรงเรียนหลังจากหยุดไปหนึ่งปีทำให้เพื่อนบางคนอาจเรียนนำหน้าไป ทำให้คนที่หยุดไปต้องกลายเป็นน้องใหม่ และอาจรู้สึกว่าล้าหลังหรือว่าตามหลังเพื่อนคนอื่น ๆ
- แรงจูงใจหายไป หากนักเรียนมีแรงผลักดันมาจากโรงเรียนมัธยมปลาย พวกเขาอาจตื่นเต้นกับโอกาสใหม่ ๆ ที่รออยู่ในมหาวิทยาลัย แต่หากหยุดพักไปหนึ่งปีอาจจะสูญเสียแรงจูงใจนั้นไป
แล้ว Gap Year ของประเทศไทยจะเป็นไปได้ไหม หากจะทำจะต้องดูบริบทของนโยบายของสถาบันศึกษาเป็นหลักว่าเอื้อต่อการปฎิบัติมากน้อยแค่ไหน
-
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคิดค่ารักษาสภาพในระดับปริญญาตรี ภาคการศึกษาละ 1,000 บาท อีกทั้งการลาพักการศึกษาเพราะมีความจำเป็นส่วนตัวนิสิตต้องศึกษามาแล้วอย่างน้อย 1 ภาคการศึกษา และมีผลการศึกษาแต้มเฉลี่ยสะสมไม่น้อยกว่า 2.00 (ปริญญาบัณฑิต) หรือ 3.00 (บัณฑิตศึกษา)
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ค่ารักษาสภาพนักศึกษาภาคการศึกษาละ 300 บาท โดยให้นักศึกษาลาพักได้ไม่เกิน 2 ภาคการศึกษาติดต่อกัน ยกเว้นจะมีเหตุอันสมควรและได้รับอนุมัติจากอธิการบดี
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีค่าธรรมเนียมรักษาสถานภาพ (ลาพักการศึกษา) จํานวนเงิน 5,000 บาทต่อภาคการศึกษาปกติ
- มหาวิทยาลัยนเรศวรมีค่าธรรมเนียมในการรักษาสภาพนักศึกษา 660 บาทในภาคเรียนที่หนึ่ง และ 550 บาทในภาคเรียนที่ 2 และ 3 และมีค่าธรรมเนียมในการคืนสภาพนิสิตครั้งละ 1,000 บาท
รายละเอียดเบื้องต้นที่ยกมานี้เป็นเพียงรายละเอียดบางส่วนของแต่ละมหาวิทยาลัยเท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าการพักการเรียนอาจส่งผลต่อค่าใช้จ่าย ระเบียบปฎิบัติของมหาวิทยาลัยที่อาจมีความซับซ้อน การออกไปท่องโลกของนักศึกษาในบางครอบครัวยังมองเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย การรีบเรียน รีบจบเพื่อหางานดูจะกลายเป็นเรื่องสำคัญของโลกทุนนิยม บางครั้งการได้มีโอกาสหาเวลาให้กับตัวเองในการพักผ่อน หรือค้นหาตัวเองก็อาจจะเป็นเรื่องสำคัญมากเรื่องหนึ่งที่ส่งผลต่อชีวิตเยาวชนไปตลอดชีวิตก็เป็นได้
อ้างอิง
https://waymagazine.org/gap-year-thailand/
https://www.thesca.org/connect/blog/gap-years-what-does-research-say
https://post.edu/blog/pros-and-cons-of-a-gap-year/
https://www.gooverseas.com/blog/why-gap-years-more-common-in-europe-us
https://www.springnews.co.th/spring-life/820694
https://www.naewna.com/politic/columnist/43116