Nordic Model รัฐสวัสดิการกับปริญญาที่แลกมาด้วยราคา 0 บาท
เมื่อเราพูดถึง “นอร์ดิก” หรือกลุ่มประเทศแถบยุโรปเหนือทั้ง 5 ประเทศ ประกอบไปด้วย นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ เดนมาร์ก และสวีเดน และแน่นอนว่า 5 รายชื่อนี้เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆตามข่าวการจัดอันดับโลกหัวข้อต่างๆ แต่ที่ดูเหมือนพวกเขา Proud To Present กันมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นตำแหน่ง กลุ่มประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกแล้ว
สำหรับประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ภาพมักที่ปรากฏในให้เห็นก็จะเป็นสังคมที่มีคุณภาพชีวิตสูง ความเสมอภาค และระบบสวัสดิการที่แข็งแกร่ง ซึ่งเรื่องนี้จุดประกายให้เรามาคิดได้ต่อว่า แล้วพวกเขาทำได้อย่างไร ? มีอะไรที่เราทำได้บ้าง ?
ประเทศที่มีความสุข = ประเทศที่ร่ำรวย ?
ถ้าเราเอา “เงิน” เข้าไปใส่ในสมการ ต่อให้เอาเครื่องคิดเลขที่ล้ำยุคแค่ไหนยังไงก็หาคำตอบไม่ได้อยู่ดี หรืออย่างน้อยคำตอบก็จะไม่เฉียดประเทศแถบนี้แน่นอน
เพราะถ้าเรามองกันจริงตาม Ranking โลกแล้ว ดินแดนพระอาทิตย์เที่ยงคืนทั้ง 5 ประเทศไม่ติดโผ Top 15 เลยซักประเทศเดียว ในขณะที่แชมป์อย่างสหรัฐอเมริกาและจีนกลับอยู่เกือบท้ายตารางดัชนีวัดความสุขของโลก
แต่ถ้าเราเอา “ความเหลื่อมล้ำ” เข้าไปใส่ในสมการ
เราจะสามารถขีดเส้นใต้สีแดงหนาๆ และเขียนว่า “คำตอบถูกต้อง” ในบรรทัดถัดไปแทบจะทันที
“Nordic Model” คือระบบสวัสดิการที่เรากำลังพูดถึง ซึ่งก็แปลแบบตรงๆได้เลยว่าโมเดลของประเทศกลุ่มนอร์ดิกนั่นเอง เป็นส่วนผสมอย่างกลมกล่อมระหว่าระบบทุนนิยมที่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและแนวคิดทางสังคมนิยมที่เน้นความเสมอภาคและการกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียม
จุดเริ่มต้นของรัฐสวัสดิการลักษณะนี้ถูกเสนอโดย Gosta Enderson นักสังคมวิทยาชาวเดนมาร์กมาตั้งแต่ปี 1990 และรู้จักมันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในวิกฤตการณ์ Hamburger Crissis ปี 2008 การล่มสลายของตลาดอสังหาริมทรัพย์และสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลแพร่กระจายไปทั่วโลก ในขณะที่บรรดาชาติมหาอำนาจกำลังดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด รัดเข็มขัดการคลัง ลดทอนบางอย่าง ยอมทิ้งสมบัติลงทะเล เพื่อให้เรือได้ไปต่อ
หลายบริษัทมีการปิดตัวลง ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ประเทศนอร์ดิกยังคงเกาะกลุ่มกันไว้ ด้วยระบบประกันการว่างงานที่ครอบคลุมและมีการสนับสนุนรายได้ให้กับประชาชนที่ตกงาน ช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิต ลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดการลดลงของการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งมีผลต่อการรักษาอุปสงค์ในประเทศ จึงทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้นและรอดพ้นวิกฤตเหล่านั้นมาได้
‘ใจป้ำ’ น่าจะเป็นคำจำกัดความที่ชัดเจนที่สุด
สวัสดิการของกลุ่มประเทศนี้แทบจะเรียกได้ว่าโอบอุ้มคุณตั้งแต่เกิดจนถึงสิ้นอายุขัยแบบทุกมิติ
ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลยเช่น ในประเทศฟินแลนด์ ถ้ารัฐบาลรู้ว่าคุณกำลังเป็นคุณแม่ คุณสามารถเลือกรับเงินประมาณ 6,000 บาทหรือของใช้เด็กเล็กได้ทันทีตั้งแต่อายุครรภ์ 5 เดือน ทันทีที่สมาชิกใหม่ลืมตาดูโลก รัฐบาลจะรับขวัญลูกคุณด้วย Kela box ภายในกล่องที่รวบรวมเอาของใช้ที่จำเป็นสำหรับเด็กแรกเกิดเอาไว้ เช่น ชุดเสื้อผ้าสำหรับทารก ผ้ากันเปื้อน สบู่อาบน้ำ ปรอทวัดไข้ หนังสือนิทานเด็ก แม้แต่กล่องใบใหญ่ที่ของใส่มาก็ยังถูกออกแบบให้มีขนาดพอสำหรับวางที่นอนเด็กลงไปสำหรับเป็นที่นอนสำหรับเจ้าตัวน้อยได้อีกด้วย
เท่านั้นยังไม่พอ ทั้งคุณพ่อและคุณแม่สามารถลาคลอดได้ 9 เดือน (ใช่ครับอ่านไม่ผิด ทั้งพ่อและแม่) พร้อมเงิน Support เทียบเท่าค่าแรงการทำงาน 263 วัน หากเป็นพ่อแม่มือใหม่ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก สามารถ Request พี่เลี้ยงเด็กช่วงกลางวันได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีระบบเงินเลี้ยงดูเด็กแบบถ้วนหน้าอีกเดือนละประมาณ 4,000 บาท รับวัคซีนพื้นฐานฟรี ตรวจสุขภาพฟรี มีค่าขนมให้อีกราวๆเดือนละ 6,000 บาท
และเมื่อลูกคุณเข้าสู่ High School หรือมัธยมปลายที่พ้นจากการศึกษาภาคบังคับแล้ว จะได้รับเงินอีกเดือนละ 10,000 บาท จะเพิ่มอีก 4,000 บาท หากเรียนจบแล้วต้องการแต่งงานมีครอบครัว ไม่ต้องการเรียนต่อและแหากเลือกเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ทางรัฐบาลจะช่วยค่าหอพัก ค่าเดินทาง และค่าอุปกรณ์การเรียน พร้อมจัดหาทุนการศึกษาให้อีก หากวันไหนเบื่องาน ลาออกจากงาน รัฐยังดูแลต่อให้อีกด้วยเงินช่วยเหลือ 400 วัน แถมคอร์สพัฒนาทักษะต่างๆเอาไว้อัปสกิลระหว่างหางานใหม่ และทันทีที่อายุคุณครบ 65 ปีตามเกณฑ์เกษียณ สามารถรอรับเงินบำนาญเดือนละ 30,000 บาทได้เลย และอาจจะได้มากกว่านั้นนิดหน่อยในประเทศเพื่อนบ้านอย่างสวีเดน ที่ผู้สูงอายุจะได้รับเงินบำนาญเฉลี่ย 46,300 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว ซึ่งจำนวนเงินจะแตกต่างออกไปตามจำนวนเงินเดือนที่ได้รับและการสะสมเงินในกองทุนผู้สูงอายุ แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบกองทุนผู้สูงอายุ รัฐบาลเองก็ไม่ได้ทิ้งไว้ข้างหลัง จะได้รับเงินช่วยเหลือยังชีพรวมถึงจัดหาที่อยู่อาศัยแก่ผู้สูงอายุทีมีปัญหาด้านที่พัก และสำหรับครอบครัวที่ดูแลผู้สูงอายุด้วยตนเอง จะได้เงินสนับสนุนจากรัฐเป็นค่าตอบแทน และเมื่อเสียชีวิต เงินบำนาญที่เหลือจะถูกส่งต่อให้ลูกของคุณยังไม่บรรลุนิติภาวะทันที
แต่การที่จะมีสวัสดิการดี ๆ นั้นก็ต้องเเลกมากับการจ่ายภาษีที่สูงลิบลิ่วเช่นกัน อาจจะมากถึง 45% ของรายได้เลยทีเดียว และสาเหตุสำคัญที่พลเมืองยอมจ่าย คือภาษีที่เเพงนั้นก็ไม่ได้หายไปไหน สุดท้ายก็จะเล่นแล่แปรธาตุไปเป็นโครงสร้างพื้นฐานต่างๆในการใช้ชีวิต เรียนฟรี สาธารณสุข สาธารณูปโภคอยู่ดี
แม้จะเป็นรัฐสวัสดิการ แต่ประเทศเหล่านี้ก็มีกลไกที่ส่งเสริมให้คนคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และลงทุนทำธุรกิจเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอยู่เสมอ อย่างเช่น สวีเดนเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ เนื่องจากมีโครงข่ายรองรับทางสังคมทำให้ชาวสวีเดนที่ริเริ่มจะทำธุรกิจขนาดเล็กไม่เจ็บตัวมากนักหากธุรกิจล้มเหลว ประชาชนจึงมีเสรีภาพในการคิดและกล้าลงมือทำ นอกจากนี้ รัฐยังนำเงินภาษีไปลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ระบบรถไฟ การโทรคมนาคม โครงข่ายอินเทอร์เน็ตทำให้คนเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น และระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพจนคุณสามารถกินน้ำจากก๊อกสาธารณะที่ไหนก็ได้ในประเทศเหล่านี้ได้เลย
‘สวัสดิการ’ คือเรื่องพื้นฐานเล็ก ๆ ที่ส่งผลต่อเรื่องอื่นที่ยิ่งใหญ่เหมือนโดมิโน
ถ้าคนในสังคมมีการศึกษาที่สูง มีทักษะการทำงานที่หลากหลายเหมาะสม บริษัทก็จะได้คนที่มีศักยภาพ เศรษฐกิจประเทศชาติก็จะขับเคลื่อนได้
ถ้าเงินเลี้ยงดูเด็กที่เหมาะสม ให้สิทธิที่พ่อแม่ควรจะได้ ค่าจ้างเพียงพอ ปัญหาครอบครัวและปัญหาอาชญากรรมมันก็จะลดลง
พอประชาชนในประเทศมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็ลดลง
และเมื่อความเหลื่อมล้ำลดลง คนก็ย่อมจะมีความสุข (ที่สุดในโลก)
ขอบคุณข้อมูล
Nordic Model – Definition, How it Works, Challenges (corporatefinanceinstitute.com)
The ‘Nordic model’ of capitalism (nordics.info)
Why Are Nordic Countries So Happy? – Business Review at Berkeley