สรุปให้รู้ ตามทันโลกการศึกษา ประจำเดือนตุลาคม

A A
Oct 31, 2021
Oct 31, 2021
A A

ผลเสียของการปิดโรงเรียนเป็นเวลานานกำลังสำแดงฤทธิ์เดชออกมา จากจำนวนตัวเลขสถิติของภาวะการเรียนรู้ถดถอยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้หลาย ๆ โรงเรียนทั่วโลก เฟ้นหาบุคลากรที่มีศักยภาพเพื่อเข้ามาชดเชยความรู้ให้กับเด็กเหล่านี้ รวมหาทางแก้ไขการเรียนรู้คู่โควิด และออกมาตรการให้ผู้ติดเชื้อจากโควิด-19 ลดลงเพื่อให้เด็ก ๆ สามารถเปิดโรงเรียนได้โดยเร็วที่สุด

 

การศึกษาเดือนตุลาคม

 

     แต่นอกจากปัญหาโรคระบาดยังมีหลายประเทศเจอปัญหาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติให้ต้องเผชิญอย่างประเทศไทย ที่เกิดอุทกภัยในบางพื้นที่ของประเทศ ท่ามกลางปัญหาที่ถาโถมเข้ามา กระทรวงศึกษาธิการไทยได้สนับสนุนกลุ่มเด็กอาชีวะศึกษาเปิดตัวแอปพลิเคชัน “ช่างอาชีวะ” นำทีมเด็กเรียนช่างซ่อมอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ฟรี และเตรียมจัดทำศูนย์ซ่อมเพื่อชุมชน (Fix It Center) 100 แห่งทั่วประเทศ หลังจากทดลองแล้วโครงการประสบผลสำเร็จไปด้วยดี อีกทั้งโรคระบาดโควิด-19 ทำให้การออกจากบ้านและซ่อมข้าวของเครื่องใช้เป็นไปได้ยากขึ้น จึงเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส พัฒนาภาพลักษณ์และฝึกเด็กอาชีวะในการลงพื้นที่ทำงานจริงและเป็นการทำคุณประโยชน์ต่อสังคมอีกด้วย

ญี่ปุ่นและฮ่องกง
     ได้ร่วมมือกันจัดประชุมสัมมนาออนไลน์ หรือ Webinar ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้ ดำเนินการโดยองค์กรอิสระทางด้านการศึกษาในญี่ปุ่นอย่างสมาพันธ์เยาวชนอะวาจิ ภายใต้หัวข้อเรื่อง “อนาคตทางการศึกษา” ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการเรียนการสอนในปัจจุบันอ้างอิงจากการสำรวจออนไลน์โดยสมาคมร้านค้าสหกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งชาติญี่ปุ่น (National Federation of University Co-operative Associations) เมื่อเดือนกรกฎาคมชี้ว่า นักศึกษา 44.7% รู้สึกว่าชีวิตไม่ได้รับการเติมเต็มในช่วงโควิด-19 ระบาด โดยหนึ่งในปัจจัยหลักคือการเรียนออนไลน์แทนการได้เรียนจริง ศาสตราจารย์อุสโซบี แซ็กโก (Oussouby Sacko) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานมหาวิทยาลัยเกียวโต เซกะ (Kyoto Seika University) กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา เหล่าครูอาจารย์เจอปัญหาในการสอนออนไลน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาทางด้านศิลปะที่นักเรียนหมดไฟในการเรียนและไม่ยอมเข้ามาเรียนซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยได้ และในการ สัมนนาออนไลน์นี้จึงได้มีการพูดคุยเสนอแนวทางร่วมกันในการปรับปรุงแนวการศึกษาในอนาคต ศาสตราจารย์อุสโซบี แซ็กโก เสนอว่าควรมีการพบปะกันในสถานศึกษาอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เพื่อพูดคุยพบปะแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ทางด้านแบเนียล จาง (Baniel Cheung) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะธุรกิจและเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง ได้สนับสนุนความคิดนี้ โดยกล่าวว่า “การต้องสอนโดยไม่เห็นหน้าค่าตากันนั้น ทำให้ยากที่ผู้สอนจะรู้ว่าผู้เรียนกำลังรู้สึกยังไง แม้จะตระหนักดีว่าโลกการเรียนรู้หลังจากการระบาดของโควิดคลี่คลายนั้น คงต้องผสมผสานระหว่างชั้นเรียนออนไลน์และชั้นเรียนจริงเข้าด้วยกัน แต่กระนั้นเทคโนโลยีดิจิทัลก็ไม่อาจทดแทนการพบปะเจอกันตัวเป็นๆ ระหว่างมนุษย์อย่างแน่นอน” แต่ไม่ใช่การเรียนออนไลน์จะมีแต่ข้อเสียเท่านั้น แต่การเรียนการสอนออนไลน์มีข้อดีตรงที่สามารถแบ่งปันข้อมูลความรู้ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ และสังเกตได้ว่าเด็กนักเรียนที่จัดอยู่ในลักษณะนิสัย Introvert มีส่วนร่วมในชั้นเรียนผ่านช่องทางสนทนามากขึ้น และสุดท้ายนี้ แบเนียล จาง ได้มีการเสนอความคิดเห็นเรื่องการพัฒนาศักยภาพเด็ก ๆ เพื่อผลักดันเข้าสู่ตลาดแรงงานและคาดหวังว่า ญี่ปุ่นจะเปิดหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อรองรับนักศึกษาต่างชาติเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาขาเกี่ยวกับวัฒนธรรม มังงะ และแอนิเมชัน

อินเดีย
     ถึงแม้ว่าอินเดียจะไม่ใช่ประเทศเดียวที่โรงเรียนระดับประถมศึกษายังไม่เปิดเรียน อีกทั้งยังมีการเรียนออนไลน์เข้ามารองรับ แต่ตัวเลข อัตราอ่านออกเขียนได้ของเด็กอินเดียในพื้นที่ชนบท ช่วงอายุระหว่าง 8-12 ปี ลดลงจากการเก็บข้อมูลรอบก่อนถึง 41% จาก 88% เหลือเพียง 53% เท่านั้น ทำให้นักเคลื่อนไหวในอินเดียออกมาผลักดันให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเปิดโรงเรียน เนื่องจากความยากในการเข้าถึงห้องเรียนออนไลน์ที่ทำให้การเรียนของเด็กไม่คืบหน้า และกลายเป็นหนึ่งอุปสรรคสำคัญที่ผลักให้เด็กออกจากโรงเรียนกลางคัน อีกทั้งการระบาดของโควิด-19 ทำให้ครอบครัวยากจนเผชิญปัญหาปากท้องจำเป็นต้องบีบให้เด็กออกจากระบบการศึกษาเพื่อมาเป็นแรงงานเด็กและเด็กผู้หญิงหลายคนอาจจะถูกบังคับแต่งงานออกไปก่อนวัยอันควร โดยนักเคลื่อนไหวและกูรูด้านการศึกษาของอินเดียเล็งเห็นว่าการเปิดโรงเรียนเป็นการช่วยให้เด็ก ๆ ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาการเรียนรู้ถดถอย และหากเด็กเหล่านี้หลุดจากระบบการศึกษาอาจส่งผลให้พวกเขาต้องจำยอมทำงานใช้แรงงานและไร้อำนาจต่อรองในอนาคต

เนเธอร์แลนด์
     หลังจากผลการสำรวจโรงเรียนทั่วประเทศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า มีโรงเรียนประมาณ 15% หรือราว 1,300 แห่งจากโรงเรียนทั้งหมดในเนเธอร์แลนด์เผชิญกับปัญหาเด็กมีภาวะการเรียนรู้ถดถอย ทำให้ครู ครูผู้ช่วยสอน และครูใหญ่ของโรงเรียนต้องจัดเตรียมการเรียนการสอนเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีภาวะติดขัดเหล่านี้ อีกทั้งเนเธอร์แลนด์ยังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนครูอีกด้วย รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จึงออกมาตรการให้ โบนัสการสอน (teaching bonus) กับคุณครูที่ทำงานหนักขึ้นจากการดูแลเด็กที่ติดขัดทางด้านการเรียนรู้ โดยจะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5% และให้โบนัสประมาณ 8% ของเงินเดือนปกติ เพื่อเป็นการให้กำลังใจและจูงใจให้เกิดการสมัครงานตำแหน่งครูมากขึ้นอีกด้วย

สหรัฐอเมริกา
     ทีมวิจัยของ NWEA, ศูนย์วิจัยนโยบายทางการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University’s Center for Education Policy Research) และ CALDER ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของสถาบันเพื่อการวิจัยแห่งอเมริกา ได้จับมือเป็นพันธมิตรเพื่อทำงานร่วมกับเขตการศึกษาทั่วสหรัฐฯ ในการช่วยวิเคราะห์และอัปเดตข้อมูลเรียลไทม์ เพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนจากภาวะการเรียนรู้ถดถอยเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 กับโครงการติวพิเศษหลังเลิกเรียน (after-school programs) และโครงการช่วยเหลือพิเศษต่างๆ ที่จัดทำเสริมขึ้น โดยนักวิจัยจะรวบรวมผลการเรียนของเด็กนักเรียน 3 ช่วง คือ ช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด ช่วงตลอด 18 เดือนที่โควิด-19 ระบาดจนโรงเรียนปิดตัว และช่วงปีการศึกษาปัจจุบันที่นักเรียนกลับเข้าชั้นเรียนแล้ว นำมาวิเคราะห์ร่วมกัน ประเมินผลและจัดหาโครงการพิเศษต่างๆ ที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียนและผู้เรียน เน้นฟื้นฟูทักษะพื้นฐานด้านการอ่าน การคิดคำนวณ และวิชาการด้านอื่นๆ โดยมองเห็นว่าผลวิเคราะห์ข้อมูลการเรียนรู้นักเรียนแบบเรียลไทม์ จะช่วยในการประเมินและปรับเปลี่ยนแผนกลยุทธ์ได้ทันท่วงที ช่วยให้ผู้นำเขตการศึกษาสามารถตัดสินใจและวางแผนได้ว่าจะใช้งบช่วยเหลือจากรัฐบาลส่วนกลางอย่างไรมาจัดการกับภาวะเรียนรู้ที่ถดถอยไปของเด็กนักเรียนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

อ้างอิง:

 

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS