จะไม่มีประเทศไหนที่การศึกษาล้มเหลว ถ้าประเทศนั้น…

A A
Mar 2, 2022
Mar 2, 2022
A A

จะไม่มีประเทศไหนที่การศึกษาล้มเหลว ถ้าประเทศนั้น…

 

ระบบการศึกษาล้มเหลวไม่เคยโทษตัวเองเลยว่าเป็นระบบที่ห่วยแตกที่ทำให้เด็กต้องลาออก เด็กบางคนต้องเอามีดแทงความฝันตัวเองให้ตายไป กักขังทัศนคติของเขา กักขังความรู้สึกดี ๆ ที่เขาอยากทำตามฝัน แล้วใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนอย่างไม่มีความสุข เพื่อที่จะได้ใบปริญญาอันเดียวให้ครอบครัวได้ภูมิใจ

 

คำพูดตรง ๆ ของบุ๊ค-ธนายุทธ ณ อยุธยา หรือที่รู้จักกันในหมู่แร็ปเปอร์ว่า Elevenfinger สะท้อนถึงความเป็นจริงของระบบการศึกษาไทยที่ไม่ได้มีพื้นที่ให้กับคนแบบเขา เป็นความจริงที่แสนเจ็บปวดเพราะบุ๊คไม่ใช่แค่เด็กคนเดียวที่ต้องเจอกับปัญหานี้ ทุกห้องเรียน ทุกโรงเรียน ทุกจังหวัด หลายประเทศทั่วโลก มีเด็กที่กำลังตกเป็นเหยื่อของระบบการศึกษาทั้งสิ้น อะไรทำให้เรื่องราวของบุ๊คควรเป็นสิ่งที่นักการศึกษาทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนวางนโยบายการศึกษาของประเทศ ครู หรือผู้ปกครองควรมาดู

“School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน” หนังสารคดีที่ใช้เวลา 2 ปีเต็มในการถ่ายทำชีวิตแร็ปเปอร์คลองเตย ผลงานของเบส-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย จะพาเรามาร่วมสำรวจความจริงที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ไปด้วยกัน สารคดีเรื่องนี้พาเราไปรู้จักกับบุ๊คและนนท์ นักเรียนมัธยมที่เติบโตมาในสลัม พวกเขาชอบการแร็ป และให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มากจนเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ทั้งคู่ทำได้ดีที่สุด บุ๊คอาศัยอยู่กับพ่อและย่า พ่อเล่าว่าก่อนขึ้นม.4 บุ๊คเคยเป็นเด็กเรียนดีมาก่อน ไปโรงเรียนแต่เช้า กว่าจะกลับก็ช้ากว่าคนอื่น เพราะชอบทำกิจกรรมอาสาในโรงเรียน จนขึ้น ม.4 การเรียนเริ่มตกลงเรื่อย ๆ เพราะให้ความสำคัญกับการแร็ปมากกว่า

School Town King แร็ปทะลุฝ้า

ส่วนนนท์เองมีพี่น้อง 7 คน เขาอยู่กับพ่อเลี้ยงและแม่ มีฝันอยากจะซื้อบ้านให้ครอบครัวมีชีวิตที่สบายกว่านี้ เพลงแร็ปที่ทั้งคู่แต่งขึ้นจึงมาจากชีวิตของพวกเขาเอง สะท้อนว่าสังคมมองพวกเขาอย่างไร และความจริงมันเป็นอย่างไร ทั้งคู่เริ่มได้รับความสนใจจากสื่อทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น ยอดวิวนับแสนนับล้านที่เข้ามาฟังเพลง มาทำความรู้จักว่าสองคนนี้คือใครคือเครื่องพิสูจน์ในความสามารถของพวกเขา นี่น่าจะทำให้บุ๊คและนนท์กลายเป็นเด็กที่พ่อแม่และครูในโรงเรียนภูมิใจได้ไม่ยากในฐานะเด็กกิจกรรมที่นำชื่อเสียงมาสู่โรงเรียน แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่แบบนั้น

ที่โรงเรียนพวกเขาคือเด็กหลังห้องที่อยู่นอกสายตาครู เมื่อขอขึ้นเวทีเพื่อแสดงความสามารถ พวกเขาไม่ได้รับโอกาส การแร็ปได้ไม่ใช่ความสามารถที่ควรชื่นชมกันหรอกหรือ แล้วอะไรคือความสามารถที่สังคมเราให้ค่า เด็กเรียนดีเรียนเก่ง เด็กที่คว้าเหรียญโอลิมปิกวิชาการเท่านั้นหรือ

การศึกษากำลังทำลายความคิดสร้างสรรค์

เซอร์ เคน โรบินสัน นักเขียนชาวอังกฤษและนักการศึกษาชื่อดังของโลกกล่าวไว้ว่า “เด็กทุกคนมีความสามารถเฉพาะตัว แต่พวกเรากลับทำลายมันอย่างน่าเสียดาย ความคิดสร้างสรรค์มีความสำคัญในด้านการศึกษาพอ ๆ กับการรู้หนังสือ และเราควรให้ความสำคัญกับมันอย่างเท่าเทียม” ปิกัสโซ่ยังเคยบอกว่า เด็กทุกคนเกิดมาเป็นศิลปิน ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้ความเป็นศิลปินนั้นยังคงอยู่เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่ เซอร์ เคน จึงเชื่อว่าเราไม่ได้มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นเมื่อเราโตขึ้น แต่เรากลับมีน้อยลงตามอายุที่มากขึ้น หรือพูดได้ว่าการศึกษาทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ที่ถดถอยลง

เซอร์ เคน โรบินสัน

เซอร์ เคน โรบินสัน
ภาพจาก : https://www.ted.com/talks/sir_ken_robinson_bring_on_the_learning_revolution

ความเป็นศิลปินของบุ๊คและนนท์กำลังถูกระบบการศึกษาทำลายลง ในรั้วโรงเรียนไม่มีผู้ใหญ่คนไหนเห็นแววศิลปินของพวกเขาเลย ทั้งคู่ไม่ได้มีความสุขกับการเรียนวิชาการที่พวกเขามองไม่เห็นประโยชน์ว่าจะเรียนไปทำไม สำหรับพวกเขาแล้ววิชาเหล่านี้มันไม่เข้าหัว เพราะแค่ให้จด แล้วก็จำเอา แต่แร็ปคือการปฏิบัติ ถ้าเด็กชอบศิลปะที่มีแค่คาบเดียวต่อสัปดาห์ ต้องมาเรียนวิทยาศาสตร์ที่มีหลายคาบ มันก็ไม่ต่างอะไรจากการทรมานพวกเขา

บุ๊คจึงมีความคิดว่าถ้าลาออกเพื่อมาทำเพลงอย่างเดียว เขามีสิทธิ์ดัง ขณะที่นนท์เห็นว่าภาษาอังกฤษจะเป็นสิ่งที่ดึงให้คนเข้ามาฟังเพลงของเขามากขึ้น ยอดวิวอาจขึ้นเป็นร้อยล้าน สังเกตจากเพลงที่เขาฟังส่วนใหญ่ที่เป็นภาษาอังกฤษ ถ้าเป็นไปได้เขาก็อยากแต่งเพลงเป็นภาษาอังกฤษได้ แต่จะทำอย่างไรถ้าภาษาของนนท์ยังไม่แข็งแรงพอ

บางทีการเรียนรู้อาจเริ่มจากตรงนี้ เมื่อไรที่เราเห็นว่าเรียนไปแล้วได้ประโยชน์อะไร เราจะมีแรงบันดาลใจขึ้นมาเองโดยไม่ต้องให้ใครมาบอกกล่าวหรือบังคับ นนท์ขอให้ครูภาษาอังกฤษช่วยสอนพิเศษให้หลังเลิกเรียน โชคดีที่ยังมีครูยินดีให้ความช่วยเหลือในยามที่นนท์ต้องการ ครูแนะนำให้เขาลองเขียนคำอ่านภาษาอังกฤษจากเพลงที่ชื่นชอบออกมาเป็นภาษาไทยก่อน เพราะนนท์ยังอ่านไม่ค่อยคล่องเท่าไร และด้วยการเรียนรู้แบบนี้ นนท์บอกว่าการแร็ปเริ่มทำให้เขาอ่านภาษาอังกฤษออก

เสียงสะท้อนจากเด็กหลังห้อง

ช่วงหนึ่งของสารคดีบุ๊คสะท้อนว่าผู้ใหญ่ไม่ควรมองแค่ว่าเด็กเก่งอะไร แล้วไม่เก่งอะไร แต่ควรมองว่าสิ่งที่เด็กเก่งและทำได้ดีนั้นคือทุกอย่างของเขา ผลการเรียนในตอนม.ต้นของบุ๊คคือเครื่องพิสูจน์อย่างชัดเจนว่าเขาไม่ใช่เด็กเรียนไม่เก่ง แต่เป็นเพราะตอนนี้เขาอยากให้เวลากับการแร็ปมากกว่า ทั้งสองคนเคยคุยกันว่าการเรียนการสอนน่าจะให้เด็กไปเรียนวิชาไหนก็ได้ เรียนไปกี่ชั่วโมงก็ลงบันทึกไว้แล้วให้ครูรับรองว่าเด็กมาเรียนจริง แค่นี้ก็ให้ถือว่าผ่านได้เลย

ทัศนคติของผู้ใหญ่ ผลพวงจากค่านิยมในสังคม

เมื่อสังคมบ้านเรายังให้ความสำคัญกับใบปริญญามากกว่าทักษะที่ต้องใช้ในการทำงาน ผู้ใหญ่ทั้งหลายจึงโฟกัสไปที่การศึกษาที่มีปลายทางเป็นใบปริญญา พ่อคาดหวังให้บุ๊คคว้าใบปริญญาสักใบ เพราะพ่อเองก็เรียนไม่จบป.ตรี บุ๊คจึงไม่ชอบอุดมคติของผู้ใหญ่ที่คิดว่าการเรียนสำคัญที่สุด สำหรับเขาแล้ว การทำความฝันคือเรื่องสำคัญที่สุด

“ครูบอกว่าเด็กไม่เอาไหน เรียนไม่ดี เกเร ระบบการศึกษาตราหน้าคนที่ลาออกจากโรงเรียนว่าเกเร เด็กไม่ดี ไม่เอาถ่าน แต่ระบบการศึกษาไม่เคยโทษตัวเองเลยว่าเป็นระบบที่ห่วยแตก” สิ่งที่บุ๊คกล่าวไว้บนเวที TedxYouth @Bangkok ในฐานะ Speaker คนหนึ่งน่าจะทำให้เราตั้งคำถามขึ้นมาในใจได้บ้างว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาไทยเมื่อเพื่อนของเขาลาออกจากโรงเรียนเพราะเรียนไม่ไหว ท้ายที่สุดบุ๊คเองก็เป็นนักเรียนอีกคนที่เลือกลาออกจากโรงเรียนเพื่อไปทำตามความฝันของตัวเอง

เซอร์ เคน โรบินสัน

เด็กไทย 1.2 ล้านคนไม่ได้เรียนหนังสือ

ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่าในแต่ละปีมีเด็กไทยลาออกกลางคันมากถึง 2% จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด เมื่อนับรวมกับเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านคนแล้ว จะพบว่าเด็กไทยทุก ๆ 100 คน จะมี 16 คน ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ซึ่งสาเหตุที่เด็กหลุดจากระบบการศึกษานั้นก็มีหลากหลาย หนึ่งในนั้นก็คือเด็กแบบบุ๊ค เด็กที่ไม่ถนัดด้านวิชาการ

แล้วบ้านเรามีแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ณ ตอนนี้กระทรวงศึกษาธิการได้สั่งให้หน่วยงานในกำกับเร่งแก้ปัญหาเด็กออกกลางคันโดยเร่งด่วนอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนสกศ.ก็ได้จัดทำโมเดลการศึกษาข้ามภูมิภาค Trans-Regional Education (TRE) ในทุกระดับชั้น เป็นแพลตฟอร์มการศึกษาทางเลือกให้กับผู้เรียนเมื่อพร้อมจะเข้าศึกษา โดยเรียนในรูปแบบโมดูลเป็นรายวิชา เมื่อจบวิชานั้น ๆ ก็เก็บสะสมหน่วยการเรียนรู้ หรือธนาคารหน่วยกิตที่สามารถเรียนเมื่อมีความพร้อม และสามารถนำประสบการณ์จากการทำงานจริงมาเทียบเป็นหน่วยกิตรายวิชา และสะสมหน่วยกิตไว้กับธนาคารหน่วยกิต ข้อดีคือสามารถเรียนจบที่สถานศึกษาไหนก็ได้ทั่วประเทศ ขณะนี้อยู่ในระหว่างเลือกสถานศึกษาที่จะเป็นแพลตฟอร์ม TRE ที่ให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้ง่ายขึ้น ซึ่งแนวทางนี้ก็ตรงกับที่ Adrian K.Haugabrook นักการศึกษาและผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอเมริกาได้เสนอไอเดียไว้ในเรื่องของการสะสมหน่วยกิตจากประสบการณ์จริง

ถ้าเราลดตัวเลขที่เด็กจะออกจากโรงเรียนกลางคันได้ ระบบเศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นชนิดที่เรานึกไม่ถึง เฉพาะตัวเลขในอเมริกาเองต้องใช้เงินมหาศาลเพื่อเยียวยาความเสียหายจากการที่เด็กออกจากโรงเรียนกลางคัน แต่ปัญหานี้เป็นเพียงปลายยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะยังมีเด็กจำนวนมากที่ยังอยู่ในระบบการศึกษา แต่ไม่สนใจเรียน ไม่สนุกกับการเรียน และไม่ได้ประโยชน์ที่แท้จริงใดๆ จากการศึกษาเหมือนบุ๊ค นี่เป็นเพราะการศึกษาเรายังมุ่งไปผิดทาง แม้หลายประเทศจะทุ่มเงินเป็นจำนวนมากไปกับการศึกษาก็ตาม

คำถามคือถ้าระบบการศึกษาดีจริง เด็กจะไม่ลาออกจริงเหรอ มีประเทศไหนในโลกบ้างที่ไม่เจอปัญหานี้ คำตอบคือฟินแลนด์ ถ้าเราถามครูฟินแลนด์ว่าจะทำอย่างไรกับการลาออกกลางคันของนักเรียน ครูฟินแลนด์จะทำหน้างงแล้วบอกว่าเราไม่มีปัญหาแบบนั้น พร้อมถามกลับว่านักเรียนจะลาออกทำไม ที่ฟินแลนด์หากเด็กมีปัญหาครูจะช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ทีนี้เราก็อาจมีคำถามต่อว่าจะเปรียบเทียบประเทศอื่นกับฟินแลนด์ได้อย่างไร เซอร์ เคน ชี้ให้เราเห็นประเด็นปัญหาสากลที่เกิดขึ้นกับการศึกษาทั่วโลกที่ทำให้เราไปไม่ถึงแบบที่ฟินแลนด์ทำได้ สิ่งสำคัญคือถ้าแก้ปัญหาถูกจุด ทุกประเทศจะมีการศึกษาที่ดีที่สุดได้

ปัญหาระบบการศึกษาทั่วโลก

เราพบว่าประเทศที่ยังมีปัญหามักจะเจอปัญหาคล้าย ๆ กัน เป็นวัฒนธรรมการศึกษาที่ครูต้องทำตาม เด็กต้องจำทน ซึ่งเป็นผลมาจาก

1. ลืมไปว่าธรรมชาติมนุษย์มีความแตกต่างหลากหลาย หลายประเทศสนใจแค่ 4 สาขาที่เรียกว่า STEM ซึ่งมันก็สำคัญและจำเป็น แต่มันยังไม่เพียงพอ การศึกษาที่แท้จริงต้องให้ความสำคัญศิลปะ มนุษยศาสตร์ และพลศึกษาอย่างเท่าเทียมกันด้วย เด็กจะเติบโตและประสบความสำเร็จมากที่สุดในหลักสูตรที่เปิดกว้างให้กับความสามารถหลากหลายรูปแบบ ศิลปะสำคัญเพราะมันสื่อสารกับตัวตนของเด็ก ในส่วนที่ไม่มีสิ่งอื่นใดนอกจากศิลปะที่สามารถเข้าถึงได้ บุ๊คคือตัวอย่างที่ชัดเจนมากในประเด็นนี้

“การศึกษาคือ การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-realisation) เพราะเราเข้าใจก้าวแรกของการศึกษาตัวเอง การศึกษาคือสิ่งที่ทำให้เราเห็นตัวเอง ผู้อื่นและโลกกว้างขึ้น”

Deena Saleem เคยพูดไว้บนเวที TEDxPeacePublicSchoolKottakka หัวข้อ Education for Self Realisation

2. เราพูดแต่เรื่องการศึกษาโดยไม่พูดถึงการเรียนรู้ ทั้ง ๆ ที่เป้าหมายของการศึกษาคือการทำให้คนเรียนรู้ ทุกวันนี้เรากำลังทำลายวิชาชีพครูโดยไม่รู้ตัว การสอนเป็นอาชีพที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่ระบบส่งสินค้า ครูไม่ได้สอนเพื่อส่งต่อข้อมูลอย่างเดียว แต่ต้องเป็นพี่เลี้ยง กระตุ้นให้เด็กตื่นตัว และเกิดความสนอกสนใจ ซึ่งความอยากรู้อยากเห็นนี่เองที่ทำให้มนุษย์เติบโตงอกงาม เด็ก ๆ เป็นนักเรียนรู้โดยธรรมชาติ ถ้าเราจุดประกายความอยากรู้อยากเห็นในตัวเด็กได้ บ่อยครั้งเขาจะเรียนรู้ต่อเองโดยไม่ต้องให้เราคอยช่วยเลย

เราอาจจะลงมือทำอะไรบางอย่างแต่อาจไม่ได้สำเร็จผลอย่างที่ตั้งใจ การสอนก็เป็นแบบนี้ ถ้าครูกำลังสอนแต่ไม่มีใครเรียนรู้อะไรเลยก็เรียกว่าครูสอน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ บทบาทของครูคือการเอื้ออำนวยการเรียนรู้ แต่วัฒนธรรมการศึกษากระแสหลักเน้นไปที่การทดสอบ การสอบนั้นก็สำคัญแต่ไม่ควรเป็นมาตรฐานหลักของการศึกษา เราควรใช้การสอบเป็นเครื่องมือวินิจฉัย การทดสอบมาตรฐานจึงต้องสนับสนุนการเรียนรู้ ไม่ใช่ขัดขวาง เด็กๆ และครูถูกส่งเสริมให้เดินตามระเบียบขั้นตอนเดิม ๆ แทนที่จะตื่นเต้นไปกับความคิดสร้างสรรค์และความอยากรู้อยากเห็น เราสร้างวัฒนธรรมของการมีมาตรฐานเดียว ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นเลย

ทำไมฟินแลนด์มีการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก

ทั่วโลกต่างรู้กันว่าเด็กฟินแลนด์มีคะแนน PISA โดดเด่นมาโดยตลอดจนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก ฟินแลนด์ทำได้อย่างไร

1. มีแนวทางด้านการศึกษาที่กว้างมาก ไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะกับวิชาที่ใช้ในการสอบ PISA อย่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับมานุษยวิทยา พละ และศิลปะอย่างเท่าเทียมกัน

เซอร์ เคน โรบินสัน

2. มีการทดสอบมาตรฐานที่น้อยมาก นักเรียนไม่ต้องสอบอย่างเอาเป็นอย่างตายเหมือนที่อื่น

3. ยกย่องอาชีพครูให้มีสถานภาพสูง เพราะตระหนักว่าการศึกษาจะไม่สามารถพัฒนาได้ ถ้าไม่เลือกคนที่ดีเลิศมาเป็นผู้สอน มองว่าการพัฒนาคนในวิชาชีพไม่ใช่ค่าใช้จ่าย แต่คือการลงทุน ทุกประเทศที่ประสบความสำเร็จล้วนเข้าใจหลักการนี้ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย แคนาดา เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้

4. มอบอำนาจและความรับผิดชอบให้แก่โรงเรียนเป็นผู้บริหารจัดการเอง ตระหนักว่าการศึกษาเกิดขึ้นในห้องเรียนและโรงเรียน คนที่ลงมือปฏิบัติคือครูและนักเรียนจึงให้อำนาจในการตัดสินแก่คนเหล่านี้

เรารู้หลักการของประเทศที่ประสบความสำเร็จดีอยู่แล้ว แต่เราเคยทำสิ่งนั้นหรือเปล่า เราเผลอคิดไปว่าถ้าวางนโยบายดี วางระบบให้ถูก อนาคตมันก็น่าจะดีได้ไม่ใช่เหรอ เซอร์ เคน ให้มุมมองว่ามันไม่สำเร็จ และมันไม่เคยสำเร็จเลยด้วย เพราะการศึกษาไม่ใช่ระบบเครื่องยนต์กลไก มันเป็นระบบของมนุษย์ เป็นเรื่องของคน คนที่อยากเรียนรู้หรือไม่อยากเรียนรู้ นักเรียนทุกคนที่ลาออกกลางคันย่อมมีเหตุผล ซึ่งมีต้นตอมาจากอะไรบางอย่างในชีวิตเขา ปัญหาพวกนี้อาจคล้าย ๆ กัน แต่เรื่องราวของแต่ละคนต่างก็มีเอกลักษณ์เฉพาะ

หลักสูตรทางเลือกที่ควรเป็นหลักสูตรปกติ

แล้วเราจะมีความหวังกับระบบการศึกษาได้อย่างไร ปัจจุบันนี้มีหลักสูตรการศึกษาทางเลือกที่ออกแบบมาเพื่อดึงเด็ก ๆ กลับเข้าสู่ระบบ มีการออกแบบให้เหมาะกับเด็กแต่ละคน โดยได้รับการสนับสนุนจากครู มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับชุมชน และมีรายวิชาที่กว้างและหลากหลาย หลักสูตรแบบนี้มักมีนักเรียนจากทั้งในและนอกโรงเรียนเข้าร่วม และมันก็ประสบความสำเร็จ

สิ่งที่น่าคิดคือถ้าเราทำให้หลักสูตรปกติเป็นแบบนี้ได้ เราก็ไม่จำเป็นต้องมีหลักสูตรทางเลือกเลย เพียงแค่เราเข้าใจว่ามนุษย์จะเติบโตงอกงามได้ดีภายใต้สภาวะบางอย่าง และไม่เติบโตภายใต้สภาวะบางอย่าง ระบบการศึกษาจึงสำคัญมาก ๆ ถ้าเราเปลี่ยนเงื่อนไข สร้างโอกาสที่เปิดกว้าง ให้คุณค่าแก่ความสัมพันธ์ระหว่างครูและผู้เรียน ให้คนมีอำนาจตัดสินใจเลือกที่จะสร้างสรรค์ และสร้างวัฒนธรรมในงานที่เขาทำ โรงเรียนหรือการศึกษาที่ไร้วิญญาณก็จะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง บทบาทที่แท้จริงของผู้นำในแวดวงการศึกษา ทั้งระดับประเทศ รัฐหรือโรงเรียนคือการควบคุมสภาพอากาศ สร้างบรรยากาศของความเป็นไปได้ ถ้าเราทำเช่นนั้น ผู้คนก็จะเติบโตขึ้นและประสบความสำเร็จในแบบที่เราคาดไม่ถึง เด็กแบบบุ๊คและนนท์ก็จะได้เติบโตงอกงาม และมีความสุขในแบบของเขาเอง

อ้างอิง
สารคดี School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน
https://www.ted.com/talks/deena_saleem_education_for_self_realisation
https://www.matichon.co.th/education/news_3134549
https://www.ted.com/talks/sir_ken_robinson_do_schools_kill_creativity#t-1138036
https://www.ted.com/talks/sir_ken_robinson_how_to_escape_education_s_death_valley#t-370420

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS