รัดเกล้ายอด กับกระแส LALISA และนาฏศิลป์ไทย

A A
Sep 18, 2021
Sep 18, 2021
A A

LALISA กับกระแส รัดเกล้ายอด และนาฏศิลป์ไทย

 

     ทันทีที่มิวสิควิดีโอเพลง LALISA ของลิซ่า ลลิษา มโนบาล ถูกเผยแพร่ออกไป เหล่าแฟนเพลงทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศก็พร้อมใจกันตอบรับกระแสด้วยการสร้างปรากฎการณ์ 100 ล้านวิว ภายใน 2 วัน เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนถูกต้องมนต์สะกดให้กับท่วงท่า ทำนอง และบทเพลง โดยเฉพาะในนาทีที่ 2.27 ลิซ่าปรากฏตัวในชุดสไบทอง พร้อมเครื่องประดับศิราภรณ์ที่ผสมผสานความงามร่วมสมัย ที่ผู้จัดทำพยายามจะสื่อถึงศิลปะความงดงามของไทย เป็นการเผยแพร่สู่ระดับโลกอย่างสง่างาม 

 

     และแม้จะมีเสียงกล่าวชื่นชมมากเพียงไหน แต่กลับมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมในแง่ของการนำชฎามาสวมขณะร้องเพลงและเต้นอยู่ในมิวสิควิดีโอ เนื่องจากชฎาถือเป็นของสูงของคนไทย จนกลายเป็นข้อวิวาทะระหว่างกลุ่มแนวคิดในลักษณะอนุรักษ์นิยม และกลุ่มแฟนเพลง

     จุดเริ่มต้นของประเด็นในเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่คำว่า ชฎาคือของสูง คนไทยจะคุ้นเคยกันดีในฐานะเครื่องทรงของตัวพระในการแสดงโขน ซึ่งถูกยกให้เป็นศิลปะชั้นสูงเพราะมีเอกลักษณ์เฉพาะในแบบฉบับของไทย ที่รวมเอาศิลปะหลายแขนง ทั้งนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ วิจิตรศิลป์ และวรรณศิลป์มาอยู่ในหนึ่งเดียวกัน และด้วยคำว่า ศิลปะชั้นสูงจึงทำให้หลายคนรู้สึกถึงการทรงคุณค่า เป็นสิ่งที่ต้องยึดความถูกต้องในระเบียบแบบแผน และควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ซึ่งอัตลักษณ์เดิม

     มาดูกันเรื่อง ชฎา กันบ้าง แท้จริงแล้วเครื่องประดับหัวที่ลิซ่าใส่อยู่ในมิวสิควิดีโอเพลงคือ “รัดเกล้ายอด” เป็นศิราภรณ์เครื่องประดับสำหรับตัวนางหรือสตรีผู้สูงศักดิ์ที่มีดอกไม้ไหวประดับ ครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 รัดเกล้ายอดถูกสั่งห้ามไม่ให้ใช้สำหรับการแสดงสามัญทั่วไป จึงเกิดกลายเป็น รัดเกล้าเปลว ขึ้นมาแทนเพื่อใช้ในการแสดงทั่วไป แต่พอมาในสมัยรัชกาลที่ 5 รัดเกล้ายอดไม่ได้เป็นของหวงห้ามที่ใคร ๆ ห้ามใช้ จึงสามารถประยุกต์ใช้ในการแสดงได้ตามแต่วิจารณญาณเพียงไม่ผิดจารีตหรือประเพณีก็พอ 

     กลับมาที่ประเด็นข้อถกเถียงกรณีความไม่เหมาะสมในมิวสิควิดีโอ ต้องยอมรับว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ หลาย ๆ ครั้งที่มีการนำเอาศิลปะ วัฒนธรรม หรือนาฏศิลป์มาดัดแปลงโดยคนรุ่นใหม่ก็มักเกิดความเห็นใหญ่ ๆ ออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคำนึงถึงความถูกต้อง เหมาะสม การคงไว้ซึ่งความดั้งเดิมในแบบฉบับ และถือเป็นของดีที่ควรรักษาไว้ ส่วนอีกกลุ่มมีความเห็นว่าศิลปะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ไปตามกาลเวลา และจำเป็นต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย 

 

รัดเกล้ายอด

     ความขัดแย้งของทั้งสองกลุ่มนี้ส่งผลต่อแนวทางการเรียนการสอนนาฏศิลป์ของไทย ที่พยายามโน้มน้าวให้เยาวชนไทยกลับมาสนใจและเห็นความสำคัญอีกครั้ง เพราะเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปบริบทการสอนอาจต้องเปลี่ยนตาม ทุกวันนี้การสอนนาฏศิลป์ไทยเป็นไปในลักษณะที่เน้นการเลียนแบบ (Imitation) มากกว่าการสร้างสรรค์ (Initiation) และยังไม่เปิดให้มีการนำเสนออย่างอิสระจากผู้เรียนได้ เพราะอาจผิดต่อหลักสูตร และเป็นการลดคุณค่าในแบบเดิมที่ถูกสั่งสมมา ส่งผลให้ความนิยมและการสืบทอดนาฏศิลป์ของไทยเป็นไปเพื่อเน้นเรื่องของการอนุรักษ์มากกว่าการต่อยอดสร้างสรรค์ และทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ของไทยมีความสนใจน้อยลง

     ลองข้ามทวีปมาดูศิลปะทางด้านดนตรีของอเมริกากันบ้าง ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุดในโลกแต่มีวัฒนธรรมทางดนตรีที่เชื่อมโยงถึงกัน การสร้างสรรค์ท่วงทำนองจากชาวอเมริกันผิวสี เชื้อชาติแอฟริกันจนออกมาเป็นดนตรีแจ๊ส โซล ริทึมแอนด์บลูส์ ฮิปฮอป และถูกนำไปดัดแปลงให้ออกมาเป็นดนตรีอีกหลายแนวในปัจจุบัน ทำให้ดนตรีกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ โดดเด่นจนเป็นที่ยอมรับ และนำไปประยุกต์ใช้ต่อกันทั่วโลก เพราะเป็นสิ่งที่เข้าถึงง่าย ดัดแปลงได้ ความรู้สึกของการเอื้อมถึง ส่งต่อ พร้อมกับเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงออก จึงทำให้ดนตรีของอเมริกามีจุดแข็งของตัวเองอย่างไม่ฉาบฉวย

     หากดูตัวอย่างจากเรื่องนี้แล้ว เราคงจะคิดว่าความท้าทายของการเรียนนาฏศิลป์ไทย คือการทำอย่างไรให้เป็นเรื่องน่าสนุก และสร้างสรรค์ แนวความคิดในการนำนาฏศิลป์ไทยไปสู่ความเป็นศิลปะร่วมสมัย (Contemporary) จึงเกิดขึ้น จนในสถานศึกษาบางแห่งได้กำหนดขึ้นเป็นหลักสูตร และหน่วยงานภาครัฐก็หันมาให้ความสำคัญต่อกระบวนการดังกล่าว จนหลายฝ่ายออกมาบอกว่าแนวทางนี้อาจเป็นทางเลือกของความอยู่รอด 

     แนวคิดการประนีประนอมเพื่อการเปลี่ยนแปลงให้เป็นสากลนี้ น่าจะต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมต้นกำเนิดของเราเอง ไม่จำเป็นที่จะต้องผูกติด หรือยอมรับเอาความเปลี่ยนแปลงของโลกมาทั้งหมด ขั้วแรก เราอาจต้องรู้ว่าเราคือใคร มีที่มาอย่างไร ขั้วที่สอง คือรู้ว่าทุกสิ่งย่อมจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา และรู้ว่าสิ่งใดที่มีอยู่ในโลกนี้แล้วดีก็ควรรับเอาไว้

     หากลองตรึกตรองดู ศิลปะ ไม่ใช่เครื่องยึด ยัน ในความถูกต้อง และไม่สามารถคงอยู่ได้ตลอดไปโดยขาดการเปลี่ยนผ่านของกาลเวลา แนวทางการดำรงอยู่ของนาฏศิลป์ไทยนั้นอาจคาดเดาไม่ได้ หากปรับตามแนวทางกระแสของโลกตลอดเวลาอาจไม่มีใครได้รู้จักตัวตนที่แท้จริง และถึงตอนนั้นเราอาจสูญเสียมันไปแล้วก็ได้ หรือหากยึดถือไว้ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตามกระแสแห่งกาลเวลา ท้ายที่สุดอาจถูกปล่อยให้กลายเป็นสมบัติล้ำค่าที่ถูกตั้งไว้ให้อยู่ในพิพิธภัณฑ์

อ้างอิง

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS