สรุปให้รู้ตามทันโลกการศึกษา EP.3 8 ตัวอย่างโรงเรียนนวัตกรรมโลกตามหลัก Education 4.0

A A
Mar 31, 2022
Mar 31, 2022
A A

8 โรงเรียนนวัตกรรมโลกตามหลัก Education 4.0 : สรุปให้รู้ตามทันโลกการศึกษา EP.3

 

สรุปให้รู้ตามทันโลกการศึกษา EP.3 ในวันนี้ เราจะพาไปรู้จักกับ 8 ตัวอย่างโรงเรียนนวัตกรรมโลกตามหลัก Education 4.0

 

 

  • โลกเรามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ตลาดแรงงานในอนาคตต้องการทักษะใหม่ ๆ มากขึ้น โรงเรียนคือก้าวแรกในการพัฒนาเด็กให้เติบโตไปอนาคตแรงงานและพลเมืองที่ดี
  • จากโครงการของ World Economic Forum for Shaping the Future of New Economy and Society ที่ได้ออกแบบหลักการปฏิวัติอุตสาหกรรมการศึกษา 4.0 ขึ้นมาและเฟ้นหาโรงเรียนที่เป็นมาตรฐานเพื่อส่งต่อโมเดลเหล่านี้กับโรงเรียนทั่วโลก
  • แนะนำ 8 ตัวอย่างโรงเรียนนวัตกรรมจากหลากหลายประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย แคนนาดา เวียดนาม สเปน อินเดีย เปรู สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร แต่ละโรงเรียนสะท้อนด้านต่าง ๆ ที่โดดเด่นไปตามหลัก Education 4.0 ทั้ง 8 ข้อทั้งด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้ต่อยอดด้วยตนเองและพบเจอประสบการณ์จริง ที่ขาดไม่ได้เลยคือทักษะของการเป็นพลเมืองที่ดี ความคิดดี เคารพสิทธิและความต่างของผู้อื่น สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้เด็กโตไปอย่างมีประสิทธิภาพ และต้องไม่ขาดทัศนคติของการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ในโลกที่ตลาดแรงงานปรับตัว และต้องการทักษะใหม่ ๆ ปัญหาสงคราม การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มขึ้น การศึกษามีบทบาทสำคัญในการเตรียมพลเมืองที่ดีและกำลังแรงงานแห่งอนาคต โรงเรียนและคุณครูคือก้าวแรกของการเติบโตของเด็กทุกคนทั่วโลกก่อนเข้าไปสู่สังคมที่แท้จริง โมเดลการศึกษาจึงต้องปรับตัวตลอดเพื่อให้เด็กมีทักษะสอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไป ระบบการศึกษาต้องเตรียมพร้อมบทเรียนอะไรเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็ก ชวนส่อง 8 โรงเรียนนวัตกรรมโลกตามหลัก Education 4.0

จากโครงการของ World Economic Forum for Shaping the Future of New Economy and Society เกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบและอนาคตการศึกษา ได้ระบุแนวทาง ของ Education 4.0 ทั้งหมด 8 ทักษะ พร้อม 8 ตัวอย่างโรงเรียนนวัตกรรมโลกที่มีโปรแกรมการศึกษา และระบบโรงเรียนที่ปูทางไปสู่ Education 4.0

  1. Global citizenship skills : ทักษะการเป็นพลเมืองโลก เนื้อหาที่เน้นการสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับโลกในวงกว้าง ความยั่งยืน และการมีบทบาทการอยู่ร่วมกันในชุมชน สังคมอย่างยั่งยืน
  2. Innovation and creativity skills : ทักษะด้านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมทักษะที่จำเป็นสำหรับนวัตกรรม รวมถึงการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน การคิดเชิงวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และการวิเคราะห์ระบบ
  3. Technology skills : พัฒนาทักษะด้านดิจิทัล การเขียนโปรแกรม ความรับผิดชอบด้านดิจิทัล และการใช้เทคโนโลยี
  4. Interpersonal skills : ทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ เน้นความฉลาดทางอารมณ์ระหว่างบุคคล รวมถึงการเอาใจใส่ ความร่วมมือ การเจรจาต่อรอง ความเป็นผู้นำ และการรับรู้ทางสังคม
  5. Personalized and self-paced learning : การเรียนรู้ส่วนบุคคลและการเรียนรู้ด้วยตนเอง ย้ายจากระบบการเรียนรู้มาตรฐาน ไปสู่ระบบที่อิงตามความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียนแต่ละคน และมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะช่วยให้ผู้เรียนแต่ละคนก้าวหน้าตามจังหวะของตนเอง
  6. Accessible and inclusive learning : การเรียนรู้ที่เข้าถึงได้และครอบคลุม ไม่จำกัดกรอบการเรียนรู้ที่ถูกจำกัดอยู่เฉพาะกับผู้ที่สามารถเข้าถึงอาคารเรียนไปยังระบบที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้แบบไร้พรมแดน
  7. Problem-based and collaborative learning : เรียนรู้จากปัญหาและการทำงานร่วมกัน เปลี่ยนจากการเรียนแค่กระบวนการ เป็นโปรเจ็กต์และเนื้อหาที่อิงตามปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และผสานการร่วมมือจากเพื่อนร่วมงาน และสะท้อนถึงอนาคตของการทำงานจริง
  8. Lifelong and student-driven learning : การเรียนรู้ตลอดชีวิตและขับเคลื่อนโดยนักเรียน เปลี่ยนจากระบบที่การเรียนรู้และทักษะลดลงตามอายุขัยของคนๆ หนึ่ง ไปสู่ระบบที่ทุกคนพัฒนาทักษะที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องและได้รับทักษะใหม่ ๆ ตามความต้องการของแต่ละคน
ความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งที่ปลูกฝังได้ตั้งแต่ยังเล็ก

เริ่มต้นที่แรก อินโดนีเซีย กับ Green School โรงเรียนต้นแบบของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนที่ส่งเสริมเด็ก ๆ ให้เป็นผู้นำสีเขียว มุ่งมั่นที่จะนำการศึกษามาส่งเสริมความยั่งยืนและกำหนดทิศทางของผู้นำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต เริ่มต้นที่สภาพแวดล้อมในโรงเรียน การเรียนรู้เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ห้องเรียนที่ไม่มีผนังและโครงสร้างที่สร้างจากไม้ไผ่ทั้งหมด รถรับ-ส่งนักเรียนไปและกลับจากโรงเรียน คือ BioBus เป็นยานพาหนะที่ใช้น้ำมันประกอบอาหาร ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้กว่าสี่ตันต่อปี ออกแบบโดยนักเรียน Green School โรงเรียนมีแนวคิดของการสอนให้เด็กเข้าใจธรรมชาติ เพื่อเข้าถึงวิธีที่จะช่วยโลกของเราได้อย่างยั่งยืน ผสานกับการสอนที่สอดแทรกเหตุการณ์จริงเข้ากับบทเรียนและได้ลงมือทำจริง เช่น ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น นักเรียนได้สร้างสายเคเบิลและสะพานไม้ไผ่ที่ใช้งานได้จริงข้ามแม่น้ำอายุงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชั้นเรียนคณิตศาสตร์ โครงการนี้นำโดยนักเรียนทั้งหมด รวมถึงการออกแบบ การประมาณราคา และขั้นตอนการก่อสร้าง หรือในระดับมัธยมปลาย นักเรียน Green School ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย Cologne เพื่อออกแบบและสร้างระบบพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำแบบใหม่ที่ยั่งยืน ใช้งานได้จริงในโรงเรียน

การศึกษา เกาหลีใต้

Green School เกิดขึ้นครั้งแรกที่บาหลี และขยายแนวทางการศึกษาของพวกเขาให้กับโรงเรียนและครูต่าง ๆ ทั่วโลกสำหรับการฝึกอบรมเกี่ยวกับหลักการสอนและการออกแบบหลักสูตรที่เน้นธรรมชาติ จนถึงปัจจุบันมีครูเกือบ 700 คนจากกว่า 50 ประเทศได้เข้าร่วมในโครงการอบรมและนำโมเดล Green School นี้ไปปรับใช้

ขอบคุณบทความดี ๆ จาก : https://www.aksorn.com/ac1-innovative-school-education4

ความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งที่ปลูกฝังได้ตั้งแต่ยังเล็ก

ภาพจาก : https://tks.world/

ต่อมากับ แคนาดา โครงการพิเศษสำหรับเสริมทักษะการเรียนรู้ให้แก่เด็ก อายุ 13-18 ปี Knowledge Society (TKS) ก่อตั้งขึ้นในปี 2016 ในเมืองโตรอนโตเป็นโครงการนอกหลักสูตร 3 ปี ได้รับการพัฒนาร่วมกับซีอีโอและผู้นำระดับโลก โดยจำลองตามหลักสูตรจาก Stanford, Harvard และ MIT ออกแบบมาเพื่อจำลองสภาพแวดล้อมการเรียนรู้และวัฒนธรรมของ Silicon Valley มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยีการสร้างและทักษะการเป็นผู้ประกอบการ สะท้อนสภาพแวดล้อมการเรียนรู้และการทำงานของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สัมผัสกับนวัตกรรมที่ล้ำสมัยที่สุด เช่น บล็อกเชน หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจวิธีการใช้เครื่องมือเหล่านี้ขับเคลื่อนโลกในเชิงบวก โดยในแต่ละปีแบ่งเป็นการเรียนรู้คือ

  • ปีแรก เน้นที่การสร้างทักษะพื้นฐานทางเทคนิคและการสื่อสาร นักเรียนจะได้เรียนรู้และสำรวจเทคโนโลยีต่างๆ กว่า 40 รายการ จากนั้นเลือกเทคโนโลยีที่ดึงดูดใจพวกเขามากที่สุด
  • ปีที่สอง มุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีที่พวกเขาเลือกและขยายทักษะทางเทคนิคเฉพาะตัว
  • ปีสุดท้าย นักศึกษาจะได้ประสบการณ์จริงจากบริษัทระดับโลก ต่างๆ เช่น Walmart, Airbnb ,Zappos , Microsoft และ TD Bank และได้รับคำปรึกษาในกรอบของ McKinsey & Company เพื่อทำงานผ่านความท้าทายเหล่านั้น และเรียนรู้ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนวัตกรรมของพวกเขาว่าเป็นอย่างไร และก่อตั้งบริษัทที่มีนวัตกรรมของตนเองขึ้นมา มีนักเรียนหลายคนที่ประสบความสำเร็จและบริษัทจำลองเหล่านี้กลายเป็นบริษัทที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน และนักเรียนเกือบทั้งหมดถูกจ้างโดยบริษัทต่าง ๆ ที่เข้าฝึก

ปัจจุบัน Knowledge Society (TKS) ได้ขยายโปรแกรมไปยังนิวยอร์ก ลาสเวกัส ออตตาวา และบอสตัน มีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้บริการแหล่งข้อมูลและเนื้อหาต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ อีกทั้งยังสามารถให้นักเรียนติดต่อและแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นกันผ่านแพลตฟอร์มได้

ความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งที่ปลูกฝังได้ตั้งแต่ยังเล็ก

ภาพจาก : https://teky.edu.vn/

เวียดนาม กับ TEKY STEAM เป็นสถาบัน STEAM แห่งแรกในเวียดนาม สำหรับเด็กอายุ 6-18 ปี มุ่งเน้นการสอนทักษะด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะทั้งการเขียนโปรแกรม วิทยาการหุ่นยนต์ การออกแบบเว็บไซต์ การสื่อสารมัลติมีเดียและแอนิเมชัน นักเรียน 80% ใช้เวลาเรียนรู้เทคโนโลยีเป็นหลัก ได้เรียนรู้พื้นฐานหลากหลายก่อนเลือกสิ่งที่ชอบจริง ๆ เพื่อศึกษาต่อให้ลึกซึ้งมากขึ้น TEKY ได้จัดตั้งทีมวิจัยและพัฒนาที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยด้านเทคโนโลยีการสอนและการศึกษา รับผิดชอบในการออกแบบหลักสูตรและปรับปรุงคุณภาพของโปรแกรมอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีการศึกษาหลายราย เช่น Sigong Media, MIT for Scratch, Tynker, LEGO Education, RoboRobo ,Maker Empire และอื่นๆ เพื่อพัฒนาปรับโปรแกรมการสอนให้เหมาะสมกับนักเรียน ในทักษะด้านเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับอนาคต นักเรียนของสถาบันได้รับรางวัลการันตีจากการเข้าร่วมแข่งขัน STEM ระดับชาติและระดับนานาชาติอย่างสม่ำเสมอเพื่อแสดงความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ในปี 2560 นักเรียนของ TEKY ได้รับรางวัล WeCode International Children’s Program ห้าเหรียญ และในปี 2019 ได้รับรางวัลเหรียญเงินจาก World Robot Olympiad ซึ่งเป็นงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับโลก สำหรับวัยรุ่นอายุ 9-21 ปี ที่แข่งขันกันกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ในปัจจุบันสถาบันมีห้องปฏิบัติการ 16 แห่งใน 5 เมืองทั่วประเทศและร่วมมือกับโรงเรียน 30 แห่งทั่วประเทศเพื่อจัดหลักสูตรเทคโนโลยี สร้างค่ายเขียนโค้ด เพื่อให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ทักษะด้านเทคโนโลยีในช่วงวันหยุด และกำลังพัฒนาแพลตฟอร์มอีเลิร์นนิงเพื่อนำเสนอโปรแกรมของตนให้กับนักเรียนในจังหวัดที่ห่างไกลมากขึ้นในภูมิภาค

ความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งที่ปลูกฝังได้ตั้งแต่ยังเล็ก

ภาพจาก : https://iearn.org/

สเปน กับ iEARN เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2531 เป็นพันธมิตรกับโรงเรียนและองค์กรเยาวชนกว่า 30,000 แห่งในกว่า 140 ประเทศ iEARN มุ้งเน้นที่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ทุกโครงการจะให้นักเรียนคิด และตอบคำถามที่ว่า “โครงการนี้จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตบนโลกใบนี้ได้อย่างไร” และต้องระบุว่าโครงการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติอย่างไร ตัวอย่างเช่น โครงการ Future Citizen เน้นการสำรวจสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง นักศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับกฎหมายท้องถิ่น กระบวนการเลือกตั้ง และระบบราชการในประเทศของตนเอง ทำโครงการบริการในท้องถิ่นในชุมชนของตน แลกเปลี่ยนสิ่งที่ค้นพบกับนักเรียนในแวดวงโครงงานของพวกเขา และสร้างสารคดีขั้นสุดท้ายที่บรรยายลักษณะของความดีในการเป็นพลเมืองที่ดีของโลก โมเดล iEARN มีการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาวิชาชีพแบบตัวต่อตัวสำหรับครู มุ่งเน้นไปที่วิธีการผสานรวมโปรแกรม iEARN เข้ากับหลักสูตรการสอนให้ได้ดีที่สุด นอกจากนี้ ครูยังได้รับการฝึกอบรมเฉพาะเกี่ยวกับวิธีเตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับการปฏิสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรม และวิธีส่งเสริมความเห็นอกเห็นใจและความตระหนักทางสังคมในหมู่นักเรียน สร้างชุมชนผู้เรียนระดับโลกที่มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนข้ามวัฒนธรรมและทำงานร่วมกันในโครงการการเรียนรู้การบริการผ่านเครือข่ายออนไลน์เสมือนจริง และแลกเปลี่ยนโครงการและต่าง ๆ แบบไร้พรมแดน ปัจจุบันมีนักเรียนกว่า 2 ล้านคนเข้าร่วมในโครงการความร่วมมือของ iEARN จากทั่วโลก

ความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งที่ปลูกฝังได้ตั้งแต่ยังเล็ก

ภาพจาก : https://www.pratham.org/

อินเดีย กับ โปรแกรมการเรียนรู้แบบผสมผสานของ Pratham ก่อตั้งขึ้นในปี 1995 เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอินเดีย อุทิศตนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในอินเดียและเสริมการทำงานของโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในปี 2015 Pratham ได้เปิดตัวโครงการริเริ่มด้านดิจิทัล นั่นคือ Hybrid Learning Programme เป็นแนวทางที่ขับเคลื่อนโดยชุมชน เน้นไปที่การเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่างการเรียนรู้จากประสบการณ์รอบข้าง โดยจัด 1 หมู่บ้านต่อหนึ่งหน่วยการเรียนรู้ และเสริมเนื้อหาวิชาการที่เน้นให้เด็กริเริ่มที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง ผ่านออนไลน์มากกว่า 70 รายการ บทเรียนภาษาอังกฤษ เกมออนไลน์ที่ใช้คณิตศาสตร์ และแนวคิดโครงงานที่ทำแบบออฟไลน์ โดยที่เด็กไม่ต้องกังวลเนื่องจากโปรแกรม Hybrid Learning ใช้เทคโนโลยีหลายอย่างเพื่อส่งมอบการเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีการแปลงคำพูดเป็นข้อความ ใช้เพื่อสนับสนุนแนวทางการอ่านของเด็ก เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ การพัฒนาเกม แบบทดสอบ สื่อการอ่าน การประเมิน และแหล่งข้อมูลอื่นๆ เหล่านี้ได้ร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ เพื่อช่วยแปลทรัพยากรเป็นภาษาประจำภูมิภาค 11 ภาษาในอินเดียเพื่อเข้าถึงทุกภาคส่วนและสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยตนเองของเด็กได้ และมีการจัดเตรียมแท็บเล็ตให้กับครอบครัวเพื่อให้พวกเขาสามารถทำงานร่วมกับบุตรหลานในกิจกรรมที่บ้าน พร้อมแหล่งข้อมูลพร้อมใช้งานแบบออฟไลน์ ในปัจจุบันมีเด็กกว่า 90,000 คนที่มีอายุระหว่าง 10 ถึง 14 ปีในประมาณ 1,000 หมู่บ้านในอินเดียเข้าร่วมโครงการนี้

ความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งที่ปลูกฝังได้ตั้งแต่ยังเล็ก

ภาพจาก : https://prospectschools.org/

สหรัฐอเมริกา กับ Prospect Charter Schools โรงเรียนที่ออกแบบแนวทางการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและเท่าเทียม เนื่องจากผลสำรวจการศึกษาหลายแห่ง แสดงให้เห็นว่าระบบโรงเรียนของรัฐในนิวยอร์กเป็นระบบที่แบ่งแยกทางเชื้อชาติและเศรษฐกิจมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา ทำให้ Prospect Charter Schools ออกโมเดลมาเพื่อมุ่งเน้นจัดการกับความท้าทายนี้ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่หลากหลายและบูรณาการอย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น การสุ่มเพื่อเข้าเรียนผ่านระบบลอตเตอรี่โดยไม่วัดจากการเรียนเพื่อคละกลุ่มคนให้หลากหลายมาไว้ในโรงเรียนเดียวกัน เช่น วิทยาเขตวินด์เซอร์ เทอเรซ ของนักเรียนมัธยมต้น 324 คน 41% เป็นคนผิวขาว 34% เป็นคนละติน 11% คนผิวดำ และ 6% เป็นคนเอเชีย นักเรียนครึ่งหนึ่งมาจากภูมิหลังที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ และ 25% ได้รับบริการการศึกษาพิเศษ เพื่อให้พวกเขาเรียนรู้ความหลากหลายในสังคม โรงเรียนยังจ้างครูที่สะท้อนความหลากหลายของประชากรนักเรียน ครูมากกว่าครึ่งเป็นคนผิวสี ชั้นเรียนได้รับการออกแบบให้ครอบคลุมและหลากหลาย เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเชื้อชาติและชาติพันธุ์ ความคล่องแคล่วในภาษาอังกฤษ เพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และรสนิยมทางเพศของนักเรียน เพื่อให้เด็กได้สัมพันธ์กับความหลากหลายได้มากที่สุด และลดอคติที่รุนแรงในสังคมในอนาคต นอกจากด้านสังคม ด้านวิชาการก็ยังได้รับการดูแลและสนับสนุนอย่างดี จากผลสำรวจที่ผ่านมาพบว่า ในปี 2019 นักเรียนของโรงเรียน Prospect Charter School ทำได้ดีกว่าเพื่อนในโรงเรียนนครนิวยอร์กแห่งอื่นๆ และทั่วทั้งรัฐในการทดสอบมาตรฐานด้านคณิตศาสตร์และศิลปะภาษาอังกฤษ ในวิชาคณิตศาสตร์ 73% ของนักเรียนทำคะแนนความชำนาญในการสอบของรัฐ เทียบกับค่าเฉลี่ยของรัฐที่ 47%

ความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งที่ปลูกฝังได้ตั้งแต่ยังเล็ก

เปรู กับ Innova Schools โรงเรียนที่ออกแบบมาเพื่อลดช่องว่างทางการศึกษาและเน้นการเรียนแบบผสมผสานอย่างลงตัว แต่ก่อนเปรูอยู่ในอันดับท้าย ๆ ของโครงการ OECD สำหรับการประเมินนักศึกษาต่างชาติ (PISA) ในปี 2009 โดยมีประสิทธิภาพต่ำกว่ามาตรฐานที่วัดทักษะการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ และมีช่องว่างทางการศึกษาที่สูงมาก เพื่อช่วยแก้ไขช่องว่างด้านการศึกษานี้ Intercorp Peru Ltd, IDEO บริษัทออกแบบและให้คำปรึกษาร่วมมือกับวิศวกร Jorge Yzusqui ในปี 2011 เพื่อออกแบบโรงเรียน Innova ให้เป็นทางเลือกการเรียนรู้คุณภาพสูงในราคาที่ทุกคนจับต้องได้ โดย 70% ของโรงเรียนเป็นเด็กเล็กเพื่อปูพื้นฐานการเรียนรู้แบบผสมผสาน ที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแบบอิสระ และการเรียนรู้กลุ่มย่อยตามโครงงานโดยครูผู้สอน ซึ่งนักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมในโครงการนวัตกรรมของโรงเรียน ท้าทายให้นักเรียนออกแบบวิธีแก้ปัญหาเฉพาะตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายทางสังคม แต่ละข้อได้รับการออกแบบมาให้เป็นแบบปลายเปิด ทำให้นักเรียนสามารถมุ่งเน้นไปที่กระบวนการคิดและการออกแบบมากกว่าการหา “คำตอบ” นักเรียนร่วมมือกันเพื่อก้าวผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ของการคิดเชิงออกแบบ เช่น การสำรวจ การออกแบบ การทดลอง และการแบ่งปัน สะท้อนถึงกระบวนการทำงานร่วมกันที่พวกเขาอาจประสบในที่ทำงานแห่งอนาคตอย่างใกล้ชิด และผลจากการเรียนด้วยโมเดลนี้ในปี 2013 ผลสำรวจชี้ว่า 61% ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ของ Innova สอบผ่านข้อสอบคณิตศาสตร์ของรัฐบาลกลางได้ เทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศที่ 17% และยังพบว่า 77% ของนักเรียนพัฒนาการอ่านดีกว่าเมื่อเทียบกับโรงเรียนเอกชนอื่น Innova เข้าถึงนักเรียนมากกว่า 42,000 คนในประเทศ และยังมีโครงการที่ร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับ Project Zero ที่ Harvard University เพื่อพัฒนาการฝึกอบรมทักษะการสอบถามสำหรับครู และยังสร้างศูนย์ทรัพยากรสำหรับครูเพื่อให้ครูเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ด้วยบทเรียนที่ผ่านการรับรองคุณภาพแต่ละวิชาสำหรับแต่ละเกรดการออกแบบโดยใช้มาตรฐานร่วมกันและช่วยให้ครูสามารถแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการนำไปใช้สอนจริงในหลักสูตร อีกทั้งยังมีแผนกนวัตกรรมโดยเฉพาะรับผิดชอบในการออกแบบ สร้างต้นแบบ และนำแนวคิดใหม่ๆ ในสี่ด้านหลัก ได้แก่ นักวิชาการ พื้นที่ ระบบ และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้การรับรองว่าโมเดล Innova สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติล่าสุดในการศึกษา แต่ละโรงเรียนสามารถทำงานโดยตรงกับองค์กรพัฒนาเอกชนในท้องถิ่น ผู้นำภาครัฐและเอกชนเพื่อนำแบบจำลอง Innova ไปใช้ในโรงเรียน ในปี 2020 เป้าหมายของ Innova เข้าถึงนักเรียนมากกว่า 50,000 คน กว่า 60 แห่งทั่วประเทศ

ความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งที่ปลูกฝังได้ตั้งแต่ยังเล็ก

สหราชอาณาจักร กับ The Skills Builder Partnership โปรแกรมระดับโลกที่ส่งเสริมเด็กครบทุกทักษะ เน้นประสบการณ์จริง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นความร่วมมือระดับโลกที่ทำงานร่วมกับโรงเรียน ครู นายจ้าง และองค์กรอื่นๆ เพื่อสร้างทักษะที่จำเป็นในเด็กและเยาวชน เครือข่ายประกอบด้วยโรงเรียนและวิทยาลัย 514 แห่ง นักเรียนมากกว่า 200,000 คน และองค์กรมากกว่า 700 แห่ง The Skills Builder Partnership เน้นเสริมทักษะที่จำเป็นแปดประการในหมู่เด็กและเยาวชน รวมถึงการฟัง การนำเสนอ การแก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ ความยืดหยุ่น การทำงานร่วมกัน และความเป็นผู้นำ แต่ละทักษะมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนและแบ่งออกเป็นขั้นตอนเพื่อปรับใช้กับหลักสูตรการสอน และสิ่งเหล่านี้ได้ถูกออกแบบมาจากบริษัทระดับโลกต่าง ๆ ที่ต้องการปลูกฝังให้เด็กติดตัวไปจนถึงในตอนที่เข้าทำงานจริงในสังคม ในปีการศึกษา 2018–2019 นายจ้างมากกว่า 121 คนเข้าร่วมในการแลกเปลี่ยนสถานที่ทำงานของโครงการนี้ ตัวอย่างบริษัทที่เป็นพันธมิตร เช่น JLL, BP และ Bank of America และนักเรียนที่เข้าร่วมโปรแกรมสร้างทักษะมีความก้าวหน้าในการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นมากกว่านักเรียนที่ไม่เข้าร่วมถึง 62% และได้รับการจ้างงานจากบริษัทที่เข้าร่วมโครงการอีกด้วย

การปฏิวัติอุตสาหกรรมหลายต่อหลายครั้ง ส่งผลให้สังคมและตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลง ทำให้เราต้องปรับตัว ปรับรูปแบบการเรียนรู้ตลอดเวลา แต่ก่อนยังไม่มีโควิด-19 สังคมเราเน้นการเรียนรู้ในห้องเรียนมากกว่า 80% ทั่วโลก จนเกิดโรคระบาด มนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว การเรียนทางไกล เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ถูกสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนการเรียนออนไลน์ และการเรียนรู้ด้วยตัวเอง สังคมเปลี่ยนแปลงตลอด ทักษะการปรับตัวและการเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงสำคัญ และการศึกษาและกระบวนการคิดเป็นตัวช่วยให้มนุษย์ประยุกต์ใช้ทักษะกับความรู้ได้ดีที่สุด ใครจะรู้ว่าการปฏิวัติครั้งสุดท้ายของโลกอาจเป็นการเริ่มต้นใหม่ที่ดาวอังคาร แล้วคุณหล่ะ? คิดว่าโลกการศึกษาไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไรหากนำข้อดีของโรงเรียนต้นแบบตามหลัก Education 4.0 มาใช้จริง มาลองวาดฝันกันครับ

อ้างอิง
https://www3.weforum.org/docs/WEF_Schools_of_the_Future_Report_2019.pdf
https://www.weforum.org/agenda/2020/02/schools-of-the-future-report-2020-education-changing-world/
http://www.journalhri.com/pdf/1201_07.pdf
https://tks.world/
https://www.greenschool.org/bali
https://teky.edu.vn/
https://iearn.org/
https://www.pratham.org/
https://prospectschools.org/
https://www.innovaschools.edu.co/en-us/schools
https://www.skillsbuilder.org/

Tag

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS