3 ความเชื่อที่ผู้ใหญ่ควรเลิกปลูกฝังให้เด็ก

A A
Sep 19, 2023
Sep 19, 2023
A A

 

3 ความเชื่อที่ผู้ใหญ่ควรเลิกปลูกฝังให้เด็ก

 

ในฐานะผู้ใหญ่เรามีความเชื่อเรื่องเหล่านี้ไหม ?

อะไรที่ทำร้ายเราไม่ได้จะทำให้เราอ่อนแอลง…

จงเชื่อความรู้สึกของตัวเอง…

ชีวิตคือการต่อสู้ระหว่างคนดีกับคนไม่ดี…

 

ในแง่หนึ่งความเชื่อเรื่องเหล่านี้อาจมองได้ว่า เป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่ในอีกแง่หนึ่ง หากเราเป็นผู้ใหญ่ที่มีส่วนในการถ่ายทอดความคิดความเชื่อเหล่านี้ไปยังเด็ก ๆ ที่จะต้องเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ความเชื่อ 3 อย่างนี้ที่เราปลูกฝังเขาอยู่อาจทำให้เขาไม่พร้อมที่จะเติบโตในโลกที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนและความท้าทายมากมาย แล้วเราจะปรับเปลี่ยนมุมมองความเชื่อเหล่านี้ได้อย่างไร เพื่อสร้างเด็กที่พร้อมเผชิญโลกที่ผันผวนในอนาคต

 

Jonathan Haidt นักจิตวิทยาสังคมชื่อดัง หนึ่งในนักเขียนร่วมของหนังสือ The Coddling of the American Mind ได้เขียนถึงความเชื่อ 3 อย่างของพ่อแม่และครูในยุคนี้ที่กำลังพาให้เด็กหลงทาง ไม่พร้อมที่จะเผชิญกับโลกที่ซับซ้อนในอนาคต ความเชื่อเหล่านี้คืออะไร และทำลายเด็ก ๆ โดยที่เราไม่ทันรู้ตัวได้อย่างไร

 

ความเชื่อที่ 1 อะไรที่ทำร้ายเราไม่ได้จะทำให้เราอ่อนแอลง What doesn’t kill you makes you stronger

 

หลายคนอาจขมวดคิ้วแล้วนึกถึงเพลง Stronger ของ Kelly Clarkson ที่มีเนื้อเพลงท่อนหนึ่งว่า ‘What doesn’t kill you makes you stronger’ ที่ฮิตติดหูมานานหลายปี ทำไมความเชื่อนี้ถึงขัดกับเนื้อเพลงที่หลายคนยึดถือเป็นคติประจำใจไปเสียได้ อะไรที่ทำร้ายเราไม่น่าจะทำให้เราเข้มแข็งขึ้นสิ

 

ในมุมมองของผู้ใหญ่บางคน เด็ก ๆ เหมือนกับไข่ที่หินที่ต้องดูแล ทะนุถนอมไม่ให้เกิดบาดแผลทั้งร่างกายและจิตใจ ผู้ใหญ่จึงมีความกังวลกับการสร้างบาดแผลใด ๆ ให้กับเด็ก กลัวว่าบาดแผลนั้นจะกลายเป็นแผลทางใจในระยะยาว นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ผู้ใหญ่เกิดพฤติกรรมที่ปกป้องเด็กมากเกินไป เพื่อไม่ให้เขาได้รับอันตรายที่จะส่งผลต่อร่างกายหรืออารมณ์ แต่ความเชื่อนี้ขัดกับงานวิจัยในหลายศตวรรษที่บอกว่า วัยรุ่นมีความสามารถในการรับมือกับประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้อย่างน่าทึ่ง เรานึกว่าเขาจะเปราะบาง แต่ที่จริงแล้วเขาแข็งแกร่งกว่าที่เราคิด เด็ก ๆ ก็คล้ายกับกล้ามเนื้อที่ยิ่งใช้ก็ยิ่งแข็งแรง เหมือนกับระบบภูมิคุ้มกันที่ต้องเจอกับเชื้อโรคถึงจะพัฒนาภูมิคุ้มกันให้แข็งแกร่งขึ้นได้ จิตใจของเด็กจำเป็นต้องเจอกับเรื่องท้าทายอีกมากมาย เพื่อหล่อหลอมให้เขามีจิตใจที่สมดุลและแข็งแรง

 

 

ผู้ใหญ่ปกป้องเด็กมากเกินไปเกิดจากความเชื่อผิด ๆ

ชื่อภาพ : ความเชื่อ

 

 

 

ฉะนั้น เมื่อผู้ใหญ่ปกป้องเด็กมากเกินไปจากประสบการณ์ไม่ดีต่าง ๆ เช่น ความขัดแย้ง การดูถูก การกีดกัน ฯลฯ เพราะกลัวว่ามันจะสร้างบาดแผลให้เขา นั่นกลับยิ่งเป็นการทำให้เด็กอ่อนแอและแตกสลายได้ง่ายขึ้น เท่ากับเรากำลังปกป้องเด็กจากจิตวิทยาสังคมของเขา ไม่เอื้อให้เขาได้พัฒนาความสามารถทางสังคมและสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวเอง

 

ในฐานะพ่อ Jonathan เองก็เคยปล่อยให้ลูกสาววัย 9 ขวบของเขาเดินไปโรงเรียนคนเดียว นี่เป็นการตัดสินใจที่ต้องใช้ความกล้าหาญมากทีเดียวสำหรับคนเป็นพ่อแม่ที่มักจะกังวลถึงความปลอดภัยของลูก ผู้ใหญ่มักจะคิดถึงสถานการณ์เลวร้ายที่สุดไว้ก่อน และคิดว่ามันจะเกิดขึ้นจริง ๆ เราอาจคิดว่า เป็นเรื่องปกติที่จะคิดแบบนี้ แต่จริง ๆ แล้วความคิดแบบนี้เกิดขึ้นเพราะเราถูกวัฒนธรรมบางอย่างหล่อหลอม ความกังวลเรื่องการลักพาตัว การทำร้าย และการตายไม่ได้เป็นความคิดโดยธรรมชาติของคนเรา

 

การปล่อยให้เด็กได้เผชิญกับประสบการณ์ที่เลวร้ายบ้างจึงเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เขา คล้าย ๆ กับการให้เด็กที่แพ้อาหารบางอย่างได้ลองกินอาหารนั้นดู ย้อนกลับไปในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ในสหรัฐอเมริกา การแพ้ถั่วลิสงเป็นสิ่งที่พบได้ยากในยุคนั้น การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า เด็ก 4 ใน 1,000 คนที่อายุต่ำกว่า 8 ปี จะมีอาการแพ้ถั่วลิสง แต่ในปี 2009 โรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งมีกฎห้ามไม่ให้นำอาหารที่มีส่วนผสมของถั่วทุกชนิดเข้ามาในโรงเรียน เพื่อลดความเสี่ยงของการแพ้ถั่วลิสงในเด็ก จนกระทั่งพ่อของเด็กคนหนึ่งถามผู้ปกครองคนอื่นว่า ลูกใครมีอาการแพ้ถั่วชนิดอื่นบ้าง ถ้าไม่มี เราอาจไม่จำเป็นต้องห้ามถั่วทุกชนิดก็ได้ ห้ามเฉพาะถั่วลิสงอย่างเดียวก็พอ

 

แต่ในปี 2008 การสำรวจพบว่า อัตราการแพ้ถั่วลิสงเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า จาก 14 คนเป็น 1,000 คน ซึ่งต่อมามีการค้นพบว่า การแพ้อาหารที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการที่ผู้ปกครองและครูเริ่มปกป้องเด็กจากการสัมผัสถั่วลิสงตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 และในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2015 ก็มีหลักฐานออกมายืนยันเรื่องนี้ว่า การให้เด็กทารกได้กินอาหารที่มีส่วนผสมของถั่วลิสงจะกระตุ้นการตอบสนองภูมิคุ้มกันป้องกันโรคได้มากกว่าจะกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ โดยเด็กที่ได้รับการป้องกันไม่ให้กินอาหารที่มีส่วนผสมของถั่วลิสงจะมีอาการแพ้ 17% ส่วนกลุ่มที่ได้กินจะมีอาการแพ้เพียง 3% เท่านั้น

 

การปกป้องเด็กมากเกินไปไม่ว่าจะด้วยเรื่องอะไรก็ตามอาจทำให้เด็กเปราะบางและอ่อนแอได้ง่ายขึ้น พ่อแม่จึงจำเป็นต้องหาสมดุลระหว่างการปกป้องและการดูแลเด็ก ๆ อย่างเหมาะสม

 

ความเชื่อที่ 2 จงเชื่อความรู้สึกของตัวเอง

 

หลายคนน่าจะคุ้นหูกับความเชื่อนี้ เป็นความเชื่อที่เราเห็นได้ทั่วไปตามสื่อต่าง ๆ เพราะสะท้อนถึงความเป็นปัจเจก และอิสระเสรีในการใช้ชีวิต ความเชื่อนี้ให้ความสำคัญกับ “ความจริงส่วนบุคคล” และ “ประสบการณ์ชีวิต” ที่ถูกนำมาใช้ในฐานะ “ความรู้สึก” ที่เราให้ค่าเทียบเท่ากับ “ข้อเท็จจริง” แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะความรู้สึกอาจไม่ใช่ความจริง และยังเป็นเรื่องปัจเจกที่ผันแปรไปตามอคติทางความคิดของคนเรา ในขณะที่ข้อเท็จจริงก็ยังคงเป็นข้อเท็จจริงอยู่วันยังค่ำ

 

ยกตัวอย่างง่าย ๆ เรื่องความสุข ความสุขเป็นหนึ่งในเรื่องที่ดี และเป็นเป้าหมายชีวิตของใครหลาย ๆ คน แต่จะทำอย่างไรหากวันหนึ่งเด็กพบว่า ตัวเองไม่มีความสุข และเลือกที่จะเชื่อความรู้สึกนั้นทันที 

 

งานวิจัยโดย Iris Moss และทีมพบว่า คนที่คิดว่า ความสุขเป็นสิ่งสำคัญ และต้องการที่จะหาไขว่คว้าหาความสุขนั้น สุดท้ายแล้วคนเหล่านั้นจะมีความสุขน้อยลง และมีแนวโน้มที่จะเศร้ามากขึ้น ประเด็นของเรื่องนี้จึงอยู่ที่ เมื่อไรที่เราให้คุณค่าว่าความสุขเป็นสิ่งที่ดี เมื่อนั้นแหละที่อาจเกิดปัญหาได้ วิธีแก้ปัญหาในเรื่องนี้ทำได้อย่างไร ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เราไล่ตามความสุขแบบทางอ้อม สมมติว่า หากความสุขเป็นดวงอาทิตย์ ถ้าเรามองดวงอาทิตย์โดยตรง เราก็จะแสบตาได้ แต่ถ้าเราใช้ปริซึมมาหักเหแสงอาทิตย์ให้เป็นองค์ประกอบย่อย ๆ เมื่อนั้นจากที่เคยร้อนแรงและแสบตาก็แปรเปลี่ยนเป็นแสงรุ้งที่สวยงาม

 

ฉะนั้น เมื่อไรที่วัยรุ่นมีความรู้สึกใด ๆ ก็ตาม ผู้ใหญ่ควรสอนให้เขาตั้งคำถามกับการตีความความรู้สึกเหล่านั้นในครั้งแรก พยายามมองหาหลักฐาน เหตุผลสนับสนุน และพัฒนาวิธีตีความสิ่งต่าง ๆ อยู่เสมอ 

 

ความเชื่อที่ 3 ชีวิตคือการต่อสู้ระหว่างคนดีกับคนไม่ดี

 

ในมุมมองของ Jonathan เขาคิดว่า ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่มืดมนและอันตรายอย่างที่สุด การมองว่า คนบนโลกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ คนดีกับคนไม่ดี หรือการคัดแยกผู้คนตามอัตลักษณ์ของคนเหล่านั้น  มองว่าการกระทำ และมุมมองของคนถูกกำหนดโดยอัตลักษณ์เหล่านั้นเกือบทั้งหมด เท่ากับเป็นการสนับสนุนความคิดว่า มนุษย์เป็นเพียงหุ่นยนต์สีดำหรือสีขาวแทนที่จะเป็นบุคคลที่มีความซับซ้อนในมิติแห่งความหลากหลายของสีเทา เพราะความจริงไม่มีใครดีหรือไม่ดีไปเสียหมด ในแต่ละวันเราอาจเป็นสีเทาที่มีความเข้มบ้าง อ่อนบ้าง แตกต่างกันไป ความเชื่อนี้จึงทำให้การสร้างสภาพแวดล้อมที่หลากหลายและครอบคลุมเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้น

 

เด็กทุกคนมีความมหัศจรรย์ เขามีความแข็งแกร่งยืดหยุ่นเป็นทุนเดิม หากเราต้องการเลี้ยงดูเด็กที่สามารถรับมือกับความหลากหลายได้ทุกรูปแบบ สามารถใช้ชีวิตในโลกที่ปลอดภัยในเชิงกายภาพจริง ๆ และโลกที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ไม่น่าอภิรมย์ เราจำเป็นต้องปลูกฝังความเชื่อในเชิงจิตวิทยาที่ถูกต้องควบคู่ไปกับการให้แนวทางปฏิบัติทางการศึกษาที่เหมาะสมกับพวกเขา

 

อ้างอิง

https://bigthink.com/thinking/untruths-to-stop-telling-kids/

https://letgrow.org/jonathan-haidt-lets-his-9-year-old-daughter-walk-to-school-alone-for-the-first-time/

https://reason.com/2018/11/18/your-child-is-more-resilient-t/

https://www.youtube.com/watch?v=e-or_D-qNqM

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS