ความอ้วนกับการคอรัปชั่น

A A
Nov 7, 2021
Nov 7, 2021
A A

     ถ้าพูดถึง “ความอ้วน” สิ่งแรกที่แวบเข้ามาในหัวเรามักเป็นเรื่องของสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ไปจนถึงวิธีลดความอ้วนเพื่อให้มีสุขภาพหรือรูปร่างที่ดีขึ้น แต่เชื่อไหมว่า ความอ้วน อาจบอกข้อมูลอะไรบางอย่างที่เราคิดไม่ถึง อย่าเพิ่งดราม่าหรือขำกับข้อมูลนี้ เพราะนี่คือหนึ่งในงานวิจัยล่าสุดที่ได้รับรางวัล Ig Nobel สาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2021 ที่มอบรางวัลให้กับงานวิจัยที่น่าขัน แต่ชวนขบคิด

ความอ้วนกับการโกง

     แล้วความอ้วนของเรามาเกี่ยวอะไรกับการโกง หลายคนต้องประท้วงในใจอยู่แน่ๆ ยังก่อน อย่าเพิ่งคิดมากไป แต่ให้ลองคิดเล่นๆ แบบไม่รู้งานวิจัยดู ความอ้วนอาจบ่งบอกถึงการกินดีอยู่ดี เพราะมีเงินให้ใช้ แต่ พาฟโล บลาวัตสกีย์ นักวิจัยชาวฝรั่งเศส หาคำตอบเรื่องนี้ด้วยการใช้ข้อมูลภาพถ่ายใบหน้านักการเมืองจำนวน 299 คน ในปี 2017 จาก 15 ประเทศที่เกิดจากการล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต จากนั้นก็ใช้เทคโนโลยีอย่าง  AI เข้ามาทำนาย BMI นักการเมืองแต่ละคนจากรูป แล้วนำค่าเฉลี่ย BMI ของนักการเมืองแต่ละประเทศไปเปรียบเทียบกับดัชนีวัดภาพลักษณ์คอรัปชั่น (Corruption Perceptions Index: CPI) ผลลัพธ์ที่ได้คือ ประเทศไหนที่นักการเมืองมี BMI สูง ดัชนีที่วัดได้จะต่ำ (เลขยิ่งต่ำ แปลว่ายิ่งคอรัปชั่นเยอะ) เขาพบว่า นักการเมืองของเอสโตเนียมีค่าเฉลี่ย BMI ที่ต่ำที่สุดในกลุ่มสำรวจ และมีค่า CPI ที่ 71 ส่วนประเทศที่นักการเมืองมี BMI สูงๆ อย่างเตอร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน อุซเบกิซสถาน ก็มีค่า CPI อยู่ที่ 19,21 และ 22 ตามลำดับ ส่วนของไทยเองนั้นยังไม่มีใครมาลองวัดค่า BMI ครับ

     อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลงานวิจัยนี้ หลายคนอาจเกิดคำถามว่า ตัวเลขของกลุ่มทดลองน้อยไปหรือเปล่า และวิจัยเพียงแค่ประเทศในกลุ่มโซเวียตเท่านั้น ถ้าเป็นทวีปอื่นด้วย ผลลัพธ์ที่ได้จะแตกต่างกันไหม อีกทั้งจะเป็นการเหมารวมเกินไปไหมว่า แค่อ้วน = โกง เพราะสาเหตุของความอ้วนก็มีได้หลายอย่าง เช่น ความป่วยไข้ พันธุกรรม งานยุ่งจนไม่มีเวลาออกกำลังกาย ฯลฯ

ยิ่งโกง ยิ่งรวย ยิ่งซื้อของแพง

ยิ่งโกง ยิ่งรวย ยิ่งซื้อของแพง

     แม้เราจะไม่ควรเหมารวมอย่างเด็ดขาดว่า คนอ้วนคือคนโกงในงานวิจัยนี้ ทีนี้มาลองดูกันว่ามีงานวิจัยอื่นที่ให้ผลการทดลองคล้ายๆ กันบ้างหรือเปล่า เมื่อการคอรัปชั่นสามารถเชื่อมโยงได้กับการครอบครองทรัพย์สินที่มีราคาแพงๆ อย่างรถหรู หรือนาฬิกาสวิสได้ เลยมีงานวิจัยหนึ่งที่ดูว่า ยอดนำเข้านาฬิกาสวิสในประเทศที่มีการคอรัปชั่นเกี่ยวอะไรกับค่า BMI ของคณะรัฐมนตรีหรือเปล่า สิ่งที่ผู้วิจัยพบคือ ปีไหนที่มียอดการนำเข้านาฬิกาสวิสสูง ค่า BMI ของครม.ในปีนั้นจะสูงตามไปด้วย

     สิ่งที่อยากชวนให้ขบคิดต่อคือ แล้วเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรในสังคมที่มีแต่การคอรัปชั่น คำตอบนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคกรีกแล้ว

 

จะเป็นอย่างไรถ้าเราใช้วิธีสุ่มเลือกในทางการเมือง

     เบรตต์ เฮนนิก นักเคลื่อนไหวและนักเขียน เจ้าของหนังสือ The End of Politicians: Time for a Real Democracy กล่าวไว้ใน TEDxDanubia หัวข้อ What if we replaced politicians with a randomly selected people?  ไว้ว่า ในสมัยนั้นชาวกรีกโบราณมองว่า การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือให้เกิดอภิสิทธิ์ชน อาชีพนักการเมืองเป็นอาชีพที่ควรเลี่ยง ชาวกรีกจึงใช้วิธีการสุ่มเลือกคนทั่วไปเข้ามาบริหารบ้านเมือง ถึงเวลาจะผ่านมาหลายพันปี แต่แนวคิดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในยุคนี้ หลายประเทศนำวิธีสุ่มเลือกมาใช้ในทางการเมือง ผสมผสานกับการเลือกตั้งแบบมีผู้แทนแบบที่เราใช้กันอยู่ แต่เป็นการเพิ่มบทบาทให้ประชาชนตัวจริงเสียงจริงได้เข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น

     แม้จะเป็นเรื่องยาก ณ ตอนนี้ ที่จะมีสภาที่มาจากการสุ่มเลือกแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ในหลายประเทศ แนวคิดเรื่องสภาประชาชนได้เกิดขึ้นบ้างแล้ว เช่น มูลนิธิประชาธิปไตยใหม่ในออสเตรเลีย องค์กรเจฟเฟอร์สันเซ็นเตอร์ในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีที่ไอร์แลนด์ อังกฤษ จีน (ถึงแม้จะยังดูเป็นสภาตรายางให้กับรัฐกลางในสิ่งที่รัฐบาลได้ตัดสินใจไว้แล้วก็ตาม) หากมันดูก้าวกระโดดจนเกินไปสำหรับประเทศที่ไม่เคยใช้แนวคิดนี้ในทางการเมืองมาก่อน เบรตบอกว่าจริงๆ แล้วมันอาจกำลังเกิดขึ้นอยู่แล้วโดยที่เราไม่รู้ตัวในที่โรงเรียน ที่ทำงาน หรือสถาบันต่างๆ ซึ่งเราสามารถทดลองในที่เหล่านี้ก่อนได้ หลังจากนั้นก็ลองขยายผลไปยังวุฒิสภา เป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลได้ทดลองด้วย เพราะไม่ว่าอย่างไร ท้ายที่สุดหากระบบที่ใช้อยู่ในประเทศนั้นๆ มาถึงภาวะล้มเหลวเกินเยียวยา ประชาชนก็จะเรียกร้องให้เปลี่ยนจากการเลือกตั้งมาเป็นการเอาประชาชนตัวจริงเข้าไปทำงานแทนอยู่ดี

     หนทางที่เราจะกอบกู้ระบอบประชาธิปไตยจากนักการเมืองที่มีค่า BMI สูงๆ กลับมาก็ยังคงมีอยู่เสมอ แม้อาจจะต้องใช้เวลาและพลังมากสักหน่อยก็ตาม

 

อ้างอิง

 

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS