Zero Waste การสร้างโลกใหม่ในโรงเรียนด้วย: สรุปให้รู้ตามทันโลกการศึกษา EP.11

A A
Nov 29, 2022
Nov 29, 2022
A A

Zero Waste สร้างโลกใหม่ในโรงเรียน

สรุปให้รู้ตามทันโลกการศึกษา EP.11

 

 

     ฟังแล้วเหมือนตลกร้าย ก่อนมีการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกช่วยกันรณรงค์การรักษาสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อเราเจอกับโรคระบาดผู้คนไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน แต่ตัวเลขกลับรายงานว่าช่วงที่ผ่านมามีขยะพลาสติกมากขึ้น ยกตัวอย่างข้อมูลจากประเทศไทย พบว่ามีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครสัดส่วนขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นกว่า 60% จากการที่ผู้คนออกไปไหนไม่ได้จนต้องสั่งอาหารเดลิเวอรี่มาทานที่บ้าน แม้ว่าจะมีรายงานออกมาบอกว่า 2 ปี ของการระบาดขยะโดยรวมลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

     เทียบจากปี 2564  ค่าเฉลี่ยของขยะช่วงเดือนมิถุนายน คือ 8,704.87 ตันต่อวันซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับก่อนเกิดโรคระบาดที่มีค่าเฉลี่ย 10,500 ตันต่อวัน แต่หากมองแต่ตัวเลขก็อาจจะไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เนื่องจากช่วงระบาดเกิดการปิดตัวลงของภาคธุรกิจ ร้านค้า จำนวนคนที่เข้ามาทำงาน และนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้เข้ามาในพื้นที่ลดลง ทำให้ค่าเฉลี่ยที่พบคือจำนวนของคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ แล้วแบบนี้คุณคิดว่าจำนวนขยะลด หรือเพิ่มกันแน่ครับ

 

     นอกจากขยะมูลฝอย ยังมีขยะติดเชื้อทั่วไป และขยะติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 37,000 กก.- 41,000 กก. ต่อวันโดยเฉพาะหน้ากากอนามัย และชุดตรวจ ATK ทำให้หลังจากเหตุการณ์ระบาดผู้คนทั่วโลกออกมาตระหนักเรื่องขยะ และสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าเดิมจนไปที่ไหนก็ได้ยินกระแส Zero Waste อย่างแพร่หลาย ทั้งในบริษัท หน่วยงาน และภาครัฐได้จัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในโรงเรียนก็เช่นกัน แล้ว Zero Waste คืออะไร? การทำแบบนี้ในโรงเรียนมีประโยชน์จริงหรือเปล่า? 

 

Zero Waste คืออะไร?

 

     คือ แนวคิดขยะเหลือศูนย์ ลดการเกิดขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ทำให้ปริมาณขยะที่ต้องกำจัดลดเหลือน้อยที่สุดจนเป็นศูนย์ โดยมีหลักคิดที่เราได้ยินกันจนคุ้นหูอย่าง ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ รวมเข้ากับการไม่เพิ่มขยะ ประกอบเป็น 1A3R

  • Avoid การหลีกเลี่ยงของที่ก่อให้เกิดขยะเพิ่ม เช่น หลอด หรือถุงพลาสติกใช้แล้วทิ้ง
  • Reduce ใช้วัสดุที่ทำให้เกิดขยะน้อยลง เช่น ถุงผ้าแทนการรับถุงพลาสติกจากร้านค้า
  • Reuse การนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ถุงพลาสติกที่ได้มานำกลับมาใส่ของอีกครั้ง
  • Recycle การนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น พลาสติก กระดาษ นำมาทำเป็นวัสดุตั้งต้นในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่กลับมาใช้อีกครั้งไปเรื่อย ๆ

     รวมไปถึงการแยกขยะตามหมวดหมู่ต่าง ๆ และจัดการกับเศษอาหารได้อย่างดี ในหลายโรงเรียนมีการนำแนวคิด Zero Waste เข้ามาใช้ประกอบกับชีวิตประจำวันของนักเรียนเพื่อปลูกฝังค่านิยมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 

 

     เชื่อไหมว่าแนวคิด Zero Waste มีประเทศที่ตระหนักถึง และเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 1940 เช่นสวีเดน และสร้างค่านิยมแพร่หลายไปในหลายประเทศทั่วโลก แต่ในปัจจุบันการจัดระเบียบ และกำจัดขยะก็ยังเป็นปัญหาอยู่ การปลูกฝังจิตสำนึกในการรักสิ่งแวดล้อมในครัวเรือนนั้นทำได้ยากเมื่อผู้คนเคยชินกับสิ่งที่ทำมาทั้งชีวิต การจะเปลี่ยนพฤติกรรมของคนทั้งโลกพร้อมกันจึงเป็นเรื่องที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป

 

ตามข้อมูลของธนาคารโลก สถิติการสร้างขยะมูลฝอยชุมชน (Municipal Solid Waste; MSW) ในปี 2018 ขยะทั่วโลกมีมากเกือบ 2,000 ล้านตันต่อปี และคาดการณ์ว่าในปี 2016-2050 จะมีขยะเพิ่มขึ้นอีก 70 % หากเราไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโลกอาจจะเต็มไปด้วยขยะจนต้องหนีออกไปจากโลก แอนิเมชันเรื่องวอลล์ อี (WALL·E) อาจเกิดขึ้นจริงในอนาคต ทำให้การปลูกฝังสั่งสมค่านิยม และพฤติกรรมรักสิ่งแวดล้อมให้เด็กตั้งแต่ในโรงเรียนจึงสำคัญ เป็นก้าวแรกของการสร้างพลเมืองที่ดีของโลกในอนาคต และคนที่ต้องอยู่บนโลกนี้ต่อไปคือเด็ก ๆ เหล่านั้นนี้เอง

ข้อมูลสถิติขยะมูลฝอยชุมชนทั่วโลก

ข้อมูลสถิติขยะมูลฝอยชุมชนทั่วโลก

 

โรงเรียนทั่วโลกมีโครงการ Zero Waste ในรูปแบบไหนบ้าง ลองมาดูตัวอย่างกันครับ 

 

     เริ่มที่ผู้สร้างขยะอันดับหนึ่งของโลกอย่าง สาธารณรัฐประชาชนจีน ขยะมหาศาลมากถึง 395 ล้านตันต่อปี ด้วยจำนวนประชากรที่มาก ไม่น่าแปลกใจที่จำนวนขยะจะมากตามไปด้วย โดยจีนได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก ในปี 2564 กระทรวงนิเวศวิทยา และสิ่งแวดล้อมของจีน (MEE) ร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานระดับชาติอีก 17 แห่ง ได้จัดทำโครงการนำร่อง China’s Zero Waste Cities สร้างเมืองสีเขียวปลอดขยะ 100 แห่ง ภายในปี 2568 และเกิดการส่งเสริมความรู้ให้กับนักเรียนในโครงการ Zero Waste Knowledge ซึ่งเป็นโครงการเปิดตัวบทเรียนแรกของหลักสูตรสำหรับโรงเรียนประถม และมัธยมต้นมากกว่า 70 แห่ง ผสมผสานการสอนแบบออนไลน์ และออฟไลน์ ชั้นเรียนมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ครูและนักเรียนให้ความสำคัญกับการลดขยะ และการรีไซเคิล รวมถึงฝึกแนวคิดของขยะเป็นศูนย์ และสร้างตัวชี้วัด Zero Waste Campus Indicator System จากการวิจัยของ School of Environment of Beijing Normal University เข้ามาประเมินโดยใช้ปัจจัยต่าง ๆ ในโรงเรียนเป็นฐาน เช่น องค์กรและการจัดการของโรงเรียน การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมศึกษา วัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม และอิทธิพลทางสังคม เป็นตัวบ่งชี้เพื่อบรรลุเป้าหมายขยะเป็นศูนย์นำไปต่อยอดเป็นต้นแบบวิทยาเขตปลอดขยะ และพัฒนาศูนย์ปลอดขยะ ทั่วประเทศ

 

     ต่อกันที่อันดับ 2 ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ที่สร้างขยะกว่า 265 ล้านตันต่อปี ถึงจะเป็นอันดับ 2 แต่หากเฉลี่ยขยะต่อจำนวนประชากรกลับมากกว่าจีน ถือว่าเป็นอันดับ 1 ตีคู่กันมาเลยก็ไม่ผิดครับ แต่สหรัฐอเมริกาไม่ได้นิ่งนอนใจ เขตการศึกษาสองแห่งร่วมมือกับองค์กร Eco-Cycle ในปี 2005 เปิดตัว Green Star Schools นำร่องโรงเรียนประถม 40 แห่ง โดยมีเป้าหมายขยะเป็นศูนย์ จัดอบรมด้านสิ่งแวดล้อมให้กับนักเรียน บุคลากรในโรงเรียน และชุมชนโดยรอบโรงเรียนให้เข้ามามีส่วนร่วม จากนั้นจัดตั้งกลุ่มนักเรียน เช่นชมรมสิ่งแวดล้อม ชั้นเรียน หรือ สภานักเรียนเข้ามาเป็นแกนนำ ดำเนินการสำรวจขยะรอบโรงเรียน และส่งเสริมให้เกิด Zero Waste ในโรงเรียนโดยให้นักเรียนมีส่วนร่วมด้วย เช่น กิจกรรมทำความสะอาดห้องเรียนเพื่อแยกขยะนำมารีไซเคิล การติดป้ายในโรงอาหารเพื่อให้นักเรียนเตรียมกล่องข้าว หรือแก้วน้ำมาเองโดยลดการใช้พลาสติก นำเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมักลดของเสียต่อยอดโดยการปลูกผักในโรงเรียนเพื่อคุณภาพอาหารกลางวันที่ดีขึ้น และมีระบบรางวัลเข้ามากระตุ้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมอีกด้วย นอกจากนี้ยังลงลึกถึงแนวทางการจัดซื้อของทางโรงเรียน เช่น ลดการเกิดขยะจากกล่องนม ห่ออาหารพลาสติกต่าง ๆ และใช้สิ่งที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกด้วย

 

Zero Waste เศษอาหาร

เศษอาหาร

 

     ต่อมากับ สหราชอาณาจักร จากข้อมูลกล่าวว่าใน 1 ปีการศึกษาโรงเรียนในอังกฤษทิ้งเศษอาหารกว่า 80,000 ตัน ตัวเลขนี้อาจจะดูน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนเศษอาหารทั่วสหราชอาณาจักรที่มากถึง 15 ล้านต้น แต่ก็ยังเป็นปัญหาเล็ก ๆ ที่เราไม่สามารถมองข้ามได้ เพราะไม่ใช่แค่คิดว่าก็แค่ทิ้งไป แต่การจัดการกับขยะนั้นมีค่าใช้จ่ายยิ่งสร้างขยะมากเท่าไหร่ก็ส่งผลถึงงบประมาณของโรงเรียนมากเท่านั้น จะดีกว่าไหมหากนำค่าจัดการขยะเหล่านี้ไปใช้ส่งเสริมการเรียนรู้ในด้านอื่น 

 

     จากรายงานของ WRAP (Waste and Resource Action Programme) ที่เผยแพร่ในปี 2554 ข้อมูลระบุว่าระหว่างปีการศึกษา 2550-2551 เศษอาหารคิดเป็นครึ่งหนึ่งของขยะที่ผลิตโดยโรงเรียนประถมศึกษา และขยะเกือบหนึ่งในสามเกิดจากโรงเรียนมัธยม ตลอด 40 สัปดาห์ โรงเรียนประถมในอังกฤษทิ้งอาหาร 55,408 ตันเฉลี่ยได้ 75 กรัมต่อนักเรียนหนึ่งคนต่อวัน และโรงเรียนมัธยมทิ้งขยะกว่า 24,974 ตัน เฉลี่ย 42 กรัมต่อนักเรียนหนึ่งคนต่อวัน นอกจากนี้ห้องครัวในโรงเรียนยังสร้างขยะจากเศษอาหาร 36% อีกด้วย ตามรายงานเหตุผลหลักที่ทำให้เกิดเศษอาหารคือการไม่รู้ความต้องการของนักเรียนทำให้ต้องทำอาหารมากกว่าความจำเป็นเพื่อสร้างตัวเลือก และรองรับนักเรียนให้ได้ สาเหตุหลัก ๆ เมื่อนักเรียนไม่ได้รับอาหารที่ชอบ หรือต้องการเขาก็จะทิ้งอาหารเหล่านั้นจึงมีการคิดระบบสั่งอาหารแบบไร้เงินสด (Cashless Catering) โดยทางห้องครัวจะกำหนดเมนูอาหารให้นักเรียนสั่งเมนูที่ต้องการมาก่อนล่วงหน้าเพื่อจัดการอาหารตามความต้องการช่วยควบคุมการทำอาหารมากเกินไปจนเหลือทิ้งในโรงเรียน และจัดการงบประมาณในการสั่งซื้อวัตถุดิบอีกด้วย

 

     สุดท้ายกับประเทศไทยที่มีโครงการน่าสนใจ และเข้าถึงประชาชนเป็นอย่างมาก สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPME) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้มีการส่งเสริมธนาคารขยะเข้าสู่โรงเรียน ชุมชน และผู้ประกอบการ เพื่อขับเคลื่อนการจัดการขยะอย่างถูกต้อง และบริหารจัดการขยะมูลฝอยบนเกาะอย่างมีประสิทธิภาพ 

 

Zero Waste ธนาคารขยะ

ขอขอบคุณภาพจาก: ธนาคารขยะรีไซเคิลโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง

 

     ยกตัวอย่างโรงเรียนบ้านเกาะอาดังในจังหวัดสตูล ที่ก่อตั้งธนาคารขยะขึ้น เพื่อให้นักเรียนรู้คุณค่าของขยะ รู้จักการแยกและลดปริมาณขยะ รับซื้อขยะของนักเรียนที่เก็บมาจากชุมชนในเกาะไปบีบอัด และนำไปขายบนฝั่งร่วมกับร้านค้า 0 บาทและให้นักเรียนนำแสตมป์ไปแลกซื้อของได้ จากรายงานการเปิดธนาคารขยะกว่า 8 เดือน สามารถกำจัดขยะอย่างถูกวิธีได้กว่า 39 ตัน นักเรียนมีเงินในบัญชีร่วมกันกว่า 100,000 บาท เป็นโครงการนำร่องต้นแบบ และมีการขยายไปตามพื้นที่เกาะอื่น ๆ อีกด้วย การที่นักเรียนได้รู้คุณค่าของขยะเหล่านี้จะขยายความรู้สู่ครอบครัว ชุมชน นำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรม และสร้างจิตสำนึกการลดขยะเป็นศูนย์อย่างยั่งยืน

 

     Zero Waste  ในโรงเรียนไม่ใช่แค่การจัดการขยะเฉย ๆ หรือเป็นกระแสที่ผ่านมาและผ่านไปเพื่อทำ CSR (กิจกรรมเพื่อสังคม: Corporate Social Responsibility) เท่านั้น แต่เป็นการเริ่มต้นปลูกฝังพฤติกรรม และจัดการขยะได้อย่างยั่งยืนเมื่อคุณเริ่มต้นจากศูนย์กับเด็ก ๆ ที่นำไปสู่อนาคตของขยะเป็นศูนย์ที่แท้จริง 

 

     แล้วคุณคิดว่าโครงการ Zero Waste มันสามารถช่วยโลกได้จริงหรือไม่? แล้วขยะพลาสติกเป็นวายร้ายจริงหรือเปล่า เมื่อมีการค้นพบว่าขยะพลาสติกเคยช่วยโลกมาก่อน และเคยนำมาใช้แทนถุงกระดาษเพื่อลดการตัดต้นไม้ แล้วอะไรคือวายร้ายจริง ๆ ของสิ่งแวดล้อมกันแน่ ร่วมคิด และหาคำตอบกันครับ

 

อ้างอิง

https://www.switch-asia.eu/news/roadmap-on-zero-waste-cities-focusing-on-plastics-in-china/ 

https://chinadevelopmentbrief.org/reports/chinese-students-get-classes-on-zero-waste/ 

https://www.igsd.org/chinas-zero-waste-cities-plan-to-mitigate-methane-and-other-waste-sector-emissions-during-the-14th-five-year-period/ 

https://academic.oup.com/ce/article/4/3/169/5918339 

https://www.salika.co/2022/03/28/world-of-waste-big-problem/ 

https://www.bbc.com/thai/thailand-58114065 

https://greenschoolsnationalnetwork.org/zero-waste-for-schools/  

https://www.iris.co.uk/blog/education/reduce-food-waste-in-schools-with-cashless-catering/  

https://www.paaktai.com/news/detail/2484

https://mgronline.com/smes/detail/9550000096685 

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS