“รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี”
วาทกรรมธรรมดาหรือแค่คำบังหน้าของความรุนแรง
- “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” หรือ “ไม้เรียวสร้างคน” ดูจะเป็นคำสอนที่ถูกปลูกฝังในการสร้างคนไม่ว่าจากสถาบันครอบครัว หรือสถาบันการศึกษาในการสร้างคน
- สาเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว และสังคมไทยอาจเกิดจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่ไม่พึงประสงค์หรือที่เรียกว่า ACE ย่อมาจาก Adverse Childhood Experiences คือคนที่มีประสบการณ์วัยเด็กที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดเมื่อยังเด็กก่อนที่จะอายุครบ 18 ปี ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้จะส่งผลต่อสุขภาพ โอกาส และพฤติกรรมตลอดช่วงชีวิต
- ACE เป็นเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจที่อาจเกิดขึ้นในวัยเด็กตั้งแต่ 0- 17 ปีเช่น ประสบกับความรุนแรง การล่วงละเมิด หรือการละเลย เห็นความรุนแรงในบ้านหรือในชุมชน สภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กรู้สึกไม่มั่นคง ความเครียดอาจส่งผลเสียต่อการพัฒนาสมองของเด็ก ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบตอบสนองต่อความเครียด การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลต่อความสนใจ การตัดสินใจ และการเรียนรู้ของเด็ก
“รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” หรือ “ไม้เรียวสร้างคน” ดูจะเป็นคำสอนที่ถูกปลูกฝังในการสร้างคนไม่ว่าจากสถาบันครอบครัว หรือสถาบันการศึกษา การอยากให้เด็ก ๆ เป็นคนดี หรือมีวินัย การใช้ความรุนแรงนั้นสร้างคนได้จริงหรือ จากสถิติศูนย์พึ่งได้กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2547 – 2561 พบเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงที่มารับบริการ121,860 ราย ซึ่งการกระทำที่เด็ก ๆ ได้รับในวัยเด็กนี้เองย่อมส่งผลต่ออนาคตต่องสังคมนั้น ๆ เมื่อพวกเขาเติบโตไป จากงานวิจัยพบว่าความเครียดในร่างกาย และสมองที่มากเกินไปหรือเป็นเวลานาน ความเครียดที่เป็นพิษดังกล่าวอาจส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ พฤติกรรม และสุขภาพไปตลอดอายุขัย
ACE เปรียบเสมือนมรดกตกทอดทางความรุนแรงจากรุ่นสู่รุ่น
สาเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว และสังคมไทยอาจเกิดจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่ไม่พึงประสงค์หรือที่เรียกว่าACE ย่อมาจาก Adverse Childhood Experiences คือคนที่มีประสบการณ์วัยเด็กที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดเมื่อยังเด็กก่อนที่จะอายุครบ 18 ปี ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้จะส่งผลต่อสุขภาพ โอกาส และพฤติกรรมตลอดช่วงชีวิต เด็กที่ต้องโตมากับความเครียดส่งผลให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาด้านการเงิน การงาน และภาวะซึมเศร้าตลอดชีวิต ซึ่งอาจส่งผลต่อไปยังลูก ๆ ของพวกเขาเอง
ACE เป็นเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจที่อาจเกิดขึ้นในวัยเด็กตั้งแต่ 0- 17 ปีเช่น ประสบกับความรุนแรง การล่วงละเมิด หรือการละเลย เห็นความรุนแรงในบ้านหรือในชุมชน สภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กรู้สึกไม่มั่นคง ความเครียดอาจส่งผลเสียต่อการพัฒนาสมองของเด็ก ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบตอบสนองต่อความเครียด การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลต่อความสนใจ การตัดสินใจ และการเรียนรู้ของเด็กจนมีปัญหาเรื่องยาเสพติด มีปัญหาเรื่องการศึกษาหรือเลยไปจนถึงเรื่อง การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม การค้ามนุษย์ โรคเรื้อรังที่หลากหลายและสาเหตุ เช่น มะเร็ง เบาหวาน โรคหัวใจ และการฆ่าตัวตาย
ประสบการณ์ในวัยเด็กหรือ ACE ที่ไม่พึงประสงค์ 10 อย่างที่มีผลกระทบต่อการเติบโตมีอะไรบ้าง
- การล่วงละเมิดทางร่างกาย การทารุณกรรมทางร่างกายไม่ใช่โดยอุบัติเหตุ เช่นการตี ต่อย เตะ
- การล่วงละเมิดทางเพศ คือพฤติกรรมในการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็ก และการใช้เด็กในการค้าประเวณี
- การล่วงละเมิดทางอารมณ์ เป็นพฤติกรรมที่รบกวนสุขภาพจิตของเด็ก ทั้งละเมิดทางวาจา และทางจิตใจ
- การละเลยทางกายภาพ คือการล้มเหลวในการจัดหาสิ่งจำเป็นพื้นฐานของเด็ก รวมถึงอาหาร เสื้อผ้า ที่พักพิง หรือการรักษาพยาบาล รวมถึงการดูแลในการให้ความอบอุ่นทางกายภาพ
- การละเลยทางอารมณ์ คือความล้มเหลวในการตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ของเด็ก รวมถึงการไม่ให้การสนับสนุนทางสังคมหรือการรักษาสุขภาพจิตที่ดี
- การอาศัยอยู่ร่วมกับญาติที่มีปัญหาสุขภาพจิตอาจมีผลกระทบอย่างมากต่อเด็ก ทำให้ล้มเหลวในการสร้างแบบจำลองพฤติกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็ก
- พ่อแม่ที่ถูกจำคุก อาจทำให้เด็กอาจมีบาดแผลหรือความรู้สึกถูกทอดทิ้ง
- แม่ถูกกระทำด้วยความรุนแรง แม่ถือเป็นต้นแบบของลูก การได้เห็นแม่เจ็บปวดโดยเฉพาะจากคนที่เรารักทำร้าย ถือเรื่องที่สะเทือนใจอย่างมาก
- การใช้สารเสพติด นำไปสู่สภาวะที่ไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กได้หลายอย่าง ซึ่งอาจมีการล่วงละเมิด และส่งผลต่อความรุนแรงในครอบครัว
- การหย่า การหย่าร้างอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อเด็ก เกี่ยวกับปัญหาความสัมพันธ์ เด็กบางคนรู้สึกว่าตนเป็นสาเหตุสำหรับการหย่าร้าง

ความรุนแรงไม่เพียงส่งผลต่อจิตใจ และร่างกายเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงระบบประสาท และกลไกสมอง
การพัฒนาสมองเกิดขึ้นในวัยเด็กด้วยเหตุนี้การสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ดีจึงทำให้เกิดการพัฒนาวงจรภายในสมองซึ่งเป็นรากฐานของสุขภาพจิต แต่หากเด็ก ๆ เติบโตในสภาพแวดล้อมที่เครียด หวาดกลัว ฮอร์โมนคอร์ติซอล และอะดรีนาลีนจะถูกหลั่งออกมาเป็นจำนวนมาก สมองส่วนควบคุมอารมณ์ หรืออะมิกดาลาจะมีขนาดใหญ่ขึ้น และทำงานมากกว่าปกติถึงแม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะผ่านไปแล้วก็ตาม เนื่องจากสมองถูกระตุ้นตลอดเวลา ทำให้เด็กที่ต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงเป็นประจำอาจตอบโต้ต่อเหตุการณ์ที่ธรรมดานั้นด้วยท่าทีที่รุนแรง เป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงมีอารมณ์เกรี้ยวกราดเพราะสารเคมีในสมองของพวกเขาถูกกระตุ้นและหลั่งออกมาตลอดเวลาเมื่อเขายังเป็นเด็ก นอกจากนี้ยังส่งผลต่อสมองส่วนความทรงจำหรือฮิปโปแคมปัสที่จะทำให้มีขนาดเล็กลง และเมื่อพวกเขาต้องเติบโตท่ามกลางการกระทบกระเทือนทางจิตใจบ่อยครั้ง จะทำให้สมองที่ส่วนควบคุมความหุนหันพลันแล่น(Cerebral cortex)จะลดลง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้เด็กคนนั้นเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ความรุนแรง หุนหันพลันแล่น และมีปัญหาสุขภาพจิตโดยยังส่งผลต่อสุขภาพกายทั้งกินเหล้า ติดสารเสพติด เพราะสมองของพวกเขานั้นตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่เหมือนคนทั่วไป แท้จริงแล้วเราอาจพบเจอผู้คนมากมายที่เกิดบาดแผลในวัยเด็กเป็นจำนวนมาก หรือเราเองก็อาจจะเป็นหนึ่งในกระบวนการความรุนแรงเหล่านั้น
ในอเมริกามีการสัมภาษณ์ผู้คนประมาณ 17,000 คนเกี่ยวกับประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจต่าง ๆ ที่พวกเขาเคยประสบในวัยเด็ก รวมถึงการล่วงละเมิด ความรุนแรง การละเลย และการทอดทิ้ง ประมาณ 66% ของผู้ตอบแบบสอบถามเปิดเผยว่าพวกเขาเคยมีประสบการณ์อย่างน้อยหนึ่งอย่าง 20% มีประสบการณ์ ACE 3 อย่าง นักวิจัยตั้งข้อสังเกตถึงความเชื่อมโยงระหว่างการประสบกับ ACE กับผลเสียต่อสุขภาพร่างกายในปีต่อมา รวมถึงโรคหัวใจและมะเร็ง ACEก่อให้เกิดความเครียดที่ท่วมร่างกายนั้นรุนแรงมากจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการเผาผลาญ ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบหัวใจ และหลอดเลือด ตลอดจนสมองและระบบประสาทยิ่งเด็กได้รับ ACEs มากเท่าใด ผลกระทบที่มีต่อสุขภาพจิต และร่างกายก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการควบคุมอารมณ์ ทำให้บุคคลไม่สามารถเข้าใจวิธีตอบสนองต่อสถานการณ์ได้ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่จะใช้สารต่างๆ เช่น แอลกอฮอล์ ยา และนิโคติน
ACE เหมือนฝันร้ายที่แก้ไขได้ยากเพราะได้สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นได้เปลี่ยนกลไกสมองของเด็กเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามหากคุณเป็นครูในโรงเรียน หรือเป็นพ่อแม่ก็ตามอาจจะรู้แล้วว่าความรุนแรงนั้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหรือขัดเกลาให้ใครเป็นคนที่ดีขึ้นได้เลย
อ้างอิง
https://www.nature.com/articles/npp2015252
https://integrativelifecenter.com/what-are-the-10-adverse-childhood-experiences/
https://www.verywellmind.com/what-are-aces-adverse-childhood-experiences-5219030
https://www.cdc.gov/violenceprevention/aces/index.html
https://socialworksynergy.org/2014/02/26/aces-adverse-childhood-experiences-basics/
https://developingchild.harvard.edu/science/key-concepts/toxic-stress/
https://www.ncsl.org/research/health/adverse-childhood-experiences-aces.aspx