พลาสติก คือ ฮีโร่หรือวายร้าย

A A
Nov 14, 2022
Nov 14, 2022
A A

พลาสติก คือ ฮีโร่หรือวายร้าย

 

     พลาสติกอยู่รอบตัวเราเต็มไปหมด ราคาก็แสนถูก จนหลายครั้งเราไม่เห็นคุณค่า ใช้แล้วทิ้งอย่างง่ายดาย แต่รู้ไหมครับว่ากว่าโลกจะค้นพบวัสดุมหัศจรรย์ชนิดนี้ไม่ง่าย และพลาสติกยังเคยเป็นฮีโร่ปกป้องสิ่งแวดล้อมมาก่อน ในบทความนี้เราจะไปรู้จักที่มาที่ไปของวัสดุสารพัดประโยชน์ที่ดัดงอได้ด้วยความร้อนชนิดนี้กัน เผื่อเราจะเห็นคุณค่าของมันมากขึ้น

     ก่อนอื่นผมมีคำถามครับ รู้ไหมว่าสมัยก่อนคีย์เปียโนและลูกบิลเลียดทำจากอะไร?

คำตอบคือ งาช้าง!

 

[พลาสติกช่วยช้าง]

 

     ในธรรมชาติก็มีพลาสติกครับ ที่ทุกคนรู้จักกันดีก็อย่างเช่น งาช้าง เขาสัตว์ กระดองเต่า ยางต้นไม้ อัมพัน และเชลแล็ก (ครั่ง) ซึ่งจนถึง 160 ปีที่แล้ว เราต้องพึ่งพาพลาสติกธรรมชาติพวกนี้มาผลิตข้าวของ อย่าง หวี ช้อนส้อม เครื่องประดับ หรือ ไม้เท้า (ใครอยากเห็นการงอเขาสัตว์ด้วยความร้อนเพื่อทำหัวไม้เท้าดูได้ที่ [1])

     ลูกบิลเลียดและคีย์เปียโนในสมัยก่อนทำจากงาช้าง ความที่บิลเลียดได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและงาช้างก็หาได้ยาก ทำให้ลูกบิลเลียดมีราคาแพง และเกิดความกังวลว่าจะหางาช้างมาผลิตได้ไม่เพียงพอ (งาหนึ่งงาทำลูกบิลเลียดได้ประมาณ 5 ลูก) บริษัท Phelan & Collender ผู้ผลิตโต๊ะบิลเลียดรายใหญ่เลยเสนอเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่าประมาณ 300,000 ดอลลาร์ในปัจจุบัน) ให้ผู้ที่คิดค้นวัสดุทดแทนได้

 

 

Plastic1

ชื่อภาพ : ลูกบิลเลียดจากช้าง 2,000 ตัว
ภาพจาก https://americanhistory.si.edu/collections/search/object/nmah_1065504

 

 

     นั่นเป็นจุดที่ทำให้ในปี 1868 จอห์น เวสลี ไฮแอท (John Wesley Hyatt) คิดค้นเซลลูลอยด์ (celluloid) พลาสติกกึ่งสังเคราะห์ที่ได้จากการผสมไนโตรเซลลูโลส (nitrocellulose) กับการบูร (camphor) ซึ่งนอกจากจะเอาไปใช้ทำลูกบิลเลียดแล้ว ยังเอาไปทำข้าวของอย่างอื่นได้หลากหลาย เช่น หวี และ แว่นกันแดด แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เอาไปทำฟิล์ม ซึ่งทำให้วงการภาพยนตร์พัฒนารุดหน้า หนังที่ถ่ายทำจนถึงช่วงต้นๆ ศตวรรษที่ 20 ล้วนใช้ฟิล์มเซลลูลอยด์ทั้งนั้น (สุดท้ายเหมือนว่าไฮแอทจะไม่ได้เงินรางวัลไป)

     เซลลูลอยด์มีข้อเสีย คือ ติดไฟง่าย พวกฟิล์มหนังเก่า ๆ ส่วนใหญ่เลยไม่หลงเหลืออยู่ ส่วนลูกบิลเลียดที่ทำจากเซลลูลอยด์ พอกระแทกกันแรง ๆ บางครั้งก็จะระเบิดตู้ม! ทำให้ทุกคนในห้องควักปืนออกมาแบบพร้อมเพรียง (สำหรับใครที่สงสัยว่าตอนนี้ลูกบิลเลียดผลิตจากอะไร คำตอบคือ เรซิน ก็พลาสติกอีกอย่างนั่นแหละ)

     แต่ถึงจะประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เซลลูลอยด์ที่ไฮแอทคิดค้นก็ยังไม่ใช่พลาสติกกึ่งสังเคราะห์ตัวแรกในโลกนะครับ เพราะก่อนหน้านั้นในปี 1862 อเล็กซานเดอร์ พาร์คส์ (Alexander Parkes) ได้คิดค้นพาร์เคซีน (Parkesine) พลาสติกกึ่งสังเคราะห์ที่ทำจากเส้นใยพืชและกรดไนตริกได้ก่อน และแม้จะระดมทุนไปได้เป็นจำนวนมาก แต่เขาก็ไม่ประสบความสำเร็จเชิงธุรกิจ เพราะพาร์เคซีนมีราคาค่อนข้างแพงและสูตรของมันก็ยังมีข้อบกพร่องทำให้แตกและติดไฟง่าย

     ถึงตรงนี้โลกก็มีพลาสติกกึ่งสังเคราะห์ที่ผลิตจากวัสดุจากธรรมชาติบางส่วนใช้อย่างแพร่หลาย

 

[ทดแทนเชลแล็ก]

     กว่าโลกจะผลิตพลาสติกจากสารสังเคราะห์ทั้งหมด ก็ต้องรอถึงปี 1907 ตอนที่ ลีโอ เบคแลนด์ (Leo Baekeland) ผู้ใช้คำว่า “พลาสติก” เป็นคนแรก คิดค้นของที่จะมาทดแทนเชลแล็กที่กำลังขาดแคลน ต้องเล่าให้ฟังก่อนครับว่าเชลแล็กนั้นทำจาก “ครั่ง” ซึ่งเป็นยางธรมมชาติที่แมลงครั่งตัวเมีย (lac bug) ขับออกมา มีมากในไทยและอินเดีย ซึ่งนอกจากจะเอามาทาผิวไม้ให้เงางามแล้ว เชลแล็กยังมีคุณสมบัติเป็นฉนวนที่ยอดเยี่ยม ดังนั้นเลยถูกเอาไปใช้เคลือบสายไฟและใช้ในอุปกรณ์ไฟฟ้าที่กำลังบูมในตอนนั้น (เกล็ดน่ารู้ – ทุกคนคงเคยกินเชลแล็กโดยไม่รู้ตัว เพราะทุกวันนี้เชลแล็กถูกใช้เคลือบผิวขนม ลูกอม หรือ ยาเม็ดบางชนิด)

 

Plastic2

ชื่อภาพ : ครั่ง (Shellac)
ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Shellac

 

          เบคแลนด์ตั้งชื่อพลาสติกของเขาอย่างถ่อมเนื้อถ่อมตนว่า เบคิไลต์ (Bakelite) ซึ่งนอกจากจะเอาไปใช้เป็นฉนวนได้ตามตั้งใจแล้ว ยังเอาไปใช้ผลิตข้าวข้องเครื่องใช้ได้อีกหลากหลาย อย่างเช่น โทรศัพท์ กล้องถ่ายรูป หรือ วิทยุ

 

 

Plastic3

ชื่อภาพ : โทรศัพท์ที่ทำจากเบคิไลต์ในทศวรรษ 1930
ภาพจาก: https://www.sciencemuseum.org.uk/objects-and-stories/chemistry/age-plastic-parkesine-pollution

  

     ตั้งแต่นั้นมาบริษัทต่าง ๆ ก็ได้คิดค้นพลาสติกชนิดใหม่ ๆ ที่มีลักษณะและประโยชน์ใช้งานแตกต่างกันออกมาเรื่อย ๆ อย่างเช่น พอ DuPont คิดไนลอน (Nylon) ได้ในช่วงทศวรรษ 1930 ถุงน่องไนลอนที่ผลิตออกมาก็กลายเป็นไฮป์ของสาว ๆ ยุคนั้นทันที โดยขายไปได้มากกว่า 4 ล้านคู่ ภายใน 4 วัน!

 

 

Plastic4

ชื่อภาพ :การมาของถุงน่องไนลอนในปี 1938
ภาพจาก: https://glamourdaze.com/2009/09/1930s-fashion-invention-of-nylon.html

 

 

พลาสติกที่มีราคาถูกและใช้ผลิตข้าวของเครื่องใช้ได้หลากหลายช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก ลองคิดดูว่าถ้าทุกอย่างต้องทำจากแค่ ไม้ โลหะ หรือ แก้ว โลกเราคงมีคนรวยเพียงหยิบมือที่มีข้าวของเครื่องใช้ครบครัน

 

[พลาสติกใช้ครั้งเดียว]

แม่ผมเล่าให้ฟังว่า มุกตลกสมัยแม่เด็ก ๆ ที่เล่นกับลุงร้านโอเลี้ยงคือ “ขอโอเลี้ยงหนึ่งถุง” 

เอาล่ะ ถ้าใครไม่เก็ต ก็น่าจะเป็นเพราะคุณคุ้นเคยกับพลาสติกมากเกินไปเสียแล้ว ถุงพลาสติกเพิ่งถูกคิดได้เมื่อปี 1959 ก่อนหน้านั้นการใส่ของเหลวในถุง (กระดาษ) ดูเหมือนเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ (แต่สำหรับคนที่อายุใกล้เคียงกับผม ตอนนี้คุณอาจกำลังเห็นภาพถุงพลาสติกที่มัดหนังสติ๊กสีแดงเป็นห่วงหิ้วข้างหนึ่ง และมีหลอดปักไว้อีกข้าง)

ถ้าไปถาม เสตียน กุสตาฟ ธูลิน (Sten Gustaf Thulin) ผู้คิดค้นถุงพลาสติกว่าจุดประสงค์ของสิ่งประดิษฐ์ของเขาคืออะไร คำตอบคือ เพื่อลดการใช้ถุงกระดาษ ที่ก่อให้เกิดปัญหาตัดไม้ทำลายป่า เพราะนอกจากถุงพลาสติกของเขาจะเหนียว ทนทาน รับน้ำหนักได้มากแล้ว ยังเอากลับมาใช้ใหม่ได้อีกหลายครั้ง

โชคร้ายที่ความตั้งใจของเขาสำเร็จแค่ครึ่งเดียว เพราะแม้ว่าการใช้ถุงกระดาษจะลดลง แต่ถุงพลาสติกมักไม่ได้ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ กลายเป็นสร้างปัญหาขยะแทน

เรื่องของขวดพลาสติกก็ทำนองเดียวกัน ขวดพลาสติกทั้งเบา ทั้งทน ตกก็ไม่แตก และนำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง ปัญหาก็คือ เราใช้กันครั้งเดียวทิ้ง

พอรู้ที่มาที่ไปอย่างนี้แล้ว เรามาใช้พลาสติกตามเจตจำนงเดิมของผู้คิดค้น คือ ลดการใช้ (Reduce) ใช้ซ้ำให้มากที่สุด (Reuse) และ ถ้าจำเป็นต้องทิ้งก็รีไซเคิล (Recycle) ตามแนวทาง 3 ‘R’s กันเถอะ

 

บทความโดย : พรพุฒิ สุริยะมงคล

 

 

อ้างอิง:

[1] https://www.youtube.com/watch?v=IAxCsA19xLQ

[2] https://www.youtube.com/watch?v=7xU0gmsTYqE&t=2s

[3] https://www.thoughtco.com/history-of-plastics-1992322

[4] https://www.sciencemuseum.org.uk/objects-and-stories/chemistry/age-plastic-parkesine-pollution

[5] https://en.wikipedia.org/wiki/Shellac

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS