กองดอง ที่มาที่ไป…ของการซื้อไว้แล้วไม่อ่าน

A A
Nov 15, 2023
Nov 15, 2023
A A

 

กองดอง ที่มาที่ไป…ของการซื้อไว้แล้วไม่อ่าน

 

 

 

งานวิจัยในปี 2009 จากสถาบัน Mindlab International แห่งสหราชอาณาจักร พบว่าระดับความเครียดของคนเราสามารถลดลงได้มากถึง 68 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว จากการอ่านหนังสือเพียง 6 นาที เมื่อเทียบกับการทำกิจกรรมคลายเครียดอื่น ๆ ถ้าการอ่านหนังสือดีขนาดนี้ ทำไมเดี๋ยวนี้คนถึงนิยมซื้อแต่ไม่นิยมอ่านกันล่ะ 

 

คนที่ชอบอ่านหนังสือก็ต้องมีพฤติกรรมชอบซื้อหนังสือ ถูกต้องไหมครับ ?

แต่คนที่ชอบซื้อหนังสือก็ไม่จำเป็นต้องชอบอ่านหนังสือเสมอไป

 

เรากำลังพูดถึงนิสัยที่เราเรียกเล่น ๆ ว่า “กองดอง”

 

คำจำกัดความกว้าง ๆ ของคนจำนวนไม่น้อยชอบไปเดินร้านหนังสือ งานมหกรรมหนังสือ และมีความสุขกับการยืนพลิกดูหนังสือ ซื้อกลับมาวางในชั้นที่บ้าน แต่พอมีเวลาว่างจริง ๆ กลับเอาเวลาไปทำอย่างอื่นแทน ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการเขียน to-do list รายการหนังสือที่ควรจะอ่านให้จบ แต่ก็ไม่ได้อ่านสักที ก็เลยรู้สึกผิด แต่ก็อดไม่ได้ที่จะซื้อหนังสือใหม่ ๆ มาเพิ่มอยู่เรื่อยๆ อยู่ดี

 

 

กองดอง นิสัยนี้มีมาเป็นร้อยปี

ชื่อภาพ : Antilibrary

 

 

กองดอง นิสัยนี้มีมาเป็นร้อยปี

 

จริง ๆ แล้วพฤติกรรมการดองหนังสือ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักอ่านทั่วโลก ไม่ใช่แค่บ้านเราเพียงอย่างเดียว ซึ่งนิสัยแบบนี้มีนิยามทางหลักจิตวิทยาอยู่ 2 คำ คือ “Tsundoku” และ “Bibliomania”

Tsundoku เริ่มใช้ครั้งแรกตั้งแต่ยุคเมจิระหว่าง ค.ศ.1868 – ค.ศ.1912 เป็นยุคที่กำลังเข้าสู่ยุคใหม่ของญี่ปุ่น พฤติกรรมกองดองปรากฎครั้งแรกในบทความของ Mori Senzo ปี 1879 โดยใช้คำว่า Tsundoku Sensei เพื่อเสียดสีนักการศึกษาคนหนึ่งที่มีหนังสือเยอะมากแต่ไม่ได้อ่านหนังสือที่ตัวเองมีอยู่เลย 

คำว่า Tsundoku เกิดจากการรวมคำสองคำ คือ “Tsun” มาจาก “Tsumu” ที่แปลว่า การกอง หรือเพิ่มขึ้นเป็นกองและคำว่า “Doku” ที่แปลว่า การอ่าน พอมารวมกันความหมายเลยกลายเป็น “การซื้อสิ่งใดที่อ่านได้มากองไว้”

ส่วนคำว่า “Bibliomania” ปรากฎขึ้นครั้งแรกในนวนิยายของ Thomas Frognall Dibdin ช่วงศตวรรษที่ 19 ใช้สำหรับบรรยายพฤติกรรมการสะสมหนังสือชนิดที่ไม่สามารถหยุดตัวเองได้ เข้าขั้นบ้าคลั่งและไม่สามารถห้ามได้ มาถึงตรงนี้เราจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมนี้มีมานานแล้วและก็ดูไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

แต่ Karen Anne Hope Andrews นักจิตวิทยาคลีนิคประจำ Al Amal Psychiatric Hospital ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ไว้ว่า หนังสือก็ไม่ต่างอะไรกับกระเป๋าแบรนด์เนมใบโปรด  คนเราซื้อมันเพื่อสะสม และเป็นการสะสมที่ทำให้เราเกิดความพึงพอใจในการได้ครอบครอง ไม่ต่างจากวัตถุอื่น ๆ เลย เพราะการที่เราสะสมหนังสือหรือสร้างชั้นหนังสือของเรากับมือ เมื่อเราต้องการที่จะอ่านขึ้นมาก็จะหยิบอ่านได้ทันที เกิดความสุขเล็ก ๆ ปนความภาคภูมิใจในตัวเรานั่นเอง

การวิจัยหลายชิ้นในต่างประเทศชี้ให้เห็นว่า เด็ก ๆ ที่โตมากับการอ่านจากบ้านที่มีหนังสือมากมาย จะมีจุดแข็งหลายด้าน รวมถึงจินตนาการที่ชัดเจนมากขึ้น การเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น ทักษะทางการพูดและสมาธิดีมากขึ้น และการประสบความสำเร็จทางวิชาการมากขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตามในวัยผู้ใหญ่นั้น อาจประสบปัญหาจากการหาเวลามาอ่านหนังสือที่ชอบได้ไม่เท่าที่ควร จากเวลาการทำงาน หรือการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ทำให้เกิดความสุขในการสะสมหนังสือที่ชอบ หรือสะสมไว้ให้ลูกหลานต่อไปนั่นเอง

 

ใครบอกคนไทยชอบกองดอง ใครบอกคนไทยอ่านหนังสือแค่ 8 บรรทัดต่อปี

 

ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ในปี 2565 บอกว่าคนไทยใช้เวลาอ่านเฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน สถิตินี้นับรวมการอ่านหนังสือ บทความออนไลน์ และ Social Media เพิ่มขึ้นกว่า 200% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อีกทั้งพบว่าคนรุ่นใหม่ Gen Z สมัครเป็นสมาชิกห้องสมุดเพิ่มขึ้น และนิยมหนังสือประเภทการ์ตูนความรู้วรรณกรรมแปล นวนิยายไทย การ์ตูนมังงะ ธุรกิจการลงทุน จิตวิทยาพัฒนาตนเอง การเรียนรู้ภาษา อีกด้วย นั่นทำให้งานสัปดาห์หนังสือกลายเป็น “ขุมทรัพย์ของนักอ่าน” กิจกรรมที่ได้รับผลตอบรับอย่างดี มีผู้เข้าชมงาน 1-2 ล้านคนต่อปี และทำยอดขายได้เฉลี่ยปีละประมาณ 300 ล้านบาท

เพราะยิ่งอยากรู้มากเท่าไหร่ หนังสือก็ยิ่งอยู่บนชั้นมากขึ้นเท่านั้น

การที่นักสะสมเหล่านี้มีหนังสือจำนวนมากที่ยังไม่ได้เปิดอ่าน ไม่ได้เป็นการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ว่าคน ๆ นั้นฉลาดดว่าคนอื่น แต่ในเชิงจิตวิทยาหนังสือเหล่านี้เปรียบเสมือนเครื่องย้ำเตือนมากกว่า เครื่องย้ำเตือนที่บอกว่ามีสิ่งที่ยังไม่รู้อีกมาก ซึ่งเรานิยามคนเหล่านี้ไว้ว่า Anti – library ยกตัวอย่างเช่น เรื่องราวของนักปรัชญาและสัญญาณศาสตร์ชื่อดังชาวอิตาลี Umberto Eco กับห้องสมุดที่ยังไม่ได้อ่านซึ่งด้านในเต็มไปด้วย หนังสือมากกว่า 30,000 เล่มที่ Umberto ยังไม่เปิดอ่าน ทำให้หนังสือพวกนี้เป็นเครื่องช่วยเตือนถึงความไม่รู้และอยากเรียนรู้เพิ่มของเขาแทน

เพราะฉะนั้นการที่เราซื้อหนังสือมาดองไว้นั้นไม่ใช่เรื่องผิดอะไร การอ่านไม่จบเล่มก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่เช่นกัน เพราะสิ่งนี้เป็นเรื่องบ่งบอกว่าเราใฝ่ความรู้อยู่ตลอดเวลานั่นเอง

 

อ้างอิง

https://nesslabs.com/antilibrary

https://bigthink.com/neuropsych/do-i-own-too-many-books/?utm_medium=Social&utm_source=Facebook

https://www.themarginalian.org/2015/03/24/umberto-eco-antilibrary/

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS