Math Anxiety แพร่ได้เหมือนไวรัส เมื่อความกังวลของครูส่งผลต่อคะแนนนักเรียน

A A
Oct 12, 2023
Oct 12, 2023
A A

 

Math Anxiety แพร่ได้เหมือนไวรัส 

เมื่อความกังวลของครูส่งผลต่อคะแนนนักเรียน

 

 

  • Math Anxiety หรืออาการกลัวเลข เป็นอาการวิตกกังวลทางร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่เฉพาะคนไม่ชอบเลขเท่านั้น แม้แต่คนที่เก่งเลขก็มีอาการนี้ได้
  • ครูและพ่อแม่ที่มีอาการ Math Anxiety สามารถส่งต่อความกังวลไปยังเด็กได้เหมือนการแพร่กระจายของไวรัส หากเด็กมีอาการกลัวเลข อาจทำให้เขาไปไม่ถึงอาชีพที่ใฝ่ฝันในอนาคต
  • มีหลายวิธีที่ผู้ใหญ่ช่วยเด็กลดอาการกลัวเลขได้ เช่น การสร้างบรรยากาศที่ดี ปรับเปลี่ยนกระบวนการสอน และปรับวิธีสื่อสารกับเด็ก

 

ใครเคยคิดว่า ตัวเองไม่เก่งเลขบ้าง เพียงแค่นึกว่า พรุ่งนี้มีสอบเลข หัวใจก็เต้นแรงขึ้นทันที พอเดินเข้าห้องสอบจริง ท้องไส้ก็เริ่มปั่นป่วน เหงื่อออกเต็มมือจนชุ่มไปหมด อาการที่ว่านี้ คือ Math Anxiety หรืออาการกลัวเลขที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ผู้ใหญ่หรือเด็กก็ได้ ความน่ากลัวนี้ไม่เพียงแค่ส่งผลต่อความสามารถทางคณิตศาสตร์ต่อใครสักคนเท่านั้น แต่ยังแพร่กระจายได้เหมือนไวรัส ส่งต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง ลองนึกดูสิว่า ถ้าครูสอนเลขมีอาการนี้ แล้วส่งต่อความวิตกกังวลไปยังนักเรียน นั่นแปลว่า นักเรียนจะมีอาการกลัวเลขเหมือนกัน สุดท้ายแล้วอาจส่งผลให้นักเรียนสอบได้คะแนนแย่ลงตามไปด้วย หรือแม้แต่พ่อแม่ที่มีอาการนี้ก็อาจส่งต่อความกลัวเลขให้ลูกได้ในขณะที่สอนลูกทำการบ้าน เมื่อผลกระทบของ Math Anxiety ไม่ได้จำกัดที่คน ๆ เดียว แต่สามารถแพร่กระจาย และสร้างความเสียหายได้มากกว่าที่เราคิด เรามาทำความรู้จักกับอาการนี้กันสักหน่อย มันเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะมีวิธีลดอาการกลัวเลขได้อย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะครู พ่อแม่ หรือนักเรียน เพราะถึงอย่างไรเลขก็ยังเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราอยู่ดี

 

Math Anxiety เกิดขึ้นกับใครก็ได้ แม้แต่คนเก่งเลข

 

เราอาจคิดว่า Math Anxiety เกิดขึ้นกับคนไม่ชอบเลขและไม่เก่งเลขเท่านั้น ที่จริงแล้วอาการนี้แตกต่างจากการไม่ชอบเลข และยังเกิดขึ้นได้กับทุกคน นักวิจัยคาดว่า ผู้คน 20% มีอาการ Math Anxiety แม้แต่คนที่เก่งเลขอย่าง Laurent Schwartz นักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ก็เคยมีอาการกลัวเลขมาก่อนตอนเรียนชั้นม.ปลาย Maryam Mirzakhani นักคณิตศาสตร์ผู้สร้างแรงบันดาลใจยังเคยรู้สึกไม่มั่นใจ และหมดความสนใจในวิชานี้ เพราะครูสอนเลขคิดว่า เธอไม่มีพรสวรรค์ แต่ทั้งคู่ก็ได้รับเหรียญรางวัลฟิลด์ส ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดในวงการคณิตศาสตร์ 

 

ความวิตกกังวลทางการศึกษาไม่ได้จำกัดเฉพาะวิชาเลขเท่านั้น แต่ที่เราเรียกศัพท์นี้ว่า Math Anxiety เพราะดูเหมือนมันจะเกิดขึ้นถี่กว่า และก่อปัญหาต่อผู้ที่มีอาการมากกว่า เมื่อคนเก่งเลขยังมีอาการกลัวเลขได้ จึงไม่แปลกที่ใคร ๆ ก็มีสิทธิ์มีอาการนี้ ยิ่งเมื่องานวิจัยพบว่า การที่ผู้ใหญ่เที่ยวบอกเด็กว่า ตัวเองก็มีอาการ Math Anxiety เพราะอยากให้เด็กรู้สึกดีขึ้นว่า ใคร ๆ เขาก็เป็นกัน การทำเช่นนี้จะยิ่งให้ผลเสียมากกว่าผลดี เพราะอาการกลัวเลขสามารถแพร่กระจายได้เหมือนไวรัส เท่ากับว่าครูส่งต่ออาการนี้ไปยังนักเรียนได้ และพ่อแม่ก็ส่งต่อความกลัวเลขไปยังลูก ๆ ได้เช่นกัน ซึ่งจากข้อมูลของคณะกรรมการที่ปรึกษาคณิตศาสตร์แห่งชาติของกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ พบว่า นักเรียนที่มีความกังวลจะทำคะแนนสอบได้น้อยกว่าความสามารถจริง

 

นอกจากนี้ สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐฯ ยังรายงานประเด็นที่น่าสนใจเรื่องผลกระทบของ Math Anxiety ที่มีต่อเด็กผู้หญิงไว้ว่า จะได้รับผลกระทบมากกว่าเด็กผู้ชายหากครูผู้หญิงบอกว่า ตัวเองไม่ชอบวิชานี้ แปลว่า ความสำเร็จทางคณิตศาสตร์ของผู้หญิงจะลดลงหากครูผู้หญิงมีอาการกลัวเลข ยิ่งครูกังวลมากเท่าไร คะแนนนักเรียนจะยิ่งต่ำลงเท่านั้น

 

เช่นเดียวกับในครอบครัว นักวิจัยพบว่า เด็กที่ได้รับการสอนการบ้านจากพ่อแม่ที่มีอาการ Math Anxiety จะมีผลสัมฤทธิ์ในวิชานี้ต่ำกว่าเพื่อน ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้เด็กเกิดอาการกลัวเลขมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงแค่ปัจจัยเรื่องบุคคลเท่านั้นที่มีผลต่ออาการกลัวเลขของคนเรา แต่ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม การเหมารวมทางเพศ ประสบการณ์ในชั้นเรียน เช่น การกดดันให้แก้โจทย์ได้เร็ว ๆ 

 

วิธีสังเกตอาการ Math Anxiety 

 

นอกจากอาการวิตกกังวล ตื่นตระหนก ตึงเครียด หรือทำอะไรไม่ถูกแล้ว บางครั้งอาการของ Math Anxiety อาจดูไม่ชัดเจนนักในแต่ละราย สถานการณ์เหล่านี้ คือ อาการที่อาจบ่งชี้ว่า นักเรียนกำลังมีอาการกลัวเลขอยู่ 

 

  • ไม่ค่อยเปิดรับ เลี่ยงการสบตา มีภาษากายแบบปิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดกับวิชานี้วิชาเดียว
  • พูดบ่อย ๆ ว่า “ไม่เก่งเลข” “เลขน่ากลัว” “เกลียดเลข” แม้คำพูดเหล่านี้จะไม่ใช่ตัวบ่งชี้อาการนี้ได้อย่างชัดเจน แต่อาจเป็นกลไกในการป้องกันความเครียดได้
  • เมื่อต้องทำโจทย์หรืองานต่าง ๆ จะใช้เทคนิคเบี่ยงเบนความสนใจหรือพยายามหลีกเลี่ยงเพื่อจะได้ไม่ต้องทำ

 

 

Math Anxiety เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน

ชื่อภาพ : Math Anxiety

 

 

การส่งผลของ Math Anxiety ต่อการเรียนรู้ 

 

การวิจัยในหลายทศวรรษพบว่า ความกังวลส่งผลต่อสิ่งที่สำคัญต่อการเรียนรู้หลายอย่าง เช่น ความสนใจ ความจำ และความเร็วในการประมวลผล มันจะไปบั่นทอนแหล่งข้อมูลของการรู้คิด เรียกว่า Working Memory หรือความจำระยะสั้น ที่ช่วยให้เราจัดระเบียบข้อมูลที่ต้องการใช้เพื่อทำงานให้สำเร็จ ความกังวลในการแก้โจทย์หรือกลัวว่าจะทำข้อสอบได้ไม่ดีจะกินเนื้อที่ความจำระยะสั้นไปหมด จนเราแทบไม่เหลือมันไว้ใช้จัดการกับโจทย์เลข นั่นจึงทำให้อยู่ดี ๆ เราอาจสะดุดกับโจทย์เลขง่าย ๆ ที่เราเชี่ยวชาญดีอยู่แล้ว ผลร้ายแรงของ Math Anxiety จึงอาจทำให้นักเรียนไปไม่ถึงอาชีพในฝัน เพราะเขาจะพยายามหลีกเลี่ยงเลขตลอดเวลานั่นเอง

 

วิธีลดอาการ Math Anxiety

 

ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะไหน เราทุกคนสามารถช่วยคนรอบข้างลดอาการ Math Anxiety ลงได้

 

บทบาทครู

1.เริ่มการสอนด้วยบรรยากาศที่ดี

เมื่องานวิจัยพบว่า Math Anxiety ในระดับสูงขัดขวางการทำงานของสมอง ฉะนั้น หากครูใช้เวลา 5 นาทีแรกก่อนสอนไปกับการทำกิจกรรมสั้น ๆ เพื่อลดความวิตกกังวลจะช่วยให้การเรียนรู้มีความหมายต่อนักเรียนมากขึ้น เช่น

  • แชร์เรื่องตลกหรือ Fun fact 

กิจวัตรแบบนี้ในชั้นเรียนช่วยให้นักเรียนที่วิตกกังวลตั้งหน้าตั้งตารอที่จะเรียนมากขึ้น เรื่องตลกหรือรูปฮา ๆ อาจถูกแชร์ขณะที่นักเรียนกำลังเดินเข้าห้องเรียนก็ได้

  • ตั้งคำถามอุ่นเครื่องที่ตอบได้หลายแบบ

คำถามประเภทนี้เข้าถึงได้ง่ายกว่าสำหรับนักเรียนที่กังวลว่า จะต้องตอบคำตอบเดียวที่ถูกต้อง ครูอาจตั้งคำถามที่นักเรียนสามารถตอบได้หลายแบบ เช่น “ใครบอกครูได้บ้างว่า เมื่อวานเราเรียนอะไรไป” หรือ “วันนี้เราจะเรียนอะไรบ้าง” พยายามใช้คำถามที่ทำให้นักเรียนต้องนึกย้อน หรืออ่านกระดาน หน้าจอได้ คำถามยอดอุ่นเครื่องยอดฮิต คือ “อะไรที่ไม่เข้าพวก” และหากครูให้โจทย์เลขนักเรียนอาจตั้งคำถามว่า “นักเรียนสังเกตเห็นอะไรบ้าง สงสัยอะไรไหม” ก็ได้ คำถามแบบนี้จะช่วยลดความวิตกกังวลลงได้

 

2.ให้ถามว่า “อย่างไร” ก่อนบอกว่า “ผิด”

แทนที่ครูจะโฟกัสที่คำตอบของโจทย์ ให้เปลี่ยนมาโฟกัสที่วิธีการแทน โดยถามนักเรียนถึงวิธีการที่ได้คำตอบนั้นมา ก่อนที่จะบอกว่า คำตอบนั้นถูกหรือผิด เพราะหากคำตอบไม่ถูกต้อง นักเรียนอาจเห็นถึงความผิดพลาดของตัวเองขณะที่กำลังอธิบายวิธีแก้โจทย์ก็ได้ แต่หากคำตอบถูกต้อง นักเรียนจะได้เสริมสร้างความเข้าใจผ่านการอภิปรายของตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่า วิธีนี้จะได้ผลก็ต่อเมื่อครูให้นักเรียนอธิบายวิธีแก้โจทย์ที่ถูกต้องเท่านั้น การบอกแค่ว่า คำตอบนั้นผิดไม่ได้ช่วยครูเข้าใจวิธีคิดของนักเรียน หรือช่วยให้เขาเรียนรู้จากความผิดพลาด บ่อยครั้งจะยิ่งเป็นการปิดกั้นนักเรียนจากการฟังและการทำความเข้าใจในอีกหลายนาทีหรือชั่วโมงต่อมา 

 

3.ใส่ใจคำพูดที่สื่อสารกับนักเรียน 

งานวิจัยพบว่า การนึกถึงคำพูดของครูสามารถสร้างความวิตกกังวลให้นักเรียนได้ เช่น “อันนี้ง่ายนะ” “ทำไมนักเรียนถึงไม่รู้เรื่องนี้” เป็นคำพูดที่กระตุ้นให้เกิดความความวิตกกังวลได้โดยไม่ได้ตั้งใจ และส่งผลเสียต่อการรับรู้ความสามารถและความมั่นใจในตนเองของนักเรียน ถ้าครูไม่พูดประโยคเหล่านี้ เรามีวิธีสื่อสารเพื่อลดความกังวลให้นักเรียนได้อย่างไรบ้าง

 

 “อันนี้ง่ายนะ” —> “โจทย์นี้คล้ายกับตอนที่เราทำ…”

“โจทย์นี้แก้ได้ด้วย 3 ขั้นตอน”

“ลองใช้วิธีนี้แก้โจทย์ดูสิ”

 

“ทำไมนักเรียนถึงไม่รู้เรื่องนี้” —> “ครูรู้ว่า เลขอาจเป็นเรื่องยาก บางครั้งครูก็ติดขัดเหมือนกัน แต่พอมันเกิดขึ้น ครูลองทำแบบนี้”

“ไม่เป็นไรเลยถ้าทำไม่ได้ตอนนี้ ลองย้อนกลับไปดูที่นักเรียนจดไว้ งานก่อนหน้า หรือตัวอย่างอื่น ๆ ดู”

 

บทบาทนักเรียน

มีหลายกิจกรรมง่าย ๆ ที่ช่วยลด Math Anxiety ได้ เช่น การทำสมาธิ การหายใจลึก ๆ การเดินเร็ว การศึกษาหลายชิ้นพบว่า นักเรียนที่ฝึกทำสมาธิจะรู้สึกสงบมากขึ้นขณะทำข้อสอบ และทำโจทย์ได้ถูกต้องมากกว่านักเรียนที่ไม่ได้ฝึก เพราะสมองจะโฟกัสกับการทำโจทย์แทนที่จะถูกเบี่ยงเบนสมาธิเพราะความกังวล ส่วนกิจกรรมทางกายภาพ เช่น การเดินเร็ว การหายใจลึก ๆ จะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายความตึงตัว ป้องกันการก่อตัวของความวิตกกังวล 

 

บทบาทพ่อแม่

พ่อแม่ที่มีลูกเล็ก ลองพยายามเล่นกับเลขและใส่ใจกับมุมมองเชิงสร้างสรรค์ให้มากขึ้น เพราะสามารถเสริมสร้างทักษะทางตัวเลขที่ช่วยให้เด็ก ๆ เข้าถึงคณิตศาสตร์ด้วยความมั่นใจในอนาคต

 

บทบาทผู้บริหารสถานศึกษา

สร้างครูที่มีทัศนคติที่ดี และมีความมั่นใจในวิชาเลข เพื่อจุดประกายความมั่นใจให้นักเรียน

 

คนรอบข้างมีบทบาทอย่างมากกับการสร้างทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับเลข การสื่อสารว่า นักเรียนทุกคนสามารถเรียนเลขได้ พร้อมให้การสนับสนุนที่หลากหลาย สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมจะช่วยลด Math Anxiety ลงได้ ที่สำคัญเราควรตระหนักไว้ว่า Math Anxiety ไม่ได้เป็นตัวสะท้อนความสามารถที่แท้จริงของเรา แต่เป็นสิ่งที่เราเอาชนะได้ด้วยเวลาและการตระหนักรู้

 

อ้างอิง

https://www.washingtonpost.com/news/answer-sheet/wp/2016/04/25/stop-telling-kids-youre-bad-at-math-you-are-spreading-math-anxiety-like-a-virus/

https://mathforall.edc.org/math-anxiety

https://www.youtube.com/watch?v=7snnRaC4t5c

https://www.youtube.com/watch?v=592WKZ0eKP0

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS