จะเป็นอย่างไรถ้าครูเป็น Virtual Influencer ขึ้นมาจริง ๆ

A A
Feb 15, 2022
Feb 15, 2022
A A

จะเป็นอย่างไรถ้าครูเป็น Virtual Influencer ขึ้นมาจริง ๆ

 

ในโลกที่เทคโนโลยีก้าวล้ำไปไกล จนโลกที่เคยเป็นแค่เรื่องจินตนาการในอดีตกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน Virtual Influencer คือหนึ่งในเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นทุกวัน จากเดิมที่ Influencer คือคนตัวเป็น ๆ มีชีวิต มีไลฟ์สไตล์ในแบบของตัวเอง จนทุกวันนี้พัฒนาเป็นแบบ Virtual ผ่านการออกแบบโดยบริษัทผู้สร้างให้มีนิสัย มีคาแรกเตอร์ เหมือนคนจริง ๆ ทุกอย่างจนเราแทบจะแยกไม่ออก หลายแบรนด์ต่างให้ความสำคัญกับ Virtual Influencer มากขึ้น เพราะเมื่อไม่ใช่คนจริง ๆ ก็เป็นการยากที่ Virtual Influencer จะสร้างผลกระทบกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ในแง่ลบ จนน่าเก็บมาคิดว่าถ้ามี Virtual Influencer ในวงการอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะแวดวงการศึกษา การศึกษาไทยจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

ความน่าสนใจของ Virtual Influencer

ในเมื่อโลกเต็มไปด้วย Influencer มากมายหลากหลายแวดวง แล้วทำไมเราต้องมี Virtual Influencer ขึ้นมาด้วย นั่นก็เพราะข้อดีหลาย ๆ อย่างที่หาไม่ได้จาก Influencer แบบคนตัวเป็น ๆ รายงานของ HypeAuditor ระบุว่า Virtual Influencer จะมีอัตราการมีส่วนร่วม (Engagement Rate: ER) มากกว่า Influencer จริงเกือบ 3 เท่า แสดงว่า Follower จะมีส่วนร่วมกับเนื้อหาที่ Virtual Influencer โพสต์ได้มากกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ติดตามหลักของ Virtual Influencer จะเป็นผู้หญิงอายุ 18-24 ปี 32.1% และเป็น เป็น Gen Z อายุ 13-17 ปี อีก 11.2% โดยผู้ติดตามส่วนใหญ่ 23% มาจากสหรัฐอเมริกา เพราะดาวเด่นอันดับ 1 คือ Lil Miquela มีสัญชาติอเมริกัน ผู้ติดตามอื่น ๆ มาจากบราซิล 9% รัสเซีย 5% ตุรกี 3% และอิตาลี 2%

Virtual Influencer สัญชาติไทย

สำหรับในบ้านเราก็เพิ่งมีการเปิดตัว Virtual Influencer สัญชาติไทยไปไม่นานมานี้ “ไอ-ไอรีน” ครีเอทีฟสาววัย 21 ปี และ “กะทิ-เคธี่” สาวลุกเปรี้ยวผิวแทนซ่อนความฮา ทั้งคู่ต่างก็ได้เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับแบรนด์ดัง ๆ อย่างค่ายโทรศัพท์มือถือ และเสื้อผ้าเมืองนอกไม่ต่างอะไรจาก Virtual Influencer สัญชาติอื่น ๆ แล้วถ้าสักวันเรามี Virtual Influencer สายการศึกษาขึ้นมาบ้าง การเรียนรู้ของเด็ก ๆ จะเปลี่ยนไปอย่างไร

กะทิ-เคธี่ หนึ่งใน Virtual Influencer

กะทิ-เคธี่ หนึ่งใน Virtual Influencer สัญชาติไทยชื่อดัง
ภาพจาก : https://www.instagram.com/p/CWCjFEJrV40/

สถิติการใช้โซเชียลมีเดียของครู

ที่ผ่านมาหลังเกิดโรคระบาดครูทั่วโลกต้องหันมาใช้โซเชียลมีเดียกันจริงจังมากขึ้น ทั้งใช้ในการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ และใช้ติดต่อกับนักเรียน การศึกษาโดย MDR Marketing Team ในปี 2019 ระบุว่า ครู 54% ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเชื่อมโยงกับนักการศึกษาคนอื่น ๆ และ 81% เพื่อหาแรงบันดาลใจเรื่องไอเดียการสอนใหม่ ๆ ในช่วงนี้เองครูหลายคนก็พบแนวทางในการทำคอนเทนต์ของตัวเองจนกลายเป็น Influencer หน้าใหม่ในแวดวงการศึกษา มียอดผู้ติดตามทั้งบน Instagram และ YouTube หลายแสนคน แน่นอนว่าเนื้อหาก็ต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับครู Vlog ชีวิตทั่ว ๆ ไป แผนการสอน และถามตอบเรื่องชีวิตการเป็นครู

ข้อมูลจาก Frontiers In Psychology เดือนพฤษภาคม ปี 2021 ระบุว่า การเติบโตของโซเชียลมีเดีย และการเพิ่มขึ้นของสถานศึกษาที่จัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ ทำให้นักเรียนใช้ Instagram และ Facebook เพื่อพูดคุยถึงประเด็นที่กำลังเป็นกระแสสังคม และติดต่อกับเพื่อน ๆ และครูมากขึ้น ขณะเดียวกันครูก็ใช้โซเชียลมีเดียได้เก่งขึ้น เพื่อให้นักเรียนติดตามตัวเอง

Influencer ในแวดวงการศึกษา

ในสหรัฐอเมริกา ครูหลายคนกลายเป็น Influencer ด้วยการสร้างคอนเทนต์ลงบนโซเชียลมีเดียของตัวเอง Madison Campbell ครูระดับชั้น ป.2 ใช้ Instagram ของเธอบอกเล่าเรื่องราวของการเป็นครู เธอเล่าถึงการตกแต่งห้องเรียน เสื้อผ้าที่ใส่ไปสอน และไอเดียในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึง YouTube ที่เล่าเรื่องราวของชีวิตการเป็นครูในแต่ละวัน Keanna Funderburk ครูระดับชั้น ป.4 จากแอตแลนต้า เจ้าของ Instagram ‘The Art Of Funology’ บอกว่าการโพสต์เนื้อหาในแบบของตัวเองทุกวันคือหัวใจของการทำให้ยอดผู้ติดตามเติบโตขึ้น

Madison Campbell

ในเมื่อ Influencer ด้านการศึกษายังคงได้รับความนิยมกันอยู่ในกลุ่มครูด้วยกัน ด้วยเนื้อหาที่มีประโยชน์ทั้งต่อครูใหม่ที่ต้องการคำแนะนำหรือเคล็ดลับดี ๆ จากครูที่มีประสบการณ์ หรือครูทั่วไปที่ต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหาไอเดียสำหรับการสอนของตัวเอง แล้วหากเป็น Virtual Influencer ล่ะ จะมีข้อดี ข้อเสียอะไรบ้าง

จะเป็นอย่างไรถ้า Virtual Influencer เป็นครู

ข้อดีที่น่าสนใจมาก ๆ คือ เราสามารถออกแบบคาแรกเตอร์ของครู และสไตล์การสอนในแบบที่เด็ก ๆ ชอบได้ ทำให้การเรียนรู้สนุกสนานยิ่งขึ้น เป็นการลดช่องว่าง ให้เด็กๆ เข้าถึงการเรียนรู้ได้มากขึ้น ครูลูกกอล์ฟ-คณาธิป ครูสอนภาษาอังกฤษเจ้าของโรงเรียน Angkriz หนึ่งใน Influencer ที่มีคนติดตามมากที่สุดคนหนึ่ง แนะนำว่าต้องทำให้บรรยากาศการเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก ครูลูกกอล์ฟเองใช้อารมณ์ขันแบบเฉพาะตัว ร่วมกับการใช้สื่อการเรียนรู้ที่ไม่ใช่ตำราเรียนชวนหลับแบบเพียว ๆ แต่เป็นการเรียนรู้ผ่านเกมและเพลงภาษาอังกฤษ ที่ช่วยให้นักเรียนสนุกกับการฝึกภาษาอังกฤษมากขึ้น

นอกจากนี้ การทำคอนเทนต์เรื่องการศึกษาก็ยังมีประเด็นที่ต้องระวังคือ ความเป็นส่วนตัวของนักเรียนและครู ที่ครูต้องไม่แชร์ข้อมูลของโรงเรียน หรือข้อมูลส่วนตัวของนักเรียนหากยังไม่ได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ ซึ่งหากเรามี Virtual Influencer จริง ก็จะไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้ เพราะนักเรียนและโรงเรียนไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง ๆ

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดในตอนนี้เห็นจะเป็นบริษัทผู้พัฒนา CGI ที่อาจจะให้ความสนใจกับการปั้น Virtual Influencer ในเชิงไลฟ์สไตล์เพื่อตอบโจทย์นักการตลาดมากกว่า อีกทั้งกว่าจะได้รับความนิยมเท่าต่างประเทศก็น่าจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะ สำคัญที่สุดคือผู้สร้างต้องมี Insight ในแวดวงการศึกษาที่เข้าใจในวิชาชีพอย่างแท้จริง และถึงแม้ในอนาคตเราอาจจะมี Virtual Influencer ที่เป็นครูขึ้นมาจริง ๆ แต่งานสอนซึ่งเป็นศาสตร์ที่ต้องทำงานกับเด็ก ๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลายนั้นมีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก ณ ตอนนี้จึงยังไม่มีเทคโนโลยีอะไรที่มาทดแทนการสอนของครูได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

อ้างอิง
https://www.salika.co/2020/07/30/virtual-influencer-rising-marketging-trend/
https://linktr.ee/blog/teacher-influencers-on-social-media
https://www.prachachat.net/d-life/news-807605
https://www.motiveinfluence.com/blog/marketing/262/วิธีการทำคอนเทนต์สอนภาษาอังกฤษของครูลูกกอล์ฟ

Tag

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS