Sherlock Holmes ต้นฉบับ Critical Thinking อายุ 140 ปี

A A
Nov 4, 2023
Nov 4, 2023
A A

 

Sherlock Holmes ต้นฉบับ Critical Thinking อายุ 140 ปี

 

 

Sherlock Holmes นวนิยายชุดสืบสวนสอบสวนชื่อดังที่ได้รับความนิยมมากว่า 140 ปี นับตั้งแต่การตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ.1887 ผลงานวรรณกรรมชิ้นเอกจากปลายปากกา Arthur Conan Doyle นิยายที่ว่าด้วยเรื่องของ Sherlock Holmes และ Dr.Watson สองเพื่อนรักนักสืบสมองเพชรชาวอังกฤษ กับการไขปริศนาที่วางอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ จินตนาการต่าง ๆ ที่แต่งเติมในเรื่อง ก็ไม่ใช่จินตนาการแบบเลื่อนลอยเพ้อฝัน ตรรกะและอิงกับความเป็นไปได้

 

คอนเซปต์การเล่าเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องหวือหวา สาดกระสุนพุ่งใส่กัน แค่อาศัย “ทักษะ” ของตัวละครล้วน ๆ

 

หมวดหมู่เรื่องราวการสืบสวนหลาย ๆ ครั้งที่เราเห็นผ่านตา มักจะมีธรรมเนียมประเพณีสูตรสำเร็จทำนองเดียวกัน ตัวเรื่องมักจะเริ่มต้นด้วยคดีปริศนา ในพื้นที่เฉพาะเจาะจง อย่างคดีฆาตกรรมในห้องน้ำจากการ์ตูนโคนัน หรือ ปริศนาการตายของคุณปู่ในบ้านพักจากภาพยนตร์ Knives Out เป็นต้น เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น นักสืบจึงค่อย ๆ ประมวลความคิด อาศัยหลักวิทยาศาตร์เพื่อตีความ หาพยานหลักฐานเพื่อเริ่มระบุตัวผู้ต้องสงสัย นำไปสู่การไขคดี

 

ถ้าการสืบสวนทุกเรื่องเหมือนกันหมด เราจะรู้จัก Sherlock Holmes ไปทำไม ? 

 

อะไรที่ทำให้เรื่องราวน่าติดตาม ? และเราเรียนรู้ทักษะอะไรจากนักสืบคนนี้ได้บ้าง

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ขอยกตัวอย่างสั้น ๆ หนึ่งฉากเพื่ออธิบายความเชื่อมโยง

 

“Dr.Watson ส่งนาฬิกาให้ Sherlock Holmes แล้วให้อธิบายรายละเอียดเจ้าของนาฬิกา”

 

ถ้าเป็นเรา เราจะอธิบายรายละเอียดเจ้าของได้แค่ไหน ด้วยข้อมูลเพียงจำกัดจากการแค่สังเกตนาฬิกาเพียงอย่างเดียว เชื่อว่าทุกคนก็คงจะตอบอะไรได้ไม่มากกว่า ยี่ห้อ ขนาด หรืออาจจะพอเดารสนิยมของผู้ที่สวมใส่ ถูกต้องไหมครับ

 

งั้นเรามาลองสวมหมวกเป็นนักสืบกัน

อย่างที่รู้ว่าในสถานการณ์นี้ Sherlock Holmes ทำได้เพียงวิเคราะห์จากการสังเกตเท่านั้น เขาหยิบนาฬิกาขึ้นมาสำรวจอย่างละเอียดทุกระเบียดนิ้ว และคาดคะเนด้วยเหตุผลที่น่าสนใจว่า นาฬิกาเรือนนี้ต้องมีราคาแพงเพราะทำด้วยทอง มีอายุ 50 ปีเป็นอย่างน้อย ด้านหลังมีอักษรตัวย่อคำว่า H.W.  มีเครื่องหมายของร้านรับจำนำ มีรอยขีดข่วนรอบตัวนาฬิกา โดยเฉพาะที่ปุ่มไขลาน มีรอยบุ๋มเล็กๆ หลายแห่ง 

 

จากสภาพทรุดโทรมของนาฬิกา ทำให้เดาได้เบื้องต้นว่าเจ้าของเป็นคนค่อนข้างรักอิสระ ไม่ใส่ใจอะไรกับข้าวของนัก ส่วนอักษร H.W. เป็นไปได้มากว่าน่าจะเป็นของ Dr.Watson เอง แต่ด้วยความที่ดูเก่ามาก คิดว่าน่าจะเป็นมรดกมาจากพ่อ รอยขีดข่วนที่เกิดจากร้านรับจำนำ สามารถบอกได้ว่า เจ้าของน่าจะขัดสนเรื่องเงินทองบ่อย ๆ รอยสึกใหญ่ ๆ บริเวณตรงเม็ดมะยมไขลาน อาจจะเกิดขึ้นจากเจ้าของที่เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก หยิบจัดไม่ถนัด อาจจะตาบอด ไม่ก็เมาเหล้า 

 

เมื่อรวบรวมข้อสันนิษฐานได้ทั้งหมดแล้ว Sherlock Holmes ก็ผนวกเรื่องราวเข้าด้วยกันแล้วบอกกับว่า “เจ้าของคือพี่ชายคนโตของ Dr.Watson” ได้รับมรดกมาจากพ่อ เขาเป็นคนไม่เรียบร้อย สะเพร่า จนชีวิตต้องพบกับความลำบากอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ชีวิตไม่แน่นอน และหาทางออกด้วยการดื่มเหล้า

 

แน่นอนว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้องและทำเอา Dr.Watson อึ้งไปอยู่พักใหญ่ 

ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้แค่ทักษะ “การอนุมาน” เท่านั้นเองครับ 

 

การอนุมานที่เรากำลังเอ่ยถึงนี้ก็เป็นเรื่องเดียวกันกับที่เราเรียนในพวกวิชาคำนวณอย่างคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ซึ่งในความจริงแล้วการอนุมานก็เป็นแค่ชื่อเท่ ๆ ของการเดานั่นแหละ แต่ถ้าเราเดาด้วยการสังเกต มีเหตุผล มันก็นำไปสู่คำตอบที่ถูกต้องได้

 

จากเหตุการณ์สั้น ๆ นี้อาจจะทำให้เราเห็นมุมมองที่ต่างออกไปบ้างจากภาพยนตร์นักสืบเรื่องอื่นที่ไขปริศนาด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ถามว่าผิดไหมที่แค่ใช้หลักวิทยาศาสตร์ คำตอบคือ ไม่ผิด แต่บางครั้งวิทยาศาสตร์ล้วน ๆ มันก็อาจไม่เพียงพอ เรื่องนี้แฟนเดนตายของภาพยนตร์สืบสวนอาจจะรู้ดีที่สุด เพราะตั้งแต่ Sherlock Holmes ถูกดัดแปลงจากหนังสือสู่จอภาพยนตร์ หลังจากนั้นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับอาชญากรรมไขคดีเรื่องอื่นเริ่มเจริญรอยตาม มีการใช้จิตวิทยาอะไรเพื่อช่วยในการวิเคราะห์ ประยุกต์ทักษะการอนุมานเข้ากับข้อมูลอื่น ๆ เช่น ข้อมูลทางกายภาพ พอเห็นนิ้วมือของหญิงสาวมีลักษณะแบนกว่าปกติ ก็เดาเบื้องต้นได้ว่า ถ้าหญิงสาวคนนี้ไม่ใช่นักดนตรีที่เล่นเปียโน ก็ต้องเป็นเลขานุการที่พิมพ์ดีดมาก ๆ ปลายนิ้วถึงมีลักษณะแบน แล้วใช้ความคิดนี้จำกัดวงการสืบสวนให้แคบลง

 

 

Sherlock Holmes

ชื่อภาพ : Sherlock Holmes

 

 

ชีวิตจริงเรารู้จักทักษะอนุมานแบบ Sherlock Holmes ผ่านคำว่า “Critical Thinking”

 

หรือที่เราเรียกว่าการคิดเชิงวิพากษ์ ซึ่งทักษะนี้นับเป็นหนึ่งในทักษะจำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 เพราะ Critical Thinking จะช่วยให้เราสามารถพิจารณาความน่าเชื่อถือของข้อมูล และจัดการกับปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้อย่างตรงจุด ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น บ้านไฟดับ อาจเพราะหลอดไฟขาด ไฟตกหรือปัจจัยอื่นแต่เมื่อพิจารณาร่วมกับหลักฐานอื่นคือไม่ได้จ่ายค่าไฟมาหลายเดือน จึงอนุมานได้ว่าน่าจะโดนตัดไฟจึงควรไปชำระหนี้ค้างจ่ายเพื่อให้สามารถใช้ไฟฟ้าได้อีกครั้ง

ตัวอย่างงานวิจัย Dr. Rollyn Melvin Butler นักวิจัยด้านพฤติกรรมจากสถาบัน Claremont School of Theology สหรัฐอเมริกา พบว่ามีความเชื่อมโยงกันระหว่างทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ คุณภาพชีวิตด้านมนุษยสัมพันธ์ อาชีพ และการเงินของแต่ละบุคคล

ผลลัพธ์ทดลองในครั้งนั้นคือ ผู้เข้าทดสอบที่คิดอย่างรอบคอบ มีวิจารณญาณ มักไม่ค่อยก่อปัญหาเลวร้ายในชีวิตมากนัก ตั้งแต่ปัญหาในชีวิตที่เล็กน้อยที่สุดอย่าง “คืนหนังสือห้องสมุดตรงเวลา” ไปจนถึงขั้นรุนแรงคือ “เมาขาดสติจนโดนใบสั่ง”

ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ สามารถพบเห็นได้เหตุการณ์ที่เราพบเจอในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่มักจะมาในรูปแบบของ ‘ปัญหา’ บางปัญหาทำให้เราเกิดคำถามขึ้นในใจว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร? ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? และเกิดขึ้นเพราะอะไร? และแต่ละเหตุการณ์หรือปัญหาต่างๆที่เข้ามานั้นมักจะเกิดขึ้นไม่ซ้ำกัน ทำให้คนเราจะต้องหาวิธีเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต 

 

กุญแจสำคัญอย่างหนึ่งในการคิดของ Sherlock Holmes คือความสามารถในการมองเห็นโลกจากมุมมองที่แตกต่าง รู้จักสังเกต และกล้าที่จะคิดนอกกรอบ 

 

เพราะแม้แต่ปัญหาชีวิตที่ซับซ้อนที่สุด

เราก็เป็น Sherlock Holmes ให้ตัวเราเอง

เพียงแค่ ‘อนุมาน’ ให้เป็น

 

 

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS