ปรัชญา ศาสตร์การเรียนรู้สร้างโลก

A A
Apr 5, 2024
Apr 5, 2024
A A

 

ปรัชญา ศาสตร์การเรียนรู้สร้างโลก

 

 

  • การศึกษาปรัชญาทำให้เราตั้งคำถามแล้วก็ทบทวนกับสิ่งที่เป็นอยู่มากขึ้น ต้องตั้งคำถามว่าความจริงคืออะไร แต่ปรัชญาไม่ได้พูดเรื่องความจริงแต่เป็นแค่การตั้งคำถามกับการแสวงหาความจริง 
  • ในสังคมไทยเราก็มีปรัชญาแฝงอยู่ในชั้นประถม เป็นการตั้งคำถามผ่านนิทาน เรื่องสั้น แต่เราต้องมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย ทำไมเมื่อเด็กโตขึ้นทำไมการตั้งคำถามจึงค่อย ๆ หายไป 
  • ปรัชญาจะพามนุษย์ไปสู่เสรีภาพคุณจะตั้งคำถามและการตั้งคำถามเหล่านี้นำพาไปสู่การหาคำตอบและการหาคำตอบนำพาไปสู่นวัตกรรมเกิดสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ

 

 

   ในวัยเด็กเราอาจไม่รู้จักคำว่า “ปรัชญา” เลย และไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าเราจะนำคำว่า “ปรัชญา”  ไปใช้ทำอะไรในชีวิตประจำวัน เราจะรู้จักปรัชญาก็ต่อเมื่อเข้าห้องสมุดและเห็นเป็นหนึ่งหมวดในห้องสมุด หรือหากพูดถึงปรัชญาเราทุกคนอาจนึกถึงศาสนา และอาจตั้งคำถามว่า เราเรียนปรัชญาไปทำไม ? 

 

   วันนี้เราจะมาพูดคุยกับ ดร.ฐานชน จันทร์เรือง หรือนายท่าน ผู้ผลิตละครเวทีของคณะละครมรดกใหม่ เป็นอาจารย์ผู้สอนวิชาปรัชญาในภาพยนตร์ เขียนบทภาพยนตร์และกำกับหนังอิสระรวมถึงเป็นผู้ควบคุมบทภาพยนตร์ ซีรีส์ ถึงแรงบันดาลใจและความยิ่งใหญ่ของปรัชญาในทัศนคติของเขากัน

 

อัตนัย : ทำไมถึงสนใจปรัชญา

 

   เนื่องจากที่บ้านเป็นคณะละคร จึงเป็นคนสนใจเรื่องราวและในศาสนามีเรื่องราวเยอะมาก ตำนานของพระพุทธเจ้ามีหลายเวอร์ชัน ของไทยมีหนึ่งเวอร์ชัน ของอีสานมีอีกเวอร์ชันหนึ่งเกิดเป็น ผีตาโขน  ของอำเภอด่านซ้ายจังหวัดเลยก็คืออีกเวอร์ชันหนึ่งคือของพระเวสสันดร ศาสนาคริสต์ก็มีเรื่องราว อิสลามก็เช่นกัน นั่นคือเหตุผลว่าทำไมสนใจศาสนา จึงลงเรียนศาสนาแต่วิชาศาสนาก็พ่วงปรัชญามาด้วยเลยได้ความรู้เรื่องปรัชญาขึ้นมา

 

อัตนัย : แล้วปรัชญาคืออะไร

 

   ปรัชญามีนิยามเยอะมาก ถ้าว่ากันด้วยตัวความหมาย ในวิชาภาษาไทยปรัชญาหมายถึงความรู้ หรือผู้มีความรู้ แต่ถ้าในภาษาอังกฤษ รากศัพท์ละติน philosophy แปลว่าการรักในความรู้ ซึ่งความหมายจะต่างออกไปจากภาษาไทยระหว่างผู้มีความรู้กับผู้ที่รักในความรู้ ศาสตร์ปรัชญาจึงเป็น ศาสตร์ที่พูดถึงการตั้งคำถามว่าความรู้มาจากไหน ความจริงคืออะไร และไม่ได้หวังผลคำตอบที่ชัดเจน จากศึกษาของตัวเองพบว่า การศึกษาปรัชญาทำให้เราตั้งคำถามแล้วก็ทบทวนกับสิ่งที่เป็นอยู่มากขึ้น ต้องตั้งคำถามว่าความจริงคืออะไร แต่ปรัชญาไม่ได้พูดเรื่องความจริงแต่เป็นแค่การตั้งคำถามกับการแสวงหาความจริง 

 

อัตนัย : จากการเรียนปรัชญาต่อยอดสู่การเขียนบทและสอนหนังสือ

 

   ความฝันในวัยเด็กผมมีสองเรื่อง หนึ่งคือนักเขียน สองคืออาจารย์  เราสนุกกับการฟังเรื่องราว เรารักเรื่องราว การพูดคุยการแลกเปลี่ยนกันเยอะ ๆ พอเราเริ่มทำงานเริ่มรับเขียนบทที่เป็นงาน commercial มากขึ้นเริ่มรับเขียนบทโทรทัศน์ เขียนบท ซีรีส์หรือเขียนบทภาพยนตร์ อีกพาร์ทหนึ่งของเราก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย สอนภาควิชาศาสนาปรัชญา เราจะพานักศึกษาไปตั้งคำถามกับตัวละครว่าทำไมถึงทำแบบนี้มีความเชื่ออะไรถึงทำแบบนี้  เพราะไม่มีใครทำอะไรโดยไม่มีเหตุผล ภาพยนตร์คือภาพสะท้อนโลก สะท้อนความหวัง สะท้อนการตั้งคำถามของมนุษย์ พอมีการตั้งคำถามเลยเกิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การหาคำตอบ และการพัฒนา และการตั้งคำถามก็คือปรัชญานั่นเอง

 

 

philosophy

 

 

อัตนัย : เราจะเริ่มเรียนรู้การตั้งคำถามได้อย่างไร

 

   ครูต้องเริ่มเรียนรู้ที่จะตั้งคำถามก่อนเพื่อให้เด็ก ๆ ได้เริ่มรู้จักที่จะค้นหาคำตอบ แต่ก่อนปรัชญาอยู่ในปีหนึ่งเทอมหนึ่งของราชภัฎทุกราชภัฎ ว่าที่ครูทุกคนต้องเรียนวิชาปรัชญาเพื่อที่จะตั้งคำถามว่าโลกนี้คืออะไร ฉันคืออะไร ครูคืออะไร เด็กคืออะไร ต้องผ่านการตั้งคำถามก่อนจะลงมือศึกษาการสอนคนอื่น แต่ตอนนี้โดนตัดทิ้งตอนนี้โดนเปลี่ยนเหลือเพียงปรัชญาการศึกษาให้ผู้เรียนท่องสอบ แต่แท้จริงแล้วปรัชญาบริสุทธิ์ว่าด้วยการถามตัวเองเป็นหลัก พาผู้เรียนและผู้สอนมาถามตนเองว่า ฉันคือใคร ตัวเราคือใคร เพื่อให้มีแกนหลักของชีวิตที่จะอยู่ร่วมในสังคม ในต่างประเทศเริ่มเรียนปรัชญาตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 1 เพราะว่าเด็กต้องเริ่มตั้งคำถาม ในมัธยมศึกษาปีที่ 2 เพื่อให้เขาเตรียมพร้อมในการใช้ชีวิตแสวงหาคำตอบ

 

อัตนัย : เราสามารถปลูกฝังการฝึกตั้งคำถามแบบปรัชญาได้อย่างไร

 

   ในสังคมไทยเราก็มีปรัชญาแฝงอยู่ในชั้นประถม เป็นการตั้งคำถามผ่านนิทาน เรื่องสั้น ทำไมกระต่ายกับเต่าต้องแข่งกันเป็นเพื่อนกันไม่ได้หรอ นี่ก็ปรัชญาแล้วนะครับ เด็กมีคำถามเหล่านี้มาแล้ว แต่เราต้องมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย ทำไมเมื่อเด็กโตขึ้นทำไมการตั้งคำถามจึงค่อย ๆ หายไป การอ่านวรรณกรรมเราอ่านตัวหนังสือส่วนภาพเราสร้างขึ้นมาเองและเสียงทุกเสียงที่อยู่ในหนังสือเป็นเสียงของตัวเราเวลาคุณอ่านอะไรก็ตาม เป็นเสียงของตัวเรานะที่อยู่ในหัว แต่ถ้าฝึกไปเรื่อย ๆ อ่านวรรณกรรมไปเรื่อย ๆ  มันจะกลายเป็นเสียงตัวละครที่เราสร้างขึ้นมาได้นี่คือ creativity ในการสร้างความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก แล้วเขาจะกล้าตั้งคำถาม 

   การเปลี่ยนแปลงสังคมต้องใช้ความต่อเนื่อง ศิลปะมันตรงกันข้ามกับเงินและปืนนะ ถ้าคุณอยากใช้การเปลี่ยนแปลงสังคมเร็วที่สุดคุณใช้ปืน แต่สิ่งที่ไปช้าสุดแต่ว่ามั่นคงสุดเพราะว่าจิตใจจะเข้มแข็งสุดคือศิลปะ 

   ศิลปะมันอาจจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ช้ากว่าปืนและเงินแต่ศิลปะหยั่งรากลึกในสังคมและเปลี่ยนแปลงได้อย่างหมดจดที่สุด

   ปรัชญายังจำเป็นอยู่ไหมในเมื่อโลกกำลังดำเนินไปด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

   ปรัชญาจะพามนุษย์ไปสู่เสรีภาพคุณจะตั้งคำถามและการตั้งคำถามเหล่านี้นำพาไปสู่การหาคำตอบและการหาคำตอบนำพาไปสู่นวัตกรรมเกิดสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆมากมาย วิทยาการเทคโนโลยีพัฒนาเพื่อหาทางให้มนุษย์เป็นอมตะ มันมาจากการตั้งคำถามหรือเปล่า พอมีคำถามนี้เกิดขึ้น เกิดหาคำตอบเป็นปรัชญาประยุกต์ เกิดการลงมือปฎบัติ เกิดนวัตกรรม เกิดสิ่งประดิษฐ์ เพราะฉะนั้นปรัชญาจึงจำเป็นกว่าเดิมอีก อย่างไรก็ตามปรัชญายังเป็นวิชาที่สำคัญกับโลกมนุษย์ เพราะปรัชญาคือการตั้งคำถามอย่างเป็นระบบ และไม่ใช่การเพ้อเจ้อ หากการศึกษาไทยยังไม่ฝึกให้เด็กตั้งคำถามอย่างเป็นระบบยังยัดเยียดความรู้ใส่หัวผู้เรียนให้เชื่อตามๆ กัน เราไม่มีทางที่จะพัฒนาได้อย่างแท้จริง

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS