ห้องสมุดแหล่งเรียนรู้ขั้นพื้นฐานภาพสะท้อนการศึกษาของประเทศ : สรุปให้รู้ตามทันโลกการศึกษา EP.6

A A
Jun 29, 2022
Jun 29, 2022
A A

ห้องสมุดแหล่งเรียนรู้ขั้นพื้นฐานภาพสะท้อนการศึกษาของประเทศ

  • ฟินแลนด์ มี พ.ร.บ.ห้องสมุดสาธารณะตั้งแต่ทศวรรษที่ 20 กำหนดให้ 1 เทศบาลต้องมีห้องสมุดคุณภาพดี 1 แห่ง ทุ่มงบประมาณปีละ 320 ล้านยูโร (12,000 ล้านบาท) ให้กับห้องสมุดกว่า 853 แห่งทั่วฟินแลนด์ ทุกคนเข้าใช้ได้ฟรีตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ตั้งแต่ปี 1928
  • เยอรมนี มีห้องสมุดกว่า 4,719 แห่งทั่วเยอรมนี ต่อประชากร 83 ล้านคนมีห้องสมุดเคลื่อนที่ และ Open Creative Space เพื่อให้เข้ากับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และยังมีการสนับสนุนให้คนไร้บ้าน ผู้อพยพ คนว่างงานลดหย่อนค่าสมาชิก และได้เข้าถึงบริการห้องสมุดเพื่อส่งเสริมอัตราการรู้หนังสือและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของคนในประเทศมากขึ้น
  • สาธารณะรัฐประชาชนจีน มีโครงการพัฒนาด้านการศึกษา ตั้งแต่ปี 2013 จัดงบประมาณ 4% ของ GDP ประเทศ เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงแม้อยู่ในถิ่นทุรกันดาร จีนมีห้องสมุดมากที่สุดอันดับ 1 ของโลก ถึง 51,311 แห่ง (OCLC, 2018) ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงห้องสมุดได้ทุกเพศทุกวัย
  • สิงคโปร์ มีห้องสมุดทั้งหมด 28 แห่งโดย 25 แห่งเป็นของรัฐ และอีก 3 แห่งเป็นของพันธมิตร ต่อประชากร 5.68 ล้านคน มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนในส่วนนี้เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงหนังสือและสื่อต่าง ๆ ได้มากที่สุด สามารถใช้บริการผ่านระบบออนไลน์ได้ มีบริการ eBook และหนังสือเสียงมากกว่า 800,000 เล่ม

คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัดจริงเหรอ? คำกล่าวนี้เป็นความจริง หรือเป็นแค่มายาคติ ถ้านับเอาจริง ๆ อาจจะต้องลงมาดูกันลึก ๆ ว่า ทำไมคนไทยอ่านแค่นั้น หนังสือเราน้อยไปเหรอ หรือว่าเราเข้าถึงหนังสือได้ยากเย็นเกินไป

“ห้องสมุด” มองเผิน ๆ จะเหมือนกับห้องเก็บหนังสือ ที่มีทั้งข้อมูลที่เรียกว่า ใช้การได้ และ ข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว ผู้คนที่เข้ามาใช้บริการก็หลากหลาย มีตั้งแต่เด็ก ๆ รุ่นใหม่ที่ตั้งใจเข้ามาค้นคว้า ไปจนกระทั่งถึงผู้สูงอายุที่เข้ามานั่งหาหนังสืออ่านสักเล่มแก้เหงา แต่ไม่ว่าจะยังไง ยุคสมัยเปลี่ยนไป ห้องสมุดก็ถูกเปลี่ยนบทบาท และหน้าตาไปอย่างสิ้นเชิง จากสถานที่ที่เก็บหนังสือจำนวนมาก ถูกเปลี่ยนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีตั้งแต่สื่อดิจิทัลจากทั่วทุกมุมโลก เป็นแหล่งระดมสมองแบบ Co-Working Space เป็นพื้นที่แสดงและบ่งบอกความเป็นตัวตนของคนหลาย ๆ กลุ่ม และยังเป็นสถานที่ที่คนที่มีความชื่นชอบเหมือน ๆ กันมาทำกิจกรรมร่วมกันอีกด้วย หลาย ๆ ประเทศผลักดันให้ห้องสมุดมีการแปลงโฉมใหม่ และผลักดันในคนในประเทศได้มีโอกาสใช้และเข้าถึงได้อย่างง่าย ๆ เหล่านี้สะท้อนอะไรบ้างเกี่ยวกับภาคการศึกษา เรามาดูแนวคิดและวิธีการของแต่ละประเทศเกี่ยวกับห้องสมุดกัน

ห้องสมุด ประเทศฟินแลนด์

ฟินแลนด์ เป็นประเทศที่ปลูกฝังให้ประชากรรักการอ่านและสร้างห้องสมุดให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริงมี พ.ร.บ.ห้องสมุดสาธารณะตั้งแต่ทศวรรษที่ 20 กำหนดให้ 1 เทศบาลต้องมีห้องสมุดคุณภาพดี 1 แห่ง ทุ่มงบประมาณปีละ 320 ล้านยูโร (12,000 ล้านบาท) ให้กับห้องสมุดกว่า 853 แห่งทั่วฟินแลนด์ ด้วยประชากร 5.5 ล้านคน มีการยืมหนังสือมากถึง 68 ล้านเล่มต่อปี ทุกคนเข้าใช้ได้ฟรีตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ตั้งแต่ปี 1928 ไม่ได้มีแค่หนังสือให้อ่านเท่านั้นแต่มีกิจกรรมเวิร์กชอป โชว์ ศิลปะ การแสดง การฝึกสุนัขมานั่งฟังเด็กอ่านหนังสือ มีไฟล์ดิจิทัลเพื่อเรียนรู้ด้วยตนเองทุกรูปแบบรวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น มีสตูดิโอที่ให้บริการยืมเครื่องดนตรี โรงหนัง เครื่องพิมพ์สามมิติ และเครื่องตัดเลเซอร์ ยังบริการโซนให้ใช้หลากหลายแบบไม่จำเป็นต้องไปนั่ง Co-working Space ให้เสียเงินมีทั้งโซนเปิด โซนนั่งคนเดียว และที่สำหรับประชุม

นอกจากนี้ยังมีห้องสมุดเคลื่อนที่ครอบคลุมทั้งทางบกและทางน้ำ เพื่อให้คนที่อยู่ในชนบทเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้ ปัจจุบันมีห้องสมุดเคลื่อนที่แบบรถ 150 คัน มีจุดจอดถึง 12,500 แห่ง และมีเรือห้องสมุด 1 แห่ง

ห้องสมุด ประเทศเยอรมนี

เยอรมนี มีวัฒนธรรมการอ่านหนังสือร่วมกันในครอบครัวเพื่อปลูกฝังให้รักการอ่านตั้งแต่เด็ก ๆ โดยในเยอรมันมีห้องสมุดกว่า 4,719 แห่งทั่วเยอรมนี ต่อประชากร 83 ล้านคน แต่ละรัฐจะเป็นคนดูแลห้องสมุดในเขตของตนเอง และปรับดีไซน์ การใช้งานต่าง ๆ ให้เหมาะกับคนในรัฐของตนเอง ยังมีห้องสมุดเคลื่อนที่ที่มีตารางเวลาเดินรถ และสายชัดเจน ประชาชนทุกคนสามารถยืมหนังสือได้ในระบบออนไลน์ และรอให้ห้องสมุดเคลื่อนที่นำหนังสือไปส่งตามจุดและเวลาที่นัดไว้ นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่จัดงานและสัมมนาต่างๆ จนไปถึงศูนย์รวมของ Multi media มีสื่อดิจิทัลให้ใช้ฟรี อย่าง ‘Open Creative Space’ ให้เข้ากับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ยกตัวอย่างเช่น ห้องสมุดกลางแห่งเมืองโคโลญ เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้คนได้ลองเรียนรู้ด้วยตนเอง เช่น เครื่องสแกนสามมิติ ไอแพด อุปกรณ์ซอฟต์แวร์ดนตรี และแว่นตาเสมือนจริง (VR) มีเครื่องดนตรี และอุปกรณ์ประดิษฐ์ เช่น จักรเย็บผ้า ให้ได้เรียนรู้ และใช้ได้ฟรี

นอกจากนี้ห้องสมุดยังไม่ใช่แค่พื้นที่เรียนรู้สิ่งใหม่เท่านั้น แต่ยังมีห้องสมุดที่เก่าแก่สำหรับเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมด้วย ยกตัวอย่างเช่น Wiblingen Monastery Library, Ulm ที่สร้างตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 11 ผลงานศิลปะเก่าแก่แบบ baroque หรือหอสมุดรัฐเบอร์ลิน (Berlin State Library) เก็บรวบรวมหนังสือกว่า 8 ล้านเล่ม เป็นแหล่งรวมความรู้ทางวิชาการในภาษาเยอรมันที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ของที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เช่น คัมภีร์ไบเบิลฉบับกูเตนเบิร์ก ต้นฉบับลายมือเกอเธ่ ต้นฉบับลายมือบาคและโมสาร์ต รวมถึงต้นฉบับเพลงซิมโฟนีหมายเลข 9 ของเบโธเฟน

ยังมีการสนับสนุนให้คนไร้บ้าน ผู้อพยพ คนว่างงานลดหย่อนค่าสมาชิกและได้เข้าถึงบริการห้องสมุดเพื่อส่งเสริมอัตราการรู้หนังสือและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของคนในประเทศมากขึ้น

ห้องสมุด ประเทศจีน

สาธารณะรัฐประชาชนจีน มีโครงการพัฒนาด้านการศึกษา ตั้งแต่ปี 2013 จัดงบประมาณ 4% ของ GDP ประเทศ เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงแม้อยู่ในถิ่นทุรกันดาร และการสร้างห้องสมุดก็เป็น 1 ในโครงการนี้ จีนมีห้องสมุดมากที่สุดอันดับ 1 ของโลก ถึง 51,311 แห่ง (OCLC, 2018) ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงห้องสมุดได้ทุกเพศทุกวัย ยกตัวอย่างห้องสมุดที่ใหญ่และน่าสนใจของจีน คือ ห้องสมุดเทียนจิน (Tianjin Binhai Library) ออกแบบให้เก็บหนังสือได้มากถึง 1.2 ล้านเล่ม มีแหล่งเรียนรู้วิชาการ และวัฒนธรรม พื้นที่อ่านหนังสือสำหรับเด็ก และผู้สูงอายุ co-working space ห้องอ่านหนังสือส่วนตัว เลานจ์และห้องประชุม ห้องคอมพิวเตอร์ และ Audio room ให้ใช้บริการ นอกจากนี้ห้องสมุดยังเชื่อมต่อกับสวนสาธารณะ และย่านวัฒนธรรมต่าง ๆ ของเทียนจินให้ห้องสมุดเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการใช้ชีวิตของประชาชนอีกด้วย

 
ห้องสมุด ประเทศสิงคโปร์

สิงคโปร์ มีห้องสมุดทั้งหมด 28 แห่งโดย 25 แห่งเป็นของรัฐ และอีก 3 แห่งเป็นของพันธมิตร ต่อประชากร 5.68 ล้านคน ใน 1 ปีมีการเข้าห้องสมุดกว่า 24 ล้านคน และมีการยืมคืนหนังสือกว่า 30 ล้านรายการ แม้พื้นที่ในประเทศจะมีจำกัดแต่เป็นการประยุกต์ใช้ห้องสมุดได้อย่างคุ้มค่า มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนในส่วนนี้เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงหนังสือและสื่อต่าง ๆ ได้มากที่สุด เช่นหุ่นยนต์ช่วยหาหนังสือ การยืม-คืน ใช้หุ่นยนต์ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ นอกจากอ่านหนังสือเช่น มีโรงละคร นิทรรศการ AR และแกลเลอรี่แสดงผลงานศิลปะ

นอกจากนี้สามารถใช้บริการผ่านระบบออนไลน์ได้ มีบริการ eBook และหนังสือเสียงมากกว่า 800,000 เล่ม คอร์สเรียนเรื่องดิจิทัล การเข้าถึงข่าวสาร eNewspapers ของ SPH ได้ฟรี การพูดคุยออนไลน์ มีโปรแกรมการเรียนรู้และเวิร์กช็อปจัดทุกเดือน

ประเทศเหล่านี้ต่างให้ความสำคัญกับห้องสมุดมันคือขุมทรัพย์ที่ไม่ใช่แค่สถานที่ไว้เก็บและนั่งอ่านหนังสือเท่านั้น แต่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญและลดช่องว่างทางการศึกษาในประเทศได้ เพื่อเพิ่มอัตราการรู้หนังสือในบางประเทศมีการสนับสนุนให้เข้าห้องสมุดได้ฟรี ไม่ว่าจะเป็นคนไร้บ้าน หรือผู้อพยพ มีรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการจัดแหล่งเรียนรู้และปรับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในศตวรรษ 21 เข้าไปให้เข้าถึงได้ทุกคน มนุษย์ไม่สามารถละทิ้งการเรียนรู้ไปได้ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้จำกัดแค่ในห้องเรียน หรือห้องสมุด แต่ทุกที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ได้หากคุณต้องการ ลองมองหาแหล่งเรียนรู้รอบตัวคุณและลงมือพัฒนาทักษะของเรากันครับ

อ้างอิง
https://theurbanis.com/public-realm/04/03/2022/6210
https://www.agenda.co.th/featured/public-library-policy/
https://www.agenda.co.th/featured/finland-library-read-culture/
https://www.nlb.gov.sg/WhoWeAre/AboutUs/AboutNLB.aspx
https://documentaryclubthailand.com/wings-of-desire-behind2/
https://phorbangerman.com/2017/06/05/3-ห้องสมุดที่สวยงามที่สุ/

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS