เมื่อการร้องไห้ ภาษาแรกของมนุษย์กำลังถูกตัดสิน

A A
Feb 8, 2022
Feb 8, 2022
A A

เมื่อการร้องไห้ ภาษาแรกของมนุษย์กำลังถูกตัดสิน

 

ยังจำกันได้ไหม เราร้องไห้ครั้งสุดท้ายเมื่อไร ไม่แปลกถ้าสถานการณ์ในช่วงนี้จะทำให้เราร้องไห้กันบ่อยขึ้น ไหนจะปัญหาโรคระบาด เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ การมีชีวิตรอดให้ได้ในแต่ละวันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป เมื่อผู้ใหญ่ยังมีเรื่องให้ร้องไห้ได้บ่อย ๆ แล้วเด็กเล็ก ๆ ล่ะ เขาก็มีเรื่องให้ร้องไห้ได้มากมายไม่ต่างจากเรา เมื่อการร้องไห้คือภาษาแรกของมนุษย์ทุกคนบนโลกกำลังทำการสื่อสารอะไรบางอย่าง ทำไมเราถึงตัดสินเด็กที่กำลังร้องไห้ด้วยมาตรฐานของผู้ใหญ่ พวกเขากำลังสื่อสารอะไรที่เราควรต้องฟังหรือให้ความช่วยเหลือหรือเปล่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่ให้พื้นที่เด็กได้สื่อสารภาษาของเขา

การร้องไห้กับการพัฒนาทักษะสำคัญ

การร้องไห้สำคัญต่อการแสดงอารมณ์ เป็นวิธีที่เราเรียนรู้ว่าจะสื่อสารความรู้สึกต่าง ๆ ออกมาอย่างไร การร้องไห้จึงเป็นพฤติกรรมที่จริงแท้ที่สุด คนส่วนใหญ่จะร้องไห้เป็นอย่างแรกเมื่อรู้สึกถึงอารมณ์บางอย่าง เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น การร้องไห้จะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าการร้องไห้ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป สิ่งสำคัญคือมันมีบทบาทต่อการพัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์ของเด็ก ๆ อย่างมาก ซึ่งหากผู้ใหญ่ไม่รู้ เราก็อาจทำลายทักษะนี้ของเด็ก ๆ ไปโดยไม่รู้ตัว

การร้องไห้กับการพัฒนาทักษะสำคัญ

ลองสังเกตกันดูว่าเมื่อไรที่เราสั่งเด็กให้หยุดร้องไห้ เด็กจะหยุดร้องไห้ยากขึ้น บางคนยิ่งร้องไห้หนักขึ้นอีก ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะเราไม่ได้ให้พื้นที่ที่ปลอดภัยกับเด็ก ๆ ให้เขาร้องไห้ได้เมื่ออยากร้อง เราไม่ถามเขาว่าเขาเป็นอะไร บางครั้งผู้ใหญ่ก็ลืมไป คิดว่าเมื่อเด็กอายุเท่านั้นเท่านี้ เขาจะต้องรู้วิธีควบคุมตัวเองไม่ให้ร้องไห้ หรือรู้ว่าตัวเองร้องไห้ทำไม ราวกับการร้องไห้เป็นพฤติกรรมของทารกเท่านั้น โดยหารู้ไม่ว่าพฤติกรรมเหล่านี้นี่แหละกำลังทำลายสวัสดิภาพทางอารมณ์และจิตใจของเด็ก ๆ ไปชั่วชีวิต

การร้องไห้ของเด็กจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนในบางครั้ง เพราะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุเกินกว่าที่เราจะตัดสินกันตื้น ๆ งานวิจัยพบว่าการร้องไห้ของคนเรามีพื้นฐานมาจากชีววิทยาและจิตวิทยามากมาย

  1. สะท้อนรูปแบบความผูกพัน เช่น คนที่รู้สึกสบายใจกับการแสดงออกทางอารมณ์จะถือว่าการร้องไห้เป็นเรื่องปกติและดีต่อสุขภาพ ขณะที่คนที่ไม่สบายใจกับการร้องไห้จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม
  2. เป็นเครื่องมือสำคัญของการสื่อสารที่เราใช้บอกคนอื่นว่าต้องการความช่วยเหลือ
  3. ช่วยลดความเครียดด้วยการขับสารเคมีที่ก่อให้เกิดความเครียดออกจากร่างกาย เมื่อร้องไห้เราจะผ่อนคลายมากขึ้น
  4. ช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ร่างกายจะปล่อยออกซิโทซินและเอ็นดอร์ฟินออกมาเมื่อร้องไห้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดทางร่างกายและอารมณ์
  5. ช่วยให้เด็กนอนหลับตอนกลางคืนได้ดีและง่ายขึ้น
  6. เป็นวิธีเบื้องต้นในการแสดงอารมณ์หรือควบคุมอารมณ์ เช่น ความเศร้า ความโกรธ ความคับข้องใจ หรือความสุข คนส่วนใหญ่จะร้องไห้เป็นอย่างแรกเมื่อเรารู้สึกถึงอารมณ์บางอย่าง การร้องไห้จึงเป็นพฤติกรรมที่จริงแท้ที่สุด

เมื่อการร้องไห้เป็นเรื่องจำเป็นและมีประโยชน์ขนาดนี้ ทำไมเราถึงปิดกั้นมัน เพราะเราขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงธรรมชาติของมันนั่นเอง คิดว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอในสังคมที่ไม่สามารถตอบสนองต่ออารมณ์ได้ดี คิดว่าเมื่อเด็กร้องไห้จะทำให้ใครก็ตามที่พบเห็นเกิดความรู้สึกบางอย่างตามมา เช่น เศร้าตามไปด้วย อึดอัด กลัวว่าบรรยากาศจะไม่ดี เลยอาจเป็นสาเหตุให้ผู้ใหญ่บางคนรู้สึกกลัว จนสุดท้ายต้องหาทางหยุดเด็กที่กำลังร้องไห้

สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำเมื่อเด็กร้องไห้

เมื่อเด็ก ๆ กำลังส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือผ่านคราบน้ำตา การปล่อยให้เด็กได้ร้องไห้โดยไม่สั่งให้หยุดร้องคือการให้คุณค่ากับอารมณ์ทุกประเภท เป็นการแสดงความเห็นอกเห็นใจว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอารมณ์ความรู้สึกหลากหลายที่ควรมีพื้นที่ปลอดภัยเพื่อเติมเต็มประสบการณ์ทางอารมณ์เหล่านี้

ในฐานะผู้ใหญ่เราช่วยเด็ก ๆ ที่กำลังร้องไห้ได้อย่างไรบ้าง

1. สร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยทางอารมณ์

เด็กต้องการเวลา พื้นที่และความเข้าใจที่จะได้ทำความรู้จักกับอารมณ์ของตัวเอง อย่าไปเร่งรัดพวกเขา หรือบอกให้หยุดร้องไห้ ถ้าเป็นไปได้ให้หาที่เงียบ ๆ ให้เด็ก ให้เขารู้ว่าเราเข้าใจว่าทำไมเขาถึงเศร้า แล้วปล่อยให้เด็กจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง

2. ให้การยอมรับแทนการเรียกร้อง

การสั่งให้เด็กหยุดร้องไห้เป็นสิ่งที่ขัดต่อกระบวนการทางธรรมชาติในการซึมซับข้อมูล เราควรยอมรับอารมณ์เหล่านี้ให้เป็นพื้นฐานการเรียนรู้สำหรับเด็ก

3. มีความเห็นอกเห็นใจและเปิดกว้าง

เด็กที่กำลังร้องอาจจะอยากบอกว่าพวกเขาร้องไห้ทำไม แต่บางคนอาจไม่สามารถทำได้ เพราะอารมณ์จากประสบการณ์หนึ่งอาจทำให้เด็กร้องไห้กับประสบการณ์ที่คล้ายกัน เราควรฟังอย่างเห็นอกเห็นใจและเปิดกว้าง เป็นแบบอย่างในการสื่อสารที่ดี โดยกระตุ้นให้เขาบอกว่าเกิดอะไรขึ้น ฟังโดยไม่รีบร้อนที่จะแสดงความเห็น หรือวิจารณ์อะไรทั้งสิ้น ให้เกียรติความรู้สึกของเด็กเสมอ

มีความเห็นอกเห็นใจและเปิดกว้าง

ถ้าจะสั่งให้หยุดร้อง ต้องทำบางอย่างเพิ่มด้วย

การสื่อสารกับเด็กเมื่อร้องไห้เป็นเรื่องสำคัญมาก เคยมีการศึกษาใน 4 ทวีปพบว่า พ่อมักจะทำให้ลูกหยุดร้องไห้ได้เร็วกว่าแม่ เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะผู้ชายมีส่วนของสมองที่ตอบสนองต่อความเห็นอกเห็นใจน้อยกว่าผู้หญิง จึงเป็นเรื่องปกติที่แม่จะฟังและร้องไห้ไปกับลูกมากกว่าพ่อ

Patricia Hawley จากมหาวิทยาลัยมิสซูรี ได้ศึกษาถึงความละเอียดอ่อนของการเลี้ยงลูกที่มีพ่อและแม่ช่วยกันเลี้ยงพบว่า การเลี้ยงดูแบบนี้ช่วยเรื่องพัฒนาการในเด็กมายาวนานหลายล้านปี สิ่งที่น่าสนใจของการศึกษานี้คือคำพูดและการกระทำของพ่อแม่ต่อลูกที่กำลังร้องไห้อยู่มีผลต่อเด็กอย่างมาก เรามีสถานการณ์อยู่ 4 แบบด้วยกัน มาดูกันว่าถ้าลูกกำลังร้องไห้ คุณจะทำอย่างไร

  • สถานการณ์ 1 พ่อหรือแม่บอกลูกว่า “หยุดร้องไห้นะ ไม่งั้นเดี๋ยวได้ร้องจริงแน่ ๆ ”
  • สถานการณ์ 2 พ่อหรือแม่บอกลูกว่า “ลูกจะดูอ่อนแอนะถ้าร้องไห้ พ่อ (แม่) อายจริง ๆ “ เสร็จแล้วก็เดินจากไป
  • สถานการณ์ 3 พ่อหรือแม่บอกลูกว่า “พอได้แล้ว ไม่มีอะไรดีขึ้นหรอกลูก” แล้วบอกว่าลูกจะมีวิธีแสดงออกทางอารมณ์แบบอื่นได้อย่างไรบ้าง
  • สถานการณ์ 4 พ่อหรือแม่บอกลูกว่า “ถ้าลูกมีปัญหา ก็หาทางแก้ไขสิ” แล้วช่วยให้ลูกหยุดร้องไห้เพื่อที่ลูกจะได้แก้ปัญหาได้ นำไปสู่การลงมือแก้ปัญหาจริง

งานวิจัยพบว่าสถานการณ์ 2 แบบแรกนั้น พ่อแม่เป็นคนทำลายทักษะทางอารมณ์และสังคมของลูก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการทารุณกรรมร่วมด้วย หรือไม่เคารพเมื่อเด็กร้องไห้ตลอดช่วงวัยเด็กของเขา ขณะที่สถานการณ์ที่ 3 และ 4 ที่พ่อแม่บอกให้ลูกหยุดร้องไห้ แต่ก็ช่วยให้ลูกกลับสู่สภาพเดิมได้ การทำแบบนี้จะช่วยให้ลูกเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถควบคุมตัวเองและแก้ปัญหาได้

จากสถานการณ์เดียวกัน เรามีวิธีพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ สร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่ลืมว่าสุดท้ายแล้ว ต่อให้เด็กเรียนรู้ที่จะสื่อสารผ่านคำพูดได้แล้ว เราทุกคนก็ยังคงร้องไห้ ใช้ภาษาสากลภาษาแรกของมนุษย์ในการสื่อสารกันอยู่เสมอ

อ้างอิง
https://www.psychologytoday.com/us/blog/the-minds-boys-and-girls/202002/is-it-always-wrong-tell-child-stop-crying
https://va.gapitc.org/crying-helps-how-tears-support-emotional-development/
https://www.edutopia.org/blog/tears-support-social-emotional-development-diana-rivera

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS