เมื่อเด็กขอความช่วยเหลือ เขากำลังมอบของขวัญให้กับเรา

A A
Sep 5, 2022
Sep 5, 2022
A A

เมื่อเด็กขอความช่วยเหลือ เขากำลังมอบของขวัญให้กับเรา

 

  • ผู้ใหญ่อาจเคยชินกับการที่เด็กวิ่งมาขอความช่วยเหลือ จนคิดว่ามันคือเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำ หากมองอีกแง่การขอความช่วยเหลือของเด็กอาจเทียบได้กับการที่เด็กมอบของขวัญให้เรา ของขวัญที่ว่านี่ก็คือ “โอกาสที่เราจะได้ช่วยเหลือเขา”
  • เด็กมักจะร้องไห้กับผู้ใหญ่ที่เด็กรู้สึกเชื่อใจ และรู้ว่าสามารถช่วยเหลือเขาได้ เมื่อไรที่เด็กขอความช่วยเหลือจากเรา อาจไม่ต่างอะไรจากการที่พวกเขากำลังมอบของขวัญให้ ของขวัญที่ว่านี่ก็คือ “โอกาสที่เราจะได้ช่วยเหลือเขา”
  • เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น พวกเขาเริ่มมีมุมมองที่เปลี่ยนไปต่อการขอความช่วยเหลือ มองว่าทำให้ตัวเอง “ดูโง่” และ “อ่อนแอ” แต่เด็ก ๆ อาจไม่รู้ว่า ยิ่งพวกเขาไม่กล้าขอความช่วยเหลือมากเท่าไร ผลเสียจะยิ่งตกอยู่กับตัวเองมากขึ้น
  • ไม่เฉพาะสำหรับเด็กเท่านั้น สำหรับคนทุกเพศทุกวัยเอง การขอความช่วยเหลืออาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เราจัดการกับปัญหายาก ๆ ได้
  •  

   “ครูขา แซมหกล้มอยู่ข้างนอก ครูไปช่วยดูหน่อยค่ะ”

 

คุณเคยรู้สึกอิจฉาผู้ใหญ่ที่เด็ก ๆ วิ่งเข้าหาเมื่อพวกเขาต้องการความช่วยเหลือบ้างหรือไม่ ทำไมเด็กถึงเลือกที่จะวิ่งเข้าหาผู้ใหญ่คนหนึ่งแทนที่จะวิ่งเข้าหาอีกคน นี่เป็นคำถามที่ YeYoon Kim  อดีตครูปฐมวัยชาวเกาหลีฉุกคิดขึ้นมาได้เมื่อมีเด็กคนหนึ่งเรียกให้เธอไปช่วยดูเพื่อนที่หกล้มอยู่ข้างนอก ในฐานะผู้ใหญ่เราอาจจะเคยชินกับการที่เด็กวิ่งมาขอความช่วยเหลือ จนคิดว่ามันคือเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำ แต่ถ้าเรามองเหตุการณ์นี้ในอีกมุมมองหนึ่ง มันสะท้อนอะไรได้มากกว่าแค่เด็กคนหนึ่งที่กำลังขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ แต่เหตุการณ์นี้อาจทำให้หัวใจของผู้ใหญ่พองโตเมื่อได้รู้ว่า เด็ก ๆ กำลังมอบของขวัญให้กับเรา ซึ่งของขวัญที่ว่านี่ก็คือ “โอกาสที่เราจะได้ช่วยเหลือเขา” แต่ทำไมเมื่อเด็กยิ่งโตขึ้น พวกเขากลับยิ่งไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ สิ่งนี้ทำให้เขาเสียโอกาส หรือก่อให้เกิดปัญหาอะไรที่ใหญ่โตเกินกว่าที่เด็ก ๆ คาดคิดไว้บ้าง

 

เมื่อเด็กหกล้ม พวกเขาไม่ได้ร้องไห้ขอความช่วยเหลือในทันที

ผู้ใหญ่ส่วนมากโดยเฉพาะคนที่เป็นพ่อแม่คงจะเคยสังเกตเห็นว่า เด็ก ๆ มักจะร้องไห้เมื่อพวกเขาหกล้ม และทันทีที่เราได้ยินเสียงร้องไห้ เราก็พร้อมที่จะทิ้งทุกสิ่งแล้ววิ่งเข้าไปปลอบประโลมพวกเขา แต่ YeYoon Kim เป็นครูที่ช่างสังเกต เธอเฝ้าดูครูที่มีประสบการณ์ว่าจะมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนของตัวเองอย่างไร แล้วก็พบว่า เด็กที่หกล้มไม่ได้ร้องไห้ในทันที แต่เด็กจะยืนขึ้น งุนงง ราวกับกำลังประมวลว่า “เมื่อกี้เกิดอะไรขึ้น” “มันใหญ่โตขึ้นถึงขั้นต้องร้องไห้เลยหรือไม่” “มันเจ็บหรือเปล่า” ส่วนมากแล้วเด็กมักจะโอเคจนกระทั่งไปสบตากับผู้ใหญ่เข้า หากผู้ใหญ่คนนั้นเป็นคนที่เด็กเชื่อใจ และรู้ว่าสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ เมื่อนั้นเองที่เด็กจะเริ่มร้องไห้ 

 

ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยบนโลกออนไลน์

การร้องไห้ของเด็ก ๆ เพื่อขอความช่วยเหลือจึงเป็นดั่งของขวัญสำหรับผู้ใหญ่ที่จะหยิบยื่นความช่วยเหลือให้กับเขา

สิ่งที่น่าสังเกต คือ เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น พวกเขาเริ่มมีมุมมองที่เปลี่ยนไป มองว่าการขอความช่วยเหลือจะทำให้ตัวเอง “ดูโง่” และ “อ่อนแอ” แต่เด็ก ๆ อาจไม่รู้ว่า ยิ่งพวกเขาไม่กล้าขอความช่วยเหลือมากเท่าไร ผลเสียจะยิ่งตกอยู่กับตัวเองมากขึ้น

 

การขอความช่วยเหลือสำคัญอย่างไร

ไม่เฉพาะสำหรับเด็กเท่านั้น สำหรับคนทุกเพศทุกวัยเอง การขอความช่วยเหลืออาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เราจัดการกับปัญหายาก ๆ ได้ เช่น เมื่อถูกบูลลี่ที่โรงเรียน มีปัญหาในการทำงาน มีความขัดแย้งกับเพื่อน

แม้ว่าเด็กจะเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ เกินกว่าที่เขาจะจัดการแก้ไขได้เอง แต่หากเด็กรู้จักขอความช่วยเหลือ เขาก็สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ เด็กยังเกิดความเครียด และความเศร้าน้อยกว่าเด็กที่ขาดทักษะนี้อีกด้วย

 

ทำไมการขอความช่วยเหลือกลายเป็นเรื่องยากเมื่อเด็กโตขึ้น

จากเด็กที่เคยร้องขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่แบบไม่แคร์สายตาใคร เมื่อไรกันที่เด็กเริ่มสนใจสายตาของผู้คนรอบข้างจนการเอ่ยปากขอความช่วยเหลือกลายเป็นเรื่องที่ต้องคิดแล้วคิดอีก งานวิจัยพบว่าเด็กเล็กที่อายุเพียง 5 ขวบ ก็เริ่มแคร์ผู้คนรอบข้างแล้ว เด็กสนใจว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับตัวเอง บางครั้งก็ถึงขั้นโกงเกมง่าย ๆ เพื่อให้ตัวเองดูฉลาด

เมื่ออายุได้ 7 ขวบ เด็กจะเริ่มจะมองว่าการขอความช่วยเหลือทำให้ดูไร้ความสามารถในสายตาคนอื่น สิ่งที่น่าเป็นห่วงจึงเป็นเรื่องการเรียนรู้ของเด็ก ๆ หากพวกเขาไม่เข้าใจ หรือมีปัญหาบางอย่าง แต่ไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากเพื่อนหรือครู เพียงเพราะกลัวจะดูโง่ เด็ก ๆ ก็จะไม่สามารถเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพของตัวเอง

นักวิจัยอยากรู้ว่า เด็กคิดอย่างไรเกี่ยวกับชื่อเสียง พวกเขาจึงสร้างเรื่องราวง่าย ๆ แล้วให้เด็ก 576 คน อายุระหว่าง 4-9 ปี ตอบคำถามจากสถานการณ์เหล่านั้น โดยจะมีตัวละครหนึ่งที่อยากดูฉลาดจริง  ๆ กับอีกตัวละครหนึ่งที่อยากดูฉลาดในสายตาคนอื่น ในการศึกษาชิ้นหนึ่งนักวิจัยบอกเด็กว่า ตัวละคร 2 ตัวทำข้อสอบได้ไม่ค่อยดีเท่าไร แล้วถามเด็กว่า ตัวละครไหนมีแนวโน้มจะยกมือขึ้นหน้าชั้นเรียนเพื่อขอความช่วยเหลือจากครู ผลปรากฏว่า เด็ก 4 ขวบ มีแนวโน้มที่จะตอบว่าเป็นตัวละคร 2 ตัว เท่า ๆ กัน แต่เมื่อเด็กอายุได้ 7-8 ขวบ เด็กจะคิดว่า ตัวละครที่อยากจะดูฉลาดจะไม่ค่อยขอความช่วยเหลือ แต่หากสามารถใช้คอมพิวเตอร์เพื่อหาข้อมูลได้ โดยที่ไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากคนจริง ๆ แล้วล่ะก็ เด็กจะคิดว่า ตัวละครทั้ง 2 ตัวก็มีแนวโน้มเท่า ๆ กันที่จะเลือกใช้คอมพิวเตอร์

นอกจากนี้ นักวิจัยยังถามเด็กเกี่ยวกับสถานการณ์อื่นอีก พบว่าเด็กรู้ว่า พฤติกรรมแบบไหนที่จะทำตัวเองดูฉลาดน้อยลงในสายตาเพื่อน เช่น การยอมรับความล้มเหลว หรือการมองข้ามความสำเร็จอย่างสุภาพ ฉะนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่เด็กจะหลีกเลี่ยงการขอความช่วยเหลือเมื่อมีคนอื่นอยู่ด้วย และแน่นอนว่ามันจะกระทบต่อความก้าวหน้าทางวิชาการของเด็ก

งานวิจัยยังพบอีกว่า คนเราชอบคิดว่าคนที่ขอความช่วยเหลือจะรู้สึกไม่ค่อยสบายใจเมื่อทำแบบนั้น การขอความช่วยเหลือจึงกลายเป็นพฤติกรรมที่คนขอเองก็มองในแง่ลบ และคนที่ถูกขอก็ดันประเมินคุณค่าของมันต่ำเกินจริง ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว พฤติกรรมนี้ควรถูกมองด้วยมุมมองใหม่ 

ในฐานะคนที่ต้องการความช่วยเหลือ เด็กต้องรับรู้ก่อนว่า ตัวเองต้องการความช่วยเหลือ ต่อมาคือเด็กต้องรู้ว่าเมื่อขอความช่วยเหลือไปแล้ว จะมีคนช่วยเหลือเขาจริง ๆ

ในฐานะผู้ใหญ่ที่เด็กมักจะมาขอความช่วยเหลือ เราควรทำให้เด็กรู้ว่า ผู้ใหญ่พร้อมช่วยเหลือพวกเขาเสมอ อาจจะยกตัวอย่างตอนที่เราต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น เพื่อให้เด็กเห็นว่า บางครั้งคนทุกวัยก็ต้องการความช่วยเหลือไม่ต่างกัน การขอความช่วยเหลือไม่ใช่การแสดงออกถึงความอ่อนแอเสมอไป แต่เป็นสัญญาณของวุฒิภาวะ และความแข็งแกร่ง ต้องทำให้เด็กเห็นว่า คำถามที่เด็กใช้เพื่อขอความช่วยเหลือจะสร้างบทสนทนาอันมีค่าได้อย่างไร

ฉะนั้น เมื่อไรที่เขาขอความช่วยเหลือ เราควรยกย่องให้เด็กเห็นว่า เราเห็นคุณค่าที่เขามอบความวางไว้ใจ และขอความช่วยเหลือจากเรา ในฐานะครู สำคัญมากที่เด็กต้องรู้ว่า พวกเขาจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดอย่างไร และการขอความช่วยเหลือเมื่อต้องการ คือ วิธีการที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ของพวกเขาเอง

เด็กขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่

 

วิธีส่งเสริมทักษะการสนับสนุนตัวเองให้เด็ก ๆ 

 

1.เสริมสร้างอภิปัญญาให้เด็ก (Metacognition) 

วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กรู้ว่าพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ คือ การเสริมสร้างทักษะการสะท้อนตนเอง และทักษะอภิปัญญา จากเดิมที่ผู้ใหญ่จะเป็นคนคอยดูความก้าวหน้าของเด็ก แต่เราสามารถเปลี่ยนให้เด็กติดตามดูความก้าวหน้าของตนเองได้ตั้งแต่ชั้นประถมฯ การสอนเด็กเรื่องอภิปัญญาจะทำให้เด็กสามารถนำมาประเมินทักษะการเรียนรู้ของตัวเองได้ เช่น หลังจากสอบเสร็จ ครูลองให้เด็กตอบคำถามว่า ตัวเองเรียนรู้อย่างไร ใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือสอบเท่าไร และจะพัฒนาตัวเองอย่างไรในการสอบครั้งหน้า การถามคำถามปลายเปิดเกี่ยวกับการเรียนรู้จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะวัดความก้าวหน้าของตัวเอง และระบุจุดแข็งหรือจุดอ่อนที่ต้องการความช่วยเหลือได้

 

2.ระดมความคิดในการสร้างบทสนทนา

เด็กที่เป็น Introvert หรือขี้อายอาจรู้สึกหนักใจ หรือวิตกกังวลเมื่อต้องพูดคุยกับครู กรณีนี้การฝึกฝน หรือเล่นสมสมมติว่า มีการพูดคุยกันสามารถช่วยสร้างความมั่นใจให้เด็กที่ขี้อายได้ ข้อมูลพบว่า เมื่อเด็กได้ระดมความคิด เด็กจะมีความยืดหยุ่นทางจิตใจ และจะแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์มากขึ้น เมื่อเด็กคิดวิธีสร้างบทสนทนาได้แล้ว ให้เด็กลองพูดคุยเชิงสมมติกับครู กิจกรรมนี้สามารถทำเป็นกิจกรรมกลุ่มเล็ก ๆ ในห้องเรียน หรือเป็นกิจกรรมแบบตัวต่อตัวกับครูที่ไว้ใจได้ กับนักสังคมสงเคราะห์ หรือผู้ปกครองก็ได้

 

3.สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย

เด็กจะกล้าขอความช่วยเหลือเมื่อเขารู้สึกปลอดภัยที่จะแสดงความอ่อนแอ และความซื่อสัตย์ของตัวเองออกมา สิ่งเหล่านี้คือบรรยากาศที่ครูต้องสร้างในชั้นเรียนให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็น กล้าเสี่ยง และเปิดกว้าง อาจจะใช้กิจกรรมแบบทีมเพื่อสร้างความรู้สึกของหมู่คณะในห้องเรียน อีกวิธีหนึ่งที่ดีมาก คือ ให้ครูจำลองการพูดกับตัวเองเมื่อต้องทำบางสิ่งบางอย่างที่ต้องอาศัยความกล้าเสี่ยง หรือจะนำความผิดพลาดของตัวเองมาเป็นโอกาสในการพูดคุยกับเด็กถึงความไม่สมบูรณ์แบบ และจะทำอย่างไรถึงจะกลับสู่สภาพเดิมได้ เด็กจะได้เห็นว่า แม้แต่ผู้ใหญ่ก็ยังไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ

 

4.ช่วยให้เด็กเห็นว่าตนเองสามารถประสบความสำเร็จได้ 

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เด็กกล้าขอความช่วยเหลือ คือ เขาต้องเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองว่า จะประสบความสำเร็จได้ เพราะหากเด็กรู้สึกพ่ายแพ้ หรือหมดหนทาง โอกาสที่เด็กจะขอความช่วยเหลือก็จะน้อยลง

ฉะนั้น การที่เด็กเรียนรู้ที่จะขอความช่วยเหลือ พวกเขาไม่เพียงแค่ต้องใช้ทักษะการแก้ปัญหาเท่านั้น แต่เด็กยังต้องมีทักษะในเรื่องการสื่อสาร และแสดงออกถึงความต้องการของตัวเองอีกด้วย หากเรามองเรื่องนี้ในมุมมองใหม่ การขอความช่วยเหลือ และการให้ความช่วยเหลือ ก็ไม่ต่างอะไรจากการมอบของขวัญอันมีค่าให้แก่กันและกัน ของขวัญแห่งความไว้ใจจากคนขอ และของขวัญแห่งการให้จากคนที่มอบความช่วยเหลือ

 

 

อ้างอิง
https://www.ted.com/talks/yeyoon_kim_what_kids_can_teach_adults_about_asking_for_help
https://www.scientificamerican.com/article/why-kids-are-afraid-to-ask-for-help/
https://www.edutopia.org/article/teaching-students-how-ask-help
https://www.maginationpressfamily.org/mindfulness-kids-teens/asking-for-help/

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS