สรุปให้รู้ตามทันโลกการศึกษา EP.14
เปิดโลก Sex Education จากหลักสูตรต่างประเทศ
“กุมภาพันธ์” เมื่อพูดถึงเดือนแห่งความรักการมีความสัมพันธ์ทางกายก็เป็นการแสดงความรักอย่างหนึ่งที่นิยมทำกันมากในวันนี้ จนมีคำพูดถึงวันนี้ในแง่ลบว่าวันเสียตัว แต่ความสัมพันธ์ทางกายแท้จริงแล้วเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ทำให้เกิดการตั้งคำถามที่ว่าเหล่าคุณแม่วัยใสที่ท้องไม่พร้อมอาจไม่มีความรู้เรื่องเพศ และการคุมกำเนิดที่มากพอหรือเปล่า ว่าต้องจัดการอย่างไร และอายุเท่าไรถึงจะเหมาะสมที่จะทำเรื่องเหล่านี้?
กรมอนามัยโลกได้ทำการสำรวจออกมาแล้วว่า ในปี 2556 ประเทศไทยมีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีท้องไม่พร้อมสูงเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชีย มีอัตราอยู่ที่ 74 ต่อ 1,000 คน แม้ในปัจจุบันกรมสาธารณสุขของไทยจะเข้ามาดูแลจนอัตราท้องไม่พร้อมลดลงเหลือเพียง 25 ต่อ 1 พันคนในปี 2565 ที่ผ่านมา แต่ยังมีบางพื้นที่ในที่ห่างไกล และกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังพบท้องไม่พร้อมอยู่มาก จากการสำรวจพบว่าเด็ก ๆ ไม่รู้วิธีคุมกำเนิดที่ถูกต้อง การนับวันตกไข่ผิด ไม่รู้การป้องกัน และการสวมถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี
การเป็นคุณแม่วัยใสในหมู่วัยรุ่นนอกจากความรักในวัยเรียนคือเรื่องของการเข้าถึงสื่อทางเพศได้ง่ายทำให้เด็กเข้าไปเสพสื่อ แต่ไม่มีผู้ใหญ่มาอธิบายสอนวิธีการจัดการอารมณ์ บอกความเหมาะสม หรือความรู้ที่ชัดเจนมากพอทำให้เกิดความอยากรู้อยากลอง เมื่อไม่มีความรู้เรื่องเพศศึกษาที่ถูกต้องตั้งแต่เล็ก ๆ เรื่องเหล่านี้จึงเป็นปัญหาตามมา และข้อสังเกตที่น่ากังวลเป็นพิเศษ คือ การที่เด็กผู้หญิงหลายคนไม่ได้ถูกสอนในเรื่องทางเพศอย่างถูกต้องทำให้ไม่รู้ว่าการที่มีคนเข้ามาแตะเนื้อต้องตัว พูดคุย หรือทำการกระทำแบบไหน คือ การคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศ จนไปนำไปสู่การข่มขืนสำเร็จ และในบางกรณีมีการกระทำชำเรามากกว่า 1 ครั้ง แต่เด็กไม่รู้ว่านี้คือการล่วงละเมิดทางเพศ
จากข้อมูลของมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรีในปี 2563 ได้จำแนกเป็นปัญหาต่าง ๆ และปัญหาอันดับ 1 ที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด คือ การข่มขืนและทำอนาจาร จำนวน 863 รายใน 1 ปี และอาจยังมีเรื่องใต้พรมที่ยังไม่ถูกแจ้งเข้ามาอีกมากมาย สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือมีตัวเลขการล่วงละเมิดและข่มขืนในเด็กผู้หญิงอายุ 0-15 ปีสูงถึง 122 ราย เคสตัวอย่างที่อายุน้อยที่สุดคือ 2 ขวบ 10 เดือนเท่านั้นเอง มันอาจจะอนุมานโดยตรงไม่ได้ว่าการไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับเพศศึกษาทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ทั้ง 100% เนื่องจากอาจมีปัจจัยภายนอกในเรื่องของระบบความปลอดภัยในชุมชนเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากเด็กมีความรู้เรื่องเพศศึกษาที่มากพอปัญหาเหล่านี้อาจจะน้อยลงได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
แล้วแบบนี้วิชาเพศศึกษาควรเริ่มเรียนที่อายุเท่าไหร่ถึงจะดี? แล้วเด็กต้องรู้เรื่องอะไรบ้าง?
การศึกษาของเราในวิชาสุขศึกษาเรื่องเพศศึกษานั้นได้อธิบายให้เด็ก ๆ ได้เข้าใจชัดเจนหรือยัง และในโรงเรียนต่างประเทศมีการสอนเรื่องเพศวิถีแบบไหนให้เด็ก?
Sex Education เนเธอร์แลนด์
จากข้อมูลของ Eurostat statistics explained ในปี 2552 เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่อัตราท้องในวัยรุ่นต่ำที่สุดในยุโรป เพียงแค่ 5.3 ต่อ 1,000 คน ถือว่าน้อยกว่าไทยในปี 2556 มากถึง 13 เท่า และน้อยกว่าไทย 5 เท่าในปีปัจจุบัน นอกจากนี้ อัตราการติดเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็ยังมีระดับต่ำมากอีกด้วย
ในเนเธอร์แลนด์มีกฎหมายทางการศึกษาที่ให้เด็กทุกคนจะต้องมีความรู้เรื่องเพศวิถีตามที่กำหนดไว้ โดยเริ่มสอนให้เด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาล (4 ขวบ) เป็นการสอนผ่านนิทานและเล่าออกมาให้เข้าใจง่ายส่วนมากเป็นเรื่องความแตกต่างทางเพศ และให้รู้จักพื้นฐานของเพศศึกษา เมื่อถึงวัย 8 ปี จะได้ลงลึกมากขึ้นถึงเรื่องของภาพแห่งตน (self-image) และภาพเหมารวมด้านเพศภาวะ (gender stereotypes) และเมื่ออายุ 11 ปี ได้พูดคุยเรียนรู้เรื่องวิถีทางเพศ (sexual orientation) การคุมกำเนิดวิธีต่างๆ และเรื่องเพศศึกษาอย่างรอบด้าน นอกจากนี้ไม่ใช่แค่การเรียนเรื่องเพศที่เกี่ยวกับแค่ตัวเอง และวิธีป้องกันเท่านั้นยังสอนให้รู้จักความรัก การเคารพกันและกัน ความสนิทสนมลึกซึ้ง และความปลอดภัยอีกด้วย
Sex Education สาธารณรัฐประชาชนจีน
หลักสูตร และหนังสือเรียนเพศศึกษาที่ให้เด็กเข้าใจทุกขั้นตอนเรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมาจนในช่วงแรก ๆ มีผู้ปกครองออกมาให้ความเห็นในแง่ลบว่าการสอนเรื่องแบบนี้ให้เด็กแท้จริงแล้วดีหรือไหม? เนื่องจากสังคมในจีนนั้นยังมีความเขินอายเรื่องเพศ และมองว่าไม่ใช่เรื่องที่ต้องนำมาพูดในที่แจ้ง เมื่อลูกถามว่าผมเกิดมาจากอะไร มีแม่บางคนตอบว่าเกิดมาจากก้อนหิน ทำให้กระทรวงศึกษาธิการตระหนักถึงเรื่องนี้ ประกอบกับแนวคิดหลัก 6 ประการของ “แนวปฏิบัติทางวิชาการเพศวิถีศึกษานานาชาติ” ที่ออกโดย UNESCO ในปี 2552 ในหัวข้อดังนี้
(1)การออกแบบครอบครัวและเพื่อน
(2)ชีวิตและทักษะ เพศ และสิทธิทั้งหกหน่วย
(3)พัฒนาการทางร่างกาย
(4)พฤติกรรมทางเพศและสุขภาพ
(5)สุขภาพทางเพศ
(5)อนามัยการเจริญพันธุ์กล่าวถึงแง่มุมต่างๆ ของพัฒนาการทางเพศของเด็ก
กระทรวงการศึกษาของจีนจึงได้ตั้งหลักสูตร “แนวปฏิบัติสำหรับสุขศึกษาในโรงเรียนประถมและมัธยม” ออกมากำหนดขอบเขตเรื่องเพศศึกษาว่าเด็กประถมศึกษาที่ 1 และ 2 จะต้องรู้เรื่องของชีวิตและการสืบพันธุ์ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเจริญเติบโต ตัวเองเกิดมาจากไหน ปัจจัยเสี่ยงของการล่วงละเมิดทางเพศ ความรู้ และทักษะในการป้องกันตัวเองจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และได้ออกหนังสือเพศศึกษามาสอนให้กับเด็กชั้นประถมศึกษาทั้งหมด 12 เล่ม คือ Treasure Life-Sexual Health Education Reader for Primary School Students จัดทำโดยมหาวิทยาลัยครุศาสตร์ปักกิ่ง (Beijing Normal University (BNU) ในปี 2552 และมีการปรับปรุง และใช้มาถึงในปัจจุบัน

ชื่อภาพ : หนังสือเรียนเรื่องเพศศึกษา
“Treasure Life-Sexual Health Education Reader for Primary School Students”
ของโรงเรียนประถมศึกษาในปักกิ่ง
Sex Education แอฟริกา
ข้อมูลจาก UNAIDS (องค์กรโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ) ในปี 2021 สำรวจออกมาว่าพื้นที่แอฟริกาพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่สูงมากกว่า 300,000 รายเป็นปัญหาเรื้อรังอย่างมากในประเทศแม้ว่าจะลดลงมากจากปี 2015 มาเรื่อย ๆ แต่ในช่วงโควิด19 ในปี 2019 เป็นต้นมาพื้นที่ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือกลับมีตัวเลขสูงขึ้น

ชื่อภาพ : ข้อมูลสถิติผู้ป่วย HIV รายใหม่ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2015-2021
การติดโรค HIV และเอดส์นอกเหนือจากการติดผ่านพ่อแม่ และการใช้สารเสพติด ส่วนใหญ่แล้วคือเรื่องของเพศสัมพันธ์ พบว่ากลุ่มเด็กหญิงและผู้หญิงติดเชื้อผ่านทางเพศสัมพันธ์มากกว่าเพศชาย รวมถึงทัศนคติทางเพศของคนในประเทศ และการเรียนการสอนเรื่องเพศถูกจำกัดทำให้เด็กไม่กล้าที่จะถาม หรือพูดเรื่องนี้กับผู้ปกครอง นอกจากนี้สมองส่วนหน้าของวัยรุ่นยังพัฒนาอยู่ ทำให้มีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมในพฤติกรรมเสี่ยง และไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมา
ที่แอฟริกานอกจากการเรียนผ่านหนังสือแล้ว จึงมีการก่อตั้งองค์กร “Grassroots Soccer” โดยนักฟุตบอลอาชีพ 4 คน ในปี 2545 มาเป็นสื่อกลางในการสอนเรื่องเพศให้เข้าใจง่ายผ่านการทำกิจกรรม “ฟุตบอล” ให้กับเด็กอายุ 12-18 ปี
ในปี 2017 องค์กร Grassroots Soccer มีนักเรียนเข้าร่วมมากถึง 1.2 ล้านคน ใน 42 ประเทศพร้อมตั้งเป้าหมายสำคัญ และปลุกพลังด้วยคำขวัญว่า “ให้ความรู้ ระดมกำลัง สร้างแรงบันดาลใจ หยุดการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวี” เพื่อช่วยต้านเอดส์ Hiv และสอนเรื่องเพศวิถีที่ถูกต้องให้กับเด็กได้
คุณที่อ่านมาถึงตรงนี้คงมีคำถามในใจเหมือนผมใช่ไหมว่า “ทำไมถึงใช้ฟุตบอล”
องค์กร Grassroots Soccer กล่าวว่า ฟุตบอลเป็นกีฬาที่เป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมท้องถิ่นทั่วโลก เมื่อนำโครงสร้างกีฬาที่ทุกคนรู้จักดีมาอ้างอิงเข้ากับหลักสูตรเพศศึกษา สนุก ได้ออกกำลังกายเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ยังมีโค้ชที่เข้ามาสร้างความไว้วางใจให้กับเราผ่านการทำกิจกรรมทำให้เด็กเกิดความสนิทใจ และพูดคุยเปิดเผยเรื่องทางเพศได้มากขึ้น การเรียนแบบนี้คุ้น ๆ เหมือนข้อสอบของไทยอย่าง “หากมีอารมณ์ทางเพศให้ไปเตะบอล” เลยใช่ไหมครับ แล้วเขาสอนแบบไหนละ
หลักสูตรการสอนมีชื่อว่า “Skillz” เพื่อสอนทักษะชีวิตขั้นพื้นฐานและความรู้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาพที่ดี ตัวอย่างหนึ่งเกมในหลักสูตร เช่น เกมสนามเสี่ยง ผู้เล่นต้องเลี้ยงลูกฟุตบอลระหว่างกรวยที่แสดงถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี (เช่น การมีคู่นอนหลายคน การใช้สารเสพติดและแอลกอฮอล์ การคุมกำเนิดที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ) หากผู้เล่นเตะโดนกรวย ทีมของพวกเขาต้องถูกลงโทษให้วิดพื้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงของคนเพียงคนเดียวสามารถส่งผลกระทบต่อทั้งชุมชนได้อย่างไร นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโปรแกรม “SKILLZ Street” ให้ตอบสนองต่อเด็กผู้หญิงมากขึ้น เนื่องจากเด็กผู้หญิงเป็นกลุ่มเสี่ยงในเรื่องนี้ และมีโอกาสติดเชื้อทางเพศได้มากกว่าเพศชาย
Sex Education สหราชอาณาจักร
จากการสำรวจของ ‘UNICEF’ พบว่า เด็กจะได้รับการสอนเกี่ยวกับ LGBTQ+ น้อยมาก และหากเด็กมีคำถามในประเด็นนี้ครูหลายท่านมักเลี่ยงวิธีอธิบาย กระทรวงศึกษาธิการของสหราชอาณาจักรได้ตระหนักถึงปัญหาของความขัดแย้งในเรื่องทางเพศ ความรู้ที่ยังน้อย การเกิดอคติเพราะการไม่รู้ในเด็ก และต้องการให้เด็กที่จะเติบโตไปพร้อมกับทักษะพลเมืองที่ดี ยอมรับความหลากหลายทางเพศ และความแตกต่างให้ได้
แต่การพูดมันไม่ได้ทำง่าย ๆ เมื่อเด็กไม่มีความรู้เรื่องเหล่านี้เลยจะยอมรับได้อย่างไร?
ทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาด้านนี้อย่างจริงจัง ในปี 2020 ได้มีการบรรจุหลักสูตรนี้ และออกหนังสือประกาศให้ทุกโรงเรียนในอังกฤษ และสก็อตแลนด์ สอนเรื่องเพศหลักสูตรแบบใหม่ที่ไม่ใช่แค่ชายหรือหญิง ในโรงเรียนต้องสอนเรื่องเพศ สุขภาพ และความสัมพันธ์ที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเพศ เพื่อให้เข้าใจว่าโลกใบนี้นั้นมีความหลากหลาย ผลักดันหลักสูตรควบคู่ไปกับการปรับทัศนคติของผู้สอน และมีกฎห้ามผู้ปกครองของเด็กนักเรียนประถมศึกษา และมัธยมตอนต้นยกเว้นบทเรียนนี้ เพื่อป้องกันผู้ปกครองที่มีอคติเกี่ยวกับ LGBTQ+
โดยเนื้อหาที่สอนในระดับประถมศึกษา คือการสอนเกี่ยวกับทัศนคติของครอบครัวที่หลากหลาย เช่น ครอบครัว LGBTQ+ พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวบุญธรรม คนที่โตมากับปู่ย่าตายาย ตลอดจนครอบครัวแบบอื่นๆ เหล่านี้ก็เป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังสอนพื้นฐานของเพศศึกษาผ่านตัวละครและนิทาน เนื้อหาในนิทานเช่น คู่เพนกวินชายที่ช่วยกันเลี้ยงลูก เด็กชายที่อยากเป็นนางเงือก เป็นต้น

ชื่อภาพ : หนังสือ Daddy, Papa, and Me
ในระดับมัธยมศึกษาจะสอนลงลึกมากขึ้นในเรื่องของรสนิยมและอัตลักษณ์ทางเพศ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องสุขภาพและความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกัน พูดถึงปัญหาความรุนแรงในประเด็น การเหยียดเพศ (Sexism) การเกลียดผู้หญิง (Misogyny) การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (Homophobia) และการเหมารวมเรื่องเพศ (Gender Stereotypes)
ทุกประเทศที่ยกตัวอย่างมา แม้จะมีวิธีการนำเข้าการสอนที่หลากหลายแต่มีมุมมองการสอนเรื่องทางเพศที่ไม่ต่างกันมากนัก คือต้องการสอนเนื้อหาเหล่านี้เพื่อเตรียมเด็กเกี่ยวกับความเป็นอยู่ สุขภาพ และความสัมพันธ์ ให้เหมาะสมตามวัยของนักเรียนในระดับชั้นต่างๆ ซึ่งจะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนก่อนไปใช้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่อย่างมีความรับผิดชอบ และสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้
คุณคิดว่าโมเดลการศึกษาของประเทศต่าง ๆ จะนำเข้ามาปรับใช้กับไทยเราได้บ้างไหม? ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้ในประเทศไทยเราจะมีการเพิ่มเนื้อหาเรื่องเพศศึกษา และความหลากหลายทางเพศลงไปในหนังสือเรียนแล้ว แต่วัฒนธรรมเกี่ยวกับเรื่องทางเพศยังไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนมองว่าเป็นเรื่องในที่แจ้ง หากมีหนังสือเรียนแบบจีนในประเทศไทยเราจะเป็นอย่างไร แล้วแบบไหนสามารถนำมาปรับใช้ได้จริง ลองคิดไปพร้อมกับเรานะครับ
อ้างอิง
https://grassrootsoccer.org/our-mission/
https://campus.campus-star.com/education/24719.html#google_vignette
https://www.agenda.co.th/featured/sex-education/
https://www.tcijthai.com/news/2018/21/scoop/8342
https://book.mthai.com/all-books/10539.html (เนเธอแลนด์+จีน)
https://zhuanlan.zhihu.com/p/25568693 (จีน)
https://www.chinanews.com.cn/sh/2017/04-01/8189407.shtml
https://www.hfocus.org/content/2022/07/25485
https://www.prachachat.net/general/news-789933
https://obgyn.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/aogs.12253 (ข้อมูลสถิติแม่วัยใสของยุโรป)
https://www.isranews.org/content-page/item/47672-sex_140659.html
https://www.unaids.org/sites/default/files/media_asset/2022-global-aids-update_en.pdf (ข้อมูลโรคเอดส์)
https://www.globalcitizen.org/en/content/creative-approaches-to-sex-ed-from-around-the-worl/