ลองลิ้มชิมรสของการทำงาน ผ่านแนวคิด Work Based Learning
- Work Based Learning คือ การผสมผสานระหว่าง Project Based Learning และการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ นักเรียนจะได้ทำงานในโลกแห่งความเป็นจริงที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะที่ช่วยให้พวกเขาได้รับการจ้างงานในอนาคต
- เมือง New Albany ในสหรัฐอเมริกามีการริเริ่มโครงการฝึกงานให้กับเด็ก ๆ โดยใช้ Work Based Learning ตั้งแต่ระดับประถม ฯ จนถึงมัธยม ฯ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ในสาขาอาชีพที่อยากจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย โครงการนี้ได้เปิดโลกการทำงานจริงให้กับนักเรียน ขณะที่นักเรียนก็ยังได้รับค่าตอบแทนอีกด้วย
จะเป็นอย่างไรถ้าก่อนเข้ามหาวิทยาลัย นักเรียนมีโอกาสได้ทดลองฝึกงานจริงในสาขาที่อยากเรียนต่อ เพื่อดูว่าชอบจริงไหม แถมยังได้เงินค่าตอบแทนเหมือนคนทำงานทั่วไป นี่อาจดูเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ เพราะมันน่าจะลดการเสียเวลาเมื่อเลือกเรียนในคณะที่ไม่ใช่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการสร้างแรงจูงใจในการเรียน ให้นักเรียนสามารถตอบคำถามตัวเองได้ว่า ทุกวันนี้เราเรียนไปทำไม ทั้งหมดนี้เป็นไอเดียที่เกิดและเริ่มทำแล้วในอเมริกา ผลลัพธ์ที่ได้มันคุ้มค่าขนาดไหนที่เราจะทดลองนำ Work Based Learning หรือการเรียนรู้จากการทำงานมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนในระดับมัธยม ฯ แทนที่จะเป็นระดับมหาวิทยาลัยอย่างที่เราทำกันอยู่ มาดูตัวอย่างจากประเทศที่ทดลองทำแล้วกัน
ถ้ายังจำภาพพีระมิดแห่งการเรียนรู้กันได้ เราจะเห็นว่า วิธีการเรียนรู้ที่ต่างกันย่อมมีผลต่อการจดจำของคนเรา หากให้นักเรียนนั่งฟังครูบรรยายเพียงอย่างเดียว เขาจะจดจำเนื้อหาได้เพียง 5% หากมีการสาธิตให้ดูด้วยจะจดจำได้ 30% แต่ถ้ามีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันจะจดจำได้ 50% ถ้าได้ปฏิบัติงานจริงทำให้จดจำ และเข้าใจเนื้องานได้ 75% และที่สุดแล้วหากนักเรียนสามารถสอนผู้อื่นได้ การเรียนรู้นั้นจะทำให้เขาจดจำได้ถึง 90% เลยทีเดียว คำถามจึงกลับมาที่การจัดการเรียนรู้ของเราว่า เอื้อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และจดจำเนื้อหาได้มากน้อยเพียงใด
Work Based Learning เป็นการผสมผสานระหว่าง Project Based Learning และการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ นักเรียนจะได้ทำงานในโลกแห่งความเป็นจริงที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะที่ช่วยให้พวกเขาได้รับการจ้างงาน นอกจากนี้ ยังได้พัฒนา Soft Skill หรือทักษะสื่อสารระหว่างบุคคลที่จำเป็นต่อความก้าวหน้าในที่ทำงานอีกด้วย
ในอเมริกาที่เมือง New Albany มีการริเริ่มโครงการฝึกงานให้กับเด็ก ๆ โดยใช้ Work Based Learning เริ่มตั้งแต่ระดับประถม ฯ จนถึงมัธยม ฯ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ในสาขาอาชีพที่อยากจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย โครงการนี้มีเด็กเข้าร่วมประมาณ 1 ใน 3 ในระดับประถม ฯ เด็กอาจได้แต่งตัวเป็นคนที่ทำงานในอาชีพที่พวกเขาสนใจ ส่วนนักเรียนมัธยม ฯ ก็ไปทัศนศึกษากับนายจ้างในบริเวณใกล้เคียง ประสบการณ์การฝึกงานนี้ได้เปลี่ยนชีวิตนักเรียนบางคนไปเลย โดยเฉพาะคนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย เพราะเด็กจำนวนมากไม่มีพ่อแม่ที่เรียนจบมหาวิทยาลัย หรือไม่มีแม้แต่พ่อแม่ที่ไปทำงานทุกวัน พวกเขาเลยไม่รู้ว่า การไปทำงานทุกวัน และสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวของตัวเองมันเป็นอย่างไร และสร้างความภูมิใจได้ขนาดไหน
โครงการนี้ได้เปิดโลกการทำงานจริงให้กับนักเรียน นักเรียนที่อยากเรียนต่อในสาขาพยาบาลมีโอกาสได้เห็นผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เอาตัวเรือดออกจากร่างกายผู้ป่วย ส่วนนักเรียนที่อยากเป็นสัตวแพทย์ก็ได้เห็นการผ่าตัดสุนัขกว่าครึ่งโหล และคนที่อยากเป็นช่างสักก็จะได้ฝึกฝนการสักบนผิวหนังปลอม
ความพิเศษของโครงการนี้ คือ นักเรียนได้รับค่าตอบแทนด้วย ซึ่งการให้ค่าตอบแทนนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่ทำกันเป็นปกติ Lance Evans เป็นผู้มองเห็นประโยชน์ที่นักเรียนจะได้จากโครงการนี้ เขาเห็นว่า นักเรียนควรจะได้ทำความรู้จักกับสาขาที่อยากเรียนก่อนที่จะเสียเงินหลายหมื่นดอลลาร์ไปกับค่าเทอมมหาวิทยาลัยในสาขาที่ไม่เหมาะกับตัวเอง โครงการนี้ทำให้นักเรียนได้สัมผัสกับงานในส่วนที่เขาอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน ธุรกิจภาคท้องถิ่นก็สามารถหาพนักงานที่ได้เรียนรู้งานมาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น เหนือสิ่งอื่นใด การเรียนรู้ในโรงเรียนจะมีความเชื่อมโยงมากขึ้น นักเรียนจะเห็นว่า โรงเรียนสำคัญอย่างไร
ประโยชน์ของการเรียนรู้โดยใช้การทำงานเป็นฐาน
ผู้ที่ได้ประโยชน์จาก Work Based Learning มีทั้งนักเรียน นายจ้าง โรงเรียนและชุมชน
ประโยชน์ต่อนักเรียน
- เป็นการเชื่อมโยงโรงเรียนและโลกแห่งการทำงาน
- มีแรงจูงใจในการเรียนมากขึ้น
- สร้างนิสัยการทำงานในเชิงบวก และเข้าใจถึงความคาดหวังในที่ทำงาน
ประโยชน์ต่อนายจ้าง
- เชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญในการทำงานกับนักการศึกษา
- พัฒนาความสัมพันธ์กับระบบโรงเรียน
- พัฒนาพนักงานให้มีทักษะและมีแรงจูงใจมากขึ้น
- สร้างโอกาสในการบริการชุมชน
ประโยชน์ต่อโรงเรียน
- ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของนักเรียน
- ทำให้การศึกษามีความเกี่ยวข้อง และมีส่วนร่วมกับนักเรียนมากขึ้น
ประโยชน์ต่อชุมชน
- สร้างสภาพแวดล้อมของการทำงานร่วมกัน
- ส่งเสริมความเคารพและการยอมรับความคิดเห็นในชุมชน
- วางรากฐานเศรษฐกิจมีประสิทธิผลมากขึ้น
เมื่อเราถามว่า อะไรคือกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการจูงใจนักเรียนแบบก้าวกระโดด จากการสำรวจครู ผู้อำนวยการและผู้นำเขตพื้นที่การศึกษา 1,058 คน โดย EdWeek Research Center พบว่า นักการศึกษา 54% เห็นว่า เมื่อนักเรียนมีโอกาสได้ลงมือปฏิบัติจริง หรือได้ฝึกงาน อีก 45% เห็นว่า เมื่อเราแสดงให้นักเรียนเห็นว่า เขาสามารถใช้สิ่งที่เรียนรู้เพื่อประกอบอาชีพในอนาคตได้อย่างไร ความคิดเห็นเหล่านี้ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับของนักเรียนที่เชื่อในการได้ทดลองมีส่วนร่วมกับอาชีพนั้น ๆ ว่า เป็นเครื่องมือที่สร้างการมีส่วนร่วมได้ดีกว่าตัวครูเอง หรือผู้อำนวยการเสียอีก โดยการสำรวจวัยรุ่นจำนวน 1,011 คน พบว่า นักเรียน 87% บอกว่า มีแรงจูงใจมากขึ้นในชั้นเรียนเมื่อเห็นความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างสิ่งที่กำลังเรียนรู้ และทักษะที่จะใช้ในงานหรืออาชีพนั้น ๆ ยิ่งไปกว่านั้น วัยรุ่นที่ทำแบบสำรวจ 70% ที่มีประสบการณ์ในชั้นเรียนการศึกษาด้านอาชีพและเทคนิคยังกล่าวว่า พวกเขาพบว่า ตัวเองมีส่วนร่วม และรู้สึกเกี่ยวข้องกับหลักสูตรแบบนี้มากกว่าหลักสูตรอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่านักเรียนใน New Albany ทุกคนจะเลือกฝึกงาน 100 ชั่วโมงกับเขต นักเรียนที่ไม่ได้เลือกฝึกงานก็ยังคงได้รับประสบการณ์จาก Work Based Learning ได้อยู่ เพราะยังมีการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ดูมืออาชีพทำงานจริงในสาขาที่ตัวเองสนใจ
สำหรับในบ้านเราหากจะมีการนำ Work Based Learning เข้ามาใช้ในการเรียนรู้มักเกิดในระดับมหาวิทยาลัยมากกว่า โดยเฉพาะสาขาท่องเที่ยวหรือการโรงแรม นี่น่าจะเป็นโอกาสที่เราจะได้ลองนำการเรียนรู้ในแนวทางนี้มาใช้กับหลักสูตรในระดับประถม ฯ หรือมัธยม ฯ มากยิ่งขึ้น
เครื่องมือและกลยุทธ์ที่ส่งเสริมให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการเรียนรู้โดยใช้การทำงานเป็นฐาน
1.ให้นักเรียนเรียนรู้การพึ่งพาตัวเอง
นักเรียนอาจไม่รู้ว่า สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเองมากแค่ไหนหากเราไม่เปิดโอกาสให้เขาได้ลองทำ Work Based Learning จะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ค้นหาความสามารถของตัวเองอย่างเป็นอิสระ
2.เชื่อมโยงห้องเรียนกับที่ทำงาน
Work Based Learning ควรเชื่อมโยงกับห้องเรียนเสมอ ในแต่ละรัฐของอเมริกาจะมีข้อกำหนดของโปรแกรม Work Based Learning แตกต่างกันไป แต่ในหลายแห่งกำหนดให้มีชั้นเรียนการสัมมนาเกี่ยวกับอาชีพ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนควบคู่กับประสบการณ์ในการทำงาน การสัมมนานี้เน้นการสอนที่ชัดเจนในประเด็นต่าง ๆ เช่น ความปลอดภัย กฎหมายแรงงาน กระบวนการหางาน การเลือกอาชีพ และทักษะที่ทำให้ได้รับการจ้างงาน
3.แชร์เรื่องราวของครูให้นักเรียนฟัง
งานแรกในชีวิตของครูอาจไม่ได้เริ่มต้นจากอาชีพครู สมัยเรียนครูเคยทำงานอะไรมาบ้าง ลองแชร์ประสบการณ์การทำงานเหล่านี้กับนักเรียน ทั้งความท้าทายและสิ่งที่ได้รับ วิธีเอาชนะอุปสรรคที่เจอ สุดท้ายแล้วกลายเป็นครูได้อย่างไร ขณะเดียวกันก็ให้นักเรียนที่เคยทำงานมาแล้วได้มาแชร์ประสบการณ์ของตัวเอง การพูดคุยถึงความสำเร็จในที่
ทำงานสามารถกระชับความสัมพันธ์ และกระตุ้นให้นักเรียนคนอื่น ๆ ที่ได้แรงบันดาลใจให้ลองหาประสบการณ์จากการทำงานดูบ้าง
4.เสริมสร้างทักษะที่นำไปใช้ต่อยอดได้
เมื่อนักเรียนเรียนรู้ผ่าน Work Based Learning นักเรียนจะเกิดทักษะที่นำไปใช้ต่อยอดได้ ซึ่งจะติดตัวเขาไปตลอด ทักษะเหล่านี้เป็นทักษะที่ผู้ใหญ่วัยทำงานทุกคนต้องเรียนรู้และฝึกฝน ซึ่งรวมถึงความสามารถต่าง ๆ เช่น การสื่อสาร การแก้ปัญหาความขัดแย้ง การยอมรับคำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์ การจัดการอย่างเป็นระบบและความสามารถในการปรับตัว ฉะนั้น สถานการณ์ในห้องเรียนหลาย ๆ สถานการณ์ก็สามารถแปรเปลี่ยนเป็น
ช่วงเวลาที่ครูสามารถสอนเรื่องความพร้อมในการทำงานได้
เด็กหลายคนเติบโตขึ้นทางความคิดและความสามารถจากการเรียนรู้แบบ Work Based Learning การให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้ผ่านแนวทางนี้นอกจากจะเกิดประโยชน์ต่อหลายฝ่ายแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เด็กได้รู้จักตัวตนของตัวเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญของเด็กทุกคน
อ้างอิง
https://www.edutopia.org/article/work-based-learning-high-school