จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อนักเรียนเรียนกับครูคนเดิมเกิน 1 ปี
- การที่เด็กจะเรียนกับครูคนเดิมซ้ำ 2 ปี เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติ แต่ส่วนมากแล้วมักจะเกิดขึ้นแบบไม่ได้ตั้งใจ อย่างไรก็ตาม นักวิจัยพบว่า เมื่อเด็กได้เจอครูคนเดิมในปีที่ 2 เท่ากับครูมีโอกาสที่จะตอบสนองความรู้ทางวิชาการ และความต้องการทางสังคมให้กับเด็กได้มากขึ้น
- เมื่อครูกับนักเรียนมีเวลาได้เจอกันมากขึ้น ครูจะรู้จักนักเรียนมากขึ้นในหลายมิติ ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครูนี่เองที่เป็นกุญแจสำคัญของการสร้างโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ
เรื่องเล็ก ๆ บางเรื่องในห้องเรียนอาจมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กมากกว่าที่เราคิด หนึ่งในนั้นก็คือ การที่เด็กคนหนึ่งได้เรียนกับครูคนเดิมซ้ำ 2 ปี อาจฟังดูเป็นเรื่องที่เราไม่ได้สังเกต หรือใส่ใจกันมากนัก ในโรงเรียนเล็ก ๆ ตามต่างจังหวัด เด็กแต่ละคนอาจมีโอกาสได้เรียนกับครูคนเดิมหลายปีมากกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียนใหญ่ที่มีครูเต็มอัตรา ความน่าสนใจอยู่ตรงที่มีงานวิจัยออกมาว่า เมื่อเด็กได้เรียนกับครูคนเดิมซ้ำ 2 ปี เด็กจะได้ประโยชน์ทั้งในด้านวิชาการ และพฤติกรรม ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น และเรื่องนี้ทำไปสู่ประเด็นต่อยอดอะไรได้บ้าง เรามาหาคำตอบกัน
นักเรียนเรียนกับครูคนเดิมพบได้บ่อย แต่มักเกิดขึ้นแบบไม่ได้ตั้งใจ
ข้อมูลพบว่า การที่เด็กคนหนึ่งจะเรียนกับครูคนเดิมซ้ำ 2 ปีนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติ แต่ส่วนมากแล้วมักจะเกิดขึ้นแบบไม่ได้ตั้งใจ เช่น เด็กต้องเรียนซ้ำชั้น ฉะนั้น การที่เด็กได้เรียนกับครูคนเดิมซ้ำ 2 ปี โดยที่เป็นความตั้งใจของทางโรงเรียนเองจึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้น้อยกว่ามาก อย่างไรก็ตาม นักวิจัยพบว่า เมื่อเด็กได้เจอครูคนเดิมในปีที่ 2 เท่ากับครูมีโอกาสที่จะตอบสนองความรู้ทางวิชาการ และความต้องการทางสังคมให้กับเด็กได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เกิดโรคระบาด
ข้อดีเมื่อนักเรียนได้เรียนกับครูคนเดิม
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยใหม่จากสถาบัน Annenberg โดยมหาวิทยาลัย Brown ที่สร้างมาจากงานวิจัยเดิมของ Andrew Hill และ Daniel Jones ในปี 2018 นักวิจัยจะดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนเกรด 3-11 ที่เรียนกับครูคนเดิมซ้ำ 2 ปี (ไม่นับรวมนักเรียนที่เรียนซ้ำชั้น) จากครู 3 แบบ คือ
- ครูที่บังเอิญต้องย้ายจากสอนเกรด 2 ไปสอนเกรด 4
- ครูคณิตศาสตร์ ม.ปลาย ที่สอนหลายชั้น
- ครูที่สอนนักเรียนห้องเดิมเป็นเวลา 2 ปี
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ เมื่อครูกับนักเรียนมีเวลาได้เจอกันมากขึ้นในปีที่ 2 ครูจะรู้จักนักเรียนมากขึ้นในหลายมิติ ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครูนี่เองที่เป็นกุญแจสำคัญของการสร้างโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ และวิธีหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาสิ่งเหล่านี้ คือ การให้ครูและนักเรียนมีเวลาทำความรู้จักกันมากขึ้น ความสัมพันธ์เหล่านี้ไม่เพียงส่งผลดีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเท่านั้น แต่ยังช่วยลดอัตราการขาดเรียน และการพักการเรียนของนักเรียนอีกด้วย ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่นักวิจัยพบ คือ คะแนนสอบของนักเรียนจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในวิชาคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ/ ความสามารถด้านภาษาในทุกระดับชั้น โดยจะเห็นความชัดเจนได้มากที่สุดในนักเรียนที่เรียนเก่ง และนักเรียนหญิงผิวขาว ถ้าถามว่า นักเรียนกลุ่มไหนจะได้ประโยชน์มากที่สุดกับการให้นักเรียนได้เรียนกับครูคนเดิม คำตอบก็คือ นักเรียนชายผิวสี เพราะนักเรียนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มักจะถูกพักการเรียน และถูกลงโทษทางวินัยมากที่สุด เมื่อครูรู้จักนักเรียนมากขึ้น ครูจะยิ่งเห็นศักยภาพในตัวพวกเขา เพราะก่อนหน้านี้ก็มีงานวิจัยที่พบว่า ครูผิวขาวไม่ค่อยคาดหวังอะไรกับนักเรียนผิวสีมากนัก
ครูสอนนักเรียนคนเดิม
ไม่เพียงแค่ส่งผลดีต่อนักเรียนที่เคยเจอครูคนเดิมมาแล้วเท่านั้น สำหรับนักเรียนใหม่ที่เพิ่งเข้ามาใหม่ การได้อยู่ในห้องเรียนที่เพื่อน ๆ และครูรู้จัก คุ้นเคยกันดีอยู่แล้วถือได้ว่า ห้องเรียนนั้นมีบรรยากาศที่อบอุ่น สบายใจ เมื่อครูได้เจอนักเรียนคนเดิมในปีที่ 2 ครูสามารถปรับเนื้อหาทางวิชาการเพื่อสร้างการเรียนรู้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการเรียนรู้วิธีที่จะสนับสนุนนักเรียนแต่ละคนถือว่า เป็นทักษะการสอนที่ใช้เวลาในการพัฒนาเช่นเดียวกับการจัดการห้องเรียน และการสอนเฉพาะรายวิชา
อีกประเด็นที่เราคาดไม่ถึง คือ เมื่อการเรียนกับครูคนเดิมส่งผลให้ครูได้พัฒนาการสอนของตัวเองมากขึ้น แม้ครูคนนั้นจะไม่ได้เป็นครูที่เก่ง แต่ข้อมูลยังพบว่า นักเรียนที่เรียนกับครูที่ไม่เก่งนี่แหละจะเป็นคนที่ได้ประโยชน์จากการเจอครูคนเดิมในปีที่ 2 เทียบกับการเรียนกับครูที่เก่ง นี่อาจตีความได้ว่า วิธีนี้อาจเป็นวิธีที่มีต้นทุนน้อยที่สุดในการช่วยพัฒนาประสิทธิภาพครูที่ยังไม่ค่อยเชี่ยวชาญมากนัก
จะว่าไปแล้ว การที่ครูหนึ่งคนต้องสอนหลายวิชาในโรงเรียนต่างจังหวัด แม้ว่าจะมีข้อเสีย แต่พอมองอีกแง่ก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน คือ ครูกับนักเรียนจะมีความคุ้นเคยกันมาก หากครูประถมฯ ถูกแบ่งแผนกตามความเชี่ยวชาญของสาขาวิชา เวลาที่นักเรียนจะได้อยู่กับครูคนหนึ่งก็จะน้อยลงทันที แน่นอนว่า ย่อมส่งผลต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย เคยมีงานศึกษาพบว่า การจัดแผนกประถมศึกษาทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนลดลง นี่อาจเป็นประเด็นที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อนเลยด้วยซ้ำ
งานวิจัยเหล่านี้สะท้อนให้เราเห็นว่า เมื่อครูไม่ต้องเสียเวลาในปีที่ 2 ไปกับการทำความรู้จักนักเรียน ครูเลยมีเวลาอย่างเต็มที่ในการจัดการเรียนรู้ แปลว่า หากโรงเรียนมีนโยบายอะไรที่ตามที่ส่งผลต่อการจัดสรรเวลาของครูในชั้นเรียน สิ่งนั้นอาจจะส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนได้ เหนือสิ่งอื่นใด ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน คือ หัวใจสำคัญที่จะพาการเรียนรู้ไปได้ไกลกว่าเดิม ลองนึกดูเล่น ๆ ว่า หากโรงเรียนวางนโยบายเรื่องนี้อย่างจริงจัง เราอาจจะต้องทึ่งกับผลการเรียนรู้ของเด็กที่เพิ่มสูงขึ้น เพียงแค่ปรับเปลี่ยนอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชั้นเรียน
อ้างอิง