ทำไมยิ่งพูดคำเดิมซ้ำ ๆ คำนั้นยิ่งไม่มีความหมาย

A A
Nov 17, 2021
Nov 17, 2021
A A

        เคยสังเกตกันไหมว่า เวลาที่เราพูดคำ ๆ หนึ่ง เรายังคงเข้าใจความหมายของมันได้ดีอยู่ แต่เมื่อไรที่เราเริ่มพูดคำนั้นซ้ำ ๆ เราจะเริ่มรู้สึกว่าคำไม่มีความหมาย กลายเป็นอะไรที่ฟังดูเป็นนามธรรม นี่สมองกำลังเล่นตลกหรือเราผิดปกติ ทำไมการพูดคำเดิมซ้ำ ๆ ถึงลดทอนความหมายที่มันเคยมี

        เดวิด ฮูเบอร์ นักประสาทวิทยาการรับรู้จากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์บอกว่า นี่อาจเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าจิตใจเรารับรู้โลกภายนอกอย่างไรเลยด้วยซ้ำ หลายคนอาจเคยมีประสบการณ์คล้าย ๆ กันนี้จากการดูภาพลวงตา ที่บอกให้เราจ้องตรงกลางรูปไว้พักหนึ่ง เราจะเริ่มรู้สึกว่าเส้นที่อยู่รอบ ๆ เคลื่อนเข้าหาจุดศูนย์กลาง เพื่อดึงให้เรามองเข้าด้านใน สักพักเราก็จะเริ่มมองเห็นภาพคนปรากฏขึ้นแทนเส้นที่เคลื่อนไหว และรูปคนก็ดูเหมือนจะขยายใหญ่ขึ้นด้วย

วิทยาศาสตร์กับภาพลวงตา
        ขณะที่เราจ้องตรงกลางรูปอยู่นั้น เซลล์สมองที่ตรวจจับการเคลื่อนไหวภายในจะทำงาน และทำงานไปเรื่อย ๆ จนเริ่มล้า จนเมื่อเราเห็นภาพคนที่อยู่ตรงกลางแปลว่าสมองเราไม่ได้สนใจการเคลื่อนไหวภายในอีกต่อไป เซลล์สมองที่ตรวจจับการเคลื่อนไหวภายนอกจึงชนะเซลล์ที่ตรวจจับการเคลื่อนไหวภายในที่ตอนนี้เหนื่อยมากแล้ว พูดง่าย ๆ คือเมื่อไรที่เซลล์สมองส่วนหนึ่งเริ่มเหนื่อย อีกส่วนก็จะเริ่มเข้ามามีอิทธิพลแทน ทำให้เราเห็นภาพลวงตาขึ้น

        ความเคยชินของระบบประสาทที่ฮูเบอร์ศึกษาคือ การลดความสามารถในการประมวลผลทางปัญญาของเราเมื่อเทียบกับสิ่งที่เรามีประสบการณ์แล้ว ระบบประสาทจะมองว่า เราไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรอันมีค่าในการตีความข้อมูลจากประสาทสัมผัสที่เคยได้รับการประมวลผลมาก่อน ความเคยชินจะช่วยให้สมองลดการรบกวนจากสิ่งที่เราเคยเห็นแล้ว ช่วยเพิ่มการรับรู้ข้อมูลใหม่ ๆ

        ฉะนั้น เมื่อสมองหลอกเรื่องการมองเห็นได้ มันก็หลอกเรื่องการได้ยินที่เชื่อมโยงไปสู่ความหมายของคำได้ เพราะเรื่องแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับประสาทสัมผัสด้านอื่นด้วย ดังนั้น หากเราพูดคำเดิมซ้ำ ๆ เซลล์สมองที่ตรวจจับเสียงที่เชื่อมโยงกับความหมายก็จะเหนื่อย และเริ่มใช้พลังงานน้อยลง เลยปล่อยให้คำ ๆ เดิมที่เคยมีความหมายกลับกลายเป็นแค่เสียงที่ฟังดูประหลาดสำหรับเรา

การทดลองเปิดเสียงดังใส่แมว

การทดลองเปิดเสียงดังใส่แมว
        นักวิจัยเคยทำการทดลองหนึ่งเพื่อดูว่า ยิ่งเราสัมผัสกับสิ่งเร้ามากเท่าไร เราจะมีความยืดหยุ่นกับสิ่งนั้นมากขึ้นหรือเปล่า เขาทดลองเรื่องนี้กับแมวพบว่า เมื่อเปิดเสียงดังใส่แมวที่กำลังหลับ แมวจะตื่น และรู้สึกตื่นตัวทันที แต่เมื่อกลับมาเปิดเสียงดังใส่แมวที่หลับไปแล้ว ปฏิกิริยาของแมวแต่ละครั้งจะสงบลง จนท้ายที่สุดแทบจะไม่มีปฏิกิริยาอะไรเลย แต่เมื่อนักวิจัยเปลี่ยนโทนเสียงแม้เพียงเล็กน้อย แมวจะตอบสนองราวกับว่าได้ยินเสียงนั้นเป็นครั้งแรก จึงได้ผลการทดลองว่า ยิ่งเราสัมผัสกับสิ่งเร้ามากเท่าไร เราก็จะมีความยืดหยุ่นกับสิ่งเร้ามากขึ้นเท่านั้น

        แต่สำหรับคนเราแล้วอาจใช้เวลานานกว่าที่ความหมายของคำจะเริ่มหายไป ขึ้นอยู่กับว่าเรามีความเชื่อมโยงทางอารมณ์กับคำนั้น ๆ มากแค่ไหน บางคนอาจจะรู้สึกเชื่อมโยงกับคำว่า “โรงพยาบาล” มากกว่า “โคมไฟ” เพราะประสบการณ์ในอดีตและความหมายแฝงของคำ เราเลยรู้สึกเชื่อมโยงกับคำอื่นที่อยู่ในหมวดเดียวกับโรงพยาบาลได้มากกว่าโคมไฟด้วย ยกเว้นว่าในอดีตเราจะมีเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจที่เกี่ยวกับโคมไฟมาก่อน

        หากต่อไปเราเจออะไรที่คล้ายๆ กับเรื่องนี้ แทนที่จะตกอกตกใจ คิดว่าสมองเรามีปัญหาหรือเปล่า จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่น่าดีใจด้วยซ้ำที่สมองเรารู้วิธีจัดการกับสิ่งที่ไม่สำคัญออกไปบ้างในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่พร้อมจะโจมตีประสาทสัมผัสเราตลอดเวลา

อ้างอิง
https://bit.ly/30ygsRs

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS