ทำไมโลโก้ Post-it ถึงเป็นสีเหลือง จิตวิทยาของสี วิทยาศาสตร์หรือแค่สายมู

A A
Nov 21, 2022
Nov 21, 2022
A A

ทำไมโลโก้ Post-it ถึงเป็นสีเหลือง

จิตวิทยาของสี วิทยาศาสตร์หรือแค่สายมู

 

  • จิตวิทยาของสีพบว่า สีมีอิทธิพลต่อความคิด อารมณ์และพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของคนเรา
  • แม้จะมีงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างสีกับพฤติกรรมของคนเราและประสิทธิภาพด้านต่าง ๆ แต่ปัจจุบันยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า จิตวิทยาของสีเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์จริงหรือไม่

 

         เคยเป็นกันไหม ถอยมือถือรุ่นใหม่ล่าสุดทั้ง ๆ ที่เครื่องเก่ายังใช้ได้ เพียงเพราะมันเป็นสีที่เราชอบ หรือเลือกใส่เสื้อสีแดงเพื่อความปังในวันที่มีงานสำคัญ สีกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเราอย่างแยกไม่ได้ และยังมีอิทธิพลต่อความคิด อารมณ์และพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของคนเราจนเป็นที่มาของคำว่า “จิตวิทยาของสี” แม้เราจะยอมรับว่า สีแต่ละสีส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกเราจริง ๆ แบบไม่ได้มโน แต่ทำไมถึงมีคำกล่าวว่า เรื่องนี้อาจไม่ต่างอะไรจากการทำนายดวงชะตา 

 

กำเนิดจิตวิทยาของสี

หลายพันปีก่อนชาวอียิปต์โบราณมีการศึกษาเรื่องจิตวิทยาของสีกันแล้ว พวกเขาสนใจว่า สีต่าง ๆ มีผลกระทบต่ออารมณ์ของผู้คนอย่างไร จากนั้นก็นำสิ่งที่ค้นพบนี้ไปใช้ในเรื่องสุขภาพและประโยชน์แบบองค์รวม ทฤษฎีสีและผลกระทบต่ออารมณ์ไม่เพียงได้รับการยอมรับจากชาวอียิปต์เท่านั้น แต่ชาวโรมัน ชาวกรีก และผู้เชี่ยวชาญในจีนโบราณต่างก็เชื่อในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน อียิปต์และจีน รวมถึงวัฒนธรรมโบราณหลายแห่งมีการบำบัดรักษาด้วยการใช้ศาสตร์แห่งแสงสี ซึ่งปัจจุบันศาสตร์นี้ก็ยังคงใช้ในการรักษาแบบองค์รวมหรือทางเลือกอยู่กันอยู่ โดยมีความเชื่อว่า…

     สีแดง กระตุ้นร่างกาย จิตใจ และเพิ่มการไหลเวียน

     สีเหลือง กระตุ้นประสาท และทำให้ร่างกายบริสุทธิ์

     สีส้ม รักษาปอด และเพิ่มระดับพลังงาน

     สีน้ำเงิน เชื่อกันว่าช่วยบรรเทาความเจ็บป่วย และรักษาความเจ็บปวด

     เฉดสีคราม ช่วยบรรเทาปัญหาผิวได้

ปัจจุบันจิตวิทยาของสีได้มีการนำไปใช้กับหลายศาสตร์ หนึ่งในนั้น คือ ศิลปะบำบัดที่ช่วยเยียวยาบาดแผลทางใจให้กับผู้คน โดย Carl Jung จิตแพทย์ชาวสวิสที่มีความโดดเด่นในสาขานี้ถึงขั้นกล่าวว่า สีเป็นภาษาแม่ของจิตใต้สำนึก

 

สีกับอารมณ์ความรู้สึก

สีแต่ละสีให้อารมณ์และความรู้สึกที่แตกต่างกันไป สีหนึ่งอาจจะถูกนำมาใช้ในโอกาสหนึ่งมากกว่าอีกสี เพราะให้ผลลัพธ์ที่ไม่เหมือนกัน

สีแดง 

เป็นสีที่มีการศึกษากันมากที่สุดในเชิงวิทยาศาสตร์และจิตวิทยา เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต การเผาผลาญ ความต้องการทางเพศ อัตราการหายใจ ความกระตือรือร้น พลังงานและความมั่นใจ

สีส้ม 

เพิ่มความอยากอาหาร การเข้าสังคม ความพึงพอใจ และยังเพิ่มออกซิเจนไปยังสมอง สร้างความมั่นใจ ความสุขและความเข้าใจ 

สีเหลือง

สร้างกระบวนการทางปัญญา เพิ่มพลังงานของกล้ามเนื้อ และความมั่นใจ กระตุ้นระบบประสาทและความจำ เพิ่มการสื่อสาร ความมีชีวิตชีวาและการมองเห็น

 

ไม่อยากไปโรงเรียน

 

สีเขียว

เพิ่มการมองเห็น ความแน่วแน่ ความอดทน การผ่อนคลายและความอ่อนเยาว์ บรรเทาความวิตกกังวลและซึมเศร้า

สีน้ำเงิน

กระตุ้นความคิด และกระตุ้นสารเคมีที่ช่วยให้รู้สึกสงบ สร้างสมาธิ ชะลอการเผาผลาญ ช่วยให้รู้สึกเย็น ลดความอยากอาหาร

สีม่วง

ช่วยให้จิตใต้สำนึกและประสาทเกิดความสงบ เสริมสร้างจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และความรู้สึกของจิตวิญญาณ 

 

หลากหลายงานวิจัยว่าด้วยสี

แม้จะยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า จิตวิทยาของสีอาจพูดไม่ได้เต็มปากว่า เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ เพราะยังมีประเด็นที่ต้องศึกษาอีกมาก แต่ที่ผ่านมาก็เคยมีการศึกษากันอยู่บ้าง ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจ ทั้งในเชิงพฤติกรรมและประสิทธิภาพด้านต่าง ๆ เช่น

    • จีนพบว่า คนเต็มใจบริจาคให้การกุศลมากขึ้นเมื่อมีการใช้พื้นหลังสีน้ำเงินเมื่อเทียบกับสีแดง คล้าย ๆ กับว่า สีน้ำเงินจะช่วยลดความเห็นแก่ตัวได้มากกว่าสีแดง
    • งานวิจัยจากมหาวิทยาเมลเบิร์นก็ได้ข้อมูลว่า นักเรียนได้ที่มองทิวทัศน์ที่มีสีเขียวจะทำผิดพลาดน้อย และมีสมาธิมากกว่านักเรียนที่เห็นแต่วิวหลังคาคอนกรีตอย่างเห็นได้ชัด 
    • เราจะนอนหลับได้เร็วขึ้นในห้องที่เราคิดว่าดูดี
    • การกินยาหลอกต่างสีกัน แม้จะเป็นยาเดียวกัน แต่ผู้ป่วยกลับได้ผลลัพธ์จากยาแต่ละสีไม่เหมือนกัน และยาหลอกสีโทนร้อนมีประสิทธิภาพมากกว่ายาหลอกสีโทนเย็น
    • การใช้สีเหลืองที่เยอะเกินไปจะทำให้ทารกร้องไห้มากขึ้น
    • ไฟถนนที่มีสีฟ้าสามารถลดอาชญากรรมได้
    • สีแดงทำให้เราตอบสนองด้วยความเร็วและแรงที่มากขึ้น ซึ่งอาจเป็นประโยชน์กับกิจกรรมด้านกีฬา
    • สีฟ้าช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายและอัตราชีพจรได้
    • สีเหลืองช่วยเพิ่มความจำ นี่เป็นสาเหตุว่า ทำไมโลโก้ Post-it ถึงเป็นสีเหลือง
    • สีบางสีมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของคนเรา การเห็นสีแดงก่อนทำข้อสอบจริงจะยิ่งทำให้ทำข้อสอบได้ไม่ดี นักศึกษาวิทยาลัยในอเมริกาที่ได้หมายเลขผู้เข้าร่วมสีแดงทำข้อสอบได้ได้คะแนนต่ำกว่านักศึกษาที่ได้หมายเลขสีเขียวและสีดำมากกว่า 20%

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยสมัยใหม่พบว่า หลายกรณีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ที่เป็นผลมาจากสีอาจเป็นผลแค่ชั่วคราวเท่านั้น ในตอนแรกห้องสีฟ้าอาจทำให้เรารู้สึกสงบ แต่มันจะค่อย ๆ หายไปหลังจากช่วงเวลาสั้น ๆ

 

เมื่อสีถูกนำไปใช้กับแวดวงต่าง ๆ 

สีมีอิทธิพลต่อความคิดและความรู้สึกของคนเรา หลายแวดวงธุรกิจจึงนำสีต่าง ๆ ไปใช้ให้เกิดผลลัพธ์ในแบบที่แบรนด์ต้องการ เช่น ใช้ปุ่ม Call to Action เป็นสีแดงหรือส้ม เพราะสีเหล่านี้ดึงดูดสายตา การศึกษาบางชิ้นพบว่า สีแดงช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมอาหารและเครื่องดื่มหลายแบรนด์ถึงเลือกใช้สีนี้

หลายคนคงเคยมีประสบการณ์ซื้อของที่ไม่ได้แพลนว่าจะซื้อ เพียงเพราะมันเป็นสีที่เราชอบ เชื่อไหมว่า คนส่วนมากที่ซื้อของแบบทันทีทันใดแบบนี้ เหตุผล 90% ก็เป็นเพราะสีของสินค้านั้นจริง ๆ ตามการศึกษาเรื่องผลกระทบของสีต่อการตลาด โดย Satyendra Singh และอย่างที่เรารู้กันว่า โลโก้ของบริษัทหรือองค์กรมีความสำคัญต่อการสร้างภาพจำของผู้คนมากขนาดไหน ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมิสซูรี-โคลัมเบียยืนยันว่า สีเฉพาะที่ใช้ในโลโก้มีผลกระทบอย่างมากต่อการที่ผู้บริโภคมองโลโก้นั้นและแบรนด์โดยรวม นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมถึงมีบริษัทยอมควักเงินจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งเฉดสีที่ต้องการ โดยโลโก้แต่ละสีก็จะให้ความรู้สึกที่ไม่เหมือนกัน โลโก้สีน้ำเงินบ่งบอกถึงความมั่นใจและความน่าเชื่อถือ สีแดงบอกถึงความเชี่ยวชาญ และสีเหลืองบอกถึงความสนุกสนานและขี้เล่น

 

ปัญหาหลักของจิตวิทยาของสี

แม้จะมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสีกับบางสิ่งบางอย่างอยู่บ้าง แต่เราก็ยังไม่รู้เหตุผลที่แน่ชัดสักเท่าไร เราไม่สามารถบอกได้แน่นอนว่า ความชอบสีใดสีหนึ่งทำให้เกิดสิ่งนี้หรือสิ่งนั้น

1.มีปัจจัยมากเกินกว่าที่เราจะบอกได้ว่า มาจากอะไร

เมื่อพูดถึงบุคลิกภาพ มีปัจจัยต่าง ๆ มากมายจนเราไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ว่า มาจากอะไรบ้าง เราบอกไม่ได้ว่า การชอบสีแดงทำให้คนคนนั้นเป็นคนมุ่งร้ายหรือเปล่า หรือจริง ๆ แล้วยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เป็นคนแบบนั้น การได้ดูทิวทัศน์สีเขียว ๆ ส่งผลดี หรือเพราะทิวทัศน์ส่วนมากก็คือ ต้นไม้และพืชพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีสีเขียวอยู่แล้วกันแน่

2.ผู้คนรับรู้ความหมายของแต่ละสีไม่เหมือนกัน

วัฒนธรรมที่แตกต่างกันทำให้ผู้รับรู้ความหมายของสีไม่เหมือนกัน สำหรับโลกตะวันตก สีแดงอาจหมายถึง ความตื่นเต้น อันตราย ความหลงใหล และซานต้า แต่ในจีน สีแดง คือ สีมงคลที่ใช้ในการเฉลิมฉลองที่เกี่ยวข้องกับโชคและความสุข ในอินเดียสีส้มเป็นสีศักดิ์สิทธิ์ แต่ในอียิปต์เป็นสีแห่งการไว้ทุกข์ สีขาวเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ที่นิยมใช้ในงานแต่งงานของทางตะวันตก ขณะที่สีขาวอาจเป็นสีที่ใช้ในงานศพของวัฒนธรรมตะวันออกได้ด้วย ปัจจุบันสีชมพูเป็นสีของเด็กผู้หญิง สีฟ้าเป็นสีของเด็กผู้ชาย แต่เมื่อทศวรรษที่ 1940 สีชมพูเคยเป็นสีของเด็กผู้ชาย ขณะที่สีฟ้าเป็นสีของเด็กผู้หญิง 

ไม่เฉพาะแค่เรื่องวัฒนธรรมอย่างเดียวเท่านั้น ต่อให้มีวัฒนธรรมเหมือนกัน แต่ถ้าคนเรามีประสบการณ์ส่วนตัวที่ไม่เหมือนกัน เราก็อาจรับรู้ความหมายของสีแตกต่างกันได้

 

เรานำจิตวิทยาของสีไปปรับใช้ได้อย่างไร

ถ้าเราอยากให้บ้านมีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย โล่งโปร่ง สีฟ้าอ่อน สีเขียวและสีครีม คือ สียอดนิยมสำหรับการตกแต่งภายใน หรือถ้าอยากให้พนักงานที่บริษัททำงานได้มีประสิทธิภาพและมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นก็ให้ลองใช้สีฟ้าอ่อนและสีเขียวอ่อนเข้ามาช่วยได้ แต่ถ้าอยากออกกำลังกายให้ได้นานขึ้น มีคำแนะนำว่า สีส้มช่วยเรื่องนี้ได้มากที่สุด

แม้จิตวิทยาของสีจะมีงานวิจัยออกมาให้เราเห็นกันอยู่บ้าง แต่ถ้าถามว่า วงการวิทยาศาสตร์คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ นักวิทยาศาสตร์ก็อาจจะยังพูดไม่ได้เต็มปากเต็มคำว่า นี่เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์จริง ๆ จึงยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก อย่างไรก็ตาม เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลักฐานเหล่านี้บ่งชี้ว่า สีมีอิทธิพลต่ออารมณ์และการตัดสินใจของเราทั้งในระดับจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก ไม่ต้องมองที่ไหนไกล ลองสังเกตคนรอบข้างหรือแม้แต่ตัวเราเองก็ได้ว่า เคยใส่เสื้อสีโปรด หรือเสื้อสีมงคล เมื่อต้องทำอะไรที่มีความสำคัญอย่างมากหรือเปล่า หรือทำไมข้าวของที่ใช้กันอยู่ เจ้าตัวถึงเลือกซื้อสีนั้นมา เราอาจจะได้เห็นแง่มุมที่น่าสนใจของสีในแบบที่เราไม่เคยสังเกตมาก่อนเลยก็เป็นได้

 

อ้างอิง
https://bigthink.com/neuropsych/color-personality-psychology/
https://selfmind.ai/blog/psychological-effects-of-color-on-the-subconscious-mind/
https://www.verywellmind.com/color-psychology-2795824
https://www.centrecolours.co.uk/the-psychology-of-colour

 

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS