6 พฤติกรรมสุดฮิตที่นักเรียนเชื่อว่า ทำแล้วดี วิทยาศาสตร์บอกว่า

A A
Mar 6, 2023
Mar 6, 2023
A A

6 พฤติกรรมสุดฮิตที่นักเรียนเชื่อว่า ทำแล้วดี วิทยาศาสตร์บอกว่า

 

  • นักเรียนส่วนมากมักจะมีพฤติกรรมหลายอย่างที่เชื่อว่า ทำแล้วได้ผลดี  แต่ความจริงแล้วอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น
  • นิสัยที่ดีที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ แม้จะเป็นพฤติกรรมที่นักเรียนส่วนมากทำได้ยาก แต่ผู้เชี่ยวชาญพบว่า วิธีการแบบนี้จะทำให้นักเรียนประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว

 

จดไว้ก่อน ครูพูดอะไรก็ไม่รู้ เดี๋ยวค่อยอ่านทีหลัง

พรุ่งนี้มีสอบ คืนนี้อ่านหนังสือโต้รุ่งยาว ๆ ไปเลย

ทำการบ้านไปด้วย มือถือก็เล่น เพลงก็เปิด

ไฮไลต์ยังไงให้ครบทุกบรรทัด สรุปอันไหนมันสำคัญกันแน่เนี่ย

 

พฤติกรรมที่ว่ามาทั้งหมดนี้ใครเคยทำอันไหนบ้าง ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย ตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่จนมาถึงเด็กรุ่นนี้ พฤติกรรมเหล่านี้เรียกว่าได้เป็นสิ่งที่นักเรียนจำนวนไม่น้อยเคยทำมาก่อน เพราะเชื่อว่าได้ผลจริง เรียนรู้ได้ดีขึ้น สอบก็ผ่านตลอด แม้จะเป็นพฤติกรรมที่นักเรียนยังคงทำกันอยู่จนเหมือนจะกลายเป็นเรื่องปกติไปซะแล้ว แต่ถ้าเราถามผู้เชี่ยวชาญในเชิงวิทยาศาสตร์ว่า มันได้ผลจริงหรือ คำตอบที่ได้อาจทำให้คุณช็อกไปเลย เพราะพฤติกรรมแบบนี้แหละที่ทำให้การเรียนรู้กลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีก

 

Daniel Willingham ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียที่เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาศาสตร์และการศึกษา โดยเน้นที่ความจำและการเรียนรู้ และเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มใหม่ที่ชื่อ Outsmart Your Brain: Why Learning is Hard and How You Can Make It Easy เขาได้เปรียบเทียบนิสัยที่ดีที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้กับการวิดพื้นแบบไม่วางเข่า โดยบอกว่า 2 สิ่งนี้ความคล้ายคลึงกัน คือ ทำได้ยาก ฝืนใจ แต่ให้ผลในระยะยาวที่ดีกว่า

 

สิ่งที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้ คือ นักเรียนมักจะไม่รู้วิธีที่ดีที่สุดในการอ่านหนังสือสอบ ทำอย่างไรที่จะเข้าใจข้อความที่ซับซ้อน หรือจะจดโน้ตให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร แล้วมันก็เป็นเรื่องที่ยากเหลือเกินที่จะบอกนักเรียนว่า ทำไมถึงควรใช้วิธีอื่น เพราะนักเรียนมักจะมีความเชื่อของตัวเอง คิดว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นได้ผลดีอยู่แล้ว ทั้งที่ความจริงแล้วอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการหักล้างความเชื่อผิด ๆ ในเรื่องพฤติกรรมหรือเทคนิคที่นักเรียนใช้กันมาอย่างยาวนาน ที่สำคัญเขายังให้แนวทางที่มีประสิทธิภาพที่อ้างอิงจากการวิจัยล่าสุดในเชิงวิทยาศาสตร์การเรียนรู้อีกด้วย

 

ย้อนกลับมาที่ทำไม Daniel ถึงเปรียบเทียบพฤติกรรมที่นักเรียนควรจะทำกับการวิดพื้นแบบไม่วางเข่า 2 เรื่องนี้มาเกี่ยวกันได้อย่างไร เขายกตัวอย่างว่า สมมติเรามีเพื่อนที่อยากวิดพื้นได้หลายครั้ง แต่เพื่อนเลือกที่จะวิดพื้นด้วยการวางเข่า โดยให้คำตอบว่า ทำแบบนี้แล้วจะทำให้ตัวเองวิดพื้นได้หลายครั้ง แถมยังทำได้เร็วกว่าวิดพื้นแบบปกติด้วย แม้ว่าการวิดพื้นแบบนี้จะทำให้เราวิดพื้นได้ ดูไม่ได้ยาก และดูจะเป็นเทคนิคที่ดี แต่ Daniel บอกว่า วิธีการที่ยากกว่านี่แหละที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในระยะยาว มาดูกันว่า พฤติกรรมที่คล้ายกับการวิดพื้นแบบวางเข่าที่นักเรียนทำนั้นมีอะไรบ้าง

 

1. พฤติกรรมนักเรียนฟังครูบรรยายเหมือนกับการดูหนัง

เวลาที่เราดูหนัง เรามักจะนั่งดูไปเรื่อย ๆ และให้ความสนใจกับมัน หนังจะนำเราจากเหตุการณ์ A ไปสู่ B แล้วไปยัง C ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของ B โครงสร้างของหนังจึงตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย แต่การบรรยายของครูไม่ได้มีโครงสร้างแบบนี้ เพราะการบรรยายมีโครงสร้างเป็นลำดับชั้น ไม่ใช่การเล่าเรื่องไปเรื่อย ๆ แต่จะคล้ายกับแผนผังต้นไม้ที่มีหัวข้อหลัก และข้อสรุปหลัก ๆ อยู่ 3-7 ข้อ

 

สิ่งที่ยากสำหรับนักเรียนเวลาฟังครูบรรยาย คือ การมองเห็นความเชื่อมโยงของข้อเท็จจริงและรายละเอียดทั้งหมด เพราะในการเรียนจริงเนื้อหาทั้งหมดถูกแบ่งออกเป็นหลายคาบ นักเรียนจึงมองเห็นความเชื่อมโยงนี้ได้ยาก

 

2. จดเล็กเชอร์ในสิ่งที่ครูกำลังพูดแบบคำต่อคำ 

นักเรียนส่วนมากจดเล็กเชอร์เก็บไว้อ่านทบทวน แต่เราอาจไม่ทันสังเกตว่า ปัญหาส่วนใหญ่ของการจดเล็กเชอร์เป็นเรื่องของจังหวะ เรียกได้ว่า เป็นงานยากเลยทีเดียวเมื่อนักเรียนต้องโฟกัสกับเนื้อหาใหม่ที่ไม่เคยเรียนมาก่อน สมองก็ต้องคิดว่า ส่วนที่สำคัญควรจด เท่านั้นยังไม่พอ ยังต้องคิดอีกว่า จะจดว่าอะไรอีกด้วย เท่ากับว่า นักเรียนกำลังสลับสมาธิไปมาระหว่าง 3 เรื่องด้วยกัน คือ ครู การจด และสื่อการเรียนรู้ที่นักเรียนต้องดู เช่น สไลด์ แผนที่ ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้นนักเรียนยังไม่สามารถกำหนดจังหวะใด ๆ เองได้เลย ทุกอย่างขึ้นอยู่กับครูทั้งหมด

 

พฤติกรรมนักเรียน

ชื่อภาพ : พฤติกรรมนักเรียน

 

 

เมื่อสถานการณ์ในห้องเรียนเป็นไปเช่นนี้ นักเรียนบางคนอาจจดทุกอย่างที่ครูพูดมาชนิดคำต่อคำ พลางคิดว่า ยังไม่เข้าใจตอนนี้ก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวค่อยไปอ่านทีหลังได้ แต่สุดท้ายแล้วเขาก็อาจจะยังไม่เข้าใจอยู่ดี สิ่งที่ Daniel แนะนำ คือ นักเรียนควรจดสิ่งที่ตัวเองกำลังคิดแทนที่จะจดตามคำพูดครู การจดให้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง นักเรียนจะต้องฟัง ประมวลผล แล้วทำความเข้าใจ นี่ต่างหากที่จะช่วยให้เราจดจำเนื้อหาได้ดีขึ้น เพราะเมื่อไรที่นักเรียนใช้เวลาหลายชั่วโมงไปกับการทบทวนและไฮไลต์โน้ตที่จดไว้ มันก็คล้าย ๆ กับการสร้างภาพลวงตาขึ้นว่า วิธีนี้ได้ผล นอกจากนี้ เขายังแนะนำอีกว่า นักเรียนควรใช้เครื่องมือด้านการศึกษามากกว่า เช่น บัตรคำศัพท์ ฯลฯ เพราะเป็นการสร้างการมีส่วมร่วมกับเนื้อหาให้อยู่ในความจำของเรา เมื่อนักเรียนพยายามคิดว่า คำนั้นหมายถึงอะไร นักเรียนก็จะต้องดึงข้อมูลออกมาจากหน่วยความจำ

 

3. อ่านโน้ตที่จดไว้ แค่นี้ก็พอแล้ว 

การอ่านโน้ตซ้ำ ๆ อาจทำให้นักเรียนรู้สึกคุ้นเคยกับเนื้อหามากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้ช่วยให้นักเรียนดึงข้อมูลออกจากความทรงจำ และอธิบายให้คนอื่นฟังได้ การอ่านหนังสือเรียนซ้ำ ๆ ก็เช่นเดียวกัน มันไม่ได้ช่วยเรื่องความจำมากนัก แต่ทำให้นักเรียนรู้สึกเหมือนกำลังเรียนรู้อยู่

 

4. อ่านหนังสือโต้รุ่งคืนก่อนสอบ

งานวิจัยพบว่า เมื่อนักเรียนเร่งอ่าน เร่งท่องจำในคืนก่อนสอบ นักเรียนจะลืมเนื้อหาอย่างรวดเร็ว มันเป็นเรื่องยากที่จะห้ามนักเรียนทำแบบนี้ เพราะนักเรียนรู้สึกว่า มันยังได้ผล ยังสอบผ่านอยู่ Daniel กล่าวว่า สาเหตุที่พฤติกรรมนี้เกิดขึ้นบ่อย เพราะการอ่านหนังสือสอบแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นเรื่องที่ต้องมีการวางแผน ซึ่งนักเรียนส่วนมากไม่เก่งเรื่องนี้ สิ่งที่ได้ผลจริง ๆ คือ การอ่านอย่างสม่ำเสมอทุกวัน  สมมติมีสอบวันศุกร์ นักเรียนจะอ่านตั้งแต่วันจันทร์ไปเรื่อย ๆ ทุกวัน

  •  
  •  

 

นักเรียนกับพฤติกรรมอ่านหนังสือโต้รุ่งก่อนสอบ

ชื่อภาพ : พฤติกรรมยอดฮิตของนักเรียน

 

 

5. ทำการบ้านด้วย ทำอย่างอื่นไปด้วย

หลายครั้งที่นักเรียนทำการบ้าน หรือทบทวนบทเรียนแล้วมักจะทำอย่างอื่นไปด้วย เช่น เปิดเพลงคลอไว้ ส่งข้อความแชทกับเพื่อน หรือไม่ก็เปิดทีวีไว้ แล้วคิดว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้รบกวนตัวเองถ้าเราไม่ได้ใส่ใจมัน แต่ข้อมูลจาก Psychology Today พบว่า การพยายามทำงานหลายอย่างพร้อมกันสามารถลดประสิทธิภาพการทำงานของเราได้ถึง 40% อย่างไรก็ตาม สำหรับการฟังเพลงพบว่า จะมีผลลัพธ์ 2 อย่างที่ขัดแย้งกันเกิดขึ้น ในแง่หนึ่งดนตรีทำให้เราเสียสมาธิได้ง่าย ๆ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ช่วยกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ อัตราการเต้นของหัวใจ และยังทำให้รู้สึกคึกคักขึ้นอีกด้วย หากนักเรียนเลือกที่จะเปิดเพลงไปด้วย ควรหลีกเลี่ยงเพลงที่มีเนื้อร้อง แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ส่งผลต่อสมาธิในการทำการบ้าน เช่น ความยากของงาน แรงจูงใจของนักเรียน

 

เมื่อการทำการบ้านไปพร้อม ๆ กับการทำอย่างอื่นไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ดีนัก ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้เราลองใช้วิธีสับเปลี่ยนการทำงานดู เช่น อ่านทบทวนโน้ตแล้วค่อยไปดูทีวีสักพัก จากนั้นกลับมาทบทวนต่อ หรือฝึกทำโจทย์สัก 2-3 ข้อ แล้วค่อยพักไปเล่นโซเชียล หรือจะใช้วิธีปิดแอปโซเชียลต่าง ๆ ไปก่อนเพื่อลดสิ่งรบกวนให้มากที่สุด ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่า การทำอะไรพร้อมกันหลายอย่างเป็นเรื่องที่เราห้ามทำ สามารถทำได้ แต่ควรเป็นคนที่มีทักษะที่เก่งมากพอ

 

6. ไฮไลต์ข้อความสำคัญเกือบทุกประโยค

แม้เราจะรู้กันว่า การไฮไลต์ข้อความสำคัญช่วยให้จำได้ดีขึ้น แต่ปัญหาอาจเกิดขึ้นเมื่อนักเรียนไม่เคยเรียนเรื่องนั้นมาก่อน เนื้อหาที่เจอเป็นเรื่องใหม่ทั้งหมด นักเรียนจึงไม่มีความรู้เพียงพอที่จะเลือกไฮไลต์สิ่งที่สำคัญ สิ่งที่เขาไฮไลต์อาจเป็นประเด็นที่ไม่ได้สำคัญที่สุดก็เป็นได้ ฉะนั้น วิธีนี้จะได้ผลดีกว่าหากนักเรียนมีพื้นฐานความรู้หรือเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นอยู่แล้ว

 

แม้พฤติกรรมเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่นักเรียนทำกันจนชิน แต่หากเราลองแนะแนวทางให้เขาได้ลองปรับความเคยชินเหล่านี้ไปสู่พฤติกรรมใหม่ที่เหมือนกันการวิดพื้นแบบไม่วางเข่า 

ที่ยากกว่า ฝืนใจกว่า ใครจะรู้ว่า เราอาจจะได้เห็นการพัฒนาในเชิงการเรียนรู้จากนักเรียนในแบบที่เจ้าตัวคาดไม่ถึงก็เป็นไปได้

 

อ้างอิง

https://www.edutopia.org/article/why-studying-is-so-hard-and-what-teachers-can-do-to-help

https://academicinfluence.com/inflection/study-guides/studying-myths-debunked

https://ongjason.com/why-is-studying-so-hard-or-difficult/

https://www.communicatingpsychologicalscience.com/blog/why-is-studying-so-hard-how-the-ways-we-study-can-be-ineffective

Tag

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS