ออกแบบการเรียนรู้เพื่อคน Introvert ในโลกของ Extrovert

A A
Oct 3, 2022
Oct 3, 2022
A A

ออกแบบการเรียนรู้เพื่อคน Introvert ในโลกของ Extrovert

 

  • การศึกษาในโลกยุคใหม่ที่ดูจะให้ความสำคัญกับนักเรียน Extrovert มากกว่าอาจกำลังทำให้นักเรียน Introvert ต้องพยายามทำตัวให้เป็น Extrovert เพื่อความอยู่รอด
  • ถึงนักเรียน Introvert จะสอบได้คะแนนดีแค่ไหน ครูส่วนมากก็ยังเชื่อว่า นักเรียนในอุดมคติก็ยังคงเป็นนักเรียน Extrovert อยู่ดี โรงเรียนจึงอาจเป็นสถานที่ที่สร้างประสบการณ์อันเลวร้ายให้กับนักเรียน Introvert ได้
  • เราควรตระหนักถึงความแตกต่างของนักเรียน 2 กลุ่มนี้ และออกแบบการเรียนรู้ที่ไม่ทิ้งนักเรียนกลุ่มไหนไว้ข้างหลัง
  •  

คุณให้นิยามตัวเองว่าเป็นอะไร Introvert หรือ Extrovert ถ้าลองสังเกตกันดี ๆ เราอาจจะพบว่า การทำงานในองค์กรต่าง ๆ หรือแม้แต่ในโรงเรียนเองมักจะอยากเห็นพนักงาน หรือนักเรียนมีที่เป็น Extrovert มากกว่า แม้ในทางสถิติปัจจุบันอาจจะยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า โลกเรามีคน 2 ประเภทนี้ในสัดส่วนเท่าไรกันแน่ (ยังไม่นับคนที่เป็น Ambivert อีก) คำถามสำคัญสำหรับผู้ใหญ่อย่างเรา โดยเฉพาะคนเป็นครู คือ เมื่อโลกไม่ได้มีแต่คน Extrovert และการเรียนรู้ของคน 2 กลุ่มนี้ก็ไม่ได้เหมือนกันเลย เราจะออกแบบการเรียนรู้ เพื่อสร้างสมดุลให้กับนักเรียน Introvert และ Extrovert ได้อย่างไร

หนังสือ Quiet: The Power of Introverts in a World That Can’t Stop Talking โดย Susan Cain ได้กล่าวถึง การศึกษาในโลกยุคใหม่ที่ดูจะให้ความสำคัญกับ Extrovert มากกว่า เห็นได้จากห้องเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนจำนวนมาก การจัดโต๊ะที่เอื้อสำหรับกิจกรรมกลุ่ม หรือแม้แต่กิจกรรมในชั้นเรียนเองที่เน้นให้นักเรียนได้พูดคุยกันมากกว่าจะให้สะท้อนคิด และทำงานคนเดียวอย่างเป็นอิสระ สิ่งเหล่านี้ค่อนข้างฝืนธรรมชาติของนักเรียน Introvert พอสมควร

Susan เห็นว่า วิธีการสอนที่ดีที่สุดโดยทั่วไปแล้ว คือ การสอนตัวต่อตัว แต่มันก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปได้สำหรับทุกคน

โรงเรียนจึงกลายเป็นสถานที่ที่นักเรียน Introvert ต้องพยายามทำตัวให้เป็น Extrovert เพื่อความอยู่รอด และถึงแม้เด็กเหล่านี้จะสอบได้คะแนนดีแค่ไหน ครูส่วนมากก็ยังเชื่อว่า นักเรียนในอุดมคติก็ยังคงเป็นนักเรียน Extrovert อยู่ดี

ฉะนั้น หากนักเรียนไม่ได้เป็นไปตามที่ครู หรือโรงเรียนคาดหวัง โรงเรียนก็อาจเป็นสถานที่ที่สร้างประสบการณ์อันเลวร้ายให้กับนักเรียนได้ ในความเป็นจริงแล้ว เราควรตระหนักถึงความแตกต่างของนักเรียน 2 กลุ่มนี้ ทำความเข้าใจว่า นักเรียน Introvert จะชอบทำงานคนเดียว และการชอบอะไรแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด

 

นักเรียน introvert

 

เมื่อทุกห้องเรียนมีทั้งนักเรียน Introvert และ Extrovert การออกแบบการเรียนรู้ของครูจึงไม่ควรทิ้งนักเรียนกลุ่มไหนไว้ข้างหลัง แต่ทำอย่างไรเราถึงจะสร้างการเรียนรู้ที่สมดุลให้กับนักเรียนทั้ง 2 กลุ่มได้ อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่จริง ๆ แล้วรายละเอียดบางอย่างอาจเป็นเรื่องที่ครูหลายคนทำอยู่แล้วในชั้นเรียนแบบไม่รู้ตัว 

 

1.ใช้เทคโนโลยีสร้างการมีส่วนร่วมจาก Introvert

นักเรียน Introvert ไม่ชอบตกเป็นศูนย์กลางความสนใจในชั้นเรียน ถ้าครูเรียกให้ตอบคำถามหน้าต่อเพื่อน นักเรียนกลุ่มนี้จะรู้สึกอัดอัด และเกิดความวิตกกังวลได้ แต่สิ่งหนึ่งที่นักเรียน Introvert และ Extrovert มีเหมือนกัน คือ ชอบใช้เทคโนโลยีตามสไตล์เด็กยุคใหม่ เทคโนโลยีจึงเป็นสะพานเชื่อมของคน Introvert ในการสื่อสารกับคนกลุ่มอื่นได้อย่างไม่รู้สึกอึดอัดใจ ครูอาจจะใช้เครื่องมือง่าย ๆ เช่น Google Slides ในช่วง Q&A โดยตั้งคำถามแล้วให้นักเรียนพิมพ์ตอบ จะใช้ Padlet และ Jamboard ให้นักเรียนทั้งชั้นสร้าง Bulletin Board ด้วยกันก็ได้ หรือจะหาโอกาสให้นักเรียนได้แชทออนไลน์ระหว่างเรียน เช่น ในขณะที่ครูเปิดหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหนังสือที่นักเรียนกำลังอ่านอยู่ ก็ให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นของตัวเองลงบน Google Docs กับเพื่อน ๆ ได้ ทั้งหมดนี้ คือ เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่เปิดโอกาสให้นักเรียน Introvert ได้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ โดยที่ไม่ต้องเปิดเผยตัวตน

 

2. ให้ Introvert มีโอกาสได้เลือก 

เปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกได้ว่า จะแชร์ไอเดียของตัวเองกับชั้นเรียนหรือไม่ หรือถ้าจะแชร์ จะแชร์เมื่อไร หากเป็นกิจกรรมบังคับ และจำเป็นต้องทำเพื่อให้สอบผ่าน นักเรียน Introvert จะรู้สึกประหม่า และทำได้ไม่เต็มที่ตามศักยภาพที่ตัวเองมี แต่ถ้าการมีส่วนร่วมของนักเรียนไม่ได้เป็นการบังคับ และมีคะแนนเพิ่มให้ นักเรียนก็จะมีเวลาคิดมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะคิดถึงเรื่องที่จะแบ่งปันกับคนอื่นมากขึ้น

 

3. สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการมีส่วนร่วมให้ Introvert

นักเรียน Introvert มักจะแชร์ หรือเข้าร่วมกิจกรรมเมื่อรู้สึกว่า ห้องเรียน คือ พื้นที่ปลอดภัยที่พวกเขาสามารถพูดอะไรก็ได้ แต่ถ้านักเรียนรู้สึกว่า เพื่อน หรือครูคิดว่า ตัวเองเงียบเกินไป หรือไม่ค่อยรู้อะไรมากเท่าไร แค่เพราะเป็นคนไม่ค่อยพูด สิ่งนี้จะทำให้นักเรียนยิ่งไม่อยากพูดคุยกับคนอื่น ฉะนั้น การให้ฟีดแบ็กในแง่ดี และการให้การสนับสนุนจะสร้างความมั่นใจ และความสบายใจให้นักเรียนอยากมีส่วนร่วมมากขึ้น

 

4.สร้างสมดุลระหว่างงานกลุ่ม และงานเดี่ยว 

การให้นักเรียนได้ทำทั้งงานกลุ่ม และงานเดี่ยวเป็นการตอบสนองนักเรียนที่มีรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน 

Think-pair-share เป็นเทคนิคที่มีประสิทธิภาพสำหรับห้องเรียนที่มีทั้งนักเรียน Introvert และ Extrovert เมื่อครูถามคำถาม นักเรียนจะได้แสดงความคิดเห็นของตัวเองกับเพื่อนอีกคน โดยไม่ต้องเป็นจุดสนใจของทั้งชั้นเรียนเหมือนกับการพูดหน้าห้อง

สำหรับนักเรียน Introvert ครูอาจให้เขียนบันทึกสะท้อนความคิดตัวเอง หรือให้นักเรียนคิดคนเดียวก่อน แล้วค่อยแชร์กับเพื่อนในกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งจะตรงข้ามกับนักเรียน Extrovert ที่มีความสุขกับการอยู่กับผู้คน กิจกรรมที่จะตอบสนองนักเรียนกลุ่มนี้ได้จะเป็นกิจกรรมที่นักเรียนได้แสดงออก เช่น ให้ทำ Project แบบกลุ่มที่มีนักเรียน 1-2 คนเป็นหัวหน้า หรือทำกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เล่าเรื่องแบบสมัครใจ  

 

5. ให้เวลา Introvert ในการคิด และช่วย Extrovert จัดการเวลา

งานวิจัยจำนวนมากอธิบายคน Introvert ไว้ว่า มีความอ่อนไหวอย่างมาก บางครั้งเสียงในห้องเรียนก็อาจทำให้นักเรียน Introvert ไม่อยากเรียนรู้ได้ ประเด็นนี้ครูสามารถช่วยนักเรียนได้ด้วยการให้เวลานักเรียนได้คิด ปล่อยให้มีจังหวะเงียบในห้องเรียนบ้าง โดยปกติแล้วคน Introvert ไม่ชอบอะไรที่รู้สึกว่าควบคุมไม่ได้ สิ่งที่ครูช่วยได้อย่างมาก คือ การบอกนักเรียนล่วงหน้าว่า คาบหน้าเราจะเรียนเรื่องอะไรกันบ้าง หรือทิ้งคำถามที่จะอภิปรายในชั้นเรียนไว้ก่อน เพราะการรู้ล่วงหน้าทำให้นักเรียนมีเวลาได้คิด และวางแผน

วิธีการเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลดีต่อนักเรียน Introvert เท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์กับนักเรียน Extrovert ด้วย เพราะโดยปกติ Extrovert จะชอบพูด เมื่อรู้หัวข้อล่วงหน้าก็จะทำให้นักเรียนกลุ่มนี้ได้คิด และพูดเท่าที่จำเป็นเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับบทเรียนเท่านั้น โดยทั่วไปครูอาจจะต้องช่วยนักเรียน Extrovert ในการจัดการกับเรื่องเวลามากขึ้น เมื่อทำกิจกรรมที่มีการพูดคุยกันเป็นคู่ หรือกลุ่มเล็ก  ๆ ครูควรตั้งเวลาเพื่อให้นักเรียนรู้ว่า ตัวเองมีเวลาในการพูดแค่ไหนเพื่อให้คนอื่นได้พูดบ้าง

การเป็น Introvert ท่ามกลางโลกที่เหมือนจะออกแบบมาเพื่อ Extrovert ไม่ใช่เรื่องผิด สิ่งนี้เหล่านี้ คือ ความแตกต่างที่สวยงามของการเป็นมนุษย์ ถึงแม้เป็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ของนักเรียนที่ครูต้องใส่ใจ ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นห้องเรียน หรือองค์กรที่มีความเข้าอกเข้าใจคน Introvert มากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนประเภทไหน เราต่างก็มีข้อดีในแบบของเรา สังคมยังต้องการคนที่หลากหลาย และคนทุกประเภทก็จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันอยู่

 

อ้างอิง
https://www.edweek.org/teaching-learning/teaching-tips-for-reaching-introverts-and-extroverts/2022/06
https://introvertdear.com/news/why-the-extroverted-classroom-doesnt-work-for-introverted-students/
https://onlineprograms.ollusa.edu/resources/article/learning-styles-of-introverts-and-extroverts/

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS