Atelophobia ไม่พอดี หรือ ไม่ดีพอ

A A
Aug 2, 2022
Aug 2, 2022
A A

Atelophobia ไม่พอดี หรือ ไม่ดีพอ

 

 

  • Atelophobia เป็นอาการความกลัวว่าสิ่งที่ทำจะไม่สมบูรณ์หรือเรียกอีกอย่างว่าโรคกลัวความผิดพลาด คนที่เป็นโรคนี้มักจะกำหนดเป้าหมายที่สมบูรณ์แบบโดยไม่รู้ตัว และพัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้าหรือความวิตกกังวลนำไปสู่การคิดในเชิงลบ ประเมินตนเองต่ำ ไม่เชื่อว่ากำลังทำสิ่งที่สมบูรณ์แบบ
  • Atelophobia อาจเกิดได้จากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เด็กที่เติบโตในสภาพแวดล้อมที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงรูปร่าง หน้าตา ความสามารถว่า “ไม่ดีพอ”ตั้งแต่เด็ก ๆ ก็มีความเสี่ยงต่อการพัฒนาของโรคนี้
  • อาการนี้สามารถรักษาได้ด้วยการบำบัดทางจิต การใช้ยา และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตโดยต้องเปลี่ยนความคิดระบบความเชื่อที่แฝงอยู่และพยายามเปิดเร้าความกลัวโดยมองว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติของชีวิต

 

  

ในสังคมสมัยใหม่ที่ความเพียบพร้อมมักถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ควรยกย่อง ในการสัมภาษณ์งานหรือแม้กระทั่งในโลกของการเรียน การแข่งขันสูงขึ้นกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปไวอยู่ทุกห้วงลมหายใจเป็นการบีบบังคับกลาย ๆ ให้ทุกคนต้องสมบูรณ์แบบตั้งแต่เด็ก ก้าวทันโลกนี้ให้ไวและปรับตัวให้ทันจนความสมบูรณ์แบบกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ว่าถ้าวันใดวันหนึ่งความสมบูรณ์นั้นได้พร่องไป ความพร่องนี้อาจก่อให้เกิดความหวาดกลัวและส่งผลต่อชีวิตประจำวัน และล่วงล้ำกับทุกสิ่งที่ต้องทำอาการนี้เรียกว่า Atelophobia

 

Atelophobia ไม่พอดีหรือไม่ดีพอ

 

Atelophobia ที่เกิดขึ้นอาจพัฒนาสู่อาการซึมเศร้าได้ในที่สุด

 

โดยโรคนี้เป็นอาการความกลัวว่าสิ่งที่ทำจะไม่สมบูรณ์ ไม่ถูกต้อง หรือกลัวว่าจะไม่ดีพอ ไม่เป็นที่ยอมรับ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความกลัวต่อความไม่สมบูรณ์ มักจะกำหนดเป้าหมายที่สมบูรณ์แบบโดยไม่รู้ตัวและมักจะทนทุกข์ทรมานจนพัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้าหรือความวิตกกังวลนำไปสู่การคิดในเชิงลบ ประเมินตนเองต่ำ ไม่เชื่อว่ากำลังทำสิ่งที่สมบูรณ์แบบ

 

Atelophobia ไม่ได้ส่งผลต่องานเท่านั้นแต่ส่งผลกับทุกอย่างในชีวิต

Atelophobia เป็นประเภทของความกลัวที่ได้รับการยอมรับจากสมาคมจิตวิทยาอเมริกันว่าเป็นโรควิตกกังวลประเภทหนึ่งที่มีอาการกลัวความไม่สมบูรณ์ หรือความล้มเหลวในอนาคต บุคคลประเภทนี้มักกลัวว่าจะไม่ดีพอ อาการนี้มาจากการตัดสินสิ่งต่าง ๆ รอบตัวอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น มีกรณีศึกษาของจิตรกรที่มีพรสวรรค์อย่างเหลือเชื่อที่เลิกวาดภาพหรือซ่อนงานของตนเพราะพวกเขาเชื่อว่ามันไม่สมบูรณ์แบบแต่กลับสร้างงานศิลปะซ้ำแล้วซ้ำเล่าแต่ก็ไม่เคยพอใจเพราะความกลัวต่อความไม่สมบูรณ์แบบ และกลัวทำให้คนรอบข้างผิดหวัง อาการของ Atelophobia ไม่ได้ส่งผลต่องานเท่านั้นแต่สามารถส่งผลต่อทุกอย่างในชีวิต เช่น รูปร่าง หรือความงามบนใบหน้า ไม่เลือกปฏิบัติระหว่างเพศ ดังนั้น ผู้ชายบางคนที่เป็นโรค Atelophobia  อาจมีความผิดปกติในการกิน หรือการออกกำลังกายเพื่อให้ได้ร่างกายที่สมบูรณ์ มีกล้ามเนื้อและรูปร่างที่ได้รับการยอมรับ ผู้หญิงก็เช่นกันที่เฝ้ามองหาความงามบนใบหน้าที่ไร้ที่ติ ผิวที่เรียบใสวาวดังกระจกไร้รูขุมขน รับไม่ได้หากต้องเกิดริ้วรอย หรือความหย่อนคล้อย เป็นความกลัวที่ฝังลึกต่อความไม่สมบูรณ์ที่บั่นทอนชีวิตของคุณอย่างจริงจัง ในนักเรียนความทุกข์ทรมานจากโรคนี้อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของพวกเขาถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีผลการเรียนที่ดีมากก็ตาม แต่ก็ยังรู้สึกไม่เป็นที่พอใจ

ไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้แต่พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมก็ดูจะมีบทบาทสำคัญในการเกิดโรคนี้ได้เหมือนกัน คนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรควิตกกังวลอาจมีความเสี่ยงในการพัฒนา  Atelophobia 

แต่สภาพแวดล้อมเองก็มีผลไม่ต่างกัน เด็กที่เติบโตในสภาพแวดล้อมที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงรูปร่าง หน้าตา ความสามารถตั้งแต่เด็ก ๆ ก็มีความเสี่ยงต่อการพัฒนาของโรคนี้ การเกิดบาดแผลในวัยเด็กการโตมาในสภาพแวดล้อมที่เด็ก ๆ ไม่เคยรู้สึก “ดีพอ” ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน

อาการของAtelophobia กับ Perfectionism มีความคล้ายกันคือทั้งสองโรคนี้ต้องการความสมบูรณ์แบบ แต่คนที่เป็น  Atelophobia ไม่เคยไปถึงเป้าหมายนั้น แต่คนที่เป็นPerfectionism จะตอบสนองความเครียดด้วยการทำงานหนักขึ้นเพื่อให้งานนั้นสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นแต่กลับกันคนที่เป็น  Atelophobia จะไม่ทำอะไรเลยเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาด

อาการทางจิตนี้มีอิทธิพลมากจนคนที่เป็นไม่สามารถควบคุมอารมณ์ความกลัวได้เลย โดยอาการที่แสดงออกอย่างชัดเจน คือ ไม่สามารถโฟกัสไปที่สิ่งอื่นนอกเหนือจากความกลัว การพยายามแสวงหาความมั่นใจอยู่เสมอ และอ่อนไหวต่อการวิพากษ์วิจารณ์ อาการเครียดเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดอาการทางร่างกาย เช่น เหงื่อออก หายใจเร็ว นอนไม่หลับ ความอยากอาหารลดลง และกระสับกระส่าย

 

สัญญาณที่บอกว่าอาจจะกำลังเข้าใกล้อาการนี้

  • หลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นโดยพยายามกำจัดคำวิจารณ์ทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นในชีวิต โดยคิดว่าไม่ต้องการที่จะเสี่ยงกับการรับคำวิจารณ์ได้ ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็ตาม โดยอาจมีพฤติกรรมที่หลีกเลี่ยงในการทำอะไรสักอย่างที่เสียงต่อการวิจารณ์อยู่เรื่อย ๆ 
  • หมกมุ่นอยู่กับความผิดพลาดถึงแม้จะพยายามหลีกเลี่ยงความผิดพลาดแล้วแต่หากต้องมีการเผชิญกับความผิดพลาด สิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ว่าอาจกำลังเสี่ยงต่อโรค  Atelophobia คือไม่สามารถปล่อยความผิดพลาดให้เป็นเรื่องราวในอดีตได้แม้จะเป็นความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ยังจำได้ชัดเจนแม้จะผ่านไปแล้วหลายปี หรือหากผิดพลาดแค่ครั้งเดียวก็จะรู้สึกถึงความผิดนั้นอยู่เสมอและนำมามีผลต่ออนาคต
  • อาการ  Atelophobia ส่งผลให้มีความคาดหวังต่อตัวเองมากเกินไป แม้ว่าเสียงวิจารณ์จากคนอื่นจะเจ็บปวดแต่ก็ไม่เท่าเสียงภายในของตัวเองเพราะเสียงนั้นจะกลายเป็นนักวิจารณ์ที่ตามเราไปทุกที่และตัดสินตัวเองจากความผิดพลาดนั้นอยู่เสมอทำให้กดดันตัวเองอยู่ตลอดเวลา

อาการเหล่านี้สามารถรักษาได้ด้วยการบำบัดทางจิต การใช้ยา และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตโดยต้องเปลี่ยนความคิดระบบความเชื่อที่แฝงอยู่และพยายามเปิดเร้าความกลัวโดยมองว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติของชีวิต และตอบสนองความคิดเชิงลบด้วยการคิดเชิงบวก ทุกครั้งที่คิดลบต่อตัวเองต้องชมตัวเองด้วยเหมือนกัน  ความสมบูรณ์แบบอาจเป็นสิ่งที่ทุกคนมองหาแต่ต้องยอมรับว่าความสมบูรณ์ที่เพียบพร้อมอาจแลกมากับสุขภาพจิตที่มีผลกับชีวิตของคน ๆ นั้น สำหรับเด็กส่วนใหญ่เป็นเรื่องปกติมากที่พวกเขามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้พ่อแม่ภูมิใจในตัวพวกเขา หรือเป็นไปได้ที่พวกเขาถูกฝากความหวัง กดดันโดยผู้ใหญ่ ซึ่งสิ่งนี้เองที่เราจะปลูกฝังให้พวกเขาเติบโตไปเพื่อโหยหาความสมบูรณ์แบบและมีแนวโน้มเข้าสู่การเป็น Atelophobia  ในที่สุด

 

ทุกคนล้วนมีคุณค่าในตัวเอง

บนสังคมที่บรรทัดฐานความสำเร็จของแต่ละคนไม่เท่ากัน การพยายามไขว่คว้าบนเส้นทางสายนี้อาจทำให้ใครหลายคนทำสิ่งสำคัญบางอย่างหล่นหาย สิ่งสำคัญที่เรียกว่า “การใช้ชีวิต” เพราะสุดท้ายแล้วการโดนเปรียบเทียบ วิพากษ์วิจารณ์ เป็นเพียงแค่อีกหนึ่งสัจธรรมที่สัตว์สังคมต้องเผชิญ  อีกทางเลือกที่ทำได้คือเปลี่ยนมันเป็นความอุตสาหะ ทำหน้าที่คอยหล่อเลี้ยงจิตใจกระตุ้นให้เราพร้อมที่จะทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เพียงแค่เราระลึกไว้เสมอว่า “อย่าลุ่มหลงกับการเป็นคนเก่งในสายตาคนอื่นจนลืมเป็นคนเก่งในสายตาตัวเอง”

 

 

อ้างอิง
https://bit.ly/3GpS9Wn
https://bit.ly/3zNznqA
https://bit.ly/3beSRtR
https://bit.ly/3N73wnZ
https://bit.ly/3O91xR8
https://bit.ly/3zUqQSZ

 

 

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS