ทำไมเราควรดีใจเมื่อลูกโกหกครั้งแรก

A A
Mar 22, 2022
Mar 22, 2022
A A

ทำไมเราควรดีใจเมื่อลูกโกหกครั้งแรก

 

คุณอาจจะตกใจถ้ารู้ว่าความเชื่อทั้งหมดนี้ผิด และอาจจะตกใจซ้ำสองถ้ารู้ว่า แทนที่จะตื่นตกใจเมื่อลูกโกหกครั้งแรก เราควรจะฉลองให้กับความสำเร็จในครั้งนี้ต่างหาก

 

 

ถ้าเราเคยคิดว่าการโกหกเป็นเรื่องไม่ดี โดยเฉพาะเด็กเล็กที่เพิ่งหัดโกหกเป็นครั้งแรก นี่อาจเป็นความเข้าใจที่ผิด

คนส่วนมากเชื่อว่าเด็กจะเริ่มโกหกเมื่อเข้าเรียนชั้นประถม แล้วก็จะโกหกได้ไม่ค่อยเนียนเท่าไร ผู้ใหญ่มักจะจับโกหกได้ง่าย และถ้าเด็กเริ่มโกหกตั้งแต่อายุน้อย โตขึ้นจะต้องนิสัยไม่ดี กลายเป็นคนขี้โกหกไปตลอดชีวิต คุณอาจจะตกใจถ้ารู้ว่าความเชื่อทั้งหมดนี้ผิด และอาจจะตกใจซ้ำสองถ้ารู้ว่า แทนที่จะตื่นตกใจเมื่อลูกโกหกครั้งแรก เราควรจะฉลองให้กับความสำเร็จในครั้งนี้ต่างหาก ทำไมการโกหกที่เรามองว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีถึงดูเป็นเรื่องน่ายินดีเมื่อเด็กเล็กเริ่มเรียนรู้พฤติกรรมนี้

การทดลอง “หนูแอบดูหรือเปล่า”

Kang Lee นักวิจัยด้านพัฒนาการ มหาวิทยาลัยโตรอนโต เคยทำการทดลองดูพฤติกรรมการโกหกของเด็กด้วยการให้เด็กเล่นเกมทายเลขจากบัตร กติกาคือถ้าเด็กชนะจะได้รางวัลใหญ่ ขณะที่เล่น ๆ อยู่ทีมงานก็จะขอตัวออกมานอกห้อง โดยไม่ลืมย้ำกับเด็กว่าอย่าแอบดูคำตอบในบัตรนะ แน่นอนว่าในห้องนี้มีกล้องซ่อนอยู่ Lee พบว่าเด็กกว่า 90% จะแอบดูทันทีเมื่อทีมงานออกไป พอทีมงานกลับมาแล้วถามว่าเด็กแอบดูหรือเปล่า เขาพบว่าไม่ว่าเด็กจะเป็นเพศไหน มาจากประเทศหรือศาสนาอะไรก็ตาม

  • เมื่อเด็กอายุ 2 ขวบ 30% จะโกหก 70% จะบอกความจริงว่าตัวเองละเมิดกติกา
  • เมื่อเด็กอายุ 3 ขวบ 50% จะโกหก 50% จะบอกความจริงว่าตัวเองละเมิดกติกา
  • เมื่อเด็กอายุ 3 ขวบ มากกว่า 80% จะโกหก
  • ส่วนเด็กที่อายุ 4 ขวบขึ้นไป ส่วนใหญ่จะโกหก

จะเห็นได้ว่าการโกหกเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการตามปกติ เด็กบางคนเริ่มโกหกตั้งแต่อายุ 2 ขวบ และจะยิ่งโกหกมากขึ้นเมื่อโตขึ้น สิ่งที่น่าคิดคือทำไมเด็กเล็กบางคนเท่านั้นถึงโกหก Lee เปรียบเทียบว่าการโกหกก็ไม่ต่างอะไรจากการทำอาหารที่ต้องมีส่วนผสมที่ดี การโกหกที่ดีก็ต้องมีส่วนผสม 2 อย่างด้วยกัน อย่างแรกคือ

ทฤษฎีว่าด้วยจิตใจ (Theory of Mind) หรือความสามารถในการอ่านใจผู้อื่น คือการที่เด็กรู้ว่าคนเรามีความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์หนึ่งไม่เหมือนกัน และยังต้องมีความสามารถที่จะแยกแยะระหว่างสิ่งที่ฉันรู้กับสิ่งที่คนอื่นรู้ เพราะพื้นฐานของการโกหกคือการรู้ว่าเธอไม่รู้ว่าฉันรู้อะไร

ส่วนผสมอย่างที่สองคือ การควบคุมตนเอง ไม่ว่าจะคำพูด สีหน้า หรือภาษากาย เพื่อให้โกหกได้แนบเนียนที่สุด เด็กเล็กที่มีความสามารถทั้งสองอย่างนี้จะเริ่มโกหกเร็วและโกหกได้เนียนกว่าเด็กคนอื่น ฉะนั้น ถ้าเราจับได้ว่าลูกที่อายุ 2 ขวบกำลังโกหกครั้งแรก เราควรจะยินดีเสียด้วยซ้ำ เพราะมันคือสัญญาณว่าลูกมาถึงหลักชัยที่สำคัญอีกขั้นหนึ่งของการมีพัฒนาการตามปกตินั่นเอง ทักษะสองอย่างนี้ไม่ได้สำคัญสำหรับเด็กเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อการใช้ชีวิตในสังคมของเราทุกคนอีกด้วย สังเกตได้ว่าคนที่อ่านใจคนไม่ออกหรือไม่สามารถควบคุมตนเองได้อาจจะมีพัฒนาการบางอย่างบกพร่อง เช่น เป็นโรคสมาธิสั้น หรือมีภาวะออทิสซึม

การเรียนรู้และทักษะที่เด็กได้จากการโกหก

นอกจากเด็กที่โกหกจะต้องรู้จักกับทฤษฎีของจิตใจแล้ว เราอาจไม่เชื่อว่าเด็กจะได้พัฒนาทักษะอีกหลายอย่างเมื่อพวกเขาโกหก เช่น

  • เรียนรู้ศีลธรรม เด็กจะโกหกมากขึ้นเมื่อรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกหรือผิด ฉะนั้น เมื่อเขาทำผิดเลยยิ่งต้องโกหก เพราะรู้ว่าพฤติกรรมแบบไหนจะทำให้ตัวเองมีปัญหา
  • หลีกหนีการลงโทษ เด็กที่กลัวว่าตัวเองจะถูกลงโทษอาจโกหกเพื่อให้ตัวเองไม่โดนลงโทษ ฉะนั้น อะไรก็ตามที่มีบทลงโทษที่รุนแรงอาจทำให้เด็กโกหกมากขึ้น
  • ได้ทดลองและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เมื่อเด็กโกหกเป็น เด็กอาจจะทดสอบทักษะใหม่ของพวกเขาว่ามันได้ผลหรือไม่
  • ส่งเสริมคุณค่าในตัวเอง เด็กอาจโกหกเพื่อนเพราะอยากได้ความเคารพและความรักจากเพื่อน หรือโกหกพ่อแม่เพราะอยากได้ความรักและความสนใจ

สิ่งแวดล้อมมีผลต่อการโกหก

ถึงการโกหกจะเป็นพัฒนาการตามปกติของช่วงวัย แต่นักวิจัยก็ยังสนใจปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการโกหกของเด็กอยู่ มีการวิจัยหาความเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีว่าด้วยจิตใจกับการโกหกของเด็กอยู่ชิ้นหนึ่งโดยกลุ่มนักจิตวิทยาจากจีน แคนาดา และอเมริกา พวกเขาสร้างสถานการณ์ให้กลุ่มเด็กอายุ 3 ขวบที่ยังโกหกไม่เป็นมีโอกาสที่จะได้รางวัลถ้าเด็กโกหกนิดหน่อย ผลปรากฏว่าไม่มีเด็กคนไหนโกหกเลย

เฟสถัดมานักวิจัยก็สอนให้เด็กรู้จักทฤษฎีว่าด้วยจิตใจ จากนั้นก็ทำให้เด็กทั้งหมดตกอยู่ในสถานการณ์ที่เด็กโกหกเท่านั้นจะได้รางวัลเป็นสติกเกอร์ ไม่ต้องบอกก็คงพอเดาได้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร เด็กที่รู้จักทฤษฎีว่าด้วยจิตใจจะโกหกเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่เด็กที่ไม่ได้รับการสอนเรื่องนี้ก็จะยังคงไม่โกหก ฉะนั้น การเข้าใจทฤษฎีว่าด้วยจิตใจจึงทำให้เราเรียนรู้ที่จะโกหกมากขึ้น

ข้ามมาดูการวิจัยอีกชิ้นว่าการอบรมสั่งสอนในบ้านมีอิทธิพลกับพฤติกรรมการโกหกของเด็กอย่างไร โดย Jennifer Lavoie และทีมงาน ทีมวิจัยพบว่าพ่อแม่มักจะสอนลูกไม่ให้โกหก แต่ลูกก็จะยังโกหกอยู่ดี ที่น่าสนใจคือพวกเขาพบว่าพ่อแม่บางคนมีทัศนคติที่จะยอมรับการโกหกมากกว่าพ่อแม่คนอื่น พ่อแม่เหล่านี้จะสอนลูกว่าการโกหกเป็นเรื่องไม่ดี แต่บางครั้งมันก็จำเป็น เด็กที่โตมากับพ่อแม่แบบนี้จึงมักจะโกหกมากกว่าเด็กอีกกลุ่ม

สอนอย่างไรไม่ให้เด็กไม่โกหก

สมัยเด็กเราทุกคนคงเคยได้ยินนิทานเรื่องเด็กเลี้ยงแกะกันมาก่อน พ่อแม่หรือครูบางคนอาจจะยังนำเรื่องนี้มาเล่าให้เด็ก ๆ ฟัง เชื่อไหมว่านิทานเรื่องนี้ หรือสไตล์เรื่องแบบนี้ไม่ได้ทำให้เด็กโกหกน้อยลงเลย Victoria Talwar อาจารย์สาขาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว มหาวิทยาลัยแมคกิลล์ และเพื่อนร่วมงานของเธอสนใจวิธีการสอนของพ่อแม่ที่จะไม่ให้ลูกโกหก จึงทำการทดสอบว่าการเล่านิทานจะมีผลอย่างไรต่อความซื่อสัตย์ของเด็ก ทีมวิจัยพบว่านิทานเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสอนเด็กเรื่องการโกหกและการเป็นคนซื่อสัตย์

แต่สิ่งที่ทีมวิจัยพบคือเนื้อหานิทานที่ต่อต้านการโกหกแบบที่มีลงบทโทษเหมือนเรื่องเด็กเลี้ยงแกะจะไม่ทำให้เด็กโกหกน้อยลง นิทานที่พูดถึงความซื่อสัตย์ในแง่บวกต่างหากที่จะส่งเสริมไม่ให้เด็กโกหกได้ดีกว่า แสดงว่าถ้าอยากให้เด็กไม่โกหก เราควรทำให้เด็กเห็นข้อดีของการเป็นคนซื่อสัตย์มากกว่าผลเสียของการเป็นคนโกหก

นอกจากวิธีการสอนของพ่อแม่แล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการโกหกของเด็กคือพี่น้องที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน เด็กที่มีพี่เรียนรู้ที่จะโกหกได้ไวกว่าเด็กที่ไม่มีพี่เลย เพราะเด็กจะเรียนรู้จากการสังเกตพี่ ๆ ของพวกเขา พี่ที่มีประสบการณ์มากกว่าจะคอยสอนทักษะนี้ให้น้อง ๆ

ทำไมผู้ใหญ่จับโกหกเด็กได้ยาก

เมื่อเรารู้แล้วว่าเด็กที่เริ่มโกหกครั้งแรกไม่ใช่เด็กที่เลวร้าย และผู้ใหญ่ก็มักจะคิดว่าตัวเองจับโกหกเด็กได้เก่ง เรามาดูกันว่าประเด็นนี้เป็นจริงมากแค่ไหน Lee เคยทำการทดลองให้ผู้ใหญ่ดูวิดีโอเพื่อบอกว่าเด็กคนไหนโกหก ซึ่งครึ่งหนึ่งของเด็กในวิดีโอจะโกหก และถ้าเราไม่รู้จริง ๆ ต่อให้เดาอย่างไรก็มีโอกาสตอบถูกอยู่ 50% แต่ถ้าเรายังเดาผิดอีกก็แปลว่าเราจับโกหกเด็กไม่เก่งเลย สุดท้ายแล้วเขาพบว่าผู้ใหญ่ไม่ว่าจะทำงานอาชีพไหนก็ตาม ทั้งอาชีพที่ทำงานใกล้ชิดกับเด็ก หรืออาชีพที่ต้องจับโกหกผู้ร้ายอยู่บ่อย ๆ ผู้ใหญ่ส่วนมากมักจะไม่สามารถจับโกหกเด็กได้

ทำไมการจับโกหกเด็กถึงทำได้ยาก นั่นเป็นเพราะการแสดงออกทางสีหน้าของเด็กมักดูเป็นปกติธรรมชาติ แม้ว่าเบื้องหลังสีหน้านิ่งเฉยนี้จะเต็มไปด้วยอารมณ์มากมาย เช่น กลัว รู้สึกผิด ละอาย ลิงโลดใจ แต่อารมณ์เหล่านี้จะหายไปไวมาก หรือถูกซ่อนไวจนเราแทบมองไม่เห็น แต่ถ้าเรามีตาวิเศษที่มองทะลุผิวหนังได้ เราจะเห็นว่าภายใต้ผิวหน้าของเราจะมีเส้นเลือดเต็มไปหมด เมื่อเราเกิดอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ การไหลเวียนของเลือดบนใบหน้าจะเปลี่ยนไปเล็กน้อย การเปลี่ยนแปลงนี้ถูกควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา

Lee พบว่าเทคโนโลยีการถ่ายภาพแบบใหม่ที่เรียกว่า การถ่ายภาพผ่านผิวหนัง (Transdermal Optical Imaging) คือกุญแจที่ทำให้เราเห็นอารมณ์ที่ซ่อนอยู่ภายใต้สีหน้านิ่งเฉยนี้ หลักการคือจะใช้กล้องวิดีโอบันทึกสีหน้าผู้คนเมื่อเกิดอารมณ์ต่าง ๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่ จากนั้นก็ใช้เทคโนโลยีประมวลผลภาพถ่ายเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนเลือดใต้ผิวหนัง เพียงแค่นี้เราจะเห็นทันทีเลยว่าภายใต้สีหน้าที่เรียบเฉย การไหลเวียนเลือดมันสัมพันธ์กับอารมณ์ของคน ๆ นั้นอย่างไร ซึ่งมีความแม่นยำประมาณ 85% แน่นอนว่าดีกว่าการเดาสุ่มมาก เมื่อลองใช้เทคโนโลยีนี้วิเคราะห์ภาพถ่ายลูกชายของ Lee ที่กำลังโกหกแต่ตีหน้าเฉย เขาเห็นว่าเมื่อคนเราโกหก การไหลเวียนเลือดไปที่แก้มจะลดลง แต่เลือดจะไหลเวียนไปที่จมูกเพิ่มขึ้น

ภาพจาก : Tedtalk

ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีนี้จะมีประโยชน์ในแง่ช่วยจับคนโกหกเท่านั้น แต่ยังนำมาประยุกต์ใช้ได้กับหลายภาคธุรกิจ หรือแม้แต่การศึกษาเองด้วย เช่น ช่วยให้ครูคณิตศาสตร์รู้ว่านักเรียนคนไหนกำลังวิตกกังวลกับเรื่องที่ครูกำลังสอน ครูจะได้ช่วยเหลือได้ หรือนำไปใช้กับการวิเคราะห์ทางการตลาดเมื่อลูกค้าเมื่อเห็นสินค้า หรือวิเคราะห์ดูคู่เดทของเราว่าเขาชอบเราจริง ๆ หรือเปล่า

พฤติกรรมบางอย่างที่เรามองว่าไม่ดี หากเราทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งขึ้น เราจะได้เห็นความมหัศจรรย์ของการเรียนรู้ของเด็กตัวน้อย ๆ ที่ไม่ต่างอะไรจากพัฒนาการสำคัญที่พ่อแม่เฝ้ารอคอยอย่างการเดินได้หรือพูดได้ครั้งแรกของลูก

อ้างอิง
https://www.ted.com/talks/kang_lee_can_you_really_tell_if_a_kid_is_lying
https://www.psychologytoday.com/us/blog/the-nature-deception/201906/why-is-my-child-lying
https://www.goodtherapy.org/blog/why-do-children-lie-normal-compulsive-pathological-lying-in-kids-0107197

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS