เมื่อการเติบโตทางวิชาการอาจทำให้เด็กหลงลืมการเติบโตทางอารมณ์
- ในโลกที่ความสำเร็จมักวัดกันที่เกรด การแข่งขัน จึงอาจทำให้ทุกคนให้ความสำคัญกับการแข่งขันเพื่อก้าวไปข้างหน้า ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมเหล่านี้อาจทำให้เด็กทุกคนหลงเลยความสำคัญของการเติบโตทางอารมณ์
- ประเทศที่มีคุณภาพชีวิตดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกก็ยังประสบปัญหาด้านสุขภาพจิต ดังนั้นการส่งเสริมให้เด็กได้รู้จักการจัดการอารมณ์ของตนเองจะช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาวได้
- การสอนให้เด็กรู้จักตนเองจึงเป็นสิ่งที่ครูไม่ควรละเลยและสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอายุและระดับพัฒนาการของเด็ก
ในโลกที่ความสำเร็จมักวัดกันที่เกรด การแข่งขัน จึงอาจทำให้ทุกคนให้ความสำคัญกับการแข่งขันเพื่อก้าวไปข้างหน้า สังคมที่กำหนดให้ทุกคนเห็นคุณค่าของความสำเร็จภายนอกและผลักดันให้เด็กทุกคนต้องแข่งขันเปรียบเทียบกันอย่างไม่หยุดยั้ง ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมเหล่านี้อาจทำให้เด็กทุกคนหลงเลยความสำคัญของการเติบโตทางอารมณ์
ตั้งแต่วัยเด็ก เด็กทุกคนจะถูกผลักเข้าสู่มาตรฐานและการแข่งขันในระบบที่กำหนด รวมถึงถูกกดดันให้เด็ก ๆ ทำผลงานได้ดีในวิชาหลักเช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ นอกจากนั้นยังถูกดดันด้วยลำดับการสอบว่าเราอยู่ในที่เหนือใครหรือด้อยกว่าใคร ความกดดันนี้เองที่ทำให้เด็ก ๆ มักจะหลงลืมความสำคัญทางอารมณ์ของตนเองไป ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้งที่เด็ก ๆ จำเป็นต้องเรียนรู้ และเห็นคุณค่าของการเป็นคนที่ใจดี อดทน ยืดหยุ่น เห็นอกเห็นใจผู้อื่น รวมถึงเข้าใจความต้องการของตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองก็สำคัญพอ ๆ กับความสำเร็จในด้านวิชาการ
ทำไมการเข้าใจในอารมณ์ตนเองจึงสำคัญ
จากงานวิจัยพบว่าทุกคนต้องประสบปัญหาสุขภาพจิตเป็นครั้งคราวตลอดชีวิต ทุกคนล้วนต้องเผชิญกับความท้าทายภายในตนเองไม่ว่าจะเป็น การทะเลาะกับเพื่อน สอบตก มีปัญหาครอบครัว จะเป็นเรื่องดีมากหากเด็ก ๆ ได้รู้จักอารมณ์ต่าง ๆ ของตนเอง เพราะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมไม่เพียงแต่ช่วยปรับปรุงพฤติกรรมในห้องเรียนเท่านั้น ยังปรับปรุงผลการเรียน ส่งเสริมพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ของเด็กอีกด้วย ปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่สำคัญ ยกตัวอย่างคนในประเทศแคนาดามีการใช้เงินจำนวน 14,400 ล้านดอลลาร์ต่อปีในการรักษาสุขภาพจิต เด็ก 1ใน 5 ของประเทศต้องเจอกับปัญหาสุขภาพจิตร้ายแรง ถึงแม้ว่าแคนาดาจะอยู่ในประเทศอันดับต้น ๆ ที่มีคุณภาพชีวิตดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกก็ตาม ดังนั้นการส่งเสริมให้เด็กได้รู้จักการจัดการอารมณ์ของตนเองจะช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาวได้ จากงานศึกษาพบว่าผลของการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ในวัยเด็ก จะยังคงอยู่ในตัวแม้ว่าเวลาจะอยู่ในวัยผู้ใหญ่ ดังนั้นการสอนให้เด็กรู้จักตนเองจึงเป็นสิ่งที่ครูไม่ควรละเลยและสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอายุและระดับพัฒนาการของเด็ก โดยมีตัวอย่างดังนี้
การเป็นแบบอย่าง: เด็กๆ เรียนรู้จากตัวอย่าง ดังนั้นผู้ใหญ่จึงต้องเป็นแบบอย่างในการสะท้อนตนเอง เช่นต้องเริ่มพูดคุยอธิบายความคิด ความรู้สึกของตนเอง และอธิบายให้ฟังว่าคุณรู้สึกอย่างไรและแก้ปัญหานั้นอย่างไร
ส่งเสริมการเขียนไดอารี่: เพื่อเขียนความคิดและความรู้สึก รวมถึงสามารถใช้เป็นพื้นที่ส่วนตัวให้เด็ก ๆ ทบทวนประสบการณ์และอารมณ์ของตนเอง
ใช้คำถามปลายเปิด: ลองใช้คำถามปลายเปิดที่กระตุ้นให้เด็กคิดอย่างมีวิจารณญาณและไตร่ตรองถึงประสบการณ์ของตนเอง
สร้างโอกาสในการสะท้อนตนเอง: สร้างโอกาสให้เด็ก ๆ ได้สะท้อนพฤติกรรมของตนเอง เช่น การพูดคุยหลังเลิกเรียนหรือโดยให้เด็ก ๆ ได้สะท้อนการกระทำและการตัดสินใจของตนเองในระหว่างวัน
การสอนให้เด็ก ๆ ได้ฟังหัวใจและเห็นอารมณ์ของตนเองจะช่วยให้พวกเขาตระหนักรู้ในอารมณ์ของตนเองซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวพวกเขาตลอดชีวิต ท้ายที่สุดการวัดความสำเร็จที่แท้จริงไม่ได้หมายถึงการประสบความสำเร็จด้านวิชาการเท่านั้นแต่หมายถึงการสร้างชีวิตที่สมดุลทั้งอารมณ์และการเรียน
อ้างอิง
https://www.educationnext.in/posts/the–race–we–forget–teaching–kids–to–listen–to–their–hearts
https://heartmindonline.org/resources/the-science-behind-heart-mind-well-being-in-school
https://www.mygoodbrain.org/blog/why-is-self-reflection-important-in-children