คำถามสำคัญของการค้นหาพรสวรรค์ที่ซ่อนอยู่ เราเรียนรู้แบบไหนได้ดีที่สุด
การค้นหาความเก่ง หรือพรสวรรค์ที่แอบซ่อนอยู่ในตัวเรามีความสัมพันธ์กับรูปแบบการเรียนรู้ของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน
- การค้นหาความเก่ง หรือพรสวรรค์ที่แอบซ่อนอยู่ในตัวเรามีความสัมพันธ์กับรูปแบบการเรียนรู้ของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน
- เมื่อระบบการศึกษาไม่ได้เอื้อให้เด็กได้ค้นพบความเก่งของตัวเองได้ง่ายนัก การเรียนรู้ว่าโอกาสและสภาพแวดล้อมแบบไหนที่เอื้อต่อการค้นพบพรสวรรค์หรือความเก่งจึงเป็นเรื่องสำคัญ
- เซอร์ เคน โรบินสัน นักการศึกษาคนสำคัญของโลกแนะนำว่าถ้าเรามีโอกาส เราควรทดลองให้มากที่สุด ลองให้รู้จักตัวเองและโลกใบนี้ให้มากขึ้น มองข้ามกำแพงที่มองไม่เห็นต่าง ๆ ทั้งกำแพงด้านวัฒนธรรม ครอบครัว สังคม และค่านิยม
“เราเก่งเรื่องอะไรกันแน่”
“เรามีพรสวรรค์อะไรซ่อนอยู่หรือเปล่า แค่ยังหาไม่เจอ”
“หรือจริง ๆ แล้วเราเป็นคนที่ไม่เก่งอะไรเอาซะเลย”
นี่อาจเป็นหนึ่งในหลายคำถามที่เด็กยุคนี้ รวมถึงผู้ใหญ่หลาย ๆ คนถามตัวเอง สังคมที่พร่ำบอกเราว่าต้องเก่ง ต้องมีจุดเด่น อาจกำลังสร้างความอึดอัดคับข้องใจให้กับคนที่ยังหาความเก่งของตัวเองไม่เจอ หรือไม่มั่นใจว่าแท้จริงแล้วเรามีสิ่งนี้หรือเปล่า นี่ไม่ใช่การพูดปลอบใจแต่อย่างใด ถ้าจะบอกว่าเราทุกคนมีความเก่งซ่อนอยู่ แต่ที่ยังไม่เจอ อาจเป็นเพราะเรายังไม่เจอวิธีเรียนรู้ที่ใช่เท่านั้นเอง
หาพรสวรรค์ไม่เจอ ไม่ได้แปลว่าไม่มี
เซอร์ เคน โรบินสัน นักการศึกษาคนสำคัญของโลกได้กล่าวไว้ในหนังสือ Finding Your Element (ออกแบบเส้นทางชีวิตด้วยวิธีคิด 15 ขั้น) ไว้ว่า
ธรรมชาติของคนเรานั้นไม่ได้มีจำกัด คนเรามีดีและเก่งได้หลายอย่าง และบางอย่างเราก็ยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
แต่สิ่งที่เราเจอกันบ่อย ๆ คือเมื่อเด็กหรือผู้ใหญ่ได้ลองทำอะไรบางอย่างแล้วรู้สึกว่าไม่ชอบ หรือคิดว่ายังไม่ใช่สักเท่าไรด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจเป็นการเจอครูสอนที่ไม่ถูกจริตเรา หรือได้ทำสิ่งนั้นในรูปแบบที่ยังไม่ใช่ เลยทำให้เราเผลอคิดไปว่าฉันไม่น่าจะเก่งเรื่องนี้หรอก แต่ถ้าวันหนึ่งเราได้เจอครูที่ใช่ล่ะ ครูที่พาเราไปค้นพบความเก่งที่ซ่อนอยู่ หรือไปเจอวิธีเรียนรู้ที่มันคลิกจนเรายังทึ่งกับพรสวรรค์ในตัวเองที่ไม่เคยรู้มาก่อน ความมหัศจรรย์นี้มันคงไม่ต่างอะไรกับการได้เจอเพชรที่ซ่อนอยู่ในตัวเอง ที่ไม่เคยได้ส่องแสงให้เจ้าของหรือใครที่ไหนได้เห็น เพราะเราไม่รู้ว่ามันมีอยู่ หรือถ้ามีแสงทำท่าจะเข้ามาส่อง มันก็เป็นแค่แสงเทียนที่ฉายมาแวบเดียว จนเราแทบไม่ทันเห็นอะไรเลย
จุดนี้เองที่ทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามถึงโอกาสและสภาพแวดล้อมที่จะทำให้เราได้ค้นพบพรสวรรค์หรือความเก่งที่ซ่อนอยู่ ระบบการศึกษาของเราเอื้อให้เด็กได้ค้นพบความเก่งของตัวเองมากแค่ไหน ถ้าไม่นับวิชาที่ดูเป็นวิชาการจ๋า ก็จะมีพลศึกษา ดนตรีและศิลปะที่อาจพอทำให้เด็ก ๆ ได้ตื่นเต้นและได้ค้นพบศักยภาพด้านอื่นบ้าง แต่ก็น่าเสียดายที่หลายครั้งพรสวรรค์เหล่านี้กลับไม่ถูกค้นพบเพียงเพราะเด็กคนหนึ่งที่ชื่นชอบการวาดรูปในสไตล์ของตัวเอง ถูกตัดสินความงามของศิลปะด้วยคะแนนจากครู เด็กอยากตีกลองชุดมัน ๆ เหมือนในหนัง แต่โรงเรียนมีแต่วิชาดนตรีไทย หรือเด็กที่ดูมีแววว่าจะเล่นเทควันโดได้ดี แต่วิชานี้ไม่ได้มีสอนในคาบพละเลย
ถ้าระบบไม่ได้เอื้อกับโอกาสของเด็กสักเท่าไร ยังมีอะไรที่พอจะเป็นความหวังได้อีกบ้าง หลายครั้งที่เราได้ยินเรื่องราวของครูที่เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กสักคนชนิดพลิกชีวิตจากหน้ามือเป็นหลังมือ เซอร์ เคน ได้ยกตัวอย่างนี้ผ่านเรื่องราวของเคท ลูกสาวของเขา กับครูคนหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตเคทไปโดยสิ้นเชิง เคทเป็นเด็กที่ไม่ชอบวิชาเคมีเอาเสียเลย เธอนั่งหลังห้อง ไม่สนใจเรียน ผลการเรียนย่ำแย่ถึงขั้นสอบตก จนวันหนึ่งครูคนนี้เรียกเคทมาคุยด้วย แล้วบอกว่าจะติวให้ตอนเย็น ความใส่ใจของครูไม่เพียงทำให้ผลการเรียนของเคทดีขึ้นเท่านั้น แต่เกรดของเธอก้าวกระโดดถึงขั้นได้ A แถมยังเก่งชนิดที่ติวเพื่อนได้อีกด้วย จากคนที่ต่อต้านวิชานี้ เธอเลือกเรียนเคมีต่อในระดับมหาวิทยาลัย นี่คือตัวอย่างของการเจอครูที่ใช่ หรือเจอวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมที่จะช่วยให้เราได้ค้นพบความเก่งที่ซ่อนอยู่ ครูแบบนี้นี่แหละที่เราต้องหาให้เจอ แต่ในชีวิตจริงมันไม่ได้ง่ายแบบนั้นเสมอไป
เมื่อเราไม่สามารถหาครูที่ใช่ ที่รู้ว่าต้องสอนแบบนี้ เด็กคนนี้ถึงจะเข้าใจได้ง่าย ๆ เซอร์ เคน จึงแนะนำว่าถ้าเรามีโอกาส เราควรทดลองให้มากที่สุด ลองให้รู้จักตัวเองและโลกใบนี้ให้มากขึ้น มองข้ามกำแพงที่มองไม่เห็นต่าง ๆ ทั้งกำแพงด้านวัฒนธรรม ครอบครัว สังคม และค่านิยมที่อาจให้ค่าการอ่านหนังสือเพื่อติวสอบหมอมากกว่าการไปลงเรียนเต้น เรียนร้องเพลงอย่างจริงจัง และที่สำคัญหากเรารู้ว่าตัวเองเป็นคนเรียนรู้แบบไหนได้ดี นี่จะยิ่งเป็นทางลัดให้เราได้เจอความเก่งที่ซ่อนอยู่ได้เร็วยิ่งขึ้น
รู้จักตัวเองหรือยัง เราเรียนรู้แบบไหนได้ดี
แล้วมนุษย์เรามีสไตล์การเรียนรู้ที่แตกต่างกันอย่างไร คำตอบสั้น ๆ คือ V-A-R-K หรือ ดู ฟัง อ่านเขียน เคลื่อนไหว
-
- Visual Learning กลุ่มนี้เห็นเป็นภาพ ดูวิดีโอ ดูกราฟ แล้วจะเข้าใจได้ดี
- Auditory Learning กลุ่มชอบฟัง จะเป็นดนตรี พอดแคสต์ ฟังอภิปราย ฟังบรรยาย อะไรก็ได้
- Reading and Writing Learning กลุ่มชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบจดโน้ต
- Kinesthetic Learning กลุ่มที่ชอบการเคลื่อนไหว อยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้ ชอบทดลอง ลงมือปฏิบัติ
การเรียนรู้ในเรื่องเดียวกัน หากสอนด้วยวิธีการที่แตกต่างกันตาม 4 แบบนี้จะทำให้เด็กได้ค้นพบความเก่งที่ซ่อนอยู่ เพราะต้องมีวิธีใดวิธีหนึ่งที่ตรงกับจริตของเขามากที่สุด จะดีกว่าไหมถ้าระบบการศึกษาในอนาคตให้โอกาสเด็กแต่ละคนได้เรียนรู้ว่าตัวเองเหมาะกับการเรียนรู้แบบไหน แล้วนำสไตล์การเรียนรู้นั้นมาใช้ในห้องเรียนได้จริง เด็กไม่ต้องนั่งอ่าน นั่งฟังอย่างเดียว ถ้าการลุกขึ้นมาทำกิจกรรม ได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายช่วยให้เขาจดจำและเรียนรู้ได้ดีกว่า
ภยันตรายของการศึกษาในยุคนี้
แม้ว่าจะมีปัจจัยหลายอย่างในระบบการศึกษาที่ส่งผลโดยตรงต่อเด็ก สำหรับเซอร์ เคน แล้ว เขามองว่า 2 อย่างนี้เป็นประเด็นที่เราควรใส่ใจ
-
- การไม่ได้สนใจว่าเด็กชอบหรือถนัดเรื่องอะไร แต่โรงเรียนกำหนดวิชาที่เด็กจะต้องมาเรียนมาให้แล้ว
- การไม่เข้าใจว่าคนเรามีวิธีเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เด็กจะค้นพบความถนัดของตัวเองได้ยาก หากเรายังใช้วิธีการสอนที่ไม่เหมาะกับเขา
หากเด็กของเรา หรือตัวเราเองยังไม่เจอความถนัดที่ซ่อนอยู่ มันไม่ได้แปลว่าเราไม่มีสิ่งนั้น ฉะนั้น
เราไม่ควรปฏิเสธสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือด่วนตัดสินทันทีจากประสบการณ์แย่ ๆ แค่ครั้งเดียวจากการทดลองทำอะไรบางอย่าง เพราะนี่อาจเป็นแค่วิธีการเรียนรู้มันยังไม่ใช่เท่านั้น
เหมือนกับเจอครูสอนดนตรีที่ไม่ถูกจริต สอนเร็วไปจนตามไม่ทัน เลยนึกว่าตัวเองไม่มีพรสวรรค์เรื่องนี้ ถ้าคิดว่าเรายังสนใจเรื่องนี้อยู่ การลองหาครูคนใหม่ หาคนที่จะเปิดประตูให้เราได้ใช้ศักยภาพสูงสุดของตัวเอง ทดลองและเรียนรู้ให้แน่ใจว่าเราชอบและไปได้ดีในเส้นทางนี้หรือเปล่าน่าจะเป็นการให้โอกาสตัวเองที่ดีกว่า
สำหรับคนที่เลยวัยเด็กมาแล้ว อาจเป็นผู้ใหญ่ที่มีงานประจำ หรือผู้สูงอายุที่เกษียณมีเวลาว่าง การค้นหาความถนัดยังเป็นเรื่องที่เป็นไปได้เสมอ หลายคนค้นพบว่าฉันทำกับข้าว ทำขนมจนเปิดร้านได้ก็ตอนช่วงโควิด มนุษย์เราเรียนรู้ได้ตลอดเวลาตราบใดที่เราใช้เวลาว่างออกไปค้นหาโอกาสใหม่ ๆ ถ้าบอกว่านักปั่นจักรยานมือสมัครเล่นก็มีสิทธิ์คว้าเหรียญทองโอลิมปิก หลายคนคงหัวเราะแล้วบอกว่าเป็นไปไม่ได้แน่ ๆ แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2021 ที่โตเกียวโอลิมปิก แอนนา คีเซนโฮเฟอร์ นักคณิตศาสตร์ดีกรีด็อกเตอร์ที่ไม่ได้เป็นนักกีฬามืออาชีพแต่อย่างใด ใช้ศักยภาพสูงสุดของเธอไปกับการปั่นจักรยานจนคว้าเหรียญทองชนิดที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน สื่อหลายสำนักคาดการณ์กันว่านักกีฬาตัวเต็งจากเนเธอร์แลนด์น่าจะคว้าแชมป์ ที่น่าทึ่งไปกว่านั้นคือแอนนาได้โควตามาแข่งโอลิมปิกในนามประเทศออสเตรียโดยแบบโดด ๆ ไม่มีโค้ช ไม่มีทีมโภชนาการ ไม่มีเพื่อนนักแข่งชาติเดียวกัน สิ่งเดียวที่เธอมีคือความหลงใหลในการปั่นจักรยานเท่านั้น แม้ก่อนหน้านี้จะไม่ได้มีผลงานจากการแข่งขันจักรยานที่โดดเด่นเหมือนนักกีฬามืออาชีพจากหลายประเทศ แต่นี่ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าถ้าเราหาความถนัดของเราเจอ ใครจะรู้ว่ามันจะพาเราไปถึงจุดไหน
คำถามสำคัญที่เซอร์ เคน ฝากไว้ให้เราได้คิดคือ ทำอย่างไรเราถึงจะเรียนรู้ได้ดีที่สุด คำถาม 5 ข้อนี้น่าจะช่วยให้เราหาคำตอบในเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น
- เราเป็นคนเรียนรู้ได้ดีในรูปแบบไหน ดู ฟัง อ่านเขียน เคลื่อนไหว
- เคยมีใครบอกเราหรือเปล่าว่าเราเก่งในบางเรื่องแบบที่เราก็นึกไม่ถึง
- เราเคยหลีกเลี่ยงการทำอะไรบางอย่าง เพราะคิดว่าตัวเองไม่เก่งหรือเปล่า
- เราได้ลองเรียนรู้เรื่องที่คิดว่าไม่เก่งโดยใช้แนวทางใหม่บ้างไหม
- มีเรื่องไหนที่เราคิดว่าเราอาจเก่งได้ ถ้ามีโอกาสทำอย่างเหมาะสม หรือเจอครูที่ใช่
แม้การหาพรสวรรค์ที่ซ่อนอยู่อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน ต่อให้เราเจอมันเข้าแล้วก็ไม่ได้แปลว่ามันจะมีแค่นี้ หรือมาไกลสุดได้แค่นี้ สิ่งสำคัญอย่างแรกคือการให้โอกาสตัวเองได้ลองเป็นครูของตัวเราดูก่อน ค้นหาสไตล์การเรียนรู้ที่ใช่ แล้วออกไปสำรวจ ทดลองสิ่งต่าง ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
อ้างอิง
https://www.youtube.com/watch?v=CtU45eF9ccQ
https://www.facebook.com/jingjungfootball/photos/a.1763433500538559/2851915925023639/