วิทยาศาสตร์ของการติดซีรีส์

A A
Oct 31, 2022
Oct 31, 2022
A A

วิทยาศาสตร์ของการติดซีรีส์

 

  • Binge Watching กำลังแพร่กระจายเป็นที่นิยมมากขึ้น สังเกตได้จากสถิติของการเข้าฉายของ Stranger Things ซีซัน 2 มีการนับจำนวนคนที่ Binge Watch แบบอดหลับอดนอนรวดเดียว 9 ตอนจบภายในวันแรกมากถึง 361,000 คน
  • Corticotropin-Releasing Hormone ชื่อของฮอร์โมนตัวสำคัญ ทำหน้าที่กระตุ้นการปล่อยฮอร์โมนชนิดอื่นๆ ที่ทำให้เราตื่นตัวจากความเครียด คอยขัดขวางความต้องการที่จะนอนหลับของร่างกาย โดยไม่ทำให้เนื้อล้าและพร้อมบงการให้เรากดดูซีรีส์ตอนถัดไปในทันที
  •  

บริการสื่อประเภท Streaming คลื่นลูกใหม่แห่งศตวรรษ ที่สามารถรับชมเนื้อหาสาระบันเทิงได้โดยไม่มีการจำกัดเวลาและสถานที่ มาพร้อมความสดใหม่ มีฟังก์ชั่นเยอะ ลูกเล่นแพรวพราว ทำให้คนยุคใหม่เต็มใจจะจ่ายค่าบริการเพื่อแลกมาด้วย ความสุขที่สะดวกขึ้น

อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบันว่าตลาดภาพยนตร์และซีรีส์มีการแข่งขันที่ดุเดือด ผู้ให้บริการอย่าง Netflix , Disney Plus , HBO , Amazon prime แม้กระทั่ง Apple TV เอง ต่างฝ่ายต่างเข็นกองทัพ Content มากมายเข้าสู่สังเวียนนี้ สังเวียนที่มีความสุขของผู้ชมเป็นเดิมพัน มีเนื้อหาอัพเดตใหม่ร่วมแสนรายการต่อวันให้คนเลือกดู เพื่อเป็นการรับประกันว่า คนดูเหล่านี้จะไม่ไปไหน…เพราะชั่วโมงแห่งความสุขการเฝ้ารอ โปรดตอนถัดไปที่กำลังมาถึง

 

การติดซีรีส์ : ความสุขที่กำลังเป็นสิ่งเสพติด

Binge Watching คือชื่อใช้สำหรับนิยามการรับชมสื่อแบบยาว ๆ รวดเดียวจบยกซีซั่น หรือภาษาบ้านเราก็คือ คนติดซีรีส์นั่นเอง 

เรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2013 ยักษ์ใหญ่แห่งวงการ Steaming อย่าง Netflix เริ่มเล่นแร่แปรธาตุแหกกฏการดูซีรีส์แบบเดิมๆ บนโทรทัศน์ด้วยการปล่อยทุกตอนในซีซั่นออกมารวดเดียวตั้งแต่วันแรก พฤติกรรมการดูแบบมาราธอนจึงเริ่มปรากฏขึ้น และได้รับความนิยมถึงขั้นที่ Reed Hastings ซีอีโอของบริษัทออกมาประกาศเองเลยว่า คู่แข่งทางการค้าที่สำคัญของพวกเขาคือการนอน

“เครียดมาทั้งวันแล้ว หาดูอะไรบันเทิงคลายเครียดซักหน่อย”

“จ่ายเงินไปแล้วต้องเอาให้คุ้ม”

“ยังไงก็ต้องดูต่อให้จบ เดี๋ยวพรุ่งนี้คุยกับคนอื่นเขาไม่รู้เรื่อง”

“เดี๋ยวดูตอนนี้จบก็จะไปนอนละ”

และอีกเหตุผลร้อยแปดเพื่อซัพพอร์ตพฤติกรรมของตัวเองที่ติดหนึบอบู่บนหน้าจอสี่เหลี่ยมแสงสีฟ้าไม่ยอมไปไหน ทำให้การนอนพักผ่อนในวันนี้เริ่มขยับขยายเป็นวันหลังแทนซะงั้น

Binge Watching กำลังแพร่กระจายเป็นที่นิยมมากขึ้น สังเกตได้จากสถิติของการเข้าฉายของ Stranger Things ซีซัน 2 มีการนับจำนวนคนที่ Binge Watch แบบอดหลับอดนอนรวดเดียว 9 ตอนจบภายในวันแรกมากถึง 361,000 คน

 

Binge Watching-ซีรีส์

 

ทีมนักวิจัยจาก University of Michigan ทำการศึกษาทดลองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรม Binge-watching และคุณภาพในการนอนหลับผ่านการทำแบบสอบถามของกลุ่มตัวอย่างจำนวนกว่า 400 คน ได้ผลสรุปการทดลองว่าในกลุ่มคนที่ติดซีรีส์เรื่องเดียวติดต่อกันอย่างน้อยสองตอนขึ้นไป จะนอนหลับยากกว่า และรู้สึกเพลียหลังตื่นมากกว่าอีกกลุ่มที่ดูรายการโทรทัศน์แบบปกติ ซึ่งทางวิทยาศาสตร์พบว่ากระบวนการที่พาให้เราเสพติดการดูซีรีส์ตอนต่อไปเรื่อยๆ แบบหยุดไม่ลงแม้ว่าดวงอาทิตย์จะโผล่ขึ้นบนขอบฟ้าในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า โดยที่เราไม่รู้สึกเหนื่อยล้า มีสาเหตุจากการปล่อยฮอร์โมนที่ทำให้เราเรียกหาความตื่นเต้นในรูปแบบต่างๆ ไมว่าจะเป็นส่วนของตัวละครที่น่าดึงดูด พระเอกหล่อ นางเอกสวย เนื้อหาถูกจริตชวนติดตาม ซึ่งรวมไปถึงเนื้อหาชวนขมวดคิ้วอย่างการวางระเบิดทิ้งปมไว้ท้ายเรื่องเพื่อให้ไปติดตามต่อในตอนถัดไป ขณะที่เรื่องราวบนหน้าจอทำงานร่วมกันกับสภาวะจิตใจ ตอนนี้เองที่วงจร Binge-watching เริ่มทำงาน 

Corticotropin-Releasing Hormone ชื่อของฮอร์โมนตัวสำคัญ ทำหน้าที่กระตุ้นการปล่อยฮอร์โมนชนิดอื่นๆ ที่ทำให้เราตื่นตัวจากความเครียด คอยขัดขวางความต้องการที่จะนอนหลับของร่างกาย โดยไม่ทำให้เนื้อล้าและพร้อมบงการให้เรากดดูซีรีส์ตอนถัดไปในทันที

 

ดูตอนซีรีส์ตอนสุดท้ายจบ…แล้วไงต่อ

ความรู้สึกหลังการดูเรื่องราวในตอนสุดท้าย ให้นึกภาพความสุขของการวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก เป็นสมุดจด To Do List ที่กาเครื่องหมายถูกเพิ่มอีกช่อง สมองของเราจะรู้สึกว่าเราทำสำเร็จ แบบเดียวกับกับการที่เราดูซีรีส์จบเป็นตอนๆ ไปเรื่อยๆ เนื่องจาก Dopamine ฮอร์โมนตัวแม่แห่งความสุขทยอยหลั่งออกมาแทนที่ฮอร์โมนแห่งความตึงเครียด ในกลุ่มเซลล์ประสาทสมองส่วน Nucleus accubens สร้างเป็นพื้นที่รับรู้ความสุขในสมอง เมื่อคนเรามีความรู้สึกสุขจึงไม่มีเหตุผลอะไรต้องหยุด ลักษณะเดียวกับการเสพติดของคนติดยา จนสุดท้ายรู้ตัวว่ากว่าดูจนจบซีซันก็รุ่งเช้าพอดี

 

หนี – เข้าหา – ตัดขาดจากสังคม คือสูตรสำเร็จของคนแบบ Binge-watching

ด้านดีของการ Binge-watching  คือการเป็นเครื่องมือสานสัมพันธ์ระหว่างเรากับสังคม เพราะคนที่ชอบดูรายการลักษณะเดียวกัน จะทำให้คุยกันถูกคอและต่อติดกันได้มากขึ้น แต่ในอีกด้านนึงของบางคนที่มีปัญหาในชีวิต ไม่ว่าจะอกหักหรือเซ็งสารพัดปัญหาใดๆ มักจะใช้การ Binge Watch เพื่อเป็นหลุมหลบภัยสำหรับหนีปัญหาเหล่านั้นซะมากกว่า เพราะอย่างที่รู้กันว่า Dopamine คือสารแห่งความสุข และเมื่อมันมีปริมาณที่มากพอ มันอาจจะสะกดเราให้อยู่กับความสุขชั่วขณะที่ตรงหน้าจนไม่ออกไปเผชิญปัญหาที่ค้างคาไว้ก็เป็นได้ ในขณะเดียวกันการทดลองของนักศึกษา University of Toledo พบว่ากลุ่มตัวอย่างจำนวน 142 จาก 408 คน มีความเครียด ความวิตกกังวล และอาการซึมเศร้ามากกว่าคนอื่น เพราะคนเหล่านี้ Binge Watch มากเกินไปจนทำให้การดูทีวีเข้ามาแทนที่ความสัมพันธ์กับมนุษย์ ทำให้ตัวเองตกอยู่ในสภาวะตัดขาดกับสังคมไปเลย 

เราจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการหยุดดูซีรีส์ไม่ได้ สร้างประสบการณ์สมองที่มีความซับซ้อนมากมายจากแรงกระตุ้นหลายทาง สร้างเป็นม่านบางๆที่ช่วยปลอบประโลมเราจากโลกแห่งความเป็นจริงได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่สุดท้ายแล้วก็ตกเป็นหน้าที่ของที่เราก็ต้องแยกเรื่องจริงกับโลกบนหน้าจอให้ออก มูฟออนให้ไวจะได้ไปใช้ชีวิตกันต่อ

เพราะอะไรที่มันมากเกินไป…ก็ใช่ว่าจะดี

 

อ้างอิง
https://bit.ly/3Aq70Pf
https://bit.ly/3PxXj5n
https://bit.ly/3w8ld0w
https://bit.ly/3PrbOIs

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS