รู้จักนาฬิกาชีวิต ( Biological Clock ) กับสิ่งที่เด็ก ๆ จะได้…ถ้าลองเข้าเรียนสายขึ้น

A A
May 10, 2023
May 10, 2023
A A

รู้จักนาฬิกาชีวิตกับสิ่งที่เด็ก ๆ จะได้…ถ้าลองเข้าเรียนสายขึ้น

 

การที่เรารู้สึกง่วงนอนตอนกลางคืน ตื่นเช้ามาด้วยความสดใส บางคนอาจจะอยากเข้าห้องน้ำในช่วงเวลานั้น พอช่วงเที่ยงหลายคนจะเกิดความหิว บ่ายแก่ ๆ จะเริ่มเพลีย ช่วงหัวค่ำเป็นเวลาพักผ่อน และเข้านอนตอนกลางคืน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่เราสังเกตได้จากภายนอก แต่ภายในร่างกายของเราเองก็เกิดความเปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างวันเช่นกัน 

ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่จะทำให้เรารับมือกับความเครียดได้ดีจะหลั่งช่วง 6 โมงเช้า ความดันเลือดจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 โมง เราจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้เร็วที่สุดในช่วงบ่าย ส่วน 6 โมงเย็นจะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงที่สุด ฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ที่ทำให้เรารู้สึกง่วงนอนจะหลั่งช่วงก่อนเที่ยงคืน และราวตี 4 อุณหภูมิของร่างกายจะลดลงต่ำที่สุด ทั้งหมดที่ว่ามานี้คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการหลั่งฮอร์โมนตามหลักสรีรวิทยาของร่างกาย ซึ่งจะทำให้มนุษย์สามารถรับมือกับช่วงเวลากลางวัน-กลางคืนได้อย่างเหมาะสม เราเรียกนาฬิกาชีวิตแบบนี้ว่า Biological Clock 

ในชีวิตประจำวัน มีหลาย ๆ ปัจจัยที่มีอิทธิพลทำให้นาฬิกาชีวภาพผิดปกติ ทั้งด้านสรีรวิทยา ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม โดยนาฬิกาชีวภาพที่ผิดปกติจะส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 

ซึ่งเรื่องทั้งหมดอาจจะเริ่มขึ้นตั้งแต่….ช่วงเวลาเข้าเรียน

ปลายปี 2560 สหรัฐอเมริกามีการเผยแพร่ผลวิจัยชิ้นหนึ่งของ Dr.Paul Kelley นักประสาทวิทยาชื่อดัง ได้กล่าวถึงผลวิจัยของตนเอง ณ งาน British Science Festival ว่า วัยรุ่นนั้นมีนาฬิกาชีวิตที่แตกต่างจากวัยอื่น ๆ และจากการศึกษาเยาวชนอายุระหว่าง 13-16 ปี เป็นระยะกว่า 4 ปี โดยช่วงปีแรกเด็ก ๆ กลุ่มนี้ เริ่มเข้าเรียนตอน 8.50 น. และขยับมาเข้าเรียนในเวลา 10.00 น. พบว่าอัตราการเจ็บป่วยของเด็กนักเรียนลดลงกว่าครึ่ง รวมไปถึงผลการเรียนที่สูงขึ้นอย่างน่าทึ่ง และนั่นก็เป็นเพราะว่าเด็ก ๆ มีเวลานอนหลับมากขึ้นนั่นเอง

 

ชั่วโมงทองของการเรียนรู้ในวงจรนาฬิกาชีวิต

 

อีกหนึ่งการวิจัยจาก Harvard University เกี่ยวกับช่วงเวลาการเรียนรู้ของกลุ่มนักเรียนอายุระหว่าง 7-18 ปี ใน 33 ประเทศทั่วโลก พบข้อสรุปที่น่าสนใจว่า แต่ละวันจะมีช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการเรียนรู้อยู่เพียงแค่ 2 ช่วง คือ ช่วงเช้าระหว่างเวลา 10.00–12.00 น. และช่วงบ่ายระหว่างเวลา 15.00–16.00 น. โดยในช่วงเวลาเหล่านี้ เด็กๆ จะมีสมาธิ และระดับการเรียนรู้ที่ดีที่สุด จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการเรียนรู้เนื้อหาที่เน้นวิชาการ หรือการคิดเชิงวิเคราะห์ที่มีความสลับซับซ้อน จึงถือว่าช่วงเวลาดังกล่าวนี้ เป็นช่วงเวลาทองสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก ๆ นั่นเอง 

อย่างไรก็ตามผู้ปกครอง และคุณครูเองต้องเข้าใจด้วยว่า เด็กในแต่ละวัยก็จะมีช่วงระยะเวลาของสมาธิที่จดจ่อสั้นยาวแตกต่างกันออกไป เด็กชั้นประถมศึกษา 1-2 อาจมีช่วงสมาธิที่สูงที่สุดประมาณ 20–25 นาที ขณะที่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นช่วงสมาธิก็จะยาวนานขึ้นตามลำดับ

 

นอนดึก…ตื่นสาย สัญญาณแรกของนาฬิกาชีวิตที่เริ่มผิดเพี้ยน 

 

​กระบวนการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยการนอนหลับให้เพียงพอ เด็กจะเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ได้เมื่อสมองตื่นตัวเต็มที่ ความรู้ใหม่ ๆ ที่รับเข้ามาแต่ละวันไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการ ทักษะต่าง ๆ ทั้งด้านศิลปะ ภาษา การกีฬา ปกติแล้วจะถูกเก็บไว้ชั่วคราวในสมองส่วน Hippocampus ซึ่งมีความจุไม่มาก เมื่อเด็กได้นอนเต็มที่ในเวลากลางคืน ความรู้ และทักษะใหม่จะถูกย้ายจาก Hippocampus ไปเก็บในที่ใหม่ของสมองส่วน Neocortex ซึ่งมีความจุใหญ่มาก แล้วถูกจัดเรียบเรียงอย่างเป็นระเบียบ สามารถดึงออกมาใช้ได้ง่าย และรวดเร็วในภายหลัง ดังนั้นเมื่อเด็ก ๆ นอนหลับไม่เพียงพอ ข้อมูลต่าง ๆ ก็จะไม่ได้ย้ายไปเก็บที่ Neocortex เพื่อเปลี่ยนเป็นความจำระยะยาว ความรู้เหล่านี้ก็จะค่อย ๆ เลือนหายไปเอง ไม่สามารถเก็บไว้เป็นความจำระยะยาวเพื่อใช้เป็นประโยชน์ต่อยอดนำไปคิดค้นอะไรใหม่ ๆ ได้ หรืออาจเรียกได้ว่าครูสอนอะไรเยอะแยะก็จะจำได้แค่นิดเดียว

 

 

biological clock

 

 

แล้วโรงเรียนแต่ละประเทศ…เริ่มเรียนกันกี่โมง

 

สหรัฐอเมริกา เด็ก ๆ มีช่วงเวลาที่ต้องเข้าโรงเรียน 180 วันต่อปี โดยเวลาเรียนเฉลี่ยจะเริ่มตั้งแต่ประมาณ 7.30-14.30 น. ซึ่งสำหรับระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของสหรัฐฯ ถูกกำหนดให้นักเรียนต้องเข้าเรียนเป็นเวลา 11 ปี

ฝรั่งเศส ต้องเข้าเรียนที่โรงเรียน 160 วันต่อปี โดยเวลาเรียนจะเริ่มตั้งแต่ประมาณ 8.00-16.00 น. และครึ่งวันเสาร์ โดยการศึกษาขั้นพื้นฐานของฝรั่งเศสนั้นให้เริ่มตั้งแต่อายุ 6–18 ปี 

จีน ต้องเข้าเรียน 220 วันต่อปี โดยเวลาเรียนจะเริ่มตั้งแต่ประมาณ 7.30-17.00 น. โดยมีเวลาพักกลางวันสองชั่วโมง สำหรับระบบการศึกษาของโรงเรียนในประเทศจีนมีภาคบังคับ 9 ปี 

เกาหลีใต้ มีช่วงเวลาเข้าเรียนกว่า 220 วันต่อปี โดยเวลาเรียนจะเริ่มตั้งแต่ประมาณ 8.00-16.00 น. โดยกำหนดให้มีการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี คือการเรียนถึงจบมัธยมต้น 

ไทย นักเรียนต้องเข้าโรงเรียน 200 วันต่อปี โดยเวลาเรียนจะเริ่มตั้งแต่ประมาณ 8.30-16.00 น. มีการจัดระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานภาคบังคับให้เรียนไม่ต่ำกว่า 12 ปี

เมื่อเราลองไล่ดู การศึกษาภาคบังคับของแต่ละประเทศในแง่ของเวลาเรียนอาจดูไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่นโนบายการศึกษาล่าสุดของฟินแลนด์ ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก ยอมยกเลิกกฎเข้าเรียน 8 โมงเช้า หลังพบงานวิจัยจำนวนมากระบุว่าเป็นเวลาที่เช้าเกินไปสำหรับเด็กวัยรุ่น ทั้งนี้ประเทศฟินแลนด์ไม่มีกฎว่าโรงเรียนต้องเข้าเรียนกี่โมง เลิกกี่โมง โดยแต่ละโรงเรียนจะเป็นผู้กำหนดเวลาเอง 

.

แน่นอนว่าการมีชั่วโมงเรียนมาก หรือน้อยนั้นไม่ได้เป็นตัวชี้วัดถึงความสำเร็จของการศึกษา เด็กจะมีชั่วโมงเรียนมาก หรือน้อยก็ไม่สามารถประกันได้ว่าจะประสบความสำเร็จในการศึกษา ขึ้นอยู่กับคุณภาพของการศึกษาว่าจะทำให้เด็กมีความรู้ และใส่ใจในการหาความรู้มากน้อยเพียงใดมากกว่า แต่วันนี้เราได้เห็นแล้วว่าระบบการศึกษาของแต่ละประเทศค่อย ๆ ตื่นตัวมากขึ้น ให้ความสำคัญต่อวงจรการเรียนรู้ของเด็ก ๆ มอบโอกาสให้พวกเขาได้ออกแบบวิธีการเรียนรู้ หรือแม้แต่ช่วงเวลาเรียนรู้ของพวกเขาเองได้

 

 

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS