โลกการศึกษาเดือนกันยายน สรุปให้รู้ ตามทัน

A A
Sep 30, 2021
Sep 30, 2021
A A

การศึกษาเดือนกันยายน สรุปให้รู้ ตามให้ทันความเคลื่อนไหว

 

    โลกการศึกษาเดือนกันยายนของเรายังไม่อาจหลุดพ้นจากการระบาดของโควิด-19 การศึกษาทั่วโลกยังคงออกมาตรการต่าง ๆ ให้สอดคล้องเพื่อรองรับการแก้ปัญหาการเรียนรู้และโควิดให้ไปได้พร้อม ๆ กัน

 

ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาทำให้ตระหนักถึงปัญหาด้านการศึกษาที่เราเผชิญในวิกฤตโควิด-19 นั่นก็คือ สุขภาพจิตใจของเด็ก ๆ ที่เจอกับความสูญเสีย ภาวะการเรียนรู้ถดถอย เด็กไม่อาจได้รับความรู้อย่างเต็มที่จากเรียนออนไลน์เพียงอย่างเดียว และปัญหาใหญ่อย่างการเปิดโรงเรียนอย่างไรไม่ให้เกิดการระบาดในรั้วโรงเรียน

 

ไทย 

     ย้อนกลับไปในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้มีการประกาศยกเลิกบังคับการสอบขั้นพื้นฐานแห่งชาติหรือ O-NET ในชั้นประถมศึกษา (ป.6)  และมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) โดยเปลี่ยนเป็นการสอบแบบสมัครใจหากต้องการวัดผลการเรียนรู้ที่ผ่านมาของตนเอง และคะแนน O-NET ไม่มีผลในใบจบการศึกษาเพื่อยื่นศึกษาต่อ ส่วนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) ยังคงต้องสอบและนำมาใช้ในใบจบการศึกษาที่สัดส่วน 70:30 แต่ด้วยสถานการณ์ที่ยังต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 และเรียนออนไลน์ ทำให้การเรียนไม่เต็มประสิทธิภาพมากนัก เด็กเกิดความเครียด ความเหลื่อมล้ำของเด็กที่เรียนกวดวิชาและไม่ได้เรียน ส่งผลต่อคะแนนการสอบ และประวัติของเด็กที่จบการศึกษาในช่วงการระบาดนี้  อีกทั้งยังมีผลต่อการยื่นคะแนนเพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ทำให้อธิบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้มีมติให้ยกเลิกการนำสัดส่วนคะแนน O-NET มาใช้ในการยื่นขอศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย (TCAS) ในปี 65 ซึ่งมีการประกาศในช่วงมิถุนายนที่ผ่าน จนเดือนกันยายนนี้ มีประกาศเห็นชอบจากทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ทำการยกเลิกการใช้คะแนนสอบ O-NET ในเด็กมัธยมศึกษาตอนปลาย ไม่จำเป็นต้องนำมาใส่ในใบจบการศึกษาอีกต่อไป และไม่มีผลต่อการยื่นศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาอีกด้วย แต่การสอบยังคงจัดเปิดลงทะเบียนในเดือนกันยายนสำหรับเด็กมัธยมตอนปลายที่สมัครใจจะสอบวัดผลโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการสอบ

 

สหราชอาณาจักร

     Child Bereavement UK องค์กรการกุศลซึ่งมุ่งเยียวยาเด็กที่ต้องเผชิญหน้ากับความสูญเสีย เปิดเผยผลการสำรวจเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยพบว่า 86% ของครูผู้ตอบแบบสอบถามต้องรับมือกับลูกศิษย์ที่สูญเสียเพราะโควิด-19 ถึง 75% ส่งผลให้เด็กตกอยู่ในความเศร้าและความเครียด และมีคุณครูหลายคนที่ไม่รู้จักวิธีในการช่วยเหลือเด็ก ๆ กลุ่มนี้ ทำให้ทางองค์กรเข้าร่วมมือกับคุณครูทั่วอังกฤษ ยื่นข้อเรียกร้องให้ภาครัฐและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง จัดคอร์สอบรมพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา โดยยื่นเรื่องขอให้ภาครัฐออกกฎข้อบังคับให้ครูทุกคนต้องเข้ารับการฝึกอบรมอย่างจริงจัง เนื่องจากโครงการอบรมของภาครัฐที่ผ่านมาในเรื่องนี้เป็นการให้เข้าอบรมตามความสมัครใจ ทำให้บุคลากรครูที่สามารถเข้าช่วยเหลือเด็ก ได้มีน้อยเกินไป แอนนา ลิซ กอร์ดอน (Anna Lise Gordon) ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการศึกษาในเซนต์แมริ กล่าวว่า หลังจากหยุดเรียนไปนาน โรงเรียนและครูให้ความสำคัญกับความรู้ด้านวิชาการ อย่างการอ่าน และการคิดคำนวณเป็นหลัก โดยไม่สนใจต่อสภาพจิตใจของเด็กมากนัก แต่การระบาดของโควิด-19ในครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และส่งผลต่อสภาพจิตใจของเด็ก ๆ โดยตรง Child Bereavement UK จึงมุ่งหวังว่าข้อเรียกร้องในการอบรมให้กับคุณครูทุกคนจะเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยให้เด็ก ๆ มีความพร้อมเรียนและรับความรู้ได้มากที่สุดหลังจากที่หยุดเรียนไปนานเพราะโควิด-19  

 

อินเดีย

     ข้อมูลจากกรมพัฒนาสตรีและเด็กอินเดีย พบว่า มีเด็กอินเดียเกือบ 5,500 คน ที่สูญเสียครอบครัวไปเพราะสถานการณ์โควิด-19 อีกทั้งยังพบรายงานการสำรวจในเบื้องต้นว่าหลายครัวเรือนมีสถานะทางเศรษฐกิจย่ำแย่ลง เพราะสูญเสียเสาหลักในครอบครัว ทำให้เกิดปัญหาเด็กกำพร้าที่หลุดออกจากระบบการศึกษาโดยเฉพาะเด็กที่เรียนอยู่ในโรงเรียนเอกชนเมื่อขาดเงินก็ต้องหยุดเรียน ทำให้กระทรวงศึกษาธิการอินเดียได้ออกมาตรการรองรับสถานการณ์ดังกล่าว โดยระบุให้เด็กที่ต้องกำพร้าด้วยการระบาดของโควิด-19 หรือกลุ่มที่เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ หรือเหตุไม่คาดฝันตั้งแต่ช่วงหลังมีนาคม ปี 2020 เป็นต้นมา มีสิทธิ์เรียนต่อในโรงเรียนเดิมได้ฟรีจนจบหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ อีกทั้งยังจัดโครงการให้เด็กกำพร้าเหล่านี้เป็นเด็กกลุ่มพิเศษที่ต้องได้รับการดูแลเท่าเทียบกับเด็กด้อยโอกาสและเด็กยากจน ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลได้มีการพิจารณาคืนเงินชดเชยส่วนหนึ่งให้กับเด็กกำพร้ากลุ่มนี้ และยังรับผิดชอบในการจ่ายค่าเลี้ยงดู ให้เงินช่วยเหลือ 2,500 รูปีต่อเดือน หรือราว 1,120 บาท จนเด็กอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์ 

 

ญี่ปุ่น

     ในช่วงปี 2020 ซึ่งเกิดการระบาดของโควิด-19 เด็กนักเรียนทั่วญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดตั้งแต่เคยมีมาจำนวน 499 ราย และในปี 2021 นี้ เฉพาะครึ่งปีแรก พบว่า ตัวเลขของเด็กฆ่าตัวตายยังคงเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว ซึ่งจากสถิติพบว่านักเรียนฆ่าตัวตายมากที่สุดคือช่วงเดือนสิงหาคม จำนวน 65 ราย ตามด้วยเดือนกันยายนที่ 55 ราย เนื่องจากความรู้สึกโดดเดี่ยวระหว่างการปิดโรงเรียนซึ่งกินเวลานานหลายเดือนเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 ทำให้โรงเรียนทั่วญี่ปุ่นเพิ่มมาตรการต่อต้านการฆ่าตัวตายและจัดการอบรมสุขภาพจิตรวมถึงมีการใช้แอปพลิเคชัน “weather of the heart” เช็กสุขภาพจิตของเด็กแต่ละคนทุกวันอีกทั้งยังมีระบบการส่งสัญญาณ SOS ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้หากอยู่ในภาวะที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อเฝ้าระวังปัญหาทางสภาพจิตใจที่ก่อให้เกิดการฆ่าตัวตายได้ แต่ถึงอย่างนั้น Tetsuro Noda ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Hyogo University of Teacher Education กล่าวว่า “แม้การอำนวยความสะดวกให้สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้นักเรียนสามารถส่ง SOS (ขอความช่วยเหลือ) ออกไปได้อย่างง่ายดาย แต่โรงเรียนจำเป็นต้องเตรียมระบบเพื่อตอบสนองต่อการโทรดังกล่าวอย่างรอบคอบ และรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องขยายความช่วยเหลือในโรงเรียนโดยการเพิ่มจำนวนครูและที่ปรึกษา” อีกด้วย

 

สิงคโปร์

     กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์พิจารณาเตรียมประเมินระบบการสอนและระบบการสอบภายในรั้วโรงเรียนใหม่โดยเน้นไปที่การพัฒนาทักษะชีวิต (Soft Skill) และทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการ เพื่อให้นักเรียนในสิงคโปร์สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปและเข้าใจความเป็นจริงของโลก เกิดมุมมองใหม่ ๆ ต่อการเรียนรู้และค้นพบศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมที่สนับสนุนให้เด็ก ๆ ได้ค้นหาตนเอง มีวิสัยทัศน์และพัฒนาศักยภาพนอกเหนือจากการสอบภายในโรงเรียน เพื่อส่งเสริมเด็ก ๆ เข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังต้องการพัฒนาศักยภาพครูให้มีความรู้ที่เปิดกว้างนอกเนื้อจากหลักสูตรที่เรียนทั่วไป ยังต้องรู้ในด้านของนวัตกรรม เทคโนโลยี และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ครูสามารถพูดคุยและแนะนำเด็ก ๆ รุ่นใหม่ได้ และยังไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับเด็กด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและโรงระบาดโดยในอนาคตจะมีแผนออกมาสนับสนุนกลุ่มเด็กเหล่านี้ต่อไป

 

สหรัฐอเมริกา

     ชวนส่องแนวทางการเปิดสถานศึกษาของโรงเรียนทั่วสหรัฐอเมริกา หลังจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องปิดโรงเรียนเป็นเวลานาน นักเรียนกว่า 55 ล้านคนไม่สามารถไปเรียนได้และต้องเรียนทางออนไลน์เพื่อความปลอดภัยแต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องเผชิญกับภาวะการถดถอยทางการเรียนรู้และเพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากว้างมากขึ้น ทำให้ภาครัฐต้องการเร่งดำเนินการให้สามารถเปิดโรงเรียนให้ได้ในปี 2021 นี้ หน่วยงานด้านสาธารณสุขและศูนย์ป้องกันและควบคุมโลกสหรัฐฯ (CDC) และผู้เชี่ยวชาญการศึกษาจากสถาบันบรู๊กกิงส์ (Brookings) จึงได้แนะปัจจัย 4 ข้อในการร่วมมือกันป้องกัน “คลัสเตอร์” ระลอกใหม่ในรั่วโรงเรียน

 

สรุปการศึกษาเดือนกันยายน

 

ปัจจัยข้อแรก

     โรงเรียนควรร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณสุขตรวจสอบอัตราการฉีดวัคซีนและสถิติการติดเชื้อโควิด-19 ในโรงเรียนและชุมชน รวบรวมข้อมูลไว้เป็นสถิติทั้งวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนอื่น ๆ ที่เด็ก ๆ จำเป็นต้องฉีด

 

ปัจจัยข้อที่สอง

     จำเป็นต้องบังคับเด็กให้สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ภายในรั้วโรงเรียน และมีการตรวจเชื้ออย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมและกักตัวผู้ติดเชื้อได้ทันที นอกจากนี้ยังสามารถคัดกรองเด็ก ผู้ปกครองที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนมาลงทะเบียนการเข้ารับวัคซีนได้อีกด้วย

 

ปัจจัยข้อที่สาม

     อำนวยความสะดวกให้โรงเรียนเป็นสถานที่ในการฉีดวัคซีนได้ เพราะยังมีผู้คนอีกมากโดยเฉพาะคนด้อยโอกาสที่ยังไม่ได้รับวัคซีน โดยให้โรงเรียนทำงานร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในการรณรงค์ให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน เจ้าหน้าที่ ผู้ปกครอง และคนในชุมชน ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างทั่วถึง รวมถึงวัคซีนพื้นฐานตัวอื่น ๆ เช่นบาดทะยัก หรือไข้หวัดใหญ่ที่เด็ก ๆ จำเป็นต้องฉีดอีกด้วย

 

ปัจจัยข้อที่สี่

     ถึงจะเปิดโรงเรียนแต่ยังจำเป็นที่จะต้องสำรองทางเลือกอย่างการเรียนทางไกลหรือเรียนออนไลน์เอาไว้ด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้กับเด็กที่ไม่พร้อมหรือไม่สามารถมาเรียนที่โรงเรียนได้ เช่น กลุ่มเปราะบางทางการแพทย์ ดังนั้นโรงเรียนควรมีการจัดการสอนให้ครบถ้วนและหลากหลายเพื่อรองรับเด็ก ๆ ทุกกลุ่มป้องกันปัญหาความเหลื่อมล้ำและเท่าเทียม

 

อ้างอิง:

 

 

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS