แค่ดูกีฬาอย่างเดียว แต่ไม่เล่น ได้ประโยชน์ขนาดไหน

A A
Dec 14, 2022
Dec 14, 2022
A A

แค่ดูกีฬาอย่างเดียว แต่ไม่เล่น ได้ประโยชน์ขนาดไหน

 

  • แม้การนั่งดูกีฬาจะไม่ได้ทำให้เราได้ใช้พลังงานมากเท่าการเล่น แต่งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า แค่ดูกีฬาอย่างเดียวก็ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไม่น่าเชื่อ
  • การดูกีฬาทั้งวันยังไม่สามารถทดแทนการออกกำลังกายได้ แต่ก็มีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าการดูซีรีส์ทั้งวัน ถ้าเราเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายไม่ได้ การได้ดูกีฬาสักหน่อยก็ยังนับว่าเป็นเรื่องดี
  • นักกีฬาที่ดูกีฬาทางทีวีมีโอกาสพัฒนาความสามารถของตนเองได้มากกว่า และช่วงเวลาที่ดูก็มีผลอย่างมากต่อการพัฒนาศักยภาพ
  • การดูกีฬาไม่เพียงแต่จะให้ความสนุก ตื่นเต้น เร้าใจเท่านั้น หากเราตั้งใจฟังผู้บรรยายตลอดการแข่งขัน เรายังได้สาระเชิงลึกอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล เรื่องราวหรือเกร็ดความรู้ รวมถึงได้ฝึกฝนทักษะต่าง ๆ แบบไม่รู้ตัว

 

     คุณมีกีฬาที่ชื่นชอบบ้างหรือเปล่า หลายคนอาจพยักหน้าหงึกหงัก แล้วตอบว่า ฟุตบอล กอล์ฟหรือบาสเกตบอล แต่ถ้าถามว่า ชอบในฐานะไหน เป็นคนเล่นหรือคนดู คำตอบที่ได้อาจเอียงไปทางเป็นคนดูมากกว่า ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม การดูกีฬากลายเป็นหนึ่งในกิจกรรมยอดฮิตของคนทั่วโลก แม้การนั่งดูกีฬาจะไม่ได้ทำให้เราได้ใช้พลังงานมากเท่าการเล่น แต่งานวิจัยหลายชิ้นก็พบว่า แค่ดูกีฬาอย่างเดียวก็ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไม่น่าเชื่อ แถมยังได้ความรู้และทักษะอีกหลายอย่างจนน่าเอามาขบคิดกันต่อว่า แบบนี้ดูอย่างเดียวไม่เล่นได้ไหม หรือถ้าไม่ใช่คนดูกีฬามาก่อน ถึงเวลาที่ควรจะเริ่มหัดดูได้แล้วหรือยัง

 

ดูกีฬาได้ประโยชน์อะไรบ้าง

 

1. สร้างแรงจูงใจในการออกกำลังกาย และส่งผลดีต่ออารมณ์

     เคยไหมที่เราดูนักกีฬาเก่ง ๆ แล้วจู่ ๆ ก็อยากลองเล่นกีฬานั้นขึ้นมา การศึกษาในเบื้องต้นหลายชิ้นพบว่า บางคนมีแรงจูงใจในการออกกำลังกายมากขึ้นหลังได้ดูเกมการแข่งขันที่ยอดเยี่ยม การสำรวจชิ้นหนึ่งในปี 2019 ได้ติดตามแฟน ๆ ที่เข้าดูการแข่งขันกอล์ฟพบว่า 40% ของผู้ตอบแบบสำรวจออกกำลังกายมากขึ้นหลังจากดูนักกีฬามืออาชีพพัตต์กอล์ฟ และยังคงออกกำลังกายมากขึ้นอย่างนี้ไปอีกหลายเดือน ตามมาด้วยการศึกษาอีกชิ้นที่พบว่า วัยรุ่นและคนหนุ่มสาวที่ดูกีฬาจะมีการเคลื่อนไหวทางร่างกายมากกว่าคนที่ไม่ใช่แฟนกีฬา 

 

     นักข่าว Larry Olmsted ผู้เขียนหนังสือ Fans: How Watching Sports makes Us Happier, Healthier, and More Understanding เล่าว่า เขาเริ่มออกกำลังกายเพราะเพื่อนคนหนึ่งที่ได้แรงบันดาลใจจากจากการดู Boston Marathon เมื่อ 25 ปีก่อน เธอแนะนำให้เขาเริ่มวิ่ง ซึ่งเขาไม่เคยทำมาก่อน รู้ตัวอีกทีเขาก็วิ่งมาราธอนมาแล้วหลายรายการ ลงแข่งอัลตร้ามา 2-3 รายการ แข่งฮาล์ฟมาราธอนมาแล้วหลายครั้ง แถมยัง

     วิ่งตอนเช้า 4-6 วันต่อสัปดาห์ ทั้งหมดเป็นเพราะเพื่อนของเขาดูการแข่งขันทางทีวีวันนั้น

 

 

การดูกีฬาวิ่ง

 

 

2. ดีต่อสุขภาพจิต

     การศึกษาในสหราชอาณาจักรผ่านการสำรวจกลุ่มแฟนกีฬาจำนวน 2,000 คน ทาง OnePoll พบว่า การเชียร์ทีมโปรดสร้างแรงจูงใจให้เราในการตื่นนอน และช่วยให้กระตือรือร้นมากยิ่งขึ้น โดยแฟน ๆ กลุ่มผู้ชาย 51% และผู้หญิง 46% เชื่อว่า การเชียร์ทีมโปรดนั้นดีต่อสุขภาพจิตของพวกเขา เห็นได้ชัดเจนในแง่ของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หนึ่งในสองคนกล่าวว่า การดูการแข่งขันกีฬาช่วยให้พวกเขาเข้ากับครอบครัวและเพื่อนฝูงได้มากขึ้น 35% บอกว่า รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน 34% บอกว่า การดูการแข่งขันกีฬาช่วยให้ความกระตือรือร้นมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้หญิง 1 ใน 5 ดูกีฬาขณะออกกำลังกายที่บ้านหรือที่ฟิตเนส

3. สร้าง Self-Esteem ได้
     หากเราเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าตัวเองกำลังมี Self-Esteem ต่ำ การดูกีฬาจะช่วยเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะข้อมูลจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตตพบว่า หากทีมโปรดชนะการแข่งขัน เราจะมี Self-Esteem สูงขึ้น และมีความสุขอย่างน้อย 2 วันเต็ม ๆ และต่อให้ทีมโปรดของเราจะแพ้ แต่การได้เชียร์กีฬากับเพื่อน ๆ หรือรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้อื่นขณะดูกีฬาก็ยังช่วยให้เรามี Self-Esteem ที่เพิ่มขึ้น และยังคงมีความสุขได้อยู่

อีกประเด็นที่น่าสนใจซึ่งมีผลกับระดับ Self-Esteem ของคนเรา คือ คนที่ดูกีฬาคนเดียวจะมี Self-Esteem ที่น้อยกว่าอย่างมีนัย ส่วนคนที่ไม่ดูกีฬาเลยจะมี Self-Esteem ที่น้อยลง เพราะอาจไม่สามารถร่วมวงสนทนากับผู้อื่นได้

4. ได้หลีกหนีความจริงชั่วขณะ
     แม้ว่าการเปิดทีวีเพื่อดูกีฬาจะช่วยให้เราคลายเครียดได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ยิ่งเราได้เดินทางไปดูการแข่งกีฬาไกลมากเท่าไร เราจะยิ่งได้หลีกหนีจากความเป็นจริงมากขึ้นเท่านั้น Dr. Michael Brein นักจิตวิทยาจาก WebMD อธิบายไว้ว่า การเดินทางจะสร้างความภาคภูมิใจและความมั่นใจในตนเอง ทำให้เราอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น

     นอกจากนี้ยังพบว่า พฤติกรรมการระบายอารมณ์ที่เราแสดงออกตอนเชียร์กีฬา เช่น ตะโกนใส่ทีวีเมื่อทีมโปรดเล่นได้ไม่ดี ถือเป็นพฤติกรรมที่มีประโยชน์อย่างหลายอย่าง ช่วยให้เราได้ฝึกฝนการสื่อสารระดับสูง ซึ่งเป็นการส่งเสริมความเข้าใจในตนเอง คนที่เป็นแฟนกีฬาตัวยงยังสามารถแก้ไขความขัดแย้ง รักษาความสัมพันธ์ ปล่อยวางความเครียด และเตรียมจิตใจให้พร้อมสำหรับเหตุการณ์ในชีวิตที่ไม่อาจคาดคิดได้ดีกว่าคนทั่วไปอีกด้วย

 

 

 

การดูกีฬาฟุตบอล

 

 

5. ช่วยกระตุ้นสมอง

     Luzette Borelli จาก Medical Daily อธิบายว่า การดูกีฬาคล้าย ๆ กับเอาตัวเองไปเป็นนักกีฬา เราจะใช้เซลล์สมองกระจกเงาที่อยู่ในซีกขวาของสมอง ซึ่งเป็นเซลล์ที่สามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การตอบสนองต่อการมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น และการสัมผัส เป็นต้น การกระตุ้นสารสื่อประสาทเหล่านี้ทำให้คนดูกีฬาสร้างฮอร์โมนที่คล้ายคลึงกัน เช่น โดปามีนที่ช่วยให้รู้สึกดี ซึ่งช่วยในการควบคุมอารมณ์ เมื่อการดูกีฬากระตุ้นสมองได้ นี่จึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมเราถึงเสพติดมัน และต้องกลับมาหาความตื่นเต้นนี้อยู่เรื่อย ๆ 

 

การดูกีฬาทดแทนการออกกำลังกายได้ไหม

     นอกจากประโยชน์มากมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การดูกีฬายังกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติกได้อีกด้วย การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Autonomic Neuroscience พบว่า คนที่ดูกีฬาจะมีการไหลเวียนของเลือด การหายใจ การหลั่งเหงื่อ และอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การศึกษาอีกชิ้นจากมหาวิทยาลัยมอนทรีออลพบว่า การดูกีฬาช่วยเพิ่มความดันโลหิตได้ ขณะเดียวกันมันก็เพิ่มความเสี่ยงของอาการหัวใจวายได้เป็น 2 เท่า นักวิจัยพบว่า การดูฮ็อกกี้น้ำแข็งช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจได้อย่างมาก คนที่ดูทางทีวีจะมีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 75% ในขณะที่คนดูสดในสนามจะหัวใจเต้นเพิ่มขึ้น 110% เทียบเท่ากับการออกกำลังกายระดับปานกลางและหนักตามลำดับ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้อาจมีข้อจำกัดเฉพาะคนที่ดูฮ็อกกี้น้ำแข็งเท่านั้น เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นว่า กีฬาชนิดนี้น่าตื่นเต้น แม้ว่าการดูกีฬาทั้งวันจะยังไม่สามารถทดแทนการออกกำลังกายได้ แต่มันก็มีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าการดูซีรีส์ทั้งวัน ถ้าเราเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายไม่ได้ การได้ดูกีฬาสักหน่อยก็ยังนับว่าเป็นเรื่องดี

 

การดูกีฬาทำให้นักกีฬาเก่งขึ้นได้หรือไม่

     แฟนกีฬาน่าจะรู้กันดีว่า การดูวิดีโอการเล่นของคู่แข่งถือเป็นส่วนสำคัญของการฝึกซ้อมกีฬา ผู้ฝึกสอนถือว่า การดูกีฬาเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมนอกสนามของนักกีฬาทุกคน Dr. JoAnn Dahlkoetter นักจิตวิทยาการกีฬาและผู้เขียนหนังสือ Your Performance กล่าวว่า นักกีฬาที่ดูกีฬาทางทีวีมีโอกาสในการพัฒนาความสามารถของตนเองได้มากกว่า อย่างไรก็ตาม เคล็ดลับสำคัญไม่ได้อยู่ที่การดูกีฬาอย่างเดียว แต่ช่วงเวลาที่ดูก็มีผลอย่างมากต่อการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬา เธอแนะนำให้ดู 5-10 นาทีก่อนนอน เพราะเรามีแนวโน้มที่จะฝันถึงเรื่องนั้น และยังทำให้ระบบประสาทเชื่อมโยงกันอีกด้วย

 

     การจินตนาการถึงการเล่นกีฬาก็เหมือนเป็นการซ้อมในใจ มันจะช่วยกระตุ้นเยื่อหุ้มสมองส่วนหน้า ซึ่งไม่เพียงแต่กระตุ้นอะดรีนาลีน และเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจเท่านั้น แต่ยังเป็นการเตรียมสมองให้พร้อมสำหรับการเล่นกีฬาในอนาคตอีกด้วย 

 

ทักษะและความรู้ที่เราได้จากการดูกีฬา

     การดูกีฬาไม่เพียงแต่จะให้ความสนุก ตื่นเต้น เร้าใจเท่านั้น หากเราตั้งใจฟังผู้บรรยายตลอดการแข่งขัน เรายังได้สาระเชิงลึกอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล เรื่องราวหรือเกร็ดความรู้ รวมถึงได้ฝึกฝนทักษะต่าง ๆ แบบไม่รู้ตัว

 

1. การประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน

การดูกีฬาให้สนุกและทันเกมจะเต็มไปด้วยตัวเลขมากมาย ทั้งแต้ม คะแนน การถูกลงโทษ ฯลฯ ที่สนุกกว่า

แบบฝึกหัดคณิตศาสตร์ในชั้นเรียนหลายเท่า การดูฟุตบอล 3 ชั่วโมงก็คล้าย ๆ กับการเรียนคณิตศาสตร์แบบเข้มข้นที่นักเรียนมีส่วนร่วมได้มากกว่าโจทย์ที่ถามว่า สกายมีแอปเปิล 3 ลูก แม่ให้เพิ่มอีก 7 ลูก สกายมีแอปเปิลทั้งหมดกี่ลูก

 

2. เรียนรู้ที่จะยอมรับความแตกต่าง

เป็นเรื่องปกติที่เราอาจเชียร์คนละทีมกับเพื่อน การยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล รวมถึงมุมมองที่ตรงกันข้ามเป็นหนึ่งในทักษะการอยู่รอดของผู้ใหญ่ การดูกีฬาจึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เรียนรู้ว่า ไม่เป็นไรเลยที่เราจะเชียร์คนละทีมกัน

 

3. พัฒนาความฉลาดทางสังคม

     การเพนต์หน้าเป็นสีธงชาติ สวมหมวกรูปทรงแปลก ๆ หรือร้องเพลงเชียร์ทีมโปรดในสนามการแข่งขันเป็นพฤติกรรมที่สร้างสายสัมพันธ์ให้บรรดาแฟนกีฬา การเข้าใจและเคารพแบบแผนทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในสถานการณ์ต่าง ๆ คือหัวใจของการพัฒนาความฉลาดทางสังคม

 

4. ภูมิศาสตร์

     เกม การแข่งขันและทัวร์นาเมนต์ต่าง ๆ จะถ่ายทอดออกอากาศไปทั่วทุกมุมโลก หลายงานจัดขึ้นในประเทศหรือเมืองที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน กีฬาทำให้เรารู้จักกับสถานที่เหล่านี้ รวมถึงข้อมูลอันน่าสนใจที่เกี่ยวข้อง และยังสามารถค้นหาเพื่อศึกษาเพิ่มเติมต่อได้บนแผนที่หรือ Google Earth 

 

5. ประวัติศาสตร์

     ผู้ประกาศข่าวกีฬาและผู้บรรยาย คือ แหล่งข้อมูลชั้นดีสำหรับแฟนกีฬา เราได้รู้สถิติต่าง ๆ ตำนาน การเมืองของแต่ละทีม รวมถึงข้อมูลเชิงลึกของสถานที่จัดงาน ประเทศที่จัด และประวัติการแข่งขันนั้น ๆ ผู้ประกาศข่าวกีฬาและผู้บรรยายที่รอบรู้ย่อมน่าสนใจกว่าการอ่านเอาตามหน้าเว็บไซต์หรือหนังสือเรียนอย่างแน่นอน

 

     ไม่น่าเชื่อว่า แค่ดูกีฬาอย่างเดียวยังได้ประโยชน์เยอะขนาดนี้ แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นทีมไหนระหว่างคนชอบเล่นหรือคนชอบดู งานวิจัยทั้งหมดนี้อาจมีส่วนให้คุณหันมาดูกีฬา แล้วสนุกไปกับการเชียร์ทีมโปรดกับเพื่อน ๆ มากขึ้น หากคุณเป็นคนที่ชื่นชอบการเล่นกีฬาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หรือหากคุณเป็นคอกีฬาที่รู้ข้อมูลและเทคนิคต่าง ๆ ดีอยู่แล้ว คุณอาจจะอยากจะพัฒนาร่างกายให้แข็งแกร่งขึ้นอีกด้วยการหันมาลองเล่นกีฬาดูสักชนิด

อ้างอิง

https://www.psychologytoday.com/intl/blog/research-notes/201702/why-watching-sports-can-be-educational

https://blog.vidgo.com/2022/06/02/experts-say-watching-sports-is-good-for-you/

https://www.weightwatchers.com/us/blog/fitness/health-benefits-watching-sports

https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2017/oct/16/is-watching-sport-as-good-as-playing-it

https://malaysia.news.yahoo.com/research-says-watching-sports-good-120041297.html?guccounter=1&guce_referrer=aHR0cHM6Ly93d3cuZ29vZ2xlLmNvbS8&guce_referrer_sig=AQAAALzC0Uf6dX7N5tpeVzR2JIpeHiTR9jyLYiQiNkb0yeo2XrBG2mELisxzGyr5NIGX8okan2cLhGZvFrHz672ygeEvxgpJEc3mrRhTaIOSK5qFtAMijxsR7BWRlCxXIORxwtUdN3r_ER1aL3nE36aDx3sYMfUf3bhtTjbvocGGQPL8

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS