ไม่ต้องรอเป็นนายกหรือผู้ว่าฯ ก็สร้างทักษะความเป็นผู้นำได้ตั้งแต่เด็ก

A A
Jun 20, 2022
Jun 20, 2022
A A

ไม่ต้องรอเป็นนายกหรือผู้ว่าฯ ก็สร้างทักษะความเป็นผู้นำได้ตั้งแต่เด็ก

 

  • ทักษะความเป็นผู้นำไม่ใช่ทักษะเฉพาะของคนที่เป็นผู้เป็นนำ หรือหัวหน้าองค์กร แต่เป็นทักษะที่ทุกคนควรมี ไม่เว้นแม้แต่เด็ก ๆ
  • ผู้ใหญ่สร้างทักษะนี้ให้กับเด็กได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ยิ่งฝึกยิ่งช่วยให้เด็กเข้าใจเรื่องการจัดการ และมีความอดทนกับสิ่งต่าง ๆ สำคัญที่สุดคือเขาจะได้เป็นผู้นำในชีวิตตัวเอง

 

    จากอดีตรัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีสู่ผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนที่ 17 วันนี้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ทำงานรับใช้พี่น้องชาวกรุงมาได้ 1 เดือนแล้ว หลังได้รับคะแนนโหวตแบบถล่มทลายท่ามกลางความยินดีอย่างท่วมท้นว่าเขาคือความหวังที่ประชาชนรอคอยอย่างแท้จริง นับตั้งแต่วินาทีแรกที่ชัชชาติออกมาให้สัมภาษณ์สื่อหลังชนะการเลือกตั้ง เราได้เห็นคุณสมบัติของผู้นำที่ทำตัวเหมือนเพื่อนยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชน และวันถัดมาเขาก็พิสูจน์ความตั้งใจจริงด้วยการลงพื้นที่ทันทีร่วมกับผู้สมัครผู้ว่าอีกราย บรรยากาศการทำงานที่เราได้เห็นมาตลอด 1 เดือน ชัชชาติคือผู้ว่าที่พร้อมรับฟังประชาชน เอาจริงเอาจัง และทุ่มเททำงานอย่างหนัก จนน่าตั้งคำถามว่าทำอย่างไรเราถึงจะบ่มเพาะทักษะความเป็นผู้นำแบบนี้ได้ในตัวเด็กทุกคน แม้ว่าโตขึ้นเด็กจะไม่ได้เป็นนายก ผู้ว่าฯ หรืออะไรที่ใหญ่โต แต่ทำไมทักษะความเป็นผู้นำถึงเป็นทักษะที่ทุกคนควรจะมี

 

ความเป็นผู้นำที่ดีเป็นอย่างไร

 

ว่ากันว่าผู้นำที่ดีเป็นได้ไม่ยาก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นได้ พิสูจน์ได้จากตัวอย่างมากมายรอบตัวเรา แม้ว่าเรามักจะได้ยินเรื่องทักษะการเป็นผู้นำมากขึ้นเมื่อก้าวสู่โลกของการทำงาน แต่จริง ๆ แล้ว

ทักษะนี้เป็นทักษะที่เด็กทุกคนควรได้รับการฝึกฝน เพราะช่วยให้เด็กเข้าใจเรื่องการจัดการ ความสามารถ และการมีความอดทนกับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต สำคัญที่สุดคือเขาจะได้เป็นผู้นำในชีวิตตัวเอง

เมื่อทักษะความเป็นผู้นำเป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็ก แล้วผู้นำที่ดีเขาต้องมีคุณสมบัติอะไรกันบ้าง หนังสือ LeaderSHIFT โดย John C. Maxwell กล่าวว่า

ทักษะ 3 อย่างที่ผู้นำในศตวรรษที่ 21ควรมีคือ
1. ความสามารถในการสร้างแรงจูงใจให้พนักงาน
2. ความสามารถในการทำงานได้ดีในวัฒนธรรมที่หลากหลาย
3. ความสามารถในการเอื้ออำนวยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

จะเห็นได้ว่าคุณสมบัติ 3 ข้อนี้มีครบในตัวผู้ว่าฯ คนใหม่ แต่นอกเหนือจากคุณสมบัติเหล่านี้แล้ว ผู้นำที่ดียังควรมีคุณสมบัติอื่น ๆ ด้วย เช่น

มีทักษะการสื่อสารและธรรมชาติที่น่าเชื่อถือ

การสื่อสารไม่ใช่แค่การพูดที่มั่นใจเท่านั้น แต่ต้องรู้เวลาที่ควรพูด พูดและฟังอย่างไรให้มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความเชื่อใจให้ผู้อื่น พูดด้วยความซื่อสัตย์และเป็นมิตร

สร้างสรรค์และยืดหยุ่น

ต้องประเมินสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและหาแนวทางที่ดีที่สุด และหากวิธีนั้นไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด ผู้นำที่ดีต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา

มีความรับผิดชอบ

ความรับผิดชอบอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่ยังต้องให้การสนับสนุนคนที่เราทำงานด้วย ต้องมีความรับผิดชอบต่อการกระทำและการตัดสินใจของตัวเอง ไม่โทษผู้อื่นหรือหาข้อแก้ตัวเมื่อผิดพลาด แต่จะรับผิดชอบ เรียนรู้ แก้ไข และเดินหน้าต่อไป อ่อนน้อมถ่อมตนเมื่อประสบความสำเร็จ และเห็นคุณค่าในความพยายามของคนรอบข้าง

มีแรงจูงใจและมองโลกในแง่บวก

การมีความคิดเชิงบวกเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจและเป็นผู้นำคนอื่น ผู้ใหญ่ควรสอนให้เด็กมี Growth Mindset ครูควรสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดขึ้นในชั้นเรียนเพื่อสร้างเป้าหมาย

มีความมุ่งมั่นและเป็นผู้นำโดยทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี

นี่อาจเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ ลูกมักจะดูพ่อแม่เป็นแบบอย่าง เด็กเล็กก็มักจะเลียนแบบพฤติกรรมเด็กโต ผู้นำที่ดีไม่เพียงแค่เป็นตัวอย่างที่ดีเท่านั้น แต่ยังตระหนักถึงโอกาสที่ตัวเองจะได้ให้คำแนะนำที่ดีแก่ผู้อื่นด้วย

คุณสมบัติเหล่านี้คือคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่ดีที่ใคร  ๆ ก็อยากได้ แต่การปลูกฝังเด็กให้เติบโตขึ้นมามีทักษะการเป็นผู้นำต้องเริ่มต้นจากไหน

 

วิธีฝึกทักษะความเป็นผู้นำในเด็ก

 

1. ส่งเสริมกิจกรรมประเภททีม

ลองถามเด็ก ๆ ดูว่าชอบทำกิจกรรมอะไรบ้าง เราสามารถนำกิจกรรมเหล่านี้ไปต่อยอดกับกิจกรรมประเภททีมที่เด็กสนใจได้ เช่น กีฬา ตั้งวงเล่นดนตรี เล่นละคร กิจกรรมแบบกลุ่มจะทำให้เด็กเห็นบทบาทของคนที่เป็นหัวหน้าทีมว่ามีวิธีสื่อสารกับสมาชิกในกลุ่มที่ไม่เหมือนกันอย่างไร ทำอย่างไรให้ทุกคนเคารพกฎกติการ่วมกัน หรือมีวิธีสร้างความเท่าเทียมกันในหมู่สมาชิกได้อย่างไร การที่เด็กได้สังเกตทักษะความเป็นผู้นำในกลุ่มเล็ก ๆ แบบนี้จะทำให้เขาเกิดความเข้าใจได้ง่าย

 

อย่างไรก็ตาม รายงานของ Washington Post พบว่า เด็ก 70% เลิกเล่นกีฬาเมื่ออายุ 13 ปี ด้วยปัจจัยหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการขาดความสนใจและการค้นพบกีฬาทางเลือก แต่หากเด็กเลิกเล่นกีฬาก็ไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด เพราะเป้าหมายไม่ได้อยู่ที่การเล่นกีฬา แต่อยู่ที่การมีส่วนร่วมของเด็กในกิจกรรมที่ได้ใช้ร่างกาย เรียนรู้ทักษะ และการทำงานในฐานะส่วนหนึ่งของทีม

2. ฝึกความสามารถในการเจรจา

เด็กส่วนมากจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ใหญ่ในการทำอะไรบางอย่าง นี่จึงเป็นโอกาสที่ดีที่พวกเขาจะได้ฝึกฝนการเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ เช่น เราเห็นว่าเด็กน่าจะอยากได้เวลาทำงานมากขึ้นเพื่อทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จทัน แทนที่จะถามแล้วให้เด็กตอบว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” เราควรให้เด็กได้ลองสำรวจสถานการณ์นี้ พูดคิดที่ตัวเองคิดออกมา แล้วหาวิธีแก้ปัญหาในแบบของตัวเอง บางครั้งผู้ใหญ่อาจต้องช่วยเด็กด้วยการให้ตัวเลือกบางอย่าง เช่น บอกว่าสามารถทำงานตอนกลางวันได้นะ แต่แบบนี้ก็อาจทำให้หิวเกินไป หรือจะลองเลือกทำงานในช่วงเวลาพัก การสอนให้เด็กเจรจาต่อรองจะช่วยให้พวกเขาใช้จินตนาการคิดแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นี่จึงเป็นคุณสมบัติที่ผู้นำทุกประเภทต้องมี

3. ฝึกการตัดสินใจ

เมื่อเด็กโตขึ้น เด็กไม่ได้ต้องการให้พ่อแม่มาช่วยตัดสินใจให้ พวกเขาจะเริ่มตัดสินใจด้วยตัวเอง นี่จึงอาจดูเป็นเรื่องที่ยาก หากเด็กมีตัวเลือกที่มากเกินไป ผู้ใหญ่สามารถช่วยเด็กได้โดยจำกัดตัวเลือกที่เหมาะสมให้เหลือเพียง 2-3 อย่าง แล้วให้เด็กเลือกอย่างอิสระ พร้อมสอนให้รู้จักชั่งน้ำหนักข้อดีและข้อเสียก่อนตัดสินใจ

4. ฝึกทำงานหนัก

ผู้นำที่แท้จริงคือคนที่ทำงานหนัก การให้เด็กได้ลองริเริ่มทำอะไรที่อยากทำด้วยตัวเอง เช่น ตั้งซุ้มขายน้ำผลไม้ ประดิษฐ์ของที่ใช้งานได้จริง จะทำให้เด็กพอเห็นภาพสถานการณ์ที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต ผู้ใหญ่ช่วยเด็กได้ด้วยการแตกย่อยเป้าหมายออกมาเป็นงานหลาย ๆ ชิ้นที่สามารถจัดการได้พร้อมกำหนดเดดไลน์ สอนให้เด็ก ๆ ข้ามผ่านความผิดหวังและช่วยแก้ปัญหาไปพร้อม ๆ กัน สิ่งนี้จะปลูกฝังความอดทนให้กับเด็ก การที่เด็กตระหนักถึงเป้าหมายของตัวเองจะสร้างความภาคภูมิใจและความมั่นใจในความสามารถของเขา

5. ปลูกฝังการมองโลกในแง่ดี

การมองในแง่ดีสัมพันธ์กับความสำเร็จโดยตรง ผู้นำที่มองโลกในแง่ดีจะมีความมั่นใจและเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นมองโลกในแง่ดีตามไปด้วย ผู้ใหญ่ต้องสอนให้เด็กรู้จักความคิดของตัวเองก่อนว่ากำลังมองโลกในแง่ดีหรือร้าย ให้เด็กเห็นความสำคัญของการมีความคิดเชิงบวก และให้รางวัลเด็ก ๆ ด้วยการชมเชยเมื่อพวกเขามีความคิดเชิงบวก

6. ให้ความสำคัญกับความฉลาดทางอารมณ์

ความฉลาดทางอารมณ์บ่งบอกว่าเด็กเข้าใจความเห็นอกเห็นใจได้ดีเพียงใด และเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหา 

7. ส่งเสริมการตั้งคำถาม “ฉันจะทำได้อย่างไร” แทน “ฉันทำไม่ได้”

คำถามแบบนี้จะสร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้กับเด็ก ๆ และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กมีฝันที่ใหญ่ขึ้น เป็นเรื่องปกติที่บางครั้งเด็กจะเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบากและอยากยอมแพ้ แทนที่ผู้ใหญ่จะเข้ามาช่วยเหลือทันที เราควรถามคำถามให้เขาได้ใช้ความคิด เช่น เราจะทำอะไรได้บ้าง เด็กจะได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นทักษะสำคัญของชีวิตที่ประสบความสำเร็จ

คงจะดีไม่น้อยถ้าเด็กทุกคนมีทักษะการเป็นผู้นำอยู่ในตัวตั้งแต่ยังเล็ก เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าในอนาคตเด็กแต่ละคนจะใช้ชีวิตของเขาไปในทิศทางไหน แต่อย่างน้อยทักษะนี้จะเป็นเครื่องมือติดตัวที่มีประโยชน์ให้เขาได้เป็นผู้นำในชีวิตของตัวเอง และหากมีโอกาสได้ใช้ทักษะนี้เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เราก็มั่นใจได้ว่าเขาคือผู้นำที่ดี ทำงานได้ และสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง

 

อ้างอิง
https://classful.com/tips-for-teaching-children-leadership-self-reliance
https://www.teachstarter.com/us/blog/what-makes-a-good-leader-leadership-skills-for-kids
https://www.forbes.com/sites/deeppatel/2017/07/26/
https://www.lifehack.org/articles/communication/
https://www.youtube.com/watch?v=ssQJLM7ArMU

Tag

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS