โรงเรียนเข้าเช้าส่งผลอะไรต่อเด็กเล็กหรือไม่

A A
Dec 2, 2022
Dec 2, 2022
A A

โรงเรียนเข้าเช้าส่งผลอะไรต่อเด็กเล็กหรือไม่

 

 

  • เด็กแต่ละวัยมีนาฬิกาชีวิตที่ไม่เหมือนกัน เด็กเล็กจะเข้านอนเร็วกว่า และตื่นเช้ากว่า ขณะที่วัยรุ่นจะนอนดึก และตื่นสาย สิ่งนี้ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของเด็ก ๆ อย่างมาก
  • ก่อนหน้านี้งานวิจัยพบว่า หากวัยรุ่นต้องแต่ตื่นเช้าให้ทันเข้าเรียน พวกเขาจะง่วงนอน และมีผลการเรียนที่ไม่ค่อยดีนักเมื่อเทียบกับการได้เข้าเรียนสายกว่านี้
  • งานวิจัยล่าสุดพบข้อมูลที่แตกต่างออกไปในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งยังไม่เคยมีการศึกษามาก่อน โดยพบว่า การเข้าเรียนแต่เช้าไม่ได้มีผลเสียต่อการเรียนรู้ของเด็กกลุ่มนี้

 

 

เมื่อเราโตขึ้นการตื่นเช้าอาจเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน แต่ถ้าย้อนกลับไปในวันที่เรายังเด็ก เราทุกคนล้วนเคยเป็นคนตื่นเช้ามาก่อน นาฬิกาชีวิตของคนแต่ละช่วงวัยไม่เหมือนกัน วัยรุ่นมักจะเป็นวัยที่นอนดึกตื่นสายโดยธรรมชาติ จนเคยมีงานวิจัยที่ศึกษาถึงผลกระทบของการเข้าเรียนแต่เช้ากับผลการเรียนของวัยรุ่นมาแล้ว คำตอบก็เป็นไปดังคาด เมื่อต้องรีบตื่นให้ทันเข้าเรียนแต่เช้า นักเรียนกลุ่มนี้มักจะง่วงนอน และมีผลการเรียนที่ไม่ค่อยดีนักเมื่อเทียบกับการให้พวกเขาได้เข้าเรียนสายกว่านี้ (แปะ Interlink ไปที่ https://www.attanai.com/discovery/stayuplate/ ) ประเด็นต่อมาที่น่าสนใจมาก ๆ และก่อนหน้านี้ก็ยังไม่มีงานวิจัยที่แน่ชัดออกมา คือ การที่โรงเรียนเข้าเช้าส่งผลอะไรต่อเด็กประถมฯ เหมือนเด็กมัธยมฯ หรือไม่ เพราะเด็กกลุ่มนี้มักจะตื่นเช้ากว่าอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ล่าสุดงานวิจัยมีคำตอบให้เราในเรื่องนี้แล้ว

เด็กไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนจำเป็นต้องได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม เด็กแต่ละวัยมีนาฬิกาชีวิตที่ไม่เหมือนกัน และเราก็ไม่สามารถบังคับให้เด็กวัยนั้นนอนหลับได้ในเวลาที่ไม่ใช่เวลานอนของเขา งานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า การที่โรงเรียนเข้าสายลงหน่อยจะส่งผลดีต่อเด็กม.ปลายในทั้งด้านการเรียนรู้ อัตราการขาดเรียนลดลง และมีผลการเรียนดีขึ้น จนมีหลายโรงเรียนในอเมริกานำไปขยายผลต่อด้วยการปรับเวลาเข้าเรียนใหม่ ขณะที่งานวิจัยในประเด็นเดียวกันสำหรับเด็กประถมกลับมีการศึกษาเพียงแค่เล็กน้อย และยังไม่มีความชัดเจนมากนัก ไม่ว่าจะเป็นงานศึกษาในรัฐแมสซาชูเซตส์ที่ดูเหมือนจะแสดงผลในเชิงบวกเล็กน้อย และการศึกษาขนาดใหญ่ในรัฐเคนตักกี้ที่เหมือนจะให้ผลเชิงลบเล็กน้อย แต่ข้อมูลก็มีน้อยเกินไป และมีความแตกต่างมากเกินกว่าจะสรุปผลได้

 

เวลาเข้าโรงเรียนที่เหมาะสมกับเด็กเล็ก เด็กโต

Dr. Eric Zhou ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการนอนหลับ ซึ่งเป็นผู้สอนวิชากุมารเวชศาสตร์ที่ Harvard Medical School และนักจิตวิทยาที่โรงพยาบาลเด็กบอสตันและสถาบันมะเร็ง Dana Farber กล่าวว่า การที่โรงเรียนเข้า 7.30 หรือ 8 โมง มีความสมเหตุสมผลและสอดคล้องกับนาฬิกาชีวิตโดยธรรมชาติของเด็กประถมฯ มากกว่าเด็กม.ปลาย

รายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของอเมริการะบุว่า โดยปกติวัยรุ่นต้องการนอนอย่างน้อยวันละ 8.5 ชั่วโมง แต่วัยรุ่นมีวงจรการนอนหลับที่ไม่เหมือนวัยอื่นทำให้การหลับก่อน 23.00 น. และตื่นก่อน 08.00 เป็นเรื่องที่ยาก ฉะนั้น ในปี 2014 American Academy of Pediatrics จึงแนะนำให้โรงเรียนม.ต้นเข้าเรียนไม่เร็วกว่า 8.00 น. และม.ปลายไม่เร็วกว่า 8.30 น.

 เด็กเล็กไปโรงเรียน

 

     ล่าสุดมีงานวิจัยออกมายืนยันในประเด็นที่เราสงสัยกันแล้วพบว่า การเข้าเรียนเร็วไม่ได้มีผลเสียต่อการเรียนรู้ของเด็กประถมฯ งานวิจัย 2 ชิ้นนี้เผยแพร่โดย American Educational Research Association นักวิจัยระบุว่า การเข้าเรียนเช้าขึ้นมีผลกระทบเกือบเป็นศูนย์ต่อผู้เรียนที่อายุน้อย และยังทำให้เด็กมีคะแนนคณิตศาสตร์ที่สูงขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักเรียนด้อยโอกาส แต่การเข้าเรียนเช้าก็มีความสัมพันธ์กับการขาดเรียนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยด้วย

     สำหรับการศึกษา 2 ชิ้นนี้ นักวิจัยได้วิเคราะห์คะแนนสอบและข้อมูลอื่นๆ เทียบกับเวลาเข้าเรียนของโรงเรียน โดยที่การศึกษาหนึ่งจะเก็บข้อมูลจากทั้งโรงเรียนของรัฐ โรงเรียนที่ไม่ใช่ของรัฐ และโรงเรียนในกำกับของรัฐในนอร์ทแคโรไลนาตั้งแต่ปี 2011-2017 นักวิจัยจับคู่ข้อมูลนี้กับโรงเรียนในเขตที่เปลี่ยนเวลาเข้าเรียนมาตั้งปี 2016 โดยที่มีการควบคุมปัจจัยต่าง ๆ เช่น เชื้อชาติและชาติพันธุ์ของนักเรียน ระดับความยากจน การได้เรียนภาษาอังกฤษ หรือได้รับบริการการศึกษาพิเศษ รวมถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ของโรงเรียน

     แม้ว่าผลการศึกษานี้จะทำให้เราคลายข้อสงสัยที่เคยมี และยังทำให้โรงเรียนที่ต้องใช้ระบบรถโรงเรียนอย่างอเมริกาหรือในอีกหลาย ๆ ประเทศมีทางเลือกในการเหลื่อมเวลาการเข้าเรียนของเด็กประถมฯ และมัธยมฯ ได้มากขึ้น โดยไม่ต้องกลัวว่า จะกระทบต่อการเรียนรู้และการพักผ่อนของเด็ก ๆ แต่การปรับเวลาเข้าเรียนอาจเป็นเรื่องที่โรงเรียนต้องนำมาคิดต่ออีกมาก เพราะอาจมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากต้องปรับตารางเวลาตามโรงเรียน และสำหรับโรงเรียนที่ใช้รถโรงเรียนก็อาจจะต้องจัดการตารางเวลาใหม่ทั้งหมด ปรับออดเวลาของโรงเรียน หรือกิจกรรมนอกหลักสูตรใหม่ ในวัฒนธรรมบางประเทศ พ่อแม่อาจจะให้ลูกคนโตมาช่วยดูแลน้องหลังเลิกเรียน การปรับเวลานี้จึงอาจส่งผลต่อกิจวัตรหลายอย่างของครอบครัวได้ ในบ้านเราเองแม้จะยังไม่มีโรงเรียนไหนที่มีนโยบายปรับเวลาเข้าเรียนตามที่งานวิจัยแนะนำมาด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในอนาคต

     แม้ว่าตอนนี้เราจะเห็นความชัดเจนในเรื่องผลกระทบของเวลาเข้าเรียนต่อเด็กในแต่ละช่วงวัยมากขึ้น แต่ ณ ตอนนี้ เราก็ยังไม่รู้ว่า การปรับเปลี่ยนเวลาเข้าเรียนให้เร็วขึ้นหรือสายลงจะมีผลกระทบอะไรต่อครูและเจ้าหน้าที่ในส่วนอื่น ๆ หรือไม่อย่างไร ซึ่งอาจจะให้ผลที่แตกต่างจากนักเรียน นี่จึงเป็นประเด็นที่มองกันว่า น่าจะมีการทำวิจัยเพิ่มเติมต่อไป

     สำหรับตัวคุณเองล่ะ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะไหน พ่อแม่ ครู หรือเป็นคนที่ทำงานในภาคการศึกษา เห็นข้อดีข้อเสียอย่างไรหากวันหนึ่งบ้านเราจะมีการปรับเวลาเข้าเรียนให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียนขึ้นมาจริง ๆ

อ้างอิง
https://www.edweek.org/leadership/earlier-school-times-dont-hurt-elementary-students-learning-research-shows/2022/10
https://www.wgbh.org/news/2018/02/01/news/what-earlier-school-start-times-mean-young-brains

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS