การจับดินสอผิด…ชีวิตเปลี่ยน

A A
Nov 10, 2023
Nov 10, 2023
A A

 

การจับดินสอผิด…ชีวิตเปลี่ยน

 

 

 

“การจับดินสอ” คือ พัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เด็กรู้จักการใช้มือจับของเล่นหรือการหยิบจับอาหารเข้าปาก รวมไปถึงการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ โดยธรรมชาติแล้ว เด็กทุกคนต้องการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ถ้าเด็กๆ ได้ทำกิจกรรมเหล่านี้บ่อยๆ กล้ามเนื้อมือก็จะแข็งแรง พร้อมสำหรับการทำสิ่งต่างๆ รวมทั้งสามารถใช้มือในการขีดเขียนด้วยความมั่นใจ

 

แต่ละมีโรงเรียนเองก็ที่มีแนวทางการสอนที่หลากหลายตามแบบฉบับของตัวเอง บางโรงเรียนเป็นแนววิชาการที่มีการสอนการเขียนการอ่านอย่างเข้มข้นตั้งแต่วัยอนุบาล ในขณะที่บางโรงเรียนอาจเน้นการเล่นการทำกิจกรรม ทำให้เกิดคำถามว่า การเขียนได้เร็ว ทำให้เด็กได้เปรียบจริงหรือไม่

 

งานวิจัยจากวารสาร European Early Childhood Education Research Journal ไม่พบข้อได้เปรียบระยะยาวจากการเริ่มอ่านเริ่มเขียนเร็ว เด็กที่อ่านได้เร็ว อาจมีความได้เปรียบในระยะสั้น แต่ไม่ได้ส่งผลต่อการเรียนในระยะยาว ในงานวิจัยนี้ได้เปรียบเทียบเด็กใน Estonia กับ Finland เนื่องจากประเทศทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันในทางภาษา สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม แต่มีความแตกต่างกันเล็กน้อยในระบบการศึกษา เด็กใน Estonia จะเริ่มเรียนการอ่านตั้งแต่ในชั้นอนุบาล ช่วงอายุประมาณ 4-5 ขวบ ในขณะที่ประเทศฟินแลนด์เด็กจะเริ่มเรียนการอ่านในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ประมาณ 6-7 ขวบ การศึกษานี้ทดสอบความสามารถในการอ่าน โดยวัดจากความคล่องในการอ่านหนังสือ และการเข้าใจเรื่องจากการอ่าน ผลปรากฏว่า เมื่อจบการศึกษาในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 เด็กในทั้งสองประเทศมีระดับความสามารถในการอ่านเขียนเท่ากัน ถึงแม้ว่าเด็กใน Estonia เริ่มอ่านเขียนในระดับชั้นอนุบาล และได้ผลคะแนนการอ่านเขียนสูงกว่าเด็กใน Finland ช่วงต้นปีการศึกษาของชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

 

ถ้าถามว่าทำไมจับดินสอผิด…ชีวิตถึงเปลี่ยน 

 

จากงานวิจัยของไทยที่นำเครื่องวัดแรงบีบมือมาใช้ทดสอบความแข็งแรงกล้ามเนื้อมัดเล็กของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 1,918 คน จาก 70 โรงเรียน ใน 6 จังหวัดพื้นที่ภาคใต้

พบว่ามีเด็กถึง 98% ที่มีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน อยู่ในภาวะที่เรียกว่า “กล้ามเนื้อบกพร่อง” ซึ่งความบกพร่องนี้ไม่เพียงส่งผลต่อร่างกายเท่านั้นแต่ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้อีกด้วย โดยสัญญาณเตือนที่ว่าเด็กคนไหนเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับภาวะกล้ามเนื้อบกพร่อง อาจมาจากการจับดินสอที่ไม่ถูกวิธีก็ได้ ทั้งนี้เกิดจากการที่กล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง โดยรูปแบบการจับดินสอที่ผิดส่วนใหญ่คือ การกำนิ้วโป้งห่อที่เกิดช่องว่างระหว่างโคนนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ที่ค่อนข้างแคบหรือการกำนิ้วโป้งซุกที่มักจะนำนิ้วโป้งมาจับที่ตัวด้ามของดินสอและมีช่องว่างระหว่างโคนนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ที่ค่อนข้างแคบ ซึ่งการจับดินสอผิดนี้รวมไปถึงการใช้ข้อมือเพื่อเคลื่อนไหวแทนนิ้ว สำหรับการชดเชยความไม่แข็งแรงของกล้ามเนื้ออีกด้วย นี่จะเป็นรูปแบบการจับดินสอที่บล็อกการเคลื่อนไหวที่เกิดจากการที่กล้ามเนื้อมือมีความบกพร่อง

 

 

การจับดินสอที่ถูกวิธี

ชื่อภาพ : Pencil Grasp Development

 

 

 แล้วการจับดินสอที่ถูกวิธีส่งผลต่อการเรียนรู้แบบไหน

 

การจับดินสอที่ถูกวิธีจะใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้เพื่อบังคับดินสอ วางดินสอลงบนข้อนิ้วมือของนิ้วกลาง โดยนิ้วกลางช่วยประคอง นิ้วนางและนิ้วก้อยเป็นฐานรองรับ ตามหลักการของ Tripod Grip ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้สามารถเขียนได้อย่างถนัด ลดการเกร็ง การเมื่อยล้าในการเขียน และเขียนได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น เมื่อเด็กๆ เรียนรู้การจับดินสอที่ถูกวิธีมาตั้งแต่เริ่มต้น โอกาสในการพัฒนาเรียนรู้ด้านอื่น ๆ ก็จะมีมากขึ้นตามลำดับเพราะไม่ต้องเสียเวลาไปกับการฝึกเขียน 

สำหรับเด็กที่มีพัฒนาการในการเขียนที่เป็นปัญหามักมีอาการเมื่อยมือง่าย มีความทนทานในการเขียนน้อย ลายมือไม่สวย ลายเส้นไม่ต่อเนื่อง บางครั้งปัญหาก็อาจจะลุกลามไปถึงการเบื่อหน่ายการเรียน เพราะเขียนไม่ทันเพื่อน สายตามีปัญหา เพราะวางท่าทางในการเขียนผิดวิธี บางคนมีผลต่อบุคลิกภาพในตอนโต หากทำงานที่ต้องใช้การเขียนในที่สาธารณะก็จะขาดความมั่นใจไม่กล้านำเสนองาน ทำให้การปลูกฝังวิธีการจับดินสอที่ถูกวิธีจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็กตั้งแต่ยังเล็ก เพราะจะมีส่วนช่วยต่อการพัฒนาลายมือและการเขียนของเด็กได้ แต่ที่สำคัญพ่อแม่ผู้ปกครองรวมถึงครู ต้องหมั่นสังเกตุลักษณะการจับสินสอของลูกตามพัฒนาการเป็นระยะ ๆ ฝึกเเบบค่อยเป็นค่อยไปเเละควรอยู่ในบรรยากาศที่เด็กรู้สึกผ่อนคลาย เพราะสุดท้ายแล้วการที่เด็กคนนึงจะสามารถหยิบจับสิ่งของ หรือควบคุมเครื่องเขียน ทั้งดินสอ, ปากกา หรือเเท่งสีได้นั้น ต้องอาศัยทักษะในด้านต่าง ๆ ทั้งความสัมพันธ์ของการเคลื่อนไหวที่ดีเเละความสัมพันธ์ของกำลังใจที่ดี 

 

อ้างอิง

https://www.twinkl.co.th/teaching-wiki/tripod-grip

https://lovewritingco.com/blogs/blog/how-to-help-your-child-develop-the-correct-dynamic-tripod-grip

https://www.theottoolbox.com/types-of-pencil-grips/

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS