เปิดคัมภีร์การเล่าเรื่องสุดเจ๋ง
ตามแบบฉบับการ์ตูนแห่งความทรงจำ
เราจำชั่วโมงการ์ตูนในเช้าวันหยุดได้ไหม ?
อยากรู้ไหมว่าเขาเล่ากันอย่างไร ?
การ์ตูนดี ๆ สักเรื่อง ก็เป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมโยงให้เด็กคนหนึ่งได้เข้าใจตัวเอง และคนรอบข้างมากขึ้น แต่เราถ้าพูดถึงการ์ตูนที่สร้างความประทับใจ เราจะนึกถึงการ์ตูนเรื่องอะไร ? Finding Nemo, Wall E, Toy Story อาจจะเป็นหนึ่งในเรื่องที่เรานึกถึงเสมอ และมนต์เสน่ห์แห่งความทรงจำวัยเด็กของเราเหล่านี้เขาเล่าอย่างไร บทความนี้มีคำตอบ
เล่าสนุกเพราะมนุษย์มีปัญหาเรื่องความจำ
ปัญหาอย่างหนึ่งของมนุษย์คือคนจะลืมข้อมูลทันที 50% ภายในเวลาไม่ถึงวันแต่การที่จะทำให้คนจำถึงข้อมูลและเรื่องราวได้ดีนั้นข้อมูลและเรื่องราวนั้นต้องไปผูกพันกับอารมณ์เพื่อให้เกิดเป็นความทรงจำขึ้นมาโดยข้อมูลที่ผูกกับอารมณ์เนื้อเรื่องนั้นจะจำได้ดีกว่าข้อมูลอย่างเดียวถึง 22% ด้วยการใช้เรื่องราวสีสันในการเล่าทำให้คนจดจำได้ดีขึ้นไปอีก กระตุ้นการจดจำให้เข้าถึงคนทุกวัยขึ้นมาได้ด้วยการสร้างเรื่องราวที่สะท้อนชีวิตจริง ๆ ขึ้นมาตั้งแต่เด็กจนโต ทำให้เรื่องราวเหล่านี้เชื่อมกับความรู้สึกของผู้ชมทันที เช่น Soul ที่เชื่อมกับคนที่กำลังค้นหาตัวเอง Toy Story คือวัยเด็กที่ผจญภัยกับเพื่อนและวัยเด็กของคนที่อยากให้ของเล่นมีชีวิตสิ่งเหล่านี้ทำให้เนื้อเรื่องสร้างความผูกผันรำลึกความหลังกับคนดูได้ทันที
เล่าสนุกเพราะมีความเป็นมนุษย์สูง
เวลาที่เราดูการ์ตูนแอนิเมชัน เราจะรู้สึกว่าจุดเด่นของมัน คือ “ตัวละครมีความเป็นมนุษย์สูงมาก แม้แต่ตัวละครที่เป็นสัตว์หรือปัญญาประดิษฐ์นั่นเอง ยกตัวอย่าง เช่น Wall E ที่ไม่ใช่หุ่นยนต์ธรรมดาๆ แต่ต้องเป็นหุ่นยนต์ที่มีความเหงาอยู่ภายในใจ ซึ่งต่อมาได้ตกหลุมรักกับอีฟ หุ่นยนต์สาวสุดไฮเทคที่มาตามล่าหาสิ่งมีชีวิตที่หลงเหลืออยู่ หรือจะเป็นเจ้ามดที่ชื่อ ฟลิค จากเรื่อง A Bug’s Life เป็นมดจอมป่วนที่ต้องออกเดินทางเพื่อตามหาคนมาช่วยเมืองมดของตัวเองให้รอดพ้นจากตั๊กแตน หรือจะเป็นนายอำเภอวูดดี้ จากเรื่อง Toy Story เขาเป็นของเล่นสุดโปรดของแอนดี้ ที่เคยใช้ชีวิตอย่างสงบสุข แต่ก็ต้องมาวุ่นวายเพราะแอนดี้ได้ของเล่นใหม่เป็นตำรวจอวกาศบัซไลท์เยียร์ จากทั้งสองเรื่องถ้าใครเคยดูมาก่อนจะรู้ว่าตัวละครมีความคิดและความรู้สึกเหมือนมนุษย์เราทุกอย่าง การผจญภัยของทั้งสองตัวละครเป็นการเผชิญกับความยากลำบากที่ต้องตัดสินใจ และส่งผลต่อพัฒนาการของเนื้อเรื่อง ซึ่งความลับตรงนี้คือการหาอะไรบางอย่างมาท้ายทายตัวละครของเราและดูว่าตัวละครของเราจะดำเนินเรื่องต่อไปยังไง เช่น เราสร้างตัวละครที่สุขสบายให้พบเจอกับทุกข์ยากอย่างกระทันหัน จะทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวละครที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ความยากลำบากนี้ ซึ่งนี่ถือเป็นวิธีการพัฒนาตัวละครของเราให้มีพัฒนาการมากขึ้นนั่นเอง
เล่าสนุกเพราะกระตุกความคิดด้วยคำว่า “ถ้า”
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเจ้าหญิงไม่มีเจ้าชายมาช่วย ? จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหนูกลายเป็นพ่อครัวขึ้นมา ? ตัวอย่างเล็ก ๆ ของการใช้คำว่า “จะเกิดอะไรขึ้นถ้า..” เพื่อสร้างแนวคิดง่ายๆ ให้กับเรื่องราว และแน่นอนหลายคนคงจะมองส่วนนี้มาเป็นความเพ้อฝัน ดังนั้นเราต้องตัดความเป็นเหตุเป็นผลออกไปให้หมด เพื่อเปิดประตูสู่จินตนาการให้ได้มากที่สุด และการหาข้อมูลมาประกอบเรื่องเพื่อสร้างเรื่องราวให้สมบูรณ์ขึ้นได้อีกด้วย
เล่าสนุกเพราะวางโครงเรื่องเสมือน “แผนที่”
การวางโครงเรื่องจะต้องมีจุดเริ่มต้น เหตุการณ์ระหว่างเรื่อง และมีจุดจบที่ชัดเจน ลักษณะเดียวกับแผนที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องทำให้ได้อย่างแนบเนียน และไม่หลุดจากธีมหลักของเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง Finding Nemo ที่มีจุดเริ่มต้นคือปลานีโมที่โหยหาความเป็นอิสระจากการที่ต้องกักขังถูกกักขังไว้แต่ในบ้าน เมื่อหนีออกมาได้สำเร็จก็ถึงคราวต้องเผชิญกับเรื่องตื่นเต้นมากมายที่ไม่เคยพบเจอ และสุดท้ายก็จบลงตรงที่นีโมและเพื่อนๆ ได้เรียนรู้ประสบการณ์มากมาย ซึ่งการวางโครงเรื่อง จุดเริ่มต้น เหตุการณ์ระหว่างเรื่อง และจุดจบที่ดี จะทำให้การเล่าเรื่องราวสามารถดึงผู้ชมให้อยู่กับเรื่องไปตั้งแต่ต้นจนจบได้
เรื่องเล่าที่ดีนั้นไม่ง่ายเลยที่จะสร้างมันขึ้นมา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นคุณครู หรือพ่อแม่ผู้ปกครอง มักหยิบยกเรื่องราวในการ์ตูนมาเป็นบทเรียนสอนเด็ก ๆ ของเราเสมอ แต่ถ้าเราไม่ใช่นักเล่าเรื่องชั้นเซียน เราสามารถเนรมิตเรื่องราวเหล่านั้นออกมาได้อย่างไรบ้าง
อันดับแรกเลยคือการเลือกเรื่องให้เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ของเด็ก เช่น สำหรับเด็ก 2-5 ปี เลือกเรื่องสั้นๆ สามารถเชื่อมโยงกับเรื่องราวในชีวิตประจำวัน หรือที่เด็กพบเห็นได้ เช่น สัตว์, บ้าน, รถ เป็นต้น
ส่วนที่สองคือ คุณพ่อคุณแม่หรือคุณครู อาจจะหยิบยกประสบการณ์รอบตัวลูกมาร้อยเรียงเป็นสถานการณ์เล็ก ๆ สร้างตัวละครใหม่ ๆ และลองเอ็นเตอร์เทนตัวเองโดยการอ่านเลียนเสียงเป็นตัวละครต่างๆ ทำให้เรื่องราวสนุกขึ้น หรือไม่ก็ใส่ทำนอง ใส่ซาวด์ให้ดูตื่นเต้นยิ้งขึ้น
ขณะที่กำลังเล่าเด็ก ๆ มักจะมีคำถามอยู่ตลอด เราต้องเปิดโอกาสให้เขาถามคำถามหรือแสดงความคิดเห็น จะช่วยกระตุ้นต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ หรือในบางจังหวะ การนั่งฟังเฉยๆ อาจจะเบื่อ ลองให้ลูกเข้ามามีส่วนร่วมกับเรื่องราว สร้างจินตนาการตามเนื้อเรื่องที่แต่งขึ้นมา เช่น อาจจะกระโดด วิ่งตามตัวละครในเรื่อง, ลองให้ลูกเล่นเป็นตัวละครในเรื่อง, สวมบทบาทสมมติแทนตัวละคร ว่าหนูเป็นตัวละครนี้หนูจะทำยังไง ซึ่งบางครั้งการเล่าอาจทำให้เห็นภาพไม่ชัด หรือตัวละครมีหลายตัว การมีพร็อพเข้ามาช่วยไม่ว่าจะเป็น ตุ๊กตามือ กระดานเขียน ก็อาจเข้ามาช่วยให้ลูกเข้าใจเรื่องราวมากขึ้น หรือทำให้ลูกเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่าแค่ฟังเพียงอย่างเดียว
และเมื่อการ์ตูนจบ ความสนุกก็ยังไม่ควรจบแค่เพียงเท่านั้น ในระหว่างการดูหรือเมื่อดูจบแล้ว อย่าลืมชวนลูกถามตอบ เช่น ลูกชอบตัวละครไหนที่สุด? ถ้าเป็นลูก จะทำอย่างไร?อาจชวนคุยเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องราวใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน หรือให้ลูกเป็นฝ่ายตั้งคำถามกับเราบ้าง การ์ตูนบางเรื่องสอดแทรกบทเรียนที่เป็นประโยชน์กับชีวิตจริง เช่น การเล่นกับเพื่อน การไปโรงเรียน การดูแลตัวเอง
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บ่อยครั้งที่ลูกของเราเชื่อการ์ตูนมากกว่าเชื่อคุณพ่อคุณแม่เสียอีก การเลือกการ์ตูนดี ๆ หรือแต่งนิทานสนุก ๆ ร่วมกัน ก็นับว่าเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้ลูกซึมซับประสบการณ์ใหม่ได้ดีเช่นกัน